หลังจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งชาวชุมชนต่างๆ ในภาคใต้เชื่อว่าเป็นเจตนาทำให้ไฟฟ้าดับเพื่ออ้างไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขึ้นในพื้นที่ชุมชน และเป็นไปตามคาดขณะนี้กฟผ.กำลังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อย่างเต็มตัว ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีระดับจังหวัด รวมถึงจ้างบริษัททีมที่ปรึกษาและนักวิชาการในพื้นที่ดำเนินการศึกษาอีไอเอร่วมกับนักวิชาการในพื้นที่ด้วยงบประมาณหลายล้านบาท โดยที่ดูเหมือนจะไม่รับฟังเสียงคัดค้านจากมวลชนในพื้นที่และภาคประชาชนแต่อย่างไร อำเภอหัวไทร ได้กลายมาเป็นเป้าหมายใหม่ของกฟผ. ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มารร้ายของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอันอุดมสมบูรณ์ของคนในพื้นที่ ทั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศักยภาพพลังงานลมรองรับเต็มที่ไม่น้อยกว่า 1,600 เมกะวัตต์ และมีโครงการพลังงานลมของเอกชนเตรียมจ่อดำเนินการอยู่แล้ว แล้วทำไมรัฐจึงต้องดื้อดึงผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือของใครกันแน่..

 

จากการที่กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนสำหรับผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปีพ.ศ. 2555-2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพลังงานลมโดยมีกำลังการผลิต 100-150 เมกะวัตต์  แต่จากผลการศึกษาวิจัยหลากหลายงานได้ระบุไว้เห็นพ้องต้องกันอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานลมในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 1,600 เมกะวัตต์ เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพที่สูงพอไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยก่อนหน้านี้กรมพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานเองก็ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมจ่ายกระแสไฟเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นโครงการต้นแบบเพื่อชักจูงให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมลงทุน  แน่นอนว่าปัจจุบันนี้มีผู้ลงทุนเข้ามาทำสัญญาก่อสร้างในพื้นที่แล้ว

Kite Flying in Nakhon Si Thammarat. © Luke Duggleby / Greenpeace

Kite Flying in Nakhon Si Thammarat.

 

จากงานวิจัย “การประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานลมและความเป็นไปได้ ในการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 0.225-0.75 เมกะวัตต์ ตามแนวชายฝั่งทะเล ของจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา” เผยว่าได้ทำการติดตั้งสถานีตรวจวัดความเร็วและทิศทางของลมจำนวน 10 สถานี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยพิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมขนาด 0.225 เมกะวัตต์ 0.3 เมกะวัตต์ 0.5 เมกะวัตต์ และ 0.75 เมกะวัตต์ ผลการศึกษาพบว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันลมมีค่าอยู่ในช่วง 0.03-2.07 จิกะวัตต์ต่อปี และมีประสิทธิ ภาพโรงไฟฟ้าประมาณร้อยละ 0.9-51.5 โดยได้ข้อสรุปว่าพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศักยภาพของพลังงานลมสูง รวมถึงพื้นที่อื่นๆ อย่างบริเวณอำเภอ ปากพนัง  ท่าศาลา และขนอม ด้วย

สิ่งที่พิสูจน์ถึงศักยภาพของพลังงานลมที่อำเภอหัวไทรได้เป็นอย่างดี คือการเข้ามาลงทุนของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโดยบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เมนเท็นแนนซ์ เซอร์วิส จำกัด ในโครงการหาดกังหัน ซึ่งเป็นโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้ากำลังผลิตรวม 126 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันจำนวน 56-64 ตัน ทอดยาวไปตามแนวชายหาดกว่า 50 กิโลเมตร ของ อำเภอ ปากพนัง หัวไทร และระโนด ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และสงขลา โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้สัญญารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี

จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมีการใช้กระแสไฟฟ้าเฉลี่ย 250 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่าโครงการพลังงานลมนี้เพียงโครงการเดียวก็สามารถตอบโจทย์การใช้กระแสไฟฟ้าของจังหวัดได้มากถึง 1 ใน 3 แล้ว หากมีโครงการพลังงานลมและพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ทั้งจังหวัดก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างเพียงพอ 100 เปอร์เซ็นต์

เห็นได้ชัดว่าอำเภอหัวไทร ที่รัฐมุ่งหวังให้เป็นแหล่งผลิตพลังไฟฟ้าจากถ่านหินที่เป็นพลังงานสกปรกนั้นเป็นดินแดนที่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนสูง แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถขายเข้าไฟฟ้ากระแสหลักได้เนื่องจากขาดกฏหมายที่เอื้อต่อพลังงานหมุนเวียน และไม่ระบุถึงการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเป็นอันดับแรก ดังนั้นโครงการพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูงกว่าในระดับเกิน 1,000 เมกะวัตต์จึงเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากไม่มีกฏหมายรองรับนั่นเอง นอกจากนี้อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถโตได้เต็มศักยภาพ คือ อำนาจด้านการจัดการนโยบายนั้นอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ไม่ใช่ภาคประชาชน อีกทั้งพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนที่ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างนั้นก็ยังขาดความโปร่งใส ธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง

ภาคประชาชน และภาคเอกชน ล้วนเลือกคำตอบแล้วว่าต้องการอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน แล้วภาครัฐล่ะ เมื่อไรจะสนับสนุนและยุติการเสพติดพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่ยั่งยืนเสียที

อ่านเพิ่มเติม

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม