เมื่อฝุ่น PM2.5 ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติที่มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน มาตรการสำคัญที่ท้าทายศักยภาพของรัฐบาลในการจัดการมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน คือ จะลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างไร และหนึ่งในบรรดามลพิษทางอากาศหลัก(Criteria Pollutants) นั้นคือ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารตั้งต้น(precursor) ตัวสำคัญของฝุ่น PM2.5

PM2.5 Petition Delivery at Pollution Control Department in Thailand. © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ตัวแทนภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อกว่า 20,660 รายชื่อ จาก change.org ที่เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษยกระดับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพของอากาศ

กรีนพีซใช้ข้อมูลจากเครื่องมือวัด TROPOMI บนดาวเทียม Sentinel 5P ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป(The European Space Agency) เพื่อระบุจุดที่มีการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทย ข้อมูลที่เที่ยงตรงและมีรายละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศนี้ ทำให้เราเห็นภาพตัวการสำคัญที่ทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายและทำลายสุขภาพประชาชน

อ่านรายงาน “การวิเคราะห์ของกรีนพีซ : แหล่งกำเนิดของไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทยจากข้อมูลดาวเทียม”

ผลกระทบสุขภาพ

Citizens Wear Masks against Air Pollution in Bangkok. © Arnaud Vittet / Greenpeace

ประชาชนใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ในวันที่มีมลพิษทางอากาศ

ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx) เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว

การรับเอาก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระยะยาว(Long-term exposure) สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในสหภาพยุโรป การรับเอา NO2 เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 75,000 คนต่อปี ในจีน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นโดยระบุว่า ผลจากการสัมผัส NO2 นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ

นอกจากนี้ NO2 และ NOx ในบรรยากาศนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่มีบทบาทสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก 

วงจรชีวิตของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์

life cycle NO2

ณ จุดที่มีการปล่อยสัดส่วนของออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx) จะเป็นไนตริกออกไซด์(NO) 90% และไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) 10% สองสามชั่วโมงต่อมาในบรรยากาศและการปรากฏตัวของสารประกอบอินทรีย์ระเหย(VOCs) ไนตริกออกไซด์(NO) ก็จะแปลงร่างเป็นไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2)

ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) สามารถแปลงร่างต่อโดยรวมกับสารชนิดอื่นๆ ในบรรยากาศเป็นกรดไนตริก(nitric acid) ฝุ่นละออง(particulate matter) และสารโฟโตเคมีคอลออกซิแดนท์ที่เรียกว่า peroxyacyl nitrates(PANs)

หากมีแสงอาทิตย์ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) สามารถแปลงกลับเป็น ไนตริกออกไซด์(NO) และเกิดโอโซน(O3) มลพิษทางอากาศที่ตามมา ด้วยเหตุที่ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) มีศักยภาพสูงในการสร้างมลพิษขั้นทุติยภูมิ(secondary pollutants) จึงมีความสำคัญมากในการติดตามตรวจสอบและลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2)

ประเทศไทยเผชิญกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มากแค่ไหน

ผลการวิเคราะห์นำเสนอเป็นภาพแผนที่เคลื่อนไหวแสดงจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดและแบบแผนการกระจายตัวของไนโตรเจนไดออกไซด์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2561-มิถุนายน 2562 ดังนี้


แผนที่แสดงแหล่งกำเนิดของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทย (กุมภาพันธ์ 2561-มิถุนายน 2562)


แผนที่แสดงแหล่งกำเนิดของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลรวมถึงบางส่วนของภาคกลางและตะวันออก (กุมภาพันธ์ 2561-มิถุนายน 2562) 

แผนที่แสดงแหล่งกำเนิดของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในภาคเหนือของประเทศไทย (กุมภาพันธ์ 2561-มิถุนายน 2562)

การวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เราสามารถจัดลำดับแหล่งกำเนิดของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทยจากมากไปหาน้อย ดังนี้คือ

  1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล(การคมนาคม)
  2. อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง(การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน)
  3. อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี(การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ)
  4. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณโดยรอบ(การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ)
  5. นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ. ชลบุรี(อุตสาหกรรมการผลิต/โรงกลั่นน้ำมัน/การคมนาคม)
  6. อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา(การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ)
  7. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ)
  8. จังหวัดราชบุรี(การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ)
  9. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้/อิสเทอร์นซีบอร์ด/โรจนะ(อุตสาหกรรมการผลิต/การคมนาคม)
  10. อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น(การคมนาคม)
  11. อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่(การคมนาคม)
  12. อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา(การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ)

คู่หู PM2.5

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์คือหนึ่งในสารตั้งต้น(precursor)ของ PM2.5 โดยเป็นก๊าซสีน้ำตาลแดงที่เกิดจากกระบวนการสันดาปของเครื่องยนต์ สารประกอบหลัก 2 ชนิดที่ปล่อยออกจากกระบวนการดังกล่าวคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) และไนตริกออกไซด์(NO) โดยทั่วไป สารมลพิษสองชนิดนี้เรียกรวมกันว่า ออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx)

PM25 system

ทางออก

จุดที่เป็นแหล่งกำเนิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งส่งผลให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล – โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงงานอุตสาหกรรมและระบบการคมนาคมที่ไม่ยั่งยืน แหล่งกำเนิด(ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์)อื่นๆ ยังรวมถึงระบบเกษตรกรรมและการจัดการป่าไม้ที่ไม่ยั่งยืน ผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษทางอากาศออกมาจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นต้องมี “การปฏิวัติพลังงาน” เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นคือ การผลิตไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน ระบบการเดินทางและการคมนาคมที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพายานยนต์ส่วนตัวและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน

Toxic Smog in Bangkok. © Arnaud Vittet / Greenpeace

การเดินทางด้วยรถยนตร์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกรุงเทพมหานคร มีส่วนทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5

กฏเกณฑ์ที่อ่อนแอในการควบคุมและลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิดสำหรับโรงไฟฟ้านั้นเป็นเหตุผลหลักประการสำคัญของการปล่อยมลพิษทางอากาศในจุดต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด นอกเหนือจากการที่สาธารณะชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยมลพิษเข้มงวดมากขึ้น

ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล(Diesel Engines) จะปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มากกว่ายานยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซีน(Gasoline vehicles) อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่ใหญ่กว่านั่นคือ เครื่องยนต์สันดาปภายใน(the internal combustion engine) ยานยนต์ส่วนตัวที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยหลักของสาเหตุมลพิษทางอากาศ ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีแผนการจัดการลดการพึ่งพายานยนต์แบบสันดาปภายใน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง เน้นระบบขนส่งมวลชนหรือระบบร่วมเดินทางที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน

ร่วมบอกให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่โดยค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ..2562 เพื่อการจัดการมลพิษทางอากาศที่ดีกว่าเดิม

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม