ในปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า ฝุ่นควัน PM 2.5 กลายเป็นวาระสำคัญระดับประเทศ ไม่เพียงแต่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน แต่จากการจัดอันดับคุณภาพอากาศของเมืองต่างๆ ทั่วโลกของ AirVisual.com ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่ ได้ไต่ระดับขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก

ปัญหาฝุ่นควันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวเชียงใหม่ และแม้ว่าในอดีตจะเคยเกิดเหตุการณ์ที่ฝุ่นควันบดบังดอยสุเทพจนมองไม่เห็น ทว่าคำถามคือ ทำไมปัญหานี้ถึงยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที เราหอบหิ้วความสงสัยนี้ไปถาม ‘หมอหม่อง’ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ในฐานะอาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่หลายๆ คนอาจรู้จักเขาในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ผู้ขับเคลื่อนประเด็นฝุ่นควันในเชียงใหม่มาตลอดหลายปี

PM 2.5 เป็นเพียงหนึ่งในประเด็นที่เราพูดคุยกัน นั่นเพราะปัญหาใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังคือข้อเท็จจริงที่มนุษย์ยังคงไม่ตระหนักว่า ผลกระทบที่พวกเขากระทำต่อธรรมชาตินั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด

คุณหมอเริ่มสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ผมได้มีโอกาสคลุกคลีกับธรรมชาติตั้งแต่เล็ก คุณแม่พาเราเปิดประตูสู่โลกธรรมชาติ เราได้เดินป่า รู้จักนก รู้จักต้นไม้ จริง ๆ ผมอยู่ในกรุงเทพฯ นะ แต่สมัยนั้นหลังบ้านยังมีท้องนา ผมก็ได้ไปวิ่งเล่น ช้อนลูกอ๊อด ปีนต้นไม้ แต่เราก็มีบ้านที่เชียงใหม่ด้วย พอแม่พาเดินป่า เขาก็จะเล่าเรื่องของป่า เล่านิทาน มันทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของสัตว์แต่ละตัว ต้นไม้แต่ละชนิด เวลาที่แม่เดินไป เขาจะพูดคุยกับต้นไม้ ‘เธอเป็นยังไงบ้าง ฉันไม่เคยเห็นเธอเลย’ วิธีที่เขาคุยกับธรรมชาติ มันแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งมีชีวิต เขามองว่าสรรพสิ่งมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ มีความสำคัญเท่ากับตัวเรา ไม่ได้มองว่ามนุษย์คือจุดศูนย์กลาง และสิ่งอื่นๆ เป็นเพียงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อมนุษย์ ผมถูกปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ ว่า ธรรมชาติคิอเพื่อนร่วมโลก ไม่ว่าจะเล็กเท่ามด หรือใหญ่เท่าวาฬ ต่างก็มีคุณค่าของชีวิตที่เราต้องเคารพ

พอโตขึ้นผมเลยมีสำนึกนี้อยู่ในตัว ยิ่งเมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วมากในช่วงชีวิตของเรา มันทำให้เกิดความเศร้าใจ เมื่อมนุษย์เรามีจำนวนมากขึ้น ก็ใช้พื้นที่มากขึ้น บริโภคกันมากขึ้น มันก็ยิ่งจะทำร้ายธรรมชาติ แต่จุดเปลี่ยนชัด ๆ ของผมเกิดขึ้นในวันหนึ่งที่ไปเดินป่าดูนกกับเพื่อนที่เขาใหญ่ ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ เราไปเจอกระทิงตัวหนึ่ง นอนตายอยู่ชายป่า ไม่มีหัวแล้ว โดนตัดไป มันไม่มีเสือที่ไหนงับหัวกระทิงไปแบบนั้น นี่เป็นผลงานของมนุษย์ จุดนั้นผมรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้ว ผมเกิดความคิดว่าอยากจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้คนเข้าใจธรรมชาติสำคัญกับตัวเรายังไง

เคยรู้สึกโกรธมนุษย์ต่อสิ่งที่พวกเขาทำไหม

เรียกว่าผมอายดีกว่า อายที่เป็นมนุษย์ อายที่เห็นว่าเราทำร้ายเพื่อนร่วมโลก อย่างเสือเนี่ย แค่กินกวางอิ่มเขาก็พอแล้ว ไม่มีหรอกกินกวางเล่นเพื่อสนุก แล้วผมก็อายความโลภ การฆ่าด้วยความสนุกสนาน แต่ผมก็คิดว่าทั้งหมดนี้จริง ๆ แล้วเกิดจากการที่มนุษย์ไม่รู้จักธรรมชาติ เขามองด้วยมุมมองอีกแบบหนึ่ง แต่อย่างที่แม่ทำให้เรารักธรรมชาติได้ ผมเลยคิดว่าสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการเป็น ‘nature mentor’ เป็นคนเชื่อมโยง และเปิดประตูระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เช่น เราได้คุยกับชมรมอนุรักษ์นกธรรมชาติล้านนา จัดกิจกรรมดูนกให้คนทุกอาชีพ ทุกวัย บางทีเขายังไม่รู้เลยว่านกเอี้ยง นกกระปูดหน้าตาเป็นยังไง

ผมคิดว่าคนไทยไม่ค่อยเห็นค่ามรดกทางธรรมชาติ แต่กับมรดกทางวัฒนธรรม คนไทยจะให้ความสำคัญมากกว่า เครื่องแต่งกาย การเต้นรำ หรือสถาปัตยกรรม เราหวงแหนมาก แต่กับมรดกทางธรรมชาติเรากลับไม่ค่อยรู้ ถามคนล้านนาว่ามีสัตว์อะไรมั้ยที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น เขาก็ตอบไม่ถูกหรอก  บางคนอาจบอกว่าช้าง แต่ช้างมันก็มีทุกที่ แต่เรามีไก่ฟ้าหางลายขวาง มีกวางผา ซึ่งคนต่างชาติเองเขาก็มาดู ที่ต่างประเทศเขามีการชูโรงสัตว์ในท้องถิ่น แต่คนไทยเรากลับไม่ค่อยรู้สึกใส่ใจ

หรืออย่างศาสนาพุทธเอง ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติมาก ๆ แต่เรากลับไปเน้นพิธีกรรม ไม่ได้เน้นที่แก่นสาร คำว่า ‘เมตตา’ เนี่ยเห็นได้ชัดเลย อย่างในบางจังหวัดมีวัดเต็มไปหมด ผู้คนเข้าวัดกันเต็มไปหมด แต่พอลองไปดูในตลาด เรากลับเห็นว่ามีสัตว์ป่า ของป่าขายอยู่สารพัด การไปเอาของป่ามาขายมันกระทบต่อระบบนิเวศ มันไม่ใช่เรื่องของการฆ่าสัตว์อย่างเดียว แต่ต้องมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ การไปดึงสัตว์ออกมาจากระบบนิเวศจนมันก็เหมือนไปเอาเฟืองออกจากรถยนต์น่ะ คือเครื่องอาจยังติด แต่ผลกระทบจะตามมาทีหลัง เรายังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่มาก

เทียบระหว่างปัจจุบันกับอดีต คุณหมอมองว่าผู้คนทุกวันนี้ตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้นไหม

ก็เยอะขึ้นนะ แต่เมื่อ 30 ปีที่แล้วเนี่ย ถ้ารวมกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีไม่ถึง 4 – 5 คน เพียงแต่ในขณะเดียวกันการทำลายก็รุนแรงมากขึ้นด้วยนะ ผมมองว่าการแสดงอาการเจ็บปวดของโลกมันเด่นชัดขึ้น การสื่อสารมันเลยง่ายขึ้นด้วย เมื่อก่อนเราพยายามพูด แต่คนไม่เห็นภาพ แต่ตอนนี้สิ่งที่ผมพูด ที่ผมเตือนมันเลยมีน้ำหนักมากขึ้น มีแนวร่วมมากขึ้น

กล่าวได้ไหมว่า ประเด็น PM 2.5 ทำให้ผู้คนมองเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า การกระทำของมนุษย์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มันเป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้เราอาจไม่มองว่าเป็นปัญหานักหนา หรือปัญหาฝุ่นพิษเนี่ย แต่ก่อนเราจะคิดถึงแต่ผลกระทบระยะสั้น เช่น แสบตา ไอ ขี้มูกดำ แต่ช่วงหลัง สิบกว่าปีมานี้มันมีหลักฐานที่เห็นชัดเลยว่ามันไม่ใช่แค่นั้น มันมีผลกระทบระยะยาว ยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กเท่าไหร่ มันเข้าไปไม่ใช่แค่ทางเดินหายใจ แต่มันทะลุผ่านถุงลมเข้าสู่กระแสเลือด พอเข้าสู่กระแสเลือด ก็ไปสู่ทุกอวัยวะ มันไม่ต่างอะไรกับการสูบบุหรี่นะ บุหรี่ไม่มีคำว่าปลอดภัย แค่มวนเดียวก็มีปัญหาแล้ว เช่นเดียวกับมลพิษ เราพบว่ามันทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอัมพาต หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัตราตายเพิ่มขึ้น แล้วมนุษย์ทุกคนมันต้องหายใจ เพราะฉะนั้นผลกระทบในวงกว้างมันเลยมากมาย

สาเหตุการตายทั้งหมดในโลกเนี่ย มลพิษทางอากาศมาเป็นอันดับสี่ แต่คนก็เพิ่งมารู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งมันก็เป็นผลมาจากวิถีชีวิตเมือง เอาแต่โยนของเสียใส่ส่วนรวม ในที่สุดทุกคนก็ต้องรับโทษ รับกรรม เราคิดว่าโลกนี้คือถังขยะใบใหญ่ ตอนนี้มนุษย์เรามีมากเหลือเกิน แต่โลกมีขนาดเท่าเดิม เมื่อเราไม่จัดการผลกระทบจากการดำเนินชีวิตของเรา มันก็เลยส่งผลต่อมลพิษทุก ๆ ด้าน ซึ่งมลพิษทางอากาศนี่เราเห็นได้ชัดเจน

ในวงการแพทย์เริ่มมาพูดคุยเรื่อง PM 2.5 กันอย่างจริงจังเมื่อไหร่

น่าจะประมาณสิบปี คือที่เชียงใหม่เนี่ยเจอปัญหาอย่างหนัก ๆ คืออยู่ดี ๆ มองไม่เห็นดอยสุเทพ สมัยก่อนปัญหาเรื่องฝุ่นควันมันมีอยู่ แต่ไม่รุนแรง คนก็ไม่ได้ติดใจอะไรกันมาก แต่พอมันรุนแรงขึ้นมาก ผมก็เลยไปหางานวิจัยต่าง ๆ มาอ่าน พบว่าทั้งโลกเขาพยายามผลักดันประเด็นฝุ่นควันเพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ แต่คนไทยเราไม่รู้สึกอะไร

สิ่งที่ขับเคลื่อนผมเป็นอย่างมากคือ ตอนนั้นผมมีลูกเล็ก อายุลูกเราเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะมันเท่ากับลูกเราต้องมาสูบบุหรี่ตั้งแต่เล็กเลยนะ เราสงสารลูก จะทำยังไงดี ผมเลยชวนคนที่ตระหนักถึงปัญหานี้ไปเดินขบวน บนถนนนิมมานเหมินทร์ ถนนคนเดินนี่แหละ ก็เดินกันไป ถือป้ายกันไป ปรากฏว่าคนเขาก็ไม่ได้ตระหนักอะไร สงสัยว่าเรามาทำอะไร เขามองไม่เห็นปัญหา หลายคนมองแค่ว่าแสบตา ทน ๆ ไปเดี๋ยวก็หาย แต่อันนี้เรากำลังคุยกันถึงปัญหาระยะยาว เหมือนคุณสูบบุหรี่วันละสองซอง ตอนนี้ก็ยังไม่รู้สึกหรอก แต่ถ้าสูบไปเรื่อย ๆ สักวันคุณตายนะ เป็นมะเร็งปอด โรคหัวใจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มันต้องอาศัยคนที่มีความรู้พื้นฐาน มีความเข้าใจเรื่องปัจจัยเสี่ยง พวกมองวันต่อวันเนี่ย ประเทศไทยเราเนี่ย ไม่เคยมองระยะยาว ไม่เคยวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวเลย มันเลยสื่อยากมาก

การขับเคลื่อนแคมเปญนี้เป็นไปอย่างไรบ้าง

ก็ขยับทีละหน่อย ผมทำทุกปี เริ่มมีเฟซบุ๊ค มีกลุ่มต่าง ๆ เข้ามา นักวิชาการก็เริ่มมาช่วย จะบอกว่าไม่ได้ผลเลยก็ไม่ใช่ เรียกว่าเป็นจุดที่ค่อย ๆ กระจาย ช่วง 2 – 3 ปีหลังมานี้ก็เริ่มมีเครือข่ายเยอะขึ้น ทางคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เริ่มเข้ามาช่วยเรื่องการมอนิเตอร์คุณภาพอากาศโดยประชาชน เพราะจะให้มานั่งรอกรมควบคุมมลพิษก็ไม่ใช่แล้ว เพราะเขายังใช้ PM 10 ซึ่ง PM 10 ไม่ได้สัมพันธ์กับเรื่องสุขภาพได้ดีเท่ากับ PM 2.5 เลย แล้วค่าที่เขารายงานในแอปพลิเคชัน Air4Thai ก็เป็นค่าย้อนหลัง 24 ชั่วโมง มันไม่เรียลไทม์ แล้วเครื่องวัดคุณภาพอากาศในเชียงใหม่ก็มีอยู่แค่ไม่กี่ที่ในเมืองถ้าคุณอยู่ในพื้นที่ที่ไกลออกไปล่ะ มันตอบโจทย์คุณไหม ที่แย่ไปกว่านั้นคือ มันมีการบิดเบือนข้อมูล เช่น ที่เครื่องวัดคุณภาพอากาศก็มีการพ่นละอองอยู่หน้าเครื่องตรวจ เราจะหลอกตัวเองกันไปทำไม มันเลยเกิดเป็นเครือข่ายมอนิเตอร์คุณภาพอากาศขึ้น เพราะเราไม่อยากฟังราชการอีกแล้ว ต้องพึ่งตัวเองแล้ว

แทนที่เราจะชนกับปัญหาโดยตรง ยอมรับ ไม่ใช่ความผิดของกรมควบคุมมลพิษหรอกที่ควบคุมไม่ได้ มันเป็นความผิดของทุกคน แต่เขาก็มาบอกว่า กลัวคนตื่นตระหนก ผมบอกไปว่า มันไม่ใช่เรื่องตื่นตระหนก แค่ตระหนักยังไม่ตระหนักเลย คนในเมืองอาจยังเข้าถึงข้อมูล แต่ลองไปดูชาวบ้านสิ มีใครใส่หน้ากากมั้ย เขาจะหยุดการเผาได้ก็ต้องรู้ว่าสิ่งนี้มีโทษ แต่ถ้าเขาบอกว่าโทษคือการแสบตา ไอจาม เขาก็อาจบอกว่าทนเอาก็ได้ ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ถ้าเขารู้ว่ามันทำให้ลูก ๆ เขาไอคิวต่ำลง ทำให้ชีวิตของพวกเขาสั้นลง ชีวิตของคนเชียงใหม่หายไปสี่ปีนะถ้าเทียบกันประเทศอื่น ๆ ที่อากาศดี ถ้าเขารู้แล้วตระหนักจริง ๆ มันก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมได้ ปัญหาตอนนี้คือข้อมูลไปไม่ถึง แต่เราก็มัวแต่กดปัญหาไว้ไม่ให้เห็น ที่ผ่านมาหลาย ๆ ปี จังหวัดไม่ยอมให้ทางสาธารณะสุขพูดเลยเพราะกลัวเสียภาพพจน์การท่องเที่ยว เดี๋ยวจะสูญเสียรายได้ต่าง ๆ แต่มันไม่ใช่ไง เราจะไปหลอกนักท่องเที่ยวให้มาโดนรมควันเหรอ เราเป็นเจ้าบ้านแบบไหนกัน ต้องบอกเขาไปตามตรงสิว่ามีปัญหาอยู่

อย่างความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเชียงใหม่ปีที่แล้วก็ดุเดือดมากเลยนะ

เรียกได้ว่า ปีที่แล้วมันเริ่มขยับแล้ว เพราะมันถึงจุดแล้วไง หนึ่งเพราะกรุงเทพฯ โดนด้วย เพราะพอกรุงเทพฯ โดน เสียงมันเลยดัง พอเสียงกรุงเทพฯ ดัง นักการเมืองก็เริ่มเห็นเป็นวาระ กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว มันเลยขับเคลื่อนได้ดีขึ้น

ผมมองว่ารัฐบาลเองก็ต้องจริงจัง ไม่ได้แก้ปัญหาแค่ลูบหน้าปาดจมูก หรือเป็นปฏิกิริยาตามกระแสสังคม มันไม่ใช่ คุณต้องวางแผนอย่างจริงจัง ซึ่งมาตรการที่มันจริงจังน่ะ แน่นอนว่าจะต้องกระทบกับคนชั้นกลาง คนชั้นสูง มันต้องลงทุนเยอะนะ แต่มันควรจะคุ้มในระยะยาว

https://www.facebook.com/rungsrit.kanjanavanit/posts/10206106358694391
 โพสต์ของหมอหม่องช่วงนั่งขายเสื้อยืดทำเองเพื่อหาทุนแก้ฝุ่นควันภาคเหนือ

คือมนุษย์เองก็ต้องยอมรับว่า ในการแก้ปัญหาเราก็ต้องยอมได้รับผลกระทบด้วย?

แน่นอน ถ้าทุกคนคิดจะสบาย ในที่สุดมันจะไม่สบาย ปัญหาคือทุกคนมองแต่เรื่องส่วนตัว มองแคบ ๆ สั้น ๆ ไม่มองส่วนรวม แต่ถ้าเรามองให้เห็นความเชื่อมโยง เราก็จะมองได้ไกล และกว้างขึ้น

ต่อประเด็นที่คนเมืองโทษชาวบ้านว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควัน คุณหมอมีมุมมองอย่างไรต่อเรื่องนี้บ้าง

ในกรณีเชียงใหม่ เราก็ต้องยอมรับนะว่ามันมาจากภาคการเกษตรเยอะ แล้วมันเป็นเรื่องข้ามชาติด้วย ฝุ่นไม่ได้ว่ามีวีซ่า พาสปอร์ต (หัวเราะ) ทำไมในสิบปีนี้มันถึงหนักมาก มันก็จะเชื่อมโยงกับบริษัทต่าง ๆ กับทุนต่าง ๆ ที่เข้าไป มีการขยายพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว มันเกี่ยวข้องหลายเรื่อง เราไม่ค่อยมีองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาอย่างชัดเจนด้วย เช่น การจัดการไฟมันก็มีองค์ความรู้อยู่ เพียงแต่กระจัดกระจาย ผมคิดว่าการหาวิธีจัดการกับปัญหาให้เหมาะสมกับพื้นที่ยังเป็นเรื่องที่เราลงแรงไปน้อย ทางออกมันไม่เหมือนเสื้อยืดฟรีไซส์ที่ใคร ๆ ก็ใส่ได้ แต่เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ว่าจะแก้ปัญหายังไง ปัญหาฝุ่นควันที่กรุงเทพฯ กับปัญหาฝุ่นควันที่เชียงใหม่ก็ต้องมีการจัดการที่ต่างกันออกไป เพียงแต่ปัจจัยที่เหมือน

ในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพ มนุษย์ในแต่ละช่วงอายุจะได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ต่างกันไปไหม

แตกต่างครับ มันมีผลกระทบกับเด็กตั้งแต่ในครรภ์ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางสมอง เด็กจะมีไอคิวต่ำลง เอาง่าย ๆ คือ เด็กสูบบุหรี่ตั้งแต่ในครรภ์น่ะ ทุก ๆ 22 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตรเนี่ยเท่ากับบุหรี่หนึ่งมวน เพราะฉะนั้นในเชียงใหม่ที่บางทีขึ้นไป 4-5 ร้อยเนี่ย มันเท่ากับบุหรี่สองซอง ส่วนในกรณีของผู้สูงอายุ ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด หรือโรคอ้วนก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

แต่จะบอกว่าลูกเด็กเล็กแดง คนแก่คนเฒ่า คนยากคนจน จะโดนฝุ่นเท่ากันหมดก็ไม่เชิงนะ เพราะการปกป้องตัวเองต่อ PM 2.5 คนที่มีการศึกษา คนที่มีสตางค์เขาทำได้ดีกว่าเยอะ สมมติว่าเราไปแนะนำกับชาวบ้านว่า ต้องติดเครื่องกรองอากาศนะ ชาวบ้านเขาทำไม่ได้ เขาโดนเต็ม ๆ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นตอของปัญหา ไปจนถึงการจัดการกับปัญหาเลย

เราพอจะมีวิธีอะไรป้องกัน PM 2.5 ในชีวิตประจำวันได้บ้าง

เราก็ต้องยอมใส่หน้ากากที่มันอึดอัดนะ เพราะหน้ากากที่ไม่อึดอัดมันไม่ได้ผล หน้ากากอนามัยต้องครอบสนิท หรือถ้าเห็นว่าค่าฝุ่นละอองขึ้นสูง ก็พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอก อยู่ในอาคารอาจยังพอลดได้บ้าง ยังพอติดตั้งเครื่องกรองอากาศ แต่ซึ่งมันก็จะไปเพิ่มค่าไฟอีกมากมาย กินน้ำเยอะ ๆ ก็ช่วยได้ เพราะน้ำจะช่วยชะล้างฝุ่นในทางเดินหายใจ

PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างชัดเจน แล้วถ้ากับธรรมชาติล่ะ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในธรรมชาติได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ไหม

มีแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกเนี่ย จริง ๆ โดนหนักกว่าคนนะ เพราะอัตราการหายใจ หรืออัตราการเผาผลาญพลังงานสูงกว่า อย่างสมัยก่อน เวลาคนทำเหมืองแล้วต้องลงไปใต้ดิน เขาไม่ได้มีเครื่องวัดอ็อกซิเจน เครื่องวัดแก๊สพิษ แต่เขาจะเอานกคีรีบูนแล้วถือลงไปด้วย ถ้าเห็นว่านกมันหงอยขึ้นมา เขาก็จะรู้แล้วว่ามีแก๊สพิษ หรืออย่างสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข กับแมวก็ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น

และแน่นอนว่า ปัญหาเรื่องหมอกควันก็เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนอย่างมาก เพราะมันเกิดจากการเผาไหม้ แต่ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องหมอกควันได้ มันก็ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนไปด้วยได้ ผมคิดว่าถ้าเราสื่อสารประเด็นโลกร้อนผ่านปัญหาหมอกควันที่กระทบสุขภาพเนี่ย มันน่าจะสื่อถึงได้มากกว่า ภาวะโลกร้อนน่ะสักวันจะถึงต้วพวกเขาแน่นอน เพียงแต่มันจะมาถึงในมุมของระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งบางทีผู้คนก็ยังจินตนาการไม่ออก

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม