กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้รณรงค์เพื่อปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจีเอ็มโอมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยเผยแพร่ความรู้เรื่องข้าวจีเอ็มโอแก่ชาวนาไทยและประชาชนทั่วไป รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นวิถีเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

Organic Rice Art at Ratchaburi in Thailand. © Greenpeace / Athit Perawongmetha

© Greenpeace / Athit Perawongmetha

การรณรงค์เผยแพร่ข้อเท็จจริงเรื่องข้าวจีเอ็มโออย่างต่อเนื่องของกรีนพีซ ทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร ได้ตระหนักถึงการปกป้องข้าวไทย เนื่องจาก “ข้าว” เป็นอาหารหลักของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก นำเงินตราเข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท ข้าวหอมมะลิไทยยังมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกปฏิเสธการนำเข้าข้าวจีเอ็มโอ เนื่องจากพืชจีเอ็มโอหรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจีเอ็มโอ หน่วยงานรัฐจึงได้เห็นไปในทิศทางเดียวกับกรีนพีซที่จะต้องปกป้องข้าวไทยให้ปลอดจีเอ็มโอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กรมการข้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ข้าวไทย ระยะ 5 ปี (2550 – 2554) และหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ กำหนดให้ข้าวไทย เพื่อการค้า เป็นข้าวปลอดการดัดแปลงพันธุกรรม ( Non-GMOs) โดยการกำหนดมาตรการตรวจสอบและรับรองข้าวปลอดการดัดแปลงทางพันธุกรรม GMOs ซึ่งนับเป็นการประกาศนโยบายข้าวปลอดจีเอ็มโอเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรไทยรวมทั้งการค้าและการส่งออกข้าวไทยไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกที่ปฏิเสธข้าวจีเอ็มโอ และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั่วโลกอีกด้วย

แผนยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2550-2554

ข้าวไทยหัวใจของชาติ

กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นถึงความสำคัญของข้าว เนื่องจากเป็นอาหารหลักประจำชาติและเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของไทย ในประเทศไทยมีชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของ ครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด พื้นที่เพาะปลูกข้าวปีละประมาณ 56 – 58 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 28.0 – 30.0 ล้านตันข้าวเปลือก มูลค่าปีละประมาณ 180,000 – 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรในระดับรากหญ้า อีกทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญสามารถสร้างรายได้และนำเงินตราเข้าประเทศปีละประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นพืชที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วย

ในด้านการผลิต การตลาดภายใน ตลาดต่างประเทศ รวมถึงด้านการบริหารจัดการ ขนส่งสินค้าและบริการ มีหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่การดำเนินการยังไม่สอดรับกันทั้งระบบ ส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาข้าวไทยทั้งในด้านการผลิต  การแปรรูป และ การตลาด เป็นไปอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพเข้มแข็งและยั่งยืน มีทิศทางการดำเนินงาน ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวอย่างชัดเจน กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายในการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย และที่สำคัญที่สุดเพื่อให้ ชาวนามีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้นและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตอย่างมั่นคง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ข้าวไทยขึ้น เพื่อจัดประชุมและระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จัดทำร่างยุทธศาสตร์หลักข้าวไทย และได้นำเสนอให้ที่ประชุมสัมมนา “ยุทธศาสตร์ข้าวไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) พิจารณาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ทั้งนี้ ได้มีการปรับแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของ กนข. และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยกร่างยุทธศาสตร์ข้าวไทยอีกครั้ง โดยได้สรุปเป็นร่างยุทธศาสตร์ข้าวไทย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (2550-2554) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

อ่าน ยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2550 – 2554 : กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วัตถุประสงค์พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนา

ส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย

ยุทธศาสตร์ข้าวไทยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มีกรอบทิศทางการพัฒนาการผลิต  การตลาด และการกระจายข้าวอย่างชัดเจน ที่สำคัญเพื่อให้ชาวนามีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อพัฒนาระบบการค้า การกระจายข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก เพื่อเป็นฐานในการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการผลิต คือ คงพื้นที่ปลูกข้าวที่ 57.5 ล้านไร่ ตามศักยภาพเขตชลประทาน แต่ข้อเท็จจริงคือพื้นที่เพาะปลูกข้าวจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคตตามสภาพการใช้ที่ดินที่จะมีการปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ทำการเกษตรไปสู่พื้นที่อุตสาหกรรมและการค้า และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี โดย ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มจาก 439 กก./ไร่ ในปี 2549/50 เป็น 529 กก./ไร่ เพิ่มผลผลิตข้าวเปลือก โดยผลผลิตข้าวรวมเพิ่มขึ้นจาก 29.432 ล้านตัน ในปี 2549/50 เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 13.5 เป็น 33.405 ล้านตัน ในปี 2553/54 ให้สอดรับกับปริมาณส่งออก ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน

ประกาศ“ข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ”

กลยุทธ์สำคัญสู่ความสำเร็จ

หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด คือ “กำหนดให้ข้าวไทย เพื่อการค้า เป็นข้าวปลอดการตัดแต่งพันธุกรรม (Non- GMOs)” โดยการกำหนดมาตรการตรวจสอบและรับรองข้าวปลอดการตกแต่งทางพันธุกรรม GMOs

รวมทั้งกำหนดเขตพื้นที่การปลูกข้าวในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม โดยให้สามารถตอบสนองต่อข้าวในแต่ละชนิดพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตได้สูงสุด โดยให้มีการกำหนดเขตพื้นที่ส่งเสริมการผลิตข้าวตลาดเฉพาะ ซึ่งเป็นข้าวตลาดบน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิคุณภาพมาตรฐาน ข้าวเฉพาะถิ่น โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งกลยุทธ์ คือ พัฒนาระบบการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชาวนามีการปฏิบัติและดูแลการผลิตอย่างถูกต้องตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP)  รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมระบบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีให้แก่ชาวนาอย่างทั่วถึง

กรีนพีซเรียกร้อง กระทรวงเกษตรฯ คงนโยบาย “ข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ” ตลอดไป

กรีนพีซยินดีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมถึงกรมการข้าวมีนโยบายข้าวปลอดจีเอ็มโอ  จากแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย พ.ศ.2550-2554 ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ระบุให้ “ข้าวไทยเพื่อการค้าเป็นข้าวที่ปลอดจีเอ็มโอ” ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการส่งเสริมเอกลักษณ์ของข้าวไทยและเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับข้าวไทยเพื่อการส่งออก เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าจะให้ข้าวของตนเองเป็นข้าวปลอดจีเอ็มโอ ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่แสดงจุดยืนเพื่อปกป้องข้าวและชาวนาของตน นับเป็นหนึ่งผลงานของภาครัฐที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งชาติ แม้ปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ปลูกข้าวจีเอ็มโอในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม แต่นโยบายดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญและเป็นสัญญาณที่ดีว่ารัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2554 แต่ยังมีประชาชนน้อยมากที่ทราบว่าไทยมีนโยบายข้าวปลอดจีเอ็มโอ ดังนั้นภาครัฐควรถ่ายทอดเรื่องราวและความภาคภูมิใจนี้สู่สาธารณชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างจุดแข็งและร่วมกันทำให้ยุทธศาสตร์ข้าวปลอดจีเอ็มโอเข้มแข็งยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ กรีนพีซขอเรียกร้องให้รัฐบาลคงนโยบายข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอไว้ในแผนยุทธศาสตร์ฉบับต่อไปในปี พ.ศ.2554-2558 เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ “ข้าวไทย” เป็นที่หนึ่งในโลกตลอดไป