ทีวีหลังตุงตั้งบนโต๊ะตัดเสื้อของยายอยู่กับบ้านเรามานานนับสิบปี มันผ่านการแกะกระดองมานับครั้งไม่ถ้วน วันหนึ่งมันได้จากครอบครัวเราไปพร้อมกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ทุกคนในบ้านเห็นว่าสภาพในตอนนั้นมันเกินจะเยียวยาจริง ๆ“อันนี้ซ่อมไม่ได้ครับ ต้องเปลี่ยนทั้งบอร์ดเลย แต่ถ้าจะเปลี่ยน ซื้อตัวใหม่เลยจะคุ้มกว่า” พนักงานที่ศูนย์ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเมินการ (ไม่) ซ่อมชุดเครื่องเสียงของผมทั้ง ๆ ที่สภาพของมันดูดีมากแล้วผมก็เพิ่งจะซื้อมันมาไม่นาน นี่ไม่ใช่อุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวของผมที่ถูกปฏิเสธการซ่อม ยังมีข้าวของอีกมากที่จากผมไปก่อนวัยอันควร

ทุกวันนี้สินค้าหลายอย่างถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานที่สั้นและซ่อมแซมได้ยาก เพียงเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถขายของได้มากขึ้น ที่น่าเศร้าไม่แพ้กันก็คือหลายครั้งที่ผู้บริโภคอย่างพวกเราเองก็เลือกที่จะซื้อของใหม่แทนการซ่อมแซมของที่ยังสามารถกลับมาใช้การได้ดี และยิ่งไปกว่านั้นบางทีเราก็อยากได้ของใหม่ทั้ง ๆ ที่ของเดิมยังดีอยู่

จะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยให้การผลิตและการบริโภคเป็นเช่นนี้ต่อไป?

สิ่งที่ผู้บริโภคอาจจะไม่ได้คิดก็คือข้าวของและบรรจุภัณฑ์ที่เราทิ้งไปนั้นมันไม่ได้หายไปไหน บางชิ้นอาจถูกฝังกลบอยู่ในดิน บางชิ้นอาจถูกเผาแล้วกลับมาอยู่ในลมหายใจของเรา บางชิ้นอาจลอยอยู่ในทะเลที่ไหนซักแห่ง บางชิ้นอาจแตกตัวเป็นอนุภาคพลาสติกอยู่ในทะเลแล้วกลับมาหาเราอีกครั้งในเมนูปลาจานโปรด

ส่วนของการผลิตสินค้าก็ใช่ว่าจะดีนัก แบตเตอรี่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำมาจากโคบอลต์ ครึ่งหนึ่งของโคบอลต์ที่ใช้ในโลกมาจากเหมืองแร่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในจำนวนนี้ 20% มาจากการทำเหมืองด้วยมือ และเหมืองแร่เหล่านี้มีการใช้แรงงานเด็กด้วย ในขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอก็สร้างมลพิษเป็นอย่างมากให้กับแหล่งน้ำของเรา

แล้วผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จะทำอะไรได้

จานรองเอนกประสงค์จากไม้สักยืนต้นตายในเหตุการณ์น้ำท่วม

จานรองเอนกประสงค์จากไม้สักยืนต้นตายในเหตุการณ์น้ำท่วม

“Be the change you want to see in this world” จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากจะเห็นในโลกใบนี้ 

เราทุกคนสามารถสร้างโลกที่เราอยากจะเห็นได้ด้วยมือของเราเอง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างสามารถซ่อมได้ แต่เราอาจต้องพยายามสักนิดในการหาแหล่งรับซ่อม นี่ไม่ใช่เพียงการลดขยะและการใช้ทรัพยากรแต่ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย การเลือกใช้สินค้าที่เราสามารถอัพเกรดหรือเปลี่ยนอะไหล่ได้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานออกไป เราอาจจะลองซ่อมของบางอย่างด้วยตัวเอง หากซ่อมไม่ได้เราก็อาจหาทางดัดแปลงเป็นสิ่งของอย่างอื่น ยิ่งหากว่าเราได้ลงมือทำอะไรขึ้นมาสักชิ้นด้วยมือตัวเองแล้ว รับรองว่าเราจะรักษามันเป็นอย่างดี

ที่ใส่ดินสอที่ทำอย่างง่าย ๆ จากไม้ไผ่

ที่ใส่ดินสอที่ทำอย่างง่าย ๆ จากไม้ไผ่

การได้ลงมือทำอะไรขึ้นมานั้นเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ทราบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งของแต่ละอย่างว่า กว่าจะได้อะไรสักชิ้นนั้นมันจะต้องใช้ทรัพยากร แรงงาน ความคิด และเวลามากเพียงไร นอกจากนั้นเรายังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติที่ตรงใจเราที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปลักษณ์ สีสัน ชนิดวัสดุ เชื่อว่าความผูกพันและความภูมิใจจากการลงมือทำจนสำเร็จจะทำให้เราจะดูแลรักษามันเป็นอย่างดีจนถึงมือลูกหลาน ที่มากกว่าสิ่งของคือการส่งต่อโลกที่เราได้ทะนุถนอมเป็นอย่างดีให้ลูกหลานของพวกเราได้ชื่นชมด้วยเช่นกัน

รอยเย็บบนกางเกงตัวเก่ง

รอยเย็บบนกางเกงตัวเก่ง

DIY Tip: ไม้แขวนเสื้อเท่ๆ – ทำง่ายใช้ได้จริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม้แขวนเสื้อนั้นเป็นอุปกรณ์สามัญประจำทุกบ้าน แต่ไม้แขวนเสื้อจำนวนไม่น้อยทำจากพลาสติกและหรือโลหะหุ้มพลาสติก ไม้แขวนเสื้อแบบนี้อาจใช้ดีในช่วงแรกแต่ท้ายสุดแล้วพลาสติกก็จะกรอบ แตกออก และกลายเป็นอนุภาคพลาสติกซึ่งยากต่อการกำจัด Tip นี้จึงขอเสนอการทำไม้แขวนเสื้อใช้เองจากวัสดุที่หาได้ง่าย ๆ รอบตัวคุณ ซึ่งนอกจากจะดูเก๋แปลกตาแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

วัสดุ:

– ไม้ไผ่ หรือ ท่อนไม้เรียว ๆ

– ลวดโลหะ

อุปกรณ์:

– เลื่อย

– สว่าน

– คีมตัดลวด

วิธีทำ:

1.นำไม้ไผ่ หรือ ท่อนไม้ มาทำความสะอาดและตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ (หากเป็นไผ่สดควรแทงปล้องให้ทะลุแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน เพื่อกำจัดความหวานในเนื้อไม้ทำให้มอดไม่มารบกวน จากนั้นนำมาทำความสะอาดแล้วผึ่งในที่ร่มจนหายเหม็น ถ้าไม่มีเวลาและพื้นที่ ให้นำไม้ไผ่ไปอังไฟแทนการแช่น้ำ)

วางไม้ไผ่ที่จะทำเป็นไม้แขวนเสื้อทาบกับเสื้อ

วางไม้ไผ่ที่จะทพเป็นไม้แขวนเสื้อทาบกับเสื้อ เพื่อวัดขนาดความยาวของไม้ ทำไม้แขวนเสื้อ

2. เลือกดอกสว่านให้เหมาะสมกับขนาดของลวด แล้วเจาะรูที่กึ่งกลางให้ทะลุทั้งสองด้าน

นำลวดมาทำเป็นที่แขวนเสื้อ

นำลวดมาทำเป็นที่แขวนเสื้อ

3.สอดลวดลงไปแล้วดัดปลายด้านหนึ่งให้เป็นตะขอ ส่วนอีกด้านหนึ่งให้เป็นปมกันลวดหลุด เพียงเท่านี้ก็จะได้ไม้แขวนเสื้อที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

ไม้แขวนเสื้อจากการ DIY ใช้แขวนเสื้อได้

ไม้แขวนเสื้อจากการ DIY ใช้แขวนเสื้อได้

 

#MakeSMTHNG #BuyNothing

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

วัชรพล แดงสุภา (ขวัญ)

ขวัญชอบงานประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก เขาออกจากงานเพื่อมาทำสวนที่ต่างจังหวัดในปี 2554 การอยู่ในชนบทห่างไกลทำให้เขาต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมและดัดแปลงข้าวของจนถึงการประดิษฐ์ของใช้ขึ้นมาเอง งานของเขาแทบทุกชิ้นทำจากวัสดุเหลือใช้ วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะนี้เขากำลังต่อเรือเพื่อพัฒนาทักษะของตนเองและประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างอาชีพและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชน ติดตามผลงานของเขาได้ที่เพจ DIY บ้านพ่อง

ขวัญ วัชรพล แดงสุภา

ขวัญ วัชรพล แดงสุภา

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม