“วันน้ำโลก (World Water Day)” เป็นวันสำคัญสากลในด้านการอนุรักษ์และบริหารจัดการน้ำ และยังเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจเรื่องความจำเป็นของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและความสำคัญของน้ำที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ประเด็นของวันน้ำโลกในปีนี้เน้นถึงการพึ่งพาอย่างขาดไม่ได้ของการใช้น้ำและพลังงาน (water-energy nexus)

ความเชื่อมโยงกันระหว่างพลังงานและทรัพยากรน้ำโดยเฉพาะในมิติด้านความต้องการพลังงานและสถานการณ์การขาดแคลนน้ำกำลังเป็นสิ่งท้าทายที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงานมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้น้ำในกระบวนการผลิตพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นความต้องการใช้น้ำในการสกัดเอาเชื้อเพลิง การใช้น้ำในการหล่อเย็นในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า และเช่นกันในอีกด้านหนึ่งของสมการ พลังงานปริมาณมหาศาลก็มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับการเข้าถึงและบริโภคทรัพยากรน้ำ ยกตัวอย่างเช่นการปั๊ม การบำบัดทำความสะอาด และขนส่งน้ำมายังผู้บริโภค เป็นต้น สองอย่างนี้จึงมีความเชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากรน้ำและพลังงานจึงเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยจำนวนประชากรและการพัฒนาเข้าสู่สังคมเมืองที่จะส่งผลให้ปริมาณความต้องการน้ำเพิ่มสูงขึ้น และเช่นเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวและมีการใช้น้ำมากขึ้นตามกัน

ในขณะเดียวกัน ปริมาณความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน และที่สำคัญ การผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมุ่งเน้นการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ความร้อนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้น้ำในปริมาณมหาศาล การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ความร้อนจากการเผาใหม้จึงเป็นโรงงานไฟฟ้าประเภทหลักที่ใช้น้ำในปริมาณสูงสุด เช่น โรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ต้องใช้น้ำมากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับพลังงานหนึ่งหน่วยที่ผลิตออกมา ในขณะที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลมและแผงสุริยะนั้นมีปริมาณการใช้น้ำน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าด้านการใช้น้ำต่อหน่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้า

การใช้น้ำปริมาณมหาศาลของเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าจึงส่งผลต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เกิดแรงบีบคั้นสู่ภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้กำลังมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินรวมกันถึง 65,000 เมกะวัตต์ ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานการประเมินความเสี่ยงถ่านหินของสถาบันทรัพยากรโลก ตลอดวงจรการใช้ถ่านหินตั้งแต่การทำเหมือง การขนส่ง การเผา การปลดปล่อยก๊าซ และการฝังกลบเถ้าถ่านหินล้วนต้องใช้น้ำและส่งผลต่อน้ำในปริมาณมหาศาล โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความตึงเครียดให้กับทรัพยากรน้ำ

การขุดเอาถ่านหินมาใช้ยังได้สร้างปัญหาร้ายแรงต่อทรัพยากรน้ำจากการก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำ ยกตัวอย่างเช่น การทำเหมืองในอินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะเป็นการสร้างตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซีย แต่ก็ขาดการคำนึงถึงผลกระทบภายนอกที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญของประเทศ พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ผลิตอาหารต้องสูญเสียไปจากการเปิดหน้าดินทำเหมืองขุดถ่านหิน และส่งผลกระทบให้เกิดการพังทลายของหน้าดินและน้ำท่วมบ่า เนื่องจากพืชและต้นไม้ที่คลุมหน้าดินถูกทำลาย หน้าดินถูกเปิดจึงไม่สามารถเก็บอุ้มเก็บชะลอน้ำไว้ได้ และเกิดการชะล้างน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษไหลลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในแม่น้ำมาฮาคัมที่ไหลผ่านเมืองซามารินดา ทางตะวันออกของกาลิมันตัน

ประเทศฟิลิปปินส์ก็กำลังเผชิญกับการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีแผนจะสร้างรวมกันถึง 4,900 เมกะวัตต์ แผนดังกล่าวมีการใช้น้ำทั้งหมดถึง 604 ล้านลิตรต่อชั่วโมง หรือเปรียบได้กับการใช้น้ำปริมาณเท่ากับสระน้ำโอลิมปิกจำนวน 242 แห่งรวมกันในทุกชั่วโมง (อ้างอิงจากการคำนวณจากห้องทดลองพลังงานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่ได้ประมาณปริมาณการใช้น้ำของการผลิตพลังงานโดยความร้อน) นอกจากนี้ น้ำเสียที่ถูกปล่อยจากการหล่อเย็นในกระบวนการผลิตที่มีอุณหภูมิสูงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและระบบนิเวศ และส่งผลต่ออาชีพการทำประมง

สำหรับในประเทศไทย ไดัมีหลักฐานพิสูจน์ยืนยันชัดเจนถึงมลพิษทางน้ำที่เกี่ยวโยงกับโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะขนาดใหญ่2,625 เมกะวัตต์ ที่สร้างปัญหามลพิษมาอย่างยาวนาน ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ.2543 ได้ระบุถึงการพบสารโลหะหนัก เช่น สารหนู โครเมี่ยม และแมงกานีสในแหล่งน้ำต่างๆรอบบริเวณโรงงาน จนในที่สุดศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาให้โรงไฟฟ้าต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพและพืชผลทางการเกษตร เหตุการณ์นี้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางของผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์

การเผาไหม้ถ่านหินยังเป็นส่วนสำคัญของการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างได้รับรู้ถึงสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนรุนแรงมากและบ่อยครั้งขึ้นรวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่นานและรุนแรงมากขึ้นทุกปี ดังที่ได้มีการกล่าวไว้ในรายงานต่างๆ ที่ล้วนระบุถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่จะรุนแรงมากกว่าในช่วงปีก่อนๆ โดยเฉพาะปีนี้ที่คาดว่าเป็นปีของเอลนีโนที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วม

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่สามารถที่จะยอมกับการเพิกเฉยกับความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างทรัพยากรน้ำและพลังงาน นโยบายรัฐด้านการใช้พลังงานและผลิตพลังงานต้องถูกตั้งคำถามถึงทางเลือกวิธีการผลิตพลังงานกับปริมาณน้ำที่ต้องใช้ไป ซึ่งจริงๆ แล้ว การผลิตพลังงานโดยมุ่งเน้นใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้จริง เราไม่จำเป็นต้องนำความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำไปแลกกับการผลิตพลังงานและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างที่เป็นอยู่ เราต้องนำหนทางแก้ไขที่อยู่เหนือข้อจำกัดท้าทายเหล่านี้มาปฏิบัติใช้ ที่ซึ่งจะสามารถนำพาเราก้าวข้ามไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างแท้จริง

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม