‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’ 

เป็นคำถามติดตลกที่ใครหลายคนต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอน อาจทำให้ปวดหัวเสียมากกว่าด้วย แต่สิ่งที่น่าสงสัยมากกว่านั้นทำไมไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า แล้วอะไรอยู่ในไก่กับไข่บ้าง นอกจากเนื้อของไก่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่า และไข่ที่ประกอบไปด้วยไข่ขาว และไข่แดง มันมีอะไรมากกว่านั้นอีกหรือเปล่า

กิจกรรมฉายภาพยนตร์สารดคีเรื่อง Eating Animals พร้อมวงเวสนาในประเด็น What’s in our meat? มีอะไรในเนื้อสัตว์ที่เรากิน ต้อนรับสัปดาห์อาหาโลก @ Puchong Saelao / Greenpeace

เราได้มีโอกาสได้ไปฟังเสวนาหัวข้อ “What’s on your meat ? มีอะไรในเนื้อสัตว์ที่เรากิน?” เป็นงานเสวนาที่ถูกจัดขึ้นหลังการฉายภาพยนตร์ Eating Animals ที่ LIDO CONNECT ต้อนรับสัปดาห์อาหารโลก ภายในงานเสวนามี ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คุณอำนาจ เรียนสร้อย เกษตรกรเลี้ยงไก่อินทรีย์เจ้าของฟาร์มแทนคุณ ออร์แกนิค และคุณรัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ จากกรีนพีซประเทศไทย ทั้งสามคนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์กันอย่างสนุกสนาน จากงานเสวนานี้เปลี่ยนสายตาที่มองแต่เนื้อไก่ของฉันเป็นโลกอีกใบไปเลย

ในประเทศไทยมีการเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรพันธสัญญาด้วยหรอ ?

ตอนที่ได้ยินครั้งแรกก็เกิดความสงสัยอย่างแรกเลยว่าเกษตรพันธสัญญาคืออะไร ต้องขออธิบายให้เข้าใจกันง่าย ๆ ว่าเกษตรพันธสัญญาคือรูปแบบการเลี้ยงที่มีการทำสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรและผู้ผลิต และจะซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกรตามราคาที่ตกลงกัน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อครบสัญญาแล้วเท่านั้น แต่จากที่เราดูจากในหนัง ฟาร์มทุกฟาร์มจะแข่งกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากที่สุดโดยการใช้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่ได้ในแบบที่ควรจะเป็น  คุณอำนาจเล่าว่าในประเทศไทย ไม่ได้ต่างจากภาพยนตร์ที่เราได้ดู เพราะมีการลอกเลียนแบบกันมาทั้งหมดเลยแต่อาจเกิดขึ้นช้ากว่าเฉย ๆ

จุดเริ่มต้นของแทนคุณ ออร์แกนิค

คุณอำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของฟาร์มแทนคุณออร์แกนิค เล่าว่าในตอนแรกเคยทำงานในอุตสาหกรรมปศุสัตว์มาก่อนเหมือนกันแต่ตอนนี้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรวิถีอินทรีย์ได้สี่ปีกว่าแล้ว “เพราะว่าระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์นั้นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือเจ้าของบริษัท ไม่สามารถช่วยเกษตรกรได้อย่างแท้จริง และเหตุผลที่เลือกหันหลังให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์คือ อยากเป็นเกษตรกรที่ยั่งยืน”  ทุกวันนี้ฟาร์มของคุณอำนาจจึงเป็นเลี้ยงสัตว์เชิงนิเวศ คือมีความหลากหลายทั้งทางด้านสายพันธุ์ อาหารที่ให้สัตว์กินเป็นการนำมาจากพืช ผักที่ปลูกกันเองในฟาร์ม และการเลี้ยงแบบปล่อยจึงทำให้สัตว์ไม่เครียดและมีสุขภาพแข็งแรงไม่ป่วยง่ายซึ่งจะแตกต่างจากการเลี้ยงแบบเกษตรพันธสัญญาเนื่องจากการเลี้ยงในพื้นที่แออัด ซ้อนกันเป็นกรงตัดหลายชั้น แสงแดดส่องไม่ถึง ทำให้สัตว์เกิดความเครียด และป่วย จำเป็นต้องใช้ยาในที่สุด

คุณอำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของฟาร์มแทนคุณออร์แกนิค @ Puchong Saelao / Greenpeace

มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ด้วย !!??

ยาคือปัจจัยสี่ ที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่าเรากินเพื่อรักษาโรค แต่ในการเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรพันธสัญญาหรือในการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมทั่วไปนั้นผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี กล่าวว่า เกษตรกรมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์มากขึ้นโดยเกษตรกรเชื่อว่าการผสมยาปฏิชีวนะในอาหารของสัตว์นั้นจะช่วยให้สัตว์มีน้ำหนักมากขึ้น โตเร็วขึ้น และป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กลายเป็นว่าในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์นั้น ยาปฏิชีวนะไม่ได้ถูกใช้เพื่อการรักษาโรค แต่ ถูกอย่างผิดวิธีและเกินความจำเป็น คือใช้เพื่อป้องกันและเพิ่มกำลังการผลิตแทน เท่ากับว่าในเนื้อสัตว์ที่เรากินอาจมียาปฏิชีวนะตกค้างอยู่

พออ่านมาถึงตรงนี้แล้วถ้าไก่ในฟาร์คุณอำนาจป่วย เราสามารถทำอะไรได้บ้าง คุณอำนาจเป็นนักสัตวบาลมาก่อน จึงมีวิธีจัดการทำอย่างไรสัตว์จึงมีสุขภาพที่แข็งแรง หรือถ้าหากสัตว์ป่วยคุณอำนาจเลือกที่จะใช้จุลินทรีย์ หรือการผสมสมุนไพรลงไปในอาหาร และแยกสัตว์ที่ป่วยออกมาและเชื่อมั่นในกระบวนการ natural selection คือให้ธรรมชาติช่วยคัดสรรเอง

เราเดือดร้อนอะไรกับการที่สัตว์มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์

ย้อนกลับไปในช่วง 70-80 ปีก่อน มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะ หรือ เพนนิซิลิน (Pennicillin) ขึ้นมาเพื่อป้องกันโรคติดต่อ หรือติดเชื้อ หรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียในรูปแบบต่าง ๆ  แต่การทานยาปฏิชีวนะนอกจากจะฆ่าแบคทีเรียร้ายแล้ว ยังเป็นการฆ่าแบคทีเรียที่ดีด้วย และมีความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะปรับตัวให้ทนทานต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้นมากขึ้น และส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา การที่เราได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะเร่งการดื้อยาให้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้การที่เราทานเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะตกค้างอาจส่งผลกระทบตามมา เสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาได้ง่ายหากร่างกายไม่แข็งแรง

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา พูดถีงการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม @ Puchong Saelao / Greenpeace

การแพร่กระจายของเชื้อโรคและเชื้อยาปฏิชีวนะนั้นไม่ได้เพียงพบได้แต่ในเนื้อสัตว์ที่เราทาน เชื้อโรคยังสามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้าง ผ่านทางอากาศ คนงานในฟาร์ม น้องหมาแสนน่ารัก รวมไปถึงแมลงวันที่บินไปได้ทุกที่เหมือนสัญญาณโทรศัพท์  อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อุตสาหกรรมปศุสัตว์กับสิ่งแวดล้อม

การทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนโดยตรง คุณรัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ จากกรีนพีซประเทศไทย  เปรียบเทียบให้เราเห็นได้ง่ายขึ้นว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เทียบเท่ากับการคมนาคมทั้งหมด รถยนต์ เรือ เครื่องบิน และนี่ยังไม่รวมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอนที่ผ่านมา สาเหตุหลักมากจาก การบุกรุกพื้นที่ป่า ร้อยละ 80 ของการบุกรุกนั้นเป็นการบุกรุกเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเลี้ยงสัตว์ “ในบางทีเนื้อไก่ที่เรากินอาจทำให้เกิดภูเขาหัวโล้นที่เราเห็นเวลานั่งรถไปต่างจังหวัดก็ได้” 

Inversora Juramento Estate in Argentina. © Sebastian Pani / Greenpeace
ภาพมุมสูงของการเลี้ยงปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่ต้องแลกมาด้วยผืนป่า © Sebastian Pani / Greenpeace

 Right to know เป็นสิทธิ์ของเราทุกคน

ปัจจุบันเวลาเราไปซื้อของในซูเปอร์มาเก็ตเป็นเรื่องง่าย แค่มอง ดู หยิบ จ่ายเงิน ระบบแบบนี้ทำให้เราถูกตัดขาดจากการรู้ที่มาของอาหาร ทำให้เราไม่รู้เลยว่าอาหารที่เรากินมีที่มาอย่างไร เช่น สัตว์มีการเลี้ยงดูแบบไหน อาหารที่สัตว์กินนั้นมาจากการตัดไม้ทำลายป่าหรือก่อหมอกควันพิษหรือไม่ ใช้ยาปฏิชีวนะมากน้อยเพียงใดในการเลี้ยงดู มีการเลี้ยงดูแบบปิดหรือเปิด ซึ่งถ้าผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านฉลากก่อนซื้ออาจทำให้ปัญหายาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์นั้นลดลงได้

การติดฉลากบอกที่มาถึงรูปแบบการเลี้ยง วัตถุดิบอาหารสัตว์ และจำนวนยาปฏิชีวนะที่ใช้ คือทางออกในการปกป้องสุขภาพคนไทยและสิ่งแวดล้อม @ Arnaud Vittet / Greenpeace

คุณรัตนศิริ เล่าให้ฟังว่า ระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในตอนนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตหายไป หากเราทำความรู้จักกับผู้ผลิตหรือลองไปเดินตลาดอินทรีย์มากขึ้น ดูว่าอาหารแบบไหนที่เราชอบ การที่เราจ่ายเงินซื้อสินค้าเท่ากับเราเลือกจะสนับสนุนสิ่งเหล่านั้น โอกาสการเติบโตของตลาดเกษตรอินทรีย์ที่มีมากขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีการเลี้ยงแบบยั่งยืนแทนที่จะอยู่ในระบบของอุตสาหกรรมปศุสัตว์

“ในรุ่นเราตอนนี้คงยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ต่อจากนี้อีก 30 ปีข้างหน้าการที่มีอาหารที่ดีจะกลายเป็นเรื่องยาก ความมั่นคงทางอาหารหายไป สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่เราต้องแลกกับอาหารราคาถูก” – รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ กล่าว

ปัจจุบันตลาดการผลิตเปลี่ยนแปลงตามกระแสของผู้บริโภคอย่างชัดเจน หากผู้บริโภคตระหนัก และนึกถึงคุณภาพของสินค้าที่เราจะได้มาอย่างปลอดภัยและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

ดูวีดีโองานเสนาได้ที่นี่

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม