จนถึงขณะนี้ ภารกิจสำคัญของหน่วยงานด้านพลังงานชั้นนำระดับประเทศอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้คือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ซึ่งมีกำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ (กฟผ. ใช้คำว่าโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่) เหตุผลลึกๆ คือ กฟผ. ต้องการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่เรียกสวยหรูว่า “ถ่านหินสะอาด” ที่เป็นของตนเอง นอกเหนือไปจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปางที่สร้างความมัวหมองต่อความเป็น “ธรรมาภิบาล” ของหน่วยงาน แม้ว่าจะใช้งบประชาสัมพันธ์นับร้อยล้านพันล้านเพื่อฟอก “ชื่อเสียงอันอื้อฉาว” ที่ได้สร้างไว้ตลอดประวัติศาสตร์การผลิตไฟฟ้าไทย

 

โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan 2013 Revised 3, 2012-2030) โดย กฟผ. ได้จองกฐินที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ไว้รวม 3,200 เมกะวัตต์ หลังจากที่ได้ทำการทดสอบพลังของชุมชนต่อต้านถ่านหินทั้งที่ประจวบคีรีขันธุ์ (ทับสะแก) นครศรีธรรมราช (ท่าศาลา  หัวไทรและปากพนัง) และตรัง ในที่สุด กฟผ. จึงหันมาพิจารณากระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่โรงไฟฟ้าลิกไนต์(เดิม) 60 เมกะวัตต์ และเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้น้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติ 340 เมกะวัตต์ในปี 2540 เพื่อใช้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

โจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของ กฟผ. และหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายพลังงานของประเทศที่บอกว่า “ถ่านหินมีความจำเป็น” และสร้างวาทกรรม “ก๊าซธรรมชาติจะหมดจากอ่าวไทย” และ “วิกฤตไฟฟ้าดับ” ดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยและสร้างความชอบธรรมในการผลักดันแผนการลงทุนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าได้เดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจเสียงท้วงติง แม้กระทั่งในช่วงกระแสปฏิรูปหลังจากการยุบสภา กฟผ. ได้เร่งให้รักษาการณ์รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานนำโครงการสร้างไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องเก่าที่หมดอายุในปี 2561 เข้ายื่นให้คณะกรรมการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าอาจจะทำให้ไฟฟ้าดับในเขตภาคเหนือ และพร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าที่กระบี่โดยคาดว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรอบสุดท้าย (ค 3) ภายในกลางปี 2557 นี้

ทว่า กฟผ. และหน่วยงานองค์กรกำกับดูแลนโยบายพลังงานของประเทศกำลังตั้งโจทย์เข้าข้างตัวเองท่ามกลางวิกฤตการเมืองและกระแสปฏิรูปที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ ตรงไปตรงมาและเกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าคือเรื่องของกระบวนการตัดสินใจของรัฐเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่อันเป็นที่มาของความขัดแย้งของสังคมไทย หาใช่คำถามที่ว่า ทำไมชุมชนและขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนจึงต้องคัดค้านหัวชนฝา

หากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับทางการที่จัดทำเป็นประจำโดย กฟผ. ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป การต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและความขัดแย้งทางสังคมก็จะยังคงอยู่ ที่ผ่านมาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการวางแผนที่เป็นปัญหาขั้นวิกฤตด้วยเหตุที่เลือกสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ก่อมลพิษ มีต้นทุนและความเสี่ยงสูง แทนที่จะเป็นทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่าและถูกกว่า และสิ่งที่ กฟผ. ต้องตระหนักก็คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับทางการดังกล่าวขัดกับนโยบายพลังงานของประเทศไทยและขัดกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่ออนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่นำไปสู่แผนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ความยอกย้อนที่เกิดขึ้นคือ การกำหนดขั้นตอนพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จะต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมก่อนที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติโครงการ โจทย์ที่ถูกตั้งไว้แล้วคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้โครงการผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีเอชไอเอให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นแล้วทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากประชาชน หากชุมชนมีความเข้มแข็งมาก เราก็จะเห็นในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและหินกรูด ประจวบคีรีขันธ์ หรือที่ท่าศาลา และหัวไทร นครศรีธรรมราช

กระบี่เป็นจังหวัดเล็กๆ ชายฝั่งอันดามันแต่มีชื่อเสียงระดับโลกในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับโลก โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ซึ่งจะมาพร้อมกับถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้คือภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อสถานะภาพดังกล่าวของกระบี่ มาตรการบรรเทาและลดผลกระทบที่ระบุไว้ในร่างรายงานอีเอชไอเอทั้งสี่ฉบับ (ตัวโรงไฟฟ้า 1 ฉบับและโครงการท่าเรือถ่านหินอีก 3 ฉบับ) จะกลายเป็นเพียงลมปาก

พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งได้รับการขั้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar site) ลำดับที่ 1100 ครอบคลุมป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล ที่ราบหาดทรายน้ำขึ้นถึงและพื้นที่พักอาศัยของนก ป่าพรุชายฝั่ง เทือกเขาหินปูนและสุสานหอยอายุ 75 ล้านปีนั้น อยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตรของขอบเขตการศึกษาผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน (ยกเว้นโครงการท่าเรือคลองรั้วที่บริษัททีมคอนซัลติ้งเป็นผู้จัดทำรายงานอีเอชไอเอ) ดังนั้น เป็นที่แน่นอนว่า ร่างรายงานอีเอชไอเอทั้งสามฉบับที่จัดทำโดยบริษัทแอร์เซฟได้มองข้ามความสำคัญของการศึกษาผลกระทบใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่

เช่นเดียวกับรายงานอีเอชไอเอของโครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง รายงานอีเอชไอเอของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเรือถ่านหินนั้นผูกขาดโดยนักวิชาการและนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่รับจ้างโดยเจ้าของโครงการเพื่อทำหน้าที่เป็นตรายางให้กับโครงการ ซ้ำร้ายกระบวนการรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นเวทีสร้างความชอบธรรมให้กับ กฟผ. และกีดกันชุมชนที่ไม่เห็นด้วยออกไป

โจทย์ที่ กฟผ. ตั้งไว้เพื่อเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่กระบี่ จำเป็นต้องได้รับการทบทวนทั้งหมด และเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิรูประบบพลังงานไทยและสิ่งแวดล้อมที่ทุกภาคส่วนของสังคมได้ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ เมื่อเราตั้งคำถามที่ถูก เราก็จะเดินไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้อย่างมั่นคงและกระจายผลประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ มิฉะนั้นแล้ว กระบี่ในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับโลก และพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่มีความสำคัญต่อชุมชนที่พึ่งพาอาศัยประโยชน์ทั้งในด้านการดำรงชีพ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและความสำคัญต่อพรรณพืชและสัตว์ป่า ก็จะถูกทำลายหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม