ผ่านมาแล้วเป็นเวลากว่า 7 เดือน ที่เรือเอสเพอรันซา ของกรีนพีซได้ออกเดินทางสำรวจพื้นที่ในมหาสมุทรเรื่อยมาตั้งแต่ทวีปอาร์กติกที่อยู่เหนือสุด ไปจนถึงทวีปแอนตาร์กติกที่อยู่ใต้สุด เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูล หลักฐานของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์ เพื่อมาใช้สนับสนุนข้อเสนอให้องค์การสหประชาชาติรับรองสนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) ปัจจุบัน เรือเอสเพอรันซาได้เดินทางมาถึง บริเวณเขตภูเขาใต้ทะเลวีมา (Vema Seamouth) ใกล้กับเมืองเคปทาวน์ ของประเทศแอฟริกาใต้  

จาก “ความบังเอิญ” สู่การค้นพบแหล่งอาหารจานเด็ด

พื้นที่เขตภูเขาใต้ทะเลวีมาถูกค้นพบโดยบังเอิญระหว่างการสำรวจหาสายธารแหล่งแร่เพชรในทะเล แม้ว่าจะต้องผิดหวังเพราะไม่พบแร่เพชรตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่นักสำรวจก็ไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า เพราะนักสำรวจได้พบกับแหล่งที่อยู่ของกุ้งร็อคล็อบสเตอร์ (Tristan Rock Lobster) ซึ่งเป็นกุ้งที่สามารถพบได้เฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น กุ้งร็อคล็อบสเตอร์ ถือเป็นอาหารจานโปรดของบรรดาคนรักอาหารทะเล และมีราคาขายที่แพง ส่งผลให้มีการทำประมงอย่างหนักเพื่อจับกุ้งชนิดนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของของผู้บริโภค จนทำให้จำนวนประชากรกุ้งร็อคล็อบสเตอร์ลดลงอย่างรวดเร็ว และยังคงไม่ฟื้นตัวจนถึงทุกวันนี้

Marine Wildlife at Vema Seamount. © Richard Barnden / Greenpeace
กุ้งร็อคล็อบสเตอร์ (Tristan Rock Lobster) ซึ่งเป็นกุ้งที่สามารถพบได้เฉพาะบริเวณภูเขาใต้ทะเลเท่านั้น
© Richard Barnden / Greenpeace © Richard Barnden / Greenpeace

ขณะที่ ตัวภูเขาใต้ทะเลวีมา สันนิษฐานว่าค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยเรือวิจัยทางสมุทรศาสตร์ที่ภายหลังนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อของภูเขาแห่งนี้  จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ระบุว่า ภูเขาใต้ทะเลวีมามีความสูงจากพื้นมหาสมุทรถึงปากปล่องที่ 4,600 เมตร สูงกว่าภูเขารูปโต๊ะ (The Table Mountain) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลกยุคใหม่ที่ตั้งอยู่ในประเทศแอฟริกาถึง 4-5 เท่า หรือเท่ากับต้องนำยีราฟ 767 ตัวมาต่อตัวซ้อนกันถึงจะสูงเท่ากับยอดของภูเขาใต้ทะเลวีมาเลยทีเดียว นอกจากนี้ จากลักษณะระบบนิเวศที่ซับซ้อนของภูเขาใต้ทะเลวีมา ที่อุดมไปด้วยสารอาหารชั้นดีสำหรับสัตว์ทะเลยังดึงดูดสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ให้มายังเขตภูเขาใต้ทะเล เพื่อหาอาหาร หรืออพยพมาเพื่อให้กำเนิดสัตว์น้ำรุ่นต่อไปจำนวนมาก นับตั้งแต่กุ้งร็อคล็อบสเตอร์ที่กล่าวมาข้างต้น ไปจนถึงฉลาม เต่า และวาฬขนาดใหญ่

Diving Operation at Vema Seamount. © Richard Barnden / Greenpeace
นักประดาน้ำกำลังสำรวจบริเวณยอดภูเขาใต้ทะเลซึ่งปกคลุมไปด้วยสาหร่าย ฟองน้ำ และปะการังวัยอ่อน © Richard Barnden / Greenpeace

เศษอวน “ฆาตกรร้าย” จากความมักง่าย 

ในท่ามกลางความพิเศษและอุดมสมบูรณ์ของเขตภูเขาใต้ทะเลวีมาที่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ให้เข้ามา ยังรวมถึงมนุษย์และเรือจำนวนมากที่เข้ามาทำประมงในน่านน้ำแห่งนี้ ผลสืบเนื่องที่ตามมานอกเหนือจากปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงก็คือ เศษซวกอวน (ghost gear) ที่ถูกทิ้งจากเรือประมง โดยบางส่วนลอยออกสู่ทะเลเปิด และพันเข้ากับสัตว์ทะเล เช่น วาฬ เต่า หรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ คร่าชีวิตสัตว์หายากจำนวนมากให้ยิ่งลดจำนวนเหลือน้อยลงเรื่อยๆ 

Ghost Fishing Nets in the Great Pacific Garbage Patch. © Justin Hofman / Greenpeace
เศษอวนที่พบบริเวณแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก © Justin Hofman / Greenpeace

 เศษอวนที่มีซากสัตว์ถ่วงอยู่นั้นจะจมลงสู่พื้นทะเล ก่อนจะลอยกลับขึ้นมาใหม่หลังสัตว์กินซากกำจัดซากสัตว์ออกจากเศษอวน วนลูปการทำลายล้างอยู่อย่างนี้และในหลายครั้ง เศษอวนยังสร้างความเสียหายให้กับแนวประการังที่เป็นที่อยู่อาศัย และอนุบาลปลาวัยอ่อนอีกด้วย

จากการสำรวจพบว่า ในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว และประเมินว่ามีเศษอวนลอยอยู่ในทะเลมากถึง 600,00- 800,000 เมตริกตัน หรือใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอลหนึ่งเลยทีเดียว ในประเทศไทยเอง ในปีนี้ ก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องจบชีวิตลงเพราะเป็นเหยื่อของเศษอวนเช่นกัน เช่น กรณีของลูกพะยูนมาเรียมและยามีล 

นอกจากนี้ เศษอวนยังใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 600 ปี และจะปล่อยไมโครพลาสติกออกมาปนเปื้อนขยะย่อยสลาย ซึ่งสุดท้ายจะกลับเข้าไปสะสมอยู่ในตัวปลาขนาดเล็ก ที่มนุษย์นิยมนำมาบริโภคกัน

“สนธิสัญญาทะเลหลวง” การต่อสู้เพื่อปกป้องมหาสมุทรของเรา

เช่นเดียวกับแหล่งทรัพยากรทางทะเลหลายแห่งในโลก เขตภูเขาใต้ทะเลวีมานั้นตั้งอยู่พื้นที่ทะเลหลวง (High Sea) หมายถึงส่วนทั้งหมดของทะเลที่มีอยู่นั้น ไม่อยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของรัฐหนึ่งรัฐใดโดยเฉพาะ ข้อดีของพื้นที่ทะเลหลวงคือ ทุกรัฐมีเสรีภาพในการใช้ทะเลหลวง เพื่อการเดินเรือ การบิน การประมง การสร้างและติดตั้งอื่นๆ รวมถึงการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็ทำให้ยากต่อการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะยังมีช่องว่างทางกฎหมาย ทั้งด้านกายภาพและเขตอำนาจของรัฐชายฝั่ง ซึ่งเอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรมทำลายล้าง เช่น กลุ่มที่ทำเหมืองแร่ในทะเล และกลุ่มอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่นำมาใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่

สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) เป็นประเด็นที่กรีนพีซ ร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อเสนอให้องค์การสหประชาชาติประกาศรับรองการสร้างเขตปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 จากพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อหยุดยั้งและปกป้องระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษเช่น ภูเขาใต้ะทะเลวีมา และในที่อื่นๆ ให้ไม่ถูกทำลาย และเสียหายไปมากกว่าที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีประชุมหารือในประเด็นสนธิสัญญาทะเลหลวง ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทร เป็นครั้งที่ 3 แล้ว

Greenpeace International Side Event at the United Nations in New York. © Stephanie Keith / Greenpeace
รูปปั้นรูปวาฬและเต่าถูกจัดแสดงบริเวณสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภ้ยคุกคามของอุตสาหกรรมการประมง © Stephanie Keith / Greenpeace

คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องกับรัฐบาลทั่วโลกให้มาสนับสนุนการปกป้องมหาสมุทรและมรดกความหลากหลายทางชีวภาพของโลก มาร่วมแชร์การรณรงค์ระดับโลกในครั้งนี้ให้กับใครก็ตามที่รักผืนมหาสมุทรสีน้ำเงินนี้ด้วยเช่นกัน

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม