มลพิษจากพลาสติกถือเป็นภัยคุกคามโลก ซึ่งต้องขอบคุณแรงกดดันจากทุกคนทั่วโลก ที่ทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์สินค้าและกิจการค้าปลีกทั้งหลายตระหนักรู้ได้ว่า พวกเขาต้องแบกรับความรับผิดชอบในการสร้างพลาสติกขึ้นมา ทำให้ขณะนี้ เราล้วนถูกกระหน่ำด้วยประกาศแคมเปญของภาคธุรกิจเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ในการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์สินค้า ไม่ว่าจะเป็น “บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการรีไซเคิล100%”  “ทำจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ” และ “บรรจุภัณฑ์กระดาษรักษ์โลก” แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความกังขาต่อผลลัพธ์แท้จริงที่ตามมา ว่าแท้จริงแล้ว หนทางเหล่านี้เป็นทางแก้ไขปัญหาสำหรับวิกฤตมลพิษหรือขยะจากพลาสติกใช่หรือไม่

ขยะพลาสติกที่ถูกพัดมาจากบ่อขยะแบบเปิด ในประเทศฝรั่งเศส

 

ก่อนอื่น มาเริ่มต้นกันด้วย ประเด็นที่ทำให้เราต้องมาตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์มลพิษเหล่านี้ว่าเป็นผลพวงจากตัวการสำคัญอย่าง “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ใช้เพียงชั่วระยะเวลาสั้น แค่ไม่กี่วินาทีก็โดนเขวี้ยงทิ้งแล้วนั่นเอง ทีนี้ ก็มาดูกันว่า แนวทางแก้ไขสามัญที่บรรดาธุรกิจนำมาอวดอ้างมีอะไรกันบ้าง

     1. กระดาษ กระดาษถือเป็นวัสดุที่คนส่วนใหญ่ยอมรับตรงกันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แถมยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่เหมือนกับพลาสติก ดังนั้น ในแวบแรก การหันมาใช้กระดาษแทนพลาสติกย่อมเป็นทางออกที่ดี และยังเป็นทางแก้ไขที่ง่ายดายที่สุดที่บริษัทห้างร้านจะทำได้ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายพร้อมใจกันเลิกใช้พลาสติกเพื่อใช้กระดาษแทนนี้ กลับส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรป่าไม้บนโลก โดยป่าไม้นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้จัดการกำจัด และกักเก็บก๊าซคาร์บอน ทำนุบำรุงชุมชนพื้นเมืองท้องถิ่น รักษาเอกลักษณ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และให้การดูแลด้านระบบนิเวศน์อื่นๆ มากมาย

การหันมาใช้กระดาษจึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อพื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ในขณะนี้จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง และฟื้นฟู มากกว่าที่จะโดนแปรสภาพเพื่อตอบสนองความกระหายใน “บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง” ของเรา 

     2. พลาสติกชีวภาพ นับเป็นอีกหนึ่งกระแสที่สร้างความสับสนได้มากทีเดียว สำหรับการเปลี่ยนมาใช้ “พลาสติกชีวภาพ” ซึ่งหมายรวมถึง พลาสติกที่ทำจากวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งบางยี่ห้อมักจะระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่า “Bio-Based, Biodegradable” หรือ “Compostable” และพลาสติกทำจากน้ำมันหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพนี้มี 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก คือ แหล่งที่มาของพลาสติกประเภทนี้ โดยพลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่ทำจากผลิตผลทางการเกษตร จึงก่อให้เกิดการแข่งขันช่วงชิงกับพืชที่นำมาใช้เป็นอาหาร กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางอาหาร และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางการใช้ประโยชน์จากผืนดิน และปริมาณการปล่อยก๊าซพิษในภาคการเกษตร

ประการที่สอง คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อพวกมันย่อยสลาย โดยพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะสลายตัวได้ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้ความร้อนและความชื้นสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่พบได้ยากมากในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ อีกทั้ง พลาสติกเหล่านี้ยังสามารถย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (เหมือนพลาสติกทั่วๆ ไป) จึงสามารถเข้าไปอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จนแทรกเข้ามาในห่วงโซ่อาหารของเราในท้ายที่สุด ขณะที่ในส่วนของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Compostable Plastic) แม้จะได้ชื่อว่าย่อยสลายได้ แต่ก็เป็นไปภายใต้ข้อจำกัดของเงื่อนไขที่ต้องอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการทำปุ๋ยหมัก หรือระบบการทำปุ๋ยในครัวเรือนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งเหล่าชุมชนเทศบาลส่วนใหญ่ล้วนไม่มีอุปกรณ์ที่จำเป็นดังกล่าว ดังนั้น จึงทำให้พลาสติกย่อยสลายได้เหล่านี้มีแนวโน้มจบลงที่กองขยะหรือถูกเผาไหม้กลายเป็นเถ้าถ่านแทน ซึ่งแน่นอนว่า จุดจบเหล่านี้ไม่ได้ดีไปกว่าพลาสติกที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้งแม้แต่น้อย 

     3. พลาสติกรีไซเคิล และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ก็คือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% ซึ่งมักได้รับการโฆษณาจนมีภาพลักษณ์ที่ดูดี แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้มีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมตามคำโฆษณา โดยมากกว่า 90% ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นใช้ในปัจจุบันไม่ได้ถูกนำมารีไซเคิล เพราะระบบรีไซเคิลในขณะนี้ ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะพลาสติกที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล และเกินกำลังของโรงงานรีไซเคิลอย่างมาก ดังนั้น พลาสติกทั้งหลายจึงมีแนวโน้มจบลงที่กองขยะ เตาเผาขยะ หรือกระจายเกลื่อนตามสิ่งแวดล้อม มากกว่าที่จะถูกนำมารีไซเคิล ขณะเดียวกัน แท้จริงแล้ว พลาสติกไม่ได้ถูกนำมารีไซเคิล แต่ต้องเรียกว่าเป็นการ Downcycle มากกว่า

การ Downcycle เป็นการแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ แต่คุณภาพและมูลค่าของพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ก็จะลดลงตามไปด้วย นั่นหมายความว่า พลาสติกนี้จะไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีกต่อไป และจะจบที่กองขยะในที่สุด ทั้งนี้ พื้นที่ชุมชนเทศบาลแต่ละแห่งล้วนมีขีดความสามารถในการรีไซเคิลพลาสติกประเภทต่างๆ แตกต่างกันออกไป ดังนั้น พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกนำเข้าในกระบวนการรีไซเคิล

ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลอยอยู่บนผิวน้ำในอ่าวเล็ก ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า บรรดาบริษัทเหล่านี้ ยังไม่ได้ตระหนักถึงวงจรใช้แล้วทิ้งของวัสดุข้างต้นกับยุทธวิธีจัดการวิกฤตขยะพลาสติก พวกเขาทำเพียงแค่เปลี่ยนจากการใช้วัสดุอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งแทน แต่ใจความหลักของปัญหายังคงเดิม นั่นคือ ใช้แล้วทิ้ง ในปริมาณมหาศาลระดับโลก เรียกได้ว่า ธุรกิจทั้งหลายยังคงเดินหน้าสร้างขยะปริมาณมหาศาลซึ่งเกินกว่าที่โลกใบนี้จะจัดการได้

เช่นนั้นแล้ว ทางออกของปัญหานี้คืออะไร ท่ามกลางขยะพลาสติกที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องลงมือปฎิบัติ ด้วยการมุ่งไปสู่รูปแบบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรของโลกมาใช้อย่างสูญเปล่าด้วยการเปลี่ยนให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้อีกต่อไป

การเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวทิ้งและเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบที่สามารถส่งคืนได้

โดยสิ่งที่บริษัททั้งหลายควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ การลด ละ เลิก หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดขยะในขั้นต้น และหันมามุ่งลงทุนกับระบบใช้ซ้ำและเติม (Reuse and Refill) สำหรับบรรจุภัณฑ์ของบริษัทมากขึ้น โดยพวกเขาจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดขยะ และแผนดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้คนทั่วโลกในห้วงเวลานี้ต่างลงมือทำไปแล้ว และยังออกมาเรียกร้องให้มีการนำระบบใช้ซ้ำและการเติมมาใช้มากขึ้น ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่บรรดาบริษัทเหล่านี้จะเดินตามและนำเสนอทางแก้ไขที่แท้จริง ซึ่งก็คือ การใช้ซ้ำ (Reuse)

#BreakFreeFromPlastic