ในปีนี้บราซิลมีไฟป่าเกิดขึ้นมากถึง 72,843 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ.2561 ถึงร้อยละ 84 ทำให้ปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโบลโซนาโรถูกจับตามองในเรื่องของการทำลายสิ่งแวดล้อม

Forest Fires in Candeiras do Jamari, Amazon - Second Overflight (2019). © Victor Moriyama / Greenpeace

ภาพไฟป่าในแอมะซอนที่ขยายเป็นวงกว้าง บริเวณรัฐรอนโดเนีย ของบราซิล

ไฟป่าที่กำลังลุกโซนในพื้นที่บางส่วนของป่าแอมะซอนเผาผลาญป่าอย่างรุนแรงจนทำให้เมืองเซาธ์ เปาโลที่ตั้งอยู่ห่างออกไปจากจุดไฟป่ากว่าหลายพันไมล์ถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมิดในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น หมอกควันสีนิโคตินหนาปกคลุมทั้งเมืองในช่วงบ่าย จนกระทั้งทำให้เมืองทั้งเมืองมืดมิดในเวลา 16.00น ตามเวลาท้องถิ่น มองไม่เห็นท้องฟ้า เหตุการณ์นี้นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่าความมืดที่ปกคลุมนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากไฟที่เผาผลาญพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน

ไฟป่าได้กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงในแอมะซอน รัฐแอมาโซนัสต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน นอกจากเมืองมาเนาส์จะถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันแล้ว หมอกควันนี้ยังลอยข้ามพรมแดนไปยังเมืองอื่นๆอีกด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้แฮชเท็ก #PrayforAmazonia ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในโซเชียลมีเดีย

ศาสตราจารย์ มาเซีย อาเคมิ ยามาโซเอ (Márcia Akemi Yamasoe) จากคณะวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศ มหาวิทยาลัยเฟ็ดเดอรัล ออฟ เซาธ์ เปาโล กล่าวกับกรีนพีซ อันเอิร์ธ ว่า หมอกควันที่ปกคลุมเซาธ์ เปาโลนั้น “เป็นผลจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ได้แก่ แนวปะทะอากาศเย็น (cold front system) จับคู่กับควันไฟจากภูมิภาคแอมะซอน รวมถึงไฟป่าจากรัฐทางเหนือ  อาคริ(Acre),ฮงโดเนีย (Rondônia),  มาตู โกรซู (Mato Grosso) และจากโบลิเวีย ทางเหนือของอาร์เจนตินา”

Forest Fires in the Amazon - Third Overflight (2019). © Victor Moriyama / Greenpeace

ภาพมุมสูงจากไฟป่าแอมะซอนในรัฐ มาตู โกรซู (Mato Grosso)

ศาสตราจารย์ ยามาโซเอ เสริมว่า  “แนวปะทะอากาศเย็นจะหันเหไปทางเซาธ์ เปาโล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวของบราซิล อย่างไรก็ดีจำนวนครั้งของไฟป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะในแอมะซอนนี้ทำให้ท้องฟ้าของเซาธ์เปาโลได้รับผลกระทบ”

น่าสังเกตว่าช่วงเวลาการขึ้นดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของบราซิล จาอีร์ โบลโซนาโร เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการแจ้งเตือนไฟป่าที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยอวกาศ (INPE) ระบุว่า เพียงแค่เดือนกรกฎาคนเดือนเดียวมีพื้นที่ป่าแอมะซอนราว 2,254 ตารางกิโลเมตร ถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง ทำให้มีพื้นที่ที่ถูกไฟป่าเผาไปมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ.2561 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 278 

ป่าแอมะซอนเป็นป่าที่มีความชื้นสูง ดังนั้นปัจจัยที่จะทำให้ไฟป่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาตินั้นมีน้อยมาก นอกจากจะเกิดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น และแม้ว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนจะเป็นช่วงหน้าแล้งของภูมิภาคที่ทำให้ป่ามีความเสี่ยงในเรื่องไฟป่ามากขึ้นก็ตาม แต่การเกิดไฟป่าหลายครั้งหลายคราในภูมิภาคครั้งนี้มีสาเหตุมาจากมนุษย์

จากข้อมูลของสถาบัน European Forest Fire Information System พบว่าไฟป่าได้ทำลายผืนป่าในรัฐแอมาโซนาและรัฐรอนโดเนียร์โดยเฉลี่ยมากที่สุดในรอบ 15 ปี

เทคนิค “ตัดและเผา”

Amazon Burnt Area in Porto Velho, Rondônia, Amazon (2019). © Victor Moriyama / Greenpeace

พื้นที่ป่าแอมะซอนที่ถูกเผาในรัฐ รอนโดเนีย (Rondonia) ประเทศบราซิล จากสถิติในปีนี้เกิดไฟป่าสูงกว่าปี พ.ศ.2561 ถึงร้อยละ 190

ด้วยข้อมูลของ INPE ในบราซิล ระบุไว้ว่าเกิดจุดความร้อนหรือ Hotspot ในบราซิลกว่า 72,843 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีพ.ศ.2561 ถึงร้อยละ 84

จุดความร้อนกว่าครึ่งหนึ่งเกิดในป่าแอมะซอน และ 1 ใน 3 เกิดขึ้นที่เมืองเซอร์ราโด (Cerrado) เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยมีป่าซาวันนาที่อุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในทศวรรษนี้ ที่นี่กลับถูกแทนที่ด้วยไร่ถั่วเหลืองไกลสุดลูกหูลูกตา

ศาสตร์ตราจารย์ยามาโซเอ ชี้ว่าสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่านี้คือมนุษย์ ซึ่งต้องการเคลียร์พื้นที่เพื่อปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ “โดยทั่วไปของป่าฝนเขตร้อน เกษตรกรจะต้องตัดต้นไม้และรออย่างน้อยสองเดือนเพื่อให้พื้นที่พร้อมปลูกพืช”

เกษตรกรทั่วโลกใช้เทคนิค ตัดและเผา เพื่อเคลียร์พื้นที่ป่าเช่นเดียวกับเทคนิคที่ทำในป่าแอมะซอน แม้ว่าเทคนิคนี้จะถูกหลายรัฐห้ามใช้ในช่วงฤดูแล้งก็ตาม นอกจากนี้การทำให้เกิดไฟป่ายังเป็นกลยุทธ์ เพื่อขับไล่ชาวพื้นเมืองบราซิลให้ออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขาอีกด้วย

INPE ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันรัฐ มาตู โกรซู “Mato Grosso” (แปลว่า ป่าทึบ) ในบราซิลซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตถั่วเหลือง ปีนี้ที่นี่เกิดไฟป่ามากถึง 13,682 ครั้ง ซึ่งถี่ขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 87  นอกจากนี้ยังมีรัฐที่เกิดไฟป่าอีก ดังนี้

  • ในรัฐปาราเกิดไฟป่ามากถึง 9,487 ครั้ง ถี่ขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 199 
  • รัฐแอมะโซนาซ์เกิดไฟป่าทั้งหมด 7,003 ครั้ง
  • รัฐรอนโดเนียเกิดไฟป่า 5,533 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับ 1,906 ครั้งจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่ารัฐนี้มีไฟป่าเกิดเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 190

ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากไฟป่านี้ก็ยังน่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจาก EU’s Copernicus earth observation system ระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากไฟป่าในป่าแอมะซอน บราซิล อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี อย่างเช่นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรัฐแอมะโซนาซ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 อยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ซึ่งปีที่เริ่มเก็บสถิติ

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรัฐแอมะโซนาซ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 อยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ซึ่งปีที่สถาบัน Copernicus earth information system เริ่มเก็บสถิติ ที่มา : European Centre for Medium-Range Weather Forecasts

ยิ่งไฟป่าแพร่กระจายออกเป็นวงกว้าง ก็ยิ่งมีต้นไม้ล้มตายลงมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะเมื่อป่าฝนเขตร้อนซึ่งเป็นพื้นที่แห่งชีวิตสูญหายไป ผืนดินก็จะสัมผัสกับความร้อนรุนแรงและเสี่ยงที่จะทำให้ไฟเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้งมากขึ้น

จากนั้น หมอกควันที่อยู่ในชั้นบรรยากาศก็จะรบกวนให้ปริมาณฝนลดลง เมื่อฝนลดลง ต้นไม้ที่ต้องการฝนมาช่วยในการเจริญเติบโต อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยให้ฝนตกก็จะลดลงตาม  นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพอากาศและระบบนิเวศซึ่งกำลังจะกลายเป็นเรื่องร้ายแรง

ความขัดแย้งทางการเมืองอาจเชื่อมโยงถึงวิกฤตไฟป่าแอมะซอน

แม้ว่าสาเหตุของการเกิดไฟป่าจะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ให้แน่ชัด แต่เหตุการณ์ไฟป่าแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ของบราซิลกำลังอ่อนแอและถูกกดดันจากสภาวะทางการเมืองอย่างหนัก หลังจากประธานาธิบดีโบลโซนาโรได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความแม่นยำของสถิติการทำลายป่า นายริคาร์ดู เกาเหว้า (Ricardo Galvão) อดีตผู้อำนวยการ  INPE ก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่ง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหลักทางด้านสิ่งแวดล้อมของบราซิลที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องไฟป่า ก็ถูกไล่ออกและยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนอีกหลายตำแหน่ง ทำให้ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 หน่วยขาดผู้นำในการทำงานทั้งหมด

เปาโล โมติงญู (Paulo Moutinho) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก Amazon Environmental Research Unit (IPAM)  สถาบันที่รับผิดชอบในการติดตามการตัดไม้ทำลายป่าและการเกิดไฟป่าในแอมะซอนกล่าวกับ กรีนพีซ อันเอิร์ธ ว่า “เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์แย่ลงทุกปีๆ เรามีรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำลังปล่อยให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย”

บทความนี้ เป็นบทความจากการสืบสวนสอบสวนและรายงานโดย กรีนพีซ อันเอิร์ธ ( Greenpeace Unearthed) อ่านบทความภาษาอังกฤษได้ที่นี่

ปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ทุก ๆ วันอุรังอุตังกว่า 25 ตัวต้องสูญเสียชีวิตและที่อยู่อาศัยจากการทำลายป่าฝนเขตร้อนของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม 6% คือตัวเลขของป่าฝนเขตร้อนที่เหลืออยู่บนโลก ผืนป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียเป็น 1 ในร้อยละ 6 นี้ ป่าฝนเขตร้อนเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนที่สำคัญที่สุดให้กับมนุษย์ และยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าสามหมื่นห้าพันล้านตัน

มีส่วนร่วม