ทุกวันนี้โลกเราเต็มไปด้วยขยะแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการขยายตัวของประชากรมนุษย์ ไปพร้อม ๆ กับการเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ ก็คือ มีคนมากขึ้น มีกำลังบริโภคมากขึ้น ขยะเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด

เพราะในยุคปัจจุบัน มันมีภาวะของ “สังคมใช้แล้วทิ้ง” นั่นคือเรามีวัฒนธรรมซื้อของมาใช้แบบไม่นานแล้วก็ทิ้งอย่างหนักข้อขึ้นกว่าคนสมัยก่อนเยอะ และวัฒนธรรมแบบนี้ยิ่งทำให้ปัญหาการขยายตัวของขยะในโลกนี้หนักข้อขึ้นอีก จากที่มันต้องหนักอยู่แล้วจากประชากรของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น

ภาวะของ “สังคมใช้แล้วทิ้ง” เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เราบริโภค ตั้งแต่ ภาชนะที่เราใช้กินอาหาร เสื้อผ้าที่เราใส่ แต่สิ่งที่เราอยากจะยกมาพูดถึงในที่นี้ก็คือเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นขยะรูปแบบที่น่าจะขยายตัวมากที่สุดรูปแบบหนึ่งในช่วงหลายสิบปีหลัง โดยเฉพาะในยุค 4.0

Children Playing between Electronic Waste in Jombang. © Fully Syafi / Greenpeace
เด็ก ๆ วิ่งเล่นบนกองขยะอิเล็กทรอนิกส์บริเวณแหล่งคัดแยกขยะในเมือง Jombang ประเทศอิโดนีเซีย © Fully Syafi / Greenpeace

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่มนุษย์เริ่มใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าได้ราว 100 กว่าปีก่อน สิ่งที่ตามมาก็คือการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัด ซึ่งในตอนแรกก็มักจะมีราคาแพงตามประสาสินค้านวัตกรรม พูดง่าย ๆ คือเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” ที่มีแต่คนมีอันจะกินเท่านั้นถึงจะมีปัญญาซื้อ แต่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ก็คงจะเรียกได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นแล้วชิ้นเล่าค่อย  ๆ กลายมาเป็น “สิ่งจำเป็น” ในมาตรฐานชีวิตของมนุษย์ในทุกชนชั้น แต่ประเด็นคือ จากยุคที่ “ทีวีตู้เย็น จำเป็นต้องใช้” มาถึงยุคที่สังคมคาดหวังให้คนทุกคนมีสมาร์ทโฟนดังเช่นทุกวันนี้ พฤติกรรมของเราก็มีความเปลี่ยนแปลงไป

เพราะอย่างน้อย ๆ ก็คงจะมีคนไม่กี่คน เปลี่ยน “ทีวีตู้เย็น” บ่อยเท่าสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ผลก็คือสิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมากมายมหาศาล และก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าในยุค “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things) ที่จะเกิดขึ้นต่อไป มันจะยิ่งผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลายเท่าทวีคูณขึ้นไปอีก

บางคนอาจบอกว่าทั้งหมดนี้คือ “ราคาของความก้าวหน้า” แต่ในความเป็นจริง มันไม่มีความจำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเลย เพราะถ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีฮาร์ดแวร์ที่คงทน สามารถเปลี่ยนส่วนที่ต้องเปลี่ยนได้ง่าย เราจะไม่อยู่ในภาวะของ “สังคมใช้แล้วทิ้ง” หนักขนาดนี้”

แต่ที่เราต้องอยู่กันแบบนี้ ก็เพราะอุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำในสิ่งตรงกันข้าม กล่าวคือ อุตสาหกรรมเหล่านี้จงใจที่จะผลิตฮาร์ดแวร์ที่มีอายุใช้งานจำกัด จงใจจะทำให้การเปลี่ยนอะไหล่ภายในอุปกรณ์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก รวมไปถึงจงใจที่จะหยุดอัปเดตซอฟต์แวร์ให้อุปกรณ์มีฮาร์ดแวร์เก่า

Disassembly of a Samsung Note Galaxy 7. © Fred Dott / Greenpeace
ยิ่งฮาร์ดแวร์มีอายุสั้นเท่าไหร่ ยิ่งก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเท่านั้น © Fred Dott / Greenpeace

พูดให้ชัดก็คือ เราอยู่ในระบบที่ผู้ผลิตจงใจผลิตสินค้าที่มีอายุการใช้งานจำกัดโดยไม่จำเป็น เพื่อที่จะทำให้เราต้องทิ้งสินค้าตัวเก่า ไปซื้อสินค้าตัวใหม่ไปเรื่อย ๆ

ซึ่งพอพูดถึงประเด็นนี้ เคสที่คลาสสิคที่สุดคือเคสตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่พวกบริษัทผลิตหลอดไฟ รวมหัวกันผลิตหลอดไฟที่ใช้ได้แค่ 1,000 ชั่วโมงมาขาย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาผลิตหลอดไฟที่ใช้ได้ 100,000 ชั่วโมงได้แล้ว แต่ถ้าขืนผลิตหลอดไฟที่ใช้ได้ยาวนานขนาดนั้นมาให้คนใช้ ผลก็คือคนก็ไม่ซื้อหลอดไฟใหม่กันพอดี พวกเขาก็ไม่ได้เงิน [1]

อย่างไรก็ดี การกระทำแบบนี้ก็หายไปในช่วงการขยายตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เพราะยุคนั้น บริษัทไหนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไปแล้วเสียไว ก็คงไม่มีใครอยากซื้อ ดังนั้นทุกบริษัทจึงแข่งกันผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คงทนที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ

หรือเอาจริง ๆ แม้แต่ยุคแรกของคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริโภคทั่วไปในช่วงสัก 20-30 ปีที่แล้ว คอมพิวเตอร์สมัยนั้นยังทนกว่าสมัยนี้เลย หรืออย่างน้อย ๆ บริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ออกมาก็ไม่ได้ขัดขวางการ “ซ่อม” ของผู้ซื้อ เรียกได้ว่า ถึงคอมพิวเตอร์จะซับซ้อน อายุการใช้งานของแต่ละส่วนประกอบไม่เท่ากัน แต่ส่วนไหนพังไป ทางผู้ใช้ก็แค่ซื้อส่วนนั้นมาเปลี่ยนแล้วก็ใช้ต่อได้ ไม่ต้องไปซื้อเครื่องใหม่แล้วโยนเครื่องเก่าทิ้งทั้งเครื่อง

แต่มาสมัยนี้น่ะเหรอ? มันแทบจะเป็นมาตรฐานใหม่ไปแล้วของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะขัดขวางทุกทางไม่ให้ผู้ใช้ “ซ่อม” อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เองได้ และนี่เป็นคนละโลกกับยุคก่อนที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะมี “คู่มือการซ่อม” ติดมาด้วย สมัยนี้มันไม่มีแล้ว ซึ่งภาวะแบบนี้มีตั้งแต่การสร้างอุปสรรคทางกายภาพที่ทางผู้ผลิตเชื่อมให้ส่วนที่ไม่จำเป็นต้องติดกันมันติดกันจนซ่อมไม่ได้ ใช้น็อตแบบที่หาไขควงตามท้องตลาดมาไขไม่ได้ ไปจนถึงการขู่ว่าการแกะแงะอะไรอุปกรณ์จะทำให้สินค้า “หมดประกัน”

Electronic Waste Worker in Jombang. © Fully Syafi / Greenpeace
กองขยะจากจอคอมพิวเตอร์ © Fully Syafi / Greenpeace

ประสบการณ์อยากจะซ่อมเองแต่ซ่อมไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขเหล่านี้ น่าจะเคยเกิดกับทุกคนที่พอมีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่กับคนส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะพวกเขาอยู่ใน “สังคมใช้แล้วทิ้ง” โดยสมบูรณ์แล้ว กล่าวคือ การอยู่ในสังคมแบบนี้นาน ๆ มันทำให้การ “ซ่อมเพื่อให้ใช้ได้ต่อ” กลายมาเป็นทางเลือกที่ไม่ได้อยู่ในหัวแล้วด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่เป็นภาวะปกติคือ ถ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสีย ก็ต้องทิ้ง แล้วก็ซื้อใหม่

ที่เลวร้ายกว่านั้น การที่ทุกคนคิดแบบนี้ ก็อาจเป็นเพราะทุกคนก็น่าจะเคยประสบภาวะว่าจะเอาอุปกรณ์ไปซ่อมที ค่าซ่อมก็ดันพอ ๆ กับซื้อเครื่องใหม่ ดังนั้นซื้อเครื่องใหม่ดีกว่า

ซึ่งประเด็นก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้มันถูกออกแบบระดับฮาร์ดแวร์มาให้ใช้วัตถุดิบที่ราคาถูกและไม่คงทนหมด ดังนั้นถึงไปจ้างคนให้เปลี่ยนอะไหล่ ก็ใช้ไม่ได้นานอยู่ดี เพราะสิ่งที่มาเปลี่ยนก็ไม่ทน เปลี่ยนไปก็ไม่คุ้มค่าแรง สุดท้ายทุกคนก็ซื้อใหม่

Hong Kong E-waste Re-Exportation from the Philippines. © Froilan Gallardo / Greenpeace
ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะถูกส่งมาที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา © Froilan Gallardo / Greenpeace

ถ้าจะถามว่าภาวะแบบนี้ “จำเป็น” ที่จะต้องเกิดขึ้นหรือไม่? คำตอบคือไม่ ในทางเทคโนโลยี มันสามารถผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่คงทนกว่าที่ใช้ในตลาดผู้บริโภคได้เยอะแยะ (ไม่งั้นคงจะผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานอวกาศกันไม่ได้หรอก) แต่ในตลาดสินค้าผู้บริโภค ทางผู้ผลิตน่าจะทุกเจ้า เลือกแต่ใช้ของไม่คงทนมาผลิตสินค้าขาย และพอบวกไปกับกลไกการป้องกันการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ว่ามา ผลก็คือระบบที่จะบีบให้คนต้องซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่เรื่อย ๆ โดยสมบูรณ์

Repair Cafe at Greenpeace Office in Hamburg. © Greenpeace / Tobias Goebbels
การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถให้ผู้บริโภคซ่อมได้คือหนึ่งในทางออกของการลดการบริโภคที่เกิดขนาด © Greenpeace / Tobias Goebbels

ทั้งหมดคือวังวนที่เราติดอยู่ในปัจจุบัน และเราก็คงยากจะทำอะไรเองได้ตราบที่ ไม่มีผู้ผลิต “สิ่งจำเป็นไฮเทค” สักเจ้า ลุกขึ้นมาเน้นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คงทน ซ่อมและอัปเกรดฮาร์ดแวร์ได้เรื่อย ๆ ทางผู้บริโภคอย่างเราจะได้มีทางเลือกในการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์น้อยลงไปบ้าง

อ้างอิง[1]

ทุกวันนี้มีการถกเถียงกันว่าเอาจริง ๆ สมัยนั้นผลิตหลอดไฟที่ใช้ได้นาน 100,000 ชั่วโมงได้จริงเหรอ แต่ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้พื้นฐานก็ไม่เปลี่ยน คือบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการรวมหัวกันผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุเร็วกว่าที่เทคโนโลยีจะทำได้ เพื่อให้คนต้องซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าบ่อยๆ ดู https://spectrum.ieee.org/tech-history/dawn-of-electronics/the-great-lightbulb-conspiracy