ประเทศไทยเริ่มใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI)ใหม่ที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วยในช่วงเดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นมา ดัชนีคุณภาพอากาศทำให้เราทราบว่าคุณภาพอากาศเป็นอย่างไรโดยเฉลี่ยในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยจะต่างจากดัชนีคุณภาพอากาศขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา(U.S. AQI) ที่มีความเข้มงวดมากกว่า

ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง หาก AQI ของประเทศไทยระบุว่า อากาศมีคุณภาพ ”ปานกลาง” U.S.AQI ก็จะระบุว่า “อากาศมีผลต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มคนที่อ่อนไหวเช่น เด็กและผู้สูงอายุ”

IQAir AirVisual วันที่ 30 กันยายน 2562 (08.00 น.)

ในวันที่ฝุ่น PM2.5 เข้าปกคลุมพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มีคำถามว่า ทำไมการรายงานคุณอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษและบนแอพพลิเคชันอื่นๆ เช่น IQAir AirVisual จึงมีความแตกต่างกัน

ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป แต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบผลกระทบต่อสุขภาพ หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ในช่วงเช้าของวันที่ 30 กันยายน 2562 เมื่อความเข้มข้นของ PM2.5 เพิ่มมากขึ้น ดัชนีคุณภาพของประเทศไทยรายงานว่าคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในระดับปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 78-170. ในขณะที่ IQAir AirVisual รายงานว่าดัชนีคุณภาพอากาศระหว่าง 129 (มีอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง) ไปจนถึง 208 (มีอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก)

ความแตกต่างนี้มาจากเหตุผลหลักสองประการด้วยกัน เหตุผลแรกเป็นเรื่องของกรอบเวลา

กรมควบคุมมลพิษอัพเดทดัชนีคุณภาพอากาศบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4Thai ทุกๆ ชั่วโมง แต่ดัชนีคุณภาพที่อัพเดทขึ้นมาใหม่นั้นจริงๆ แล้วคือค่าเฉลี่ยในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา นั่นหมายถึงว่าตัวเลข 78 (คุณภาพอากาศปานกลาง) ณ เวลา 08.00 น. คือดัชนีคุณภาพอากาศในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มันไม่ได้บอกว่า ณ เวลา 08.00 น. คุณภาพอากาศเป็นอย่างไร

ส่วน IQAir AirVisual รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศทุกๆ ชั่วโมงหรือตามเวลาจริง (in real-time) เมื่อมีระดับมลพิษทางอากาศพุ่งขึ้นสูงอย่างทันทีทันใด ก็จะสะท้อนอยู่ในการรายงานตามเวลาจริง เราสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้เลย ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองโดยการใส่หน้ากาก จำกัดกิจกรรมกลางแจ้งหรือเปิดเครื่องกรองอากาศ เป็นต้น

เหตุผลอีกประการหนึ่งเป็นเรื่องของ “เกณฑ์” ดัชนีคุณภาพอากาศที่นำมาใช้

IQAir AirVisual ใช้เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา(U.S. AQI)ที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก เมื่อดัชนีคุณภาพของประเทศไทยระบุว่า อากาศมีคุณภาพปานกลาง U.S. AQI จะรายงานว่า คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงรวมถึงเด็กและคนสูงวัย

ทั้งดัชนีคุณภาพอากาศของไทยและ US AQI ต่างคำนวณจากความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด(PM2.5, PM10, SO2, NO2, O3, และ CO) เหมือนกัน และหากสารมลพิษทางอากาศประเภทใดมีดัชนีสูงสุดจะใช้เป็นดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) เช่นเดียวกัน โดยทั่วไป ในช่วงเกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศ PM2.5 มักจะมีความเข้มข้นมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ PM2.5 จะถูกใช้เป็นตัวกำหนดดัชนีคุณภาพอากาศทั้งของประเทศไทย และของ U.S. AQI

เมื่อความเข้มข้นของ PM2.5 มีค่าระหว่าง 38-50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยจะระบุว่า “อากาศมีคุณภาพปานกลาง” แต่ U.S. AQI จะกำหนดให้ค่าช่วงนั้นเป็น “คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ” เพื่อแจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงรวมถึงเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุรวมถึงผู้เป็นโรคหัวใจและโรคปอด

โดยการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA แอพพลิเคชั่น IQAir AirVisual จะรายงานข้อมูลทั้งจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษและเครื่องตรวจวัดของ IQAir AirVisua ที่ติดตั้งโดยประชาชน กลุ่มองค์กรและสถาบันต่างๆ ที่กระจายหลายพันจุด

IQAir AirVisual จะทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดก่อนทำการเผยแพร่บนแพลทฟอร์มออนไลน์ของตน นี่หมายถึงว่า หากเกิดความผิดพลาดของสถานีตรวจวัดคุณภาพที่เป็นของรัฐบาลไม่ว่าจะที่ไหนบนโลกซึ่งอาจมีการรายงานค่าที่สูงผิดปกติในทันทีทันใด ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ IQAir AirVisual จะทำการชี้ความผิดปกตินั้นและไม่ทำให้การรายงานคุณภาพอากาศโดยรวมของพื้่นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบ

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ #RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา โดยร่วมผลักดันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กำหนดมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป(ambient air standard)ขึ้นใหม่โดยมีค่าเฉลี่ยรายปี 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม