อุณหภูมิในอาร์กติกกำลังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก และกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงที่สุดบนโลก ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ การหดตัวอย่างรวดเร็วของความหนาของน้ำแข็ง และปริมาณพื้นที่ทะเลน้ำแข็ง

ข้อมูลจากแบบจำลองวิทยาศาสตร์ได้ประเมินว่าน้ำทะเลน้ำแข็งอาร์กติกจะละลายสูญสิ้นไปจนหมดในฤดูร้อน ภายในปีพ.ศ. 2573 บางข้อมูลวิจัยก็เผยว่าเหตุการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นภายในปีสองปีนี้  โดยชั้นดินเยือกแข็งและธารน้ำแข็งยังคงละลาย  และแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ก็กำลังมีอัตราการละลายเร็วที่สุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติมา

ทะเลน้ำแข็งเป็นแกนหลักของระบบนิเวศของอาร์กติก การที่ทะเลน้ำแข็งหดตัวและบางลงนั้นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนและสัตว์ในอาร์กติก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในอาร์กติกแห่งนี้เปลี่ยนไป

นอกเหนือจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว  ยังมีผลพวงจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลถึงชีวิตในอาร์กติกอย่างต่อเนื่อง อาทิ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ การจับปลาเกินขนาด การเพิ่มขึ้นของระดับรังสีอัลตราไวโอเล็ตอันเนื่องมาจากการหดตัวของชั้นบรรยากาศโอโซน การขยายตัวของประชากร และมลพิษอันเกิดมาจากการขุดเจาะใช้ทรัพยากร

ผลรวมจากปัจจัยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมากเกินกว่าความสามารถในการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศของอาร์กติก

Polar Bear on Labrador Sea Ice. © Jiri Rezac / Greenpeace

“ฉันได้เห็นผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดกับอาร์กติก เมื่อทะเลน้ำแข็งหดตัวลงอย่างรวดเร็วไกลออกจากชายฝั่ง และหมีขั้วโลกต้องว่ายน้ำอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางทะเลเปิด ว่ายเพื่อหาแผ่นน้ำแข็งเล็กๆ สักแผ่นที่สามารถหาได้เพื่อล่าแมวน้ำวงแหวนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายร้อยไมล์ ณ ขอบของน้ำแข็งใดสักแห่งท่ามกลางน่านน้ำกว้าง หมีขั้วโลกไม่ควรมีชีวิตเช่นนี้ และภาพนี้ได้ตามหลอกหลอนฉันทุกครั้งที่ได้อ่านรายงานอันน่าหดหู่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของหมีขั้วโลกในโลกที่กำลังร้อนขึ้นใบนี้” เมลานี ดูชิน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรีนพีซ

ผลกระทบต่อคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอาร์กติก

คนพื้นเมืองจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง จากการที่ปริมาณน้ำแข็งลดลงได้ทำให้สัตว์ลดจำนวนลง และนั้นก็ส่งผลให้ปริมาณอาหารลดลงตามไปด้วย  สัตว์บางสายพันธุ์ก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มที  การที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และการเกิดคลื่นสูงจากการหดตัวลงของทะเลน้ำแข็ง และพายุพัดโหมกระหน่ำเข้าชายฝั่ง ได้ก่อให้เกิดการกัดเซาะ ชายฝั่งจนพังทลาย และส่งผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งให้ต้องหาถิ่นที่อยู่ใหม่

หมีขั้วโลกมีการดำเนินชีวิตที่ต้องพึ่งพาทะเลน้ำแข็งตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่การล่าแมวน้ำ ซึ่งเป็นอาหารหลัก และการเลี้ยงลูก มีรายงานวิจัยจำนวนมากเผยว่ามีหมีขั้วโลกที่ต้องจมน้ำตายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการที่ต้องว่ายน้ำออกไปไกลขึ้นจากน้ำแข็งแผ่นหนึ่งไปยังอีกแผ่นหนึ่ง   หมีอีกกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตช่วงฤดูร้อนบนชายฝั่งมากขึ้นเพื่อรอให้ทะเลแข็งตัวตอนปลายฤดูร้อน นักวิจัยยังค้นพบอีกว่าเป็นครั้งแรกที่มีรายงานว่าหมีขั้วโลกล่าและกินเนื้อหมีด้วยกันเองเนื่องจากความเครียดจากการขาดอาหาร อันเป็นผลพวงโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำแข็งเหลือน้อยลง

สัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น แมวน้ำ วาฬ และสิงโตทะเล ต่างต้องพึ่งพาทะเลน้ำแข็งเช่นกัน แมวน้ำที่อาศัยอยู่บนผืนน้ำแข็งสายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ แมวน้ำวงแหวน แมวน้ำลายจุด แมวน้ำริบบอน และแมวน้ำเครา ก็ต่างเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อการสถาการณ์การลดลงของแผ่นน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก เนื่องจากพวกมันต้องคลอดลูก เลี้ยงลูก และอาศัยอยู่บนน้ำแข็ง พวกมันยังต้องออกหาอาหารที่ริมแผ่นน้ำแข็ง และใต้น้ำแข็ง จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สัตว์สายพันธุ์เหล่านี้จะสามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่บนผืนพิภพได้โดยปราศจากน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อน

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม