“คนเกาะสมุยประท้วงยืดเยื้อปิดถนนทางเข้าออกโรงเผาขยะเนื่องจากเตาเผาเสียจนมีกองขยะที่ไม่ได้กำจัดมาร่วม 2 ปี ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงและมีน้ำเน่าเสียไหลสู่แหล่งน้ำชุมชุน” ถึงแม้จะดำเนินการซ่อมโรงงานเผาขยะเจ้าปัญหาที่สมุยเรียบร้อยแล้ว แต่ประเด็นปัญหานี้ยืดเยื้อมานานถึงสองปีกว่าจะได้รับการแก้ไข ขณะที่ปัญหาเก่าดูเหมือนจะถูกแก้ไปอย่างขอไปที

Cans for recycling, Camden recycling centre, North London. © Amanda Gazidis / Greenpeace

.

 

โรงงานเผาขยะแห่งใหม่ก็กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ อะไรคือทางออกของปัญหาขยะกันแน่ในเมื่อโรงงานเผาขยะเป็นเตาเผาแห่งมลพิษอันไม่รู้จบ

การจัดการขยะที่ต้นทางฟังดูเหมือนจะเป็นโครงการในฝัน แต่อันที่จริงนั้นไทยเองก็มีศักยภาพในการดำเนินการไม่แพ้ประเทศใดในโลก รวมถึงมีตัวอย่างของชุมชนที่นำหลักการนี้มาใช้จริงและประสบความสำเร็จแล้วด้วยการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนดังต่อไปนี้

การคัดแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิด

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาขยะที่ทุกคนสามารถทำได้นี้เป็นสิ่งที่ ชุมชนบ้านพักทหารหนองไผ่ล้อม ของกองทัพภาคที่ 2นำมาใช้และจัดการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ โดยคัดแยกขยะมูลฝอยออกเป็นขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย และดำเนินการรีไซเคิลครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ ถือหลักการกำจัดขยะจากแหล่งกำเนิดต้นทาง ลดปริมาณขยะ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือเรียกว่าขยะรีไซเคิล  เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย เช่นเดียวกับที่ ชุมชนอยู่เย็น อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งนำเอาโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) มาใช้และสามารถจัดการขยะในชุมชนได้เกือบทั้งหมด รวมถึงนำขยะกลับมาใช้ใหม่ในหลายรูปแบบ โดยมีการจัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะรีไซเคิล การผลิตน้ำหมักจากขยะอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษผักและเศษอาหาร ซึ่งได้จากตลาดสดที่อยู่ใกล้ชุมชน เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ใหม่เพื่อทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด

การลดขยะที่ตัวเราเอง

ปัญหาขยะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ คือ การลดขยะที่ตัวเราเอง โดยมีหลายชุมชนที่นำแนวคิดนี้มาใช้ หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “ชุมชนไร้ถัง” ดังเช่นที่ ชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน โดยเดิมทีนั้นมีการจัดเก็บขยะโดยภาคเอกชนแล้วเกิดปัญหาขึ้นมากมาย จึงดำเนินการยกเลิกระบบถังขยะ ยกเลิกการเก็บค่าขยะ และเน้นหนักมาตรการทางสังคมให้สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันลดขยะและคัดแยกขยะแทนการพึ่งพาเทคโนโลยี และยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายสำหรับเป็นมาตรการทางการคลังผ่านการจำหน่ายถุงขยะ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ผู้นำชุมชนมีการติดตามและสนับสนุนการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง อีกชุมชนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน คือ ชุมชนตำบลเมืองแก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีแนวคิดว่า “ถังขยะไม่ใช่เครื่องประดับ” เริ่มดำเนินการตั้งแต่การตั้งคำถามเพื่อให้ชุมชนได้ร่วมคิดตามเกี่ยวกับขยะ ว่าขยะเกิดจากอะไร ใครมีหน้าที่กำจัดขยะ และวิธีกำจัดขยะที่ถูกต้องนั้นทำอย่างไร และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านร่วมกันอภิปราย ระดมความเห็นกันว่าเราควรมีการจัดการอย่างไร จนได้เป็นข้อสรุปของการบริหารจัดการขยะอย่างมีศักยภาพ โดยได้กำหนดมาตราการช่วยกันกำจัดขยะในชุมชนร่วมกันว่า ชาวบ้านจะต้องมาช่วยกันกำจัดขยะในพื้นที่สาธารณะเดือนละ 1 ครั้ง โดยแต่ละหมู่บ้านช่วยกันทำอย่างพร้อมเพียง

การเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของที่เราไม่ต้องการ

แนวคิดเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินนี้เป็นการปลูกฝังให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าขยะของ ร้านศูนย์บาท ศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายสังคมรีไซเคิลไปยังภาคเหนือแล้ว ร้านศูนย์บาททำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับซื้อ และบริหารจัดการขยะ ภายในร้านมีสินค้าอุปโภคบริโภคเหมือนกับร้านขายของชำทั่วไป โดยให้คนในชุมชนนำขยะมาตีมูลค่าเป็นตัวเงิน และแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่มีอยู่ภายในร้านโดยไม่ต้องใช้เงิน จากนั้นร้านศูนย์บาทที่เปรียบเสมือนธนาคารขยะจะนำขยะที่รับซื้อไปขาย ทำให้ร้านได้กำไรทั้งจากการขายขยะ และการขายสินค้า ก่อนที่จะเกิดร้านศูนย์บาทขึ้นชุมชนแห่งนี้เคยประสบปัญหาการจัดการขยะเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ แต่ในปัจจุบันนอกจากจะแก้ปัญหาขยะได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในการแยกขยะ และเห็นคุณค่าของสิ่งของทุกชิ้นก่อนจะทิ้งอีกด้วย

ระบบมัดจำ-คืนเงิน

เป็นระบบที่ประเทศไทยใช้มานาน และเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับการจ่ายคืนค่าขวดเปล่าให้กับผู้บริโภค  และให้ผู้ค้าส่งจ่ายค่าขวดให้กับผู้ค้าปลีก ซึ่งประเทศไทยสามารถขยายขอบข่ายการครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม จะเป็นการเปลี่ยนความรับผิดชอบทางการเงินในการจัดการของเสียจากชุมชนไปสู่ผู้ผลิต และช่วยให้ปริมาณขยะลดลงอย่างมากดังที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ใช้ระบบนี้ครอบคลุมกับกล่องบรรจุอาหาร ยางรถยนต์ แบตเตอรี น้ำมันหล่อลื่น ถังบรรจุยาฆ่าแมลง และพลาสติก อย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว

ขยะล้นเมืองเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ใครก็ต่างเจอ และต้นเหตุของปัญหานั้นก็คือมนุษย์ คือพวกเราทุกคน หากทุกคนทุกบ้านทุกชุมชนและทั้งประเทศไทยร่วมมือกันแล้ว เราก็สามารถเปลี่ยนเมืองขยะล้น เป็นเมืองไร้ถัง หรือเมืองปลอดขยะได้โดยไม่ยากเย็นอะไร ดังที่มีตัวอย่างอันน่าชื่นชมปรากฏให้เห็นแล้วนับไม่ถ้วน นอกเหนือจากความมีวินัยและจิตสำนึกในการจัดการขยะในครัวเรือนของชุมชนแล้ว ถึงแม้ชุมชนและทุกครัวเรือนจะร่วมกันจัดการขยะเป็นอย่างดีเพียงไร แต่หากขาดระบบการบริหารจัดการรองรับที่ดีของรัฐก็จะไม่มีทางเกิดการจัดการขยะแบบบูรณาการได้เลย อีกทั้งการดำเนินการของชุมชนก็จะไม่สามารถขยายผลไปในระดับประเทศได้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องหันมาแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน และไม่ปล่อยให้วิกฤตขยะเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องแก้ไขด้วยตนเอง ก่อนที่จะสายเกินเยียวยา

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม