มีข่าวดีในประเทศไทย นั่นคือ เรากำลังจะก้าวไปสู่ยุคพลังงานแสงอาทิตย์

เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง เห็นชอบกับโครงการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านอย่างเสรี  หรือ โซลาร์รูฟ  โดยในช่วง 5 ปีแรก ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟตามบ้านเรือนทั้งหมด 5 แสนชุด  ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 5 พันเมกะวัตต์  และ ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นเท่าตัวจาก 5 พันไปเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

Greenpeace activists installing solar panels on the roof of a village school in the province of Prachuab Khiri Khan. The Thai Government proposed to build to coal fired power plants in the area. © Greenpeace / Yvan Cohen

หากรัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำสีเขียวในอนาคตและยังเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปสรรคบางประการด้านโลจิสติกส์กับระบบโซลาร์รูฟที่เพิ่งได้รับการเห็นชอบ เนื่องจากอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ residential Feed-in Tariff (FiT)  ยังต้องรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือนนี้ก่อน และแม้ว่าอุปสรรคข้อนี้จะหมดไปแต่หน่วยงานที่จะนำไปปฏิบัติใช้ เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ)  ก็จะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้แผนนี้เป็นจริงขึ้นมา และไม่ใช่เพียงแค่เสือกระดาษที่ไร้ชีวิตเท่านั้น หน่วยงานบางหน่วยเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เคยมีประวัติในการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าหน่วยงานจะพร้อมให้การยอมรับพลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริงหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความยากลำบากอีกมากในแง่รายละเอียด เนื่องจากข้อมูลอัตราที่จะนำมาใช้และขนาดของระบบยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งข้อบังคับและเงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการประกาศออกมาเพื่อให้สาธารณชนรับรู้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าผู้ยื่นคำร้องจะสามารถลงทะเบียนผ่านทางศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จได้หรือไม่

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในแง่ของการนำไปปฏิบัติ ก็คือ ใครกันแน่ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากแผนการใหม่นี้ และต้องให้แน่ใจว่าประชาชนกลุ่มที่มีกำลังจ่ายน้อยจะได้รับความสำคัญ ขณะเดียวกันผู้บริโภคในครัวเรือนก็ยังคงมีความสำคัญในลำดับต้นๆ มากกว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ผู้นำเข้าอุปกรณ์โซลาร์ และผู้ประกอบธุรกิจ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป ทั้งนี้แผนการดังกล่าวควรจะกำหนดอัตราที่ดึงดูดความสนใจ และยุติธรรมกับเจ้าของบ้าน เพื่อที่พวกเขาจะได้ขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ด้วยราคาที่เป็นธรรม

สาระสำคัญที่รัฐบาลเสนอมา โดยเนื้อหาก็คือ แผนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กด้วยการใช้วิธีหักลบหน่วย (net metering) แต่แผนการดังกล่าวมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ ในบางประเทศก็เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของบ้าน (ส่งเสริมการเป็นเจ้าของแผงพลังงานโซลาร์ และการพัฒนา) ขณะที่บางประเทศก็ตระหนี่กับเจ้าของบ้านซึ่งในความเป็นจริงก็คือการหากำไรนั่นเอง     ซึ่งประเทศไทยควรดำเนินการตามตัวอย่างแรกที่กล่าวมา

ประการสุดท้าย การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวยุคพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้น การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของแผงโซลาร์เซลล์ถือเป็นสิ่งสำคัญ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ การกระจายตัวจะเป็นไปในรูปแบบใด จะกระจายไปทั่วประเทศแต่ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย หรือจะถูกรวมกลุ่มอยู่ในชุมชนที่เป็นที่รู้จัก เพื่อใช้เป็นตัวอย่างของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่เห็นได้ชัดเจนและมีอยู่จริง

ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน  สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวถึงโครงการนี้ในแง่ดีว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการขยายไปสู่โรงเรียน โรงงาน และที่ทำการรัฐบาล แต่คำถามสำคัญก็คือ แผนการนี้จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริงได้อย่างไร

นี่คือบททดสอบการตัดสินใจที่สำคัญเพื่อดูว่าอนาคตของเราจะเป็นสีเขียวหรือไม่ ก้าวต่อไปสำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติของไทยก็คือ ทำให้แน่ใจว่ากฏหมายพลังงานหมุนเวียนจะได้รับการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาในปีนี้ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีกลไกการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อย่างเหมาะสม เที่ยงตรง เป็นธรรม และยั่งยืน

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังคงเฝ้ารออย่างกระตือรือร้นว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนหรือไม่ที่จะเริ่มใช้ธนาคารสีเขียว (เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการพัฒนา KFW ในเยอรมนี หรือ หน่วยงานด้านการเงินและการลงทุนในพลังงานสะอาดที่มลรัฐคอนเน็คติกัต ของสหรัฐฯ) ธนาคารสีเขียวจะใช้กองทุนสาธารณะที่มีวงเงินจำกัดเพื่อดึงดูดกองทุนเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนด้านการเงินต่อโครงการพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกในระยะยาว  ท้ายที่สุดเงินกองทุนสาธารณะก็จะไปช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนให้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น  ด้วยการรับประกันอัตราการคืนเงินที่แน่นอนให้กับนักลงทุนภาคเอกชน

ในขณะที่เรากำลังยินดีกับการก้าวไปสู่พลังงานหมุนเวียน เราหวังว่าเราจะยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการพัฒนาสีเขียวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม