ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงานต่างก็ชอบแต่งตัว มีความสุขกับการชอปปิ้งเลือกเสื้อผ้า เมื่อเราไปเดินเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ก็จะพบเจอแต่คนหนุ่มสาวที่แต่งตัวดี ดูมีสไตล์ ตามแฟชั่น แต่รู้ไหมคะว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นที่คุณสวมใส่ เป็นอีกหนึ่งต้นตอของการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเสื้อผ้า Fast Fashion

HIGHLIGHT

  • Fast Fashion หมายถึง สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมาก ๆ
  • รู้หรือไม่ ? เสื้อผ้าเหล่านั้นที่คุณสวมใส่ เป็นอีกหนึ่งต้นตอของการทำลายสิ่งแวดล้อม
  • เมื่อสินค้าแฟชั่นกลายเป็นผลผลิตของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกประเภทหนึ่ง
  • หากสมมติว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นประเทศ 1 ประเทศ ก็จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเท่าๆกับทวีปยุโรปทั้งหมด
'Toxic Glamour' Fashion Shoot in China. © Lance Lee / Greenpeace

ภาพนางแบบกับเบื้องหลังคือผลกระทบจากอุตสาหกรรม Fast Fashion ในประเทศจีน

Fast Fashion คืออะไร?

ในยุค 2019 นี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Fast Fashion หรือที่แปลตรง ๆ ก็คือ แฟชั่นรวดเร็ว หมายถึง เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นต่าง ๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมาก ๆ และใส่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งแล้วไปซื้อตัวใหม่แทน อย่างไรก็ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลมาจาก Fast Fashion นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“มาเร็ว ไปเร็ว แต่ทิ้งผลกระทบไว้มหาศาล”

อุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับผลกระทบที่มีต่อโลกใบนี้ ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้กระทั่งนักออกแบบแฟชั่นชาวอังกฤษอย่าง Phoebe English ยังบอกว่าอุตสาหกรรมนี้เป็น “อุตสาหกรรมที่ใช้แล้วทิ้งอย่างมหึมา” ในช่วง London Fashion Week เราได้ตรวจสอบหลักฐานที่รวบรวมไว้ในการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับ Fast Fashion

Fast Fashion เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบใหม่หรือไม่ ?

สหราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางของ Fast Fashion ในยุโรป โดยในทุก ๆ ปี ประชากรแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าประมาณ 26.7 กิโลกรัม เทียบกับค่าเฉลี่ย 15.6 กิโลกรัม สำหรับผู้คนทั่วประเทศเยอรมนี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน แต่ด้วยการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของการบริโภค ทำให้ขยะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

“เมื่อสินค้าแฟชั่นกลายเป็นผลผลิตของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอีกประเภทหนึ่ง”

 

เมื่อเราซื้อเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์เท่ากับว่าเรากำลังสวมใส่เชื้อเพลิงฟอสซิล

สัดส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้าของเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2562 

เส้นใยเหล่านี้ผลิตจากน้ำมัน เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีรอยเท้าคาร์บอน 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีรอยเท้าคาร์บอนเพียง 2.1 กิโลกรัม 

หากความต้องการยังคงเติบโตในอัตราปัจจุบัน ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,978 ล้านตันภายในปี 2593 ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอินเดียเกือบสองเท่าในปี 2561 นั่นหมายความว่าภายในปี 2593 อุตสาหกรรมนี้จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งถึง 2 องศาเซลเซียส ถึงร้อยละ 26 จากทั้งหมด

อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงประมาณ 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ารอยเท้าคาร์บอนของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกันเสียอีก นอกเหนือจากผลกระทบการผลิตสิ่งทอแล้ว ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ คือ การซักเสื้อผ้าและวิธีการทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งยิ่งทำให้เราเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุก ๆ ปี หรือเท่ากับร้อยละ 8 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หากสมมติว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นประเทศ 1 ประเทศ ก็จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเท่าๆกับทวีปยุโรปทั้งหมด 

“ฝ้าย” เส้นใยกระหายน้ำ

แม้ว่า ฝ้าย จะถูกนำมาใช้ผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทดแทนเส้นใยโพลีเอสเตอร์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ้ายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่ำกว่า แต่การผลิตผ้าฝ้ายนั้นต้องการที่ดินและน้ำมาก ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตผ้าฝ้ายมีปริมาณถึง 93 พันล้านลูกบาศก์เมตร/ปี โดยมีการใช้น้ำ 10,000 – 20,000 ลิตร ต่อการผลิตเสื้อผ้าเพียง 1 กิโลกรัม ซึ่งทำให้แหล่งน้ำในเอเชียกลาง จีน และอินเดีย เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

แปลงปลูกต้นสำลีที่แห้งผาดเนื่องจากวิกฤตขาดแคลนน้ำในอินเดีย

นอกจากนี้ ที่ดินและน้ำที่ไม่ได้ใช้ไปทำทุ่งฝ้าย มักจะปนเปื้อนจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในปริมาณสูง ทุ่งฝ้ายมีอยู่ประมาณร้อยละ 2.4 ของที่ดินทำกินทั่วโลก แต่มีการบริโภควัชพืชร้อยละ 6 และยาฆ่าแมลงร้อยละ 16 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้เก็บฝ้าย แมลง นก และสัตว์ต่าง ๆ แต่ยังหมายความว่า เมื่อน้ำถูกเปลี่ยนเส้นทางไปยังทุ่งฝ้าย ก็ทำให้ดินเป็นกรดและแห้งแล้งมากขึ้น

ด้วยแรงกดดันที่จะแก้ไขปัญหาความต้องการฝ้ายทั่วโลก จึงทำให้เกิดภัยพิบัติทางการเกษตร เศรษฐกิจ และสังคม ในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง นอกจากนี้ยังทำให้ระดับน้ำทะเล แอรอล (Aral) ลดลงจนกลายเป็นทะเลทรายในบางส่วนของทะเลด้วย

โรงงานผลิตเสื้อผ้าเข้าไปใช้ที่ดินที่ควรจะเป็นผืนดินเพื่อผลิตอาหารหรือดูดซับคาร์บอน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายๆอย่างทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นมีภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ ตั้งแต่มลพิษสารเคมีต่างๆที่ใช้ในการผลิตผ้าฝ้ายเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากไมโครพลาสติก ไปจนถึงการทำลายผืนป่าโบราณเพื่อการผลิตใยสังเคราะห์และเส้นใยประเภทอื่นๆ 

ปัจจุบัน การสร้างบ้าน การขนส่ง และภาคการผลิตอาหารทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อการใช้ผืนดินเกินกว่าที่อุตสาหกรรมแฟชั่นจะสร้างผลกระทบได้อีก มีการคำนวนที่ดินที่ถูกใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 35 ภายในปี 2573 ซึ่งหมายความว่าจะมีพื้นที่กว่า 115 ล้าน เฮกเตอร์ (เทียบได้กับการนำพื้นที่ทั้งหมดของสหราชอาณาจักรมาเรียงต่อกัน 5 ครั้ง) ไม่ถูกอนุรักษ์ไว้ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นยังคงสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไปได้ 

เสื้อผ้าบางตัวยังไม่เคยถูกใช้งาน รวมทั้งเสื้อผ้าบางตัวที่ออกสู่ตลาดไปแล้วก็ไม่ได้ถูกใช้งานบ่อย ๆ

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้อายุการใช้งานของเสื้อผ้าสั้นลงมาก โดยทั่วโลกสูญเสียเม็ดเงินราวห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการผลิตเสื้อผ้าออกมาแล้วไม่ได้ถูกใช้งานและระบบการรีไซเคิลเสื้อผ้าที่ล้มเหลว

ระหว่างปี 2543 ถึง 2558 เป็นช่วงเวลาที่จำนวนเสื้อผ้าที่ใช้งานแล้วลดลงราวๆร้อยละ 36 อย่างในสหราชอาณาจักรเองก็มีตัวเลขว่าประชากร 1 คน มีเสื้อผ้า 115 ตัวโดยเฉลี่ย แต่มีเสื้อผ้าร้อยละ 30 จากทั้งหมดที่ไม่เคยถูกใช้งานเลย

ทุกๆปีมีกองเสื้อผ้ามหึมาที่มีมูลค่าราว 140 ล้านปอนด์ จากสหราชอาณาจักร ถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ ซึ่งเสื้อผ้าหลายตัวยังไม่เคยถูกใช้งานด้วยซ้ำ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (the Environmental Audit Committee) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีเสื้อผ้าแฟชั่นร้อยละ 15 กลายเป็นขยะในขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต ก่อนที่จะนำไปวางจำหน่าย

Zara Clothing in London. © Emma Stoner / Greenpeace

ต้องใช้เวลานานกว่าจะเกิด “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

สำหรับในสหราชอาณาจักรนั้น มีเสื้อผ้าไม่ถึงครึ่งจากทั้งหมด 650,000 ตัน ที่ถูกบริจาคเพื่อการกุศลหรือถูกขายเป็นสินค้ามือสอง แต่เสื้อผ้าที่เหลือก็ถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลอยู่ดี

แม้ว่าเราทั้งหมดจะยังให้ความหวังกับระบบรีไซเคิลนี้ แต่โรงงานรีไซเคิลก็ไม่สามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าของเราให้เป็นเสื้อผ้าในกระแสได้ในพริบตาเดียว ความจริงก็คือ มีเสื้อผ้าที่ถูกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่ถูกวางจำหน่ายเป็นเสื้อผ้าใหม่

ภาพอธิบาบการเดินทางของเสื้อผ้าแต่ละชิ้น © Ellen Macarthur Foundation

กระบวนการรีไซเคิลมักจะสร้างความเสียหายและทำให้เส้นใยของสิ่งทอหดสั้นลง ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณวัตถุดิบที่จะมาทำสิ่งทอน้อยลง และแทนที่เส้นใยเหล่านี้จะกลายเป็นเสื้อผ้าสวยๆ แต่เสื้อผ้าที่ถูกรีไซเคิลนี้กว่าร้อยละ 13 กลับถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นผ้าไฟเบอร์หรือฉนวนที่นอน ซึ่งแปลว่าเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะรีไซเคิลได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น 

ด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงทำให้ ใยไฟเบอร์บริสุทธิ์ เป็นที่นิยมในการผลิตเสื้อผ้ามากกว่าใยไฟเบอร์ที่รีไซเคิลจากเสื้อผ้าเก่าด้วยเหตุผลเรื่องราคาที่ถูกกว่า

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเสื้อผ้าที่ไม่ได้ถูกขายต่อหรือรีไซเคิล? คำตอบก็คือ ซากเสื้อผ้าเหล่านั้นจะถูกนำไปบริจาคเพื่อการกุศล และส่งไปให้เครื่องคัดแยกทั่วโลกโดยคิดเป็นเสื้อผ้าร้อยละ 73 ของทั้งหมด ส่วนที่เหลือถูกส่งไปยังหลุมกลบฝังบ้าง อย่างเช่นการฝังกลบในสหราชอาณาจักรที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลถึง 82 ล้านปอนด์ต่อปี นอกจากถูกฝังกลับแล้วก็อาจถูกนำไปเผากำจัด

แบรนด์ไม่ได้ปรับลดการผลิตลงตามที่พวกเขาบอกเรา

องค์กรด้านการจัดการสิ่งทออย่างยั่งยืน หรือ The Sustainable Clothing Action Plan (SCAP) ได้เชิญชวนแบรนด์เสื้อผ้าหลายรายให้ปรับตัวเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมุ่งทำงานในประเด็น ปริมาณน้ำที่ถูกใช้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการจัดการขยะในกระบวนการผลิตเสื้อผ้า โดยแผนดังกล่าวออกแบบเพื่อวางกรอบให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กร SCAP จะเกิดขึ้นเพื่อทำให้เป้าหมายลดการใช้น้ำ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซดด์จากการผลิตสิ่งทอให้ได้ต่อเสื้อผ้า 1 ตัน และต้องการบรรลุตามเป้าหมายนี้ภายในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าองค์กรผู้ก่อตั้ง SCAP (ผู้ก่อตั้งองค์กร SCAP คือ องค์กรอิสระเพื่อการจัดการขยะและทรัพยากร the Waste & Resources Action Programme ) ขึ้นมานั้นจะต้องมีมาตรการในการตรวจสอบผลบนพื้นฐานของการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐนิเวศ มิใช่การวัดผลที่การเติบโดของอุตสาหกรรม 

จากการประเมินอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ครอบคลุมกว่าเดิมนั้น ผลปรากฎว่า การบริโภคเสื้อผ้าในสหราชอาณาจักรเติบโตขึ้นในช่วงปีที่องค์กร SCAP เข้ามาทำงานา โดยบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 950,000 ตัน ในปี 2555 เป็น 1,130,000 ตันในปี 2559

สำหรับพวกเรา ในฐานะผู้บริโภคและผู้ที่ชื่นชอบในแบรนด์เสื้อผ้า Fast Fashion เราจะช่วยกันเพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติอันเนื่องมาจากการผลิตของ Fast Fashion ได้อย่างไรบ้าง ?

บทความนี้แปลจากภาษาอังกฤษอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม