“สุดท้ายแล้วผลกระทบเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเราทุกคน จากวิธีการบริโภคการใช้ทรัพยากร จากอุตสาหกรรม ในการเปลี่ยนแปลงจึงต้องได้รับการร่วมมือจากพวกเราทุกคนอยู่ดี ซึ่งมันก็ไม่ได้สะดวกสบายขนาดนั้นหรอก แต่เป็นสิ่งจำเป็น” — ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพใต้น้ำเชิงสิ่งแวดล้อม

เชื่อว่าคนไทยยังคงจดจำภาพมาเรียม พะยูนตัวน้อยดูดครีบจ๊วบ ๆ และกินนมนอนหลับในอ้อมกอดของพี่เลี้ยงได้ดี การจากไปของมาเรียมและสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดในช่วงนี้ทำให้ในนัยหนึ่งเกิดเป็นกระแสความหวังด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเล และการลดใช้พลาสติก แต่ในเรื่องราวความสูญเสียเหล่านี้ยังคงมีความหวังอยู่จริงหรือ

คำถามนี้เราได้พูดคุยกับ ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพใต้น้ำเชิงสิ่งแวดล้อม ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของมาเรียม และเก็บภาพของมาเรียมที่อยู่ในความทรงจำของทุกคน

ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพใต้น้ำเชิงสิ่งแวดล้อม © Sirachai Arunrugstichai

ย้อนไปถึงวันที่เรารู้จักกับมาเรียมเป็นครั้งแรก ชินได้ทราบข่าวจาก ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ทะเลหายาก ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรับรู้เรื่องของมาเรียมและการเลี้ยงดูพะยูนตัวนี้ที่เกาะลิบง ก็เลยตัดสินใจเดินทางลงไปกับผู้ช่วยเพื่อถ่ายทำเรื่องราวของมาเรียมกับการทำงานดูแลลูกพะยูนโดยทีมผู้ดูแล ชินบอกกับเราว่า “ผมมองว่าเป็นเรื่องราวของความหวัง เป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ทะเล ที่สวยงาม” ซึ่งเป็นความผูกพันที่ยากจะมีโอกาสสัมผัสได้ ระหว่างมนุษย์และพะยูน และความน่ารักของพะยูนกำพร้าตัวน้อยนี่เองที่ทำให้ทุกคนหลงรักและคอยติดตามชีวิตรายวันของมาเรียม

“มาเรียมน่ารักครับ เหมือนว่าผมก็ไม่เคยเจอสิ่งมีชีวิตอะไรที่น่ารักขนาดนี้เลย ช่วงวันแรก ๆ ที่ผมลงไปถ่ายภาพ มาเรียมก็ดูมีระแวงผมนิด ๆ ชอบไปหลบหลังทีมสัตวแพทย์ แต่ช่วงวันก่อนผมจะกลับ มาเรียมก็มาว่ายน้ำเล่นด้วยใกล้ ๆ ใกล้ขนาดที่ถ่ายรูปไม่ได้น่ะครับเพราะมาเบียดติดตัวจนไม่ได้ระยะถ่ายที่โอเค ชอบว่ายน้ำมากอด มาซบ แล้วงีบหลับไปเมื่อกินอิ่ม แถมมีกรนฟรี้ ๆ อีก” ชินกล่าว “ตลอดมาผมก็คิดถึงมาเรียมเรื่อย ๆ เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ 3-4 วัน ที่ผมมีความสุขมากที่ได้พบเจอกับมาเรียม”

มาเรียม พะยูนกำพร้าขวัญใจคนไทยที่สร้างความตระหนักให้กับผู้คนเรื่องมลพิษขยะพลาสติก © Sirachai Arunrugstichai

ยามีล ลูกพะยูนเพศผู้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นกับทะเลไทยอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งหากนับอีกนานาชีวิตเต่าทะเลและสัตว์ทะเลหายากอีกนับไม่ถ้วนที่เกยตื้นเสียชีวิตก็ยิ่งเป็นความสูญเสียที่น่าตกใจมาก) เราได้รู้จักพะยูนมากขึ้น และเห็นการร่วมมือกันหลากหลายภาคส่วน ทั้งทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการ ภาครัฐ ชุมชน อาสาสมัครนับร้อย และผู้คนที่ให้กำลังใจกันมากมายทางออนไลน์ทั่วประเทศ แต่ในปีนี้ เราได้สูญเสียพะยูนไปแล้ว 18 ตัว (ล่าสุดเพิ่มอีก 1 ตัวที่ตรัง

ความตายของชีวิตพะยูนเหล่านี้สะท้อนถึงอะไร?

“ปีนี้มีสถิติการพบซากหรือเกยตื้นสูงผิดปกติมากโดยที่เฉลี่ยจะมีพบซากหรือเกยตื้นราวๆ 10 ตัวต่อปี แล้วยิ่งคำนึงถึงจำนวนประชากรของพะยูนที่ถูกประเมินว่ามีอยู่น้อยกว่า 250 ตัวในปัจจุบันแล้ว ตัวเลขนี้มันเยอะนะครับ ก็คงจะสะท้อนว่ามันเกิดอะไรบางอย่างขึ้นในบริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน และต้องมีการบริหารจัดการแก้ปัญหาในพื้นที่เพื่อรักษาประชากรพวกมันไว้ให้ได้” 

ขาดพะยูนไปจะส่งผลอย่างไรต่อท้องทะเล?

ชินเล่าให้เราฟังว่า พะยูนเป็นสิ่งมีชีวิตที่กินหญ้าทะเล และด้วยวิถีการกินที่เป็นการขุดกินตามพื้นจึงช่วยส่งเสริมสภาพแนวหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญ ช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์หญ้าทะเล และช่วยเรื่องของการหมุนเวียนสารอาหารและแร่ธาตุในระบบนิเวศ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีสิ่งมีชีวิตบางอย่างเกาะติดตามไปด้วย ช่วยปลาเล็กๆที่หาที่หลบภัย หรือเป็นโฮสต์ของปรสิต และยังเป็นอาหารของฉลามขนาดใหญ่อีกด้วย 

เรียกว่าพะยูนเองคือผู้ที่ดูแลรักษาหญ้าทะเลตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ ความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งนั้นมนุษย์เราก็ได้ประโยชน์จากระบบนิเวศนี้โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจและการประมง

“สิ่งมีชิวิตทุกชนิดมันก็บทบาทของมันในระบบนิเวศที่มันอยู่ล่ะครับ พอส่งผลต่อในระบบนิเวศ มันก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆในพื้นที่นั้นด้วย แต่พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายากที่เหลืออยู่เพียงจำนวนน้อย และประชากรสามารถฟื้นตัวได้ช้ามาก จึงต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ” 

การร่วมมือจากหลายฝ่ายหลายภาคส่วนการดูแลมาเรียม ทั้งภาครัฐ ชุมชน อาสาสมัคร ในสภาพเเวดล้อมตามธรรมชาติ จากมุมมองของชินคิดว่าสะท้อนถึงอะไรบ้าง 

“ผมมองว่าทำออกมาได้ดีมาก ๆ แล้วนะ คือเกือบตลอดเวลาสี่เดือนที่มาเรียมถูกเลี้ยงในธรรมชาติ แนวโน้มก็ดีขึ้นมาตลอด ทั้งการเจริญเติบโต น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมที่เรียนรู้เรื่องน้ำขึ้นน้ำลงข้างขึ้นข้างแรม การหัดกินหญ้าทะเล การอยู่ในธรรมชาติ จนกระทั่งมาพบปัญหาที่ถูกพะยูนตัวใหญ่ไล่จนมาเรียมเครียด และที่หนักสุดคือขยะทะเลที่ฆ่ามาเรียมไป 

เจ้าหน้าที่ขณะกำลังป้อนนมมาเรียม © Sirachai Arunrugstichai

ผมเห็นด้วยกับเป้าหมายที่ต้องการให้มาเรียมสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาตินี้ 100% มาเรียมควรสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติในบ้านของเขา และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่หลงเหลืออยู่ในน่านน้ำไทย แต่การดูแลในธรรมชาตินั้นไม่ง่ายและต้องใช้การร่วมมือและเรี่ยวแรงของคนมากมายในการดูแลมาเรียมอย่างดีที่สุด การตายของมาเรียมก็บ่งบอกถึงภัยคุกคามต่อพะยูนตัวอื่นๆในท้องทะเลประสบพบเจอ ทำให้เราควรมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการปรับพฤติกรรมของเรา ผลักดันนโยบายในการพัฒนาคุณภาพท้องทะเลซึ่งเป็นบ้านของมาเรียมและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่นับไม่ถ้วนด้วย

เรื่องที่สำคัญไม่ใช่แค่การรักษาชีวิตของมาเรียมตัวเดียวแต่มันต้องเป็นการรักษาเผ่าพันธุ์พะยูนให้อยู่รอดต่อไปได้ต่างหาก”

ในฐานะช่างภาพและนักชีววิทยาทางทะเล ชินมุ่งหวังอยากให้ผู้คนรับรู้อะไรมากที่สุด

“อยากให้คนได้เห็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องทะเลและความเชื่อมโยงหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับท้องทะเลนะครับ ถ้าเราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งความสวยงามที่ยังหลงเหลือ ทั้งปัญหาต่างๆที่คุกคามท้องทะเล หรือการทำงานของผู้คนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม มันก็คงสามารถทำให้ผู้คนได้ฉุกคิดและลงมือทำอะไรต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการออกมาช่วยเป็นปากเสียงช่วยผลักดันให้เกิดการจัดการเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต”

ตามข้อมูลและมุมมองของชิน อะไรคือสาเหตุที่สัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ต้องเสียชีวิต หรือยากที่จะดำรงชีวิตในปัจจุบัน

“ถ้าให้ร่ายครบคงยาว เพราะการใช้ชีวิตที่ต่างกันของสัตว์ต่างชนิด ภัยคุกคามก็ต่างกันไปด้วย ถ้าพวกฉลามกระเบนก็ต้องยกให้เรื่องการประมงพาณิชย์เกินขนาด หรือเต่าทะเลก็เจอหลายอย่างทั้งติดเครื่องมือประมง การที่แหล่งวางไข่ถูกทำลายจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง แถมยังโดนภัยคุกคามจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สัดส่วนเพศของตัวอ่อนกลายเป็นตัวเมียเกือบหมดโดยที่แทบไม่เหลือตัวผู้เลย มันก็แล้วแต่กันไปน่ะครับ แต่รวม ๆ แล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนมาจากผลกระทบจากมนุษย์

เรื่องของพะยูนก็เรื่องของผลกระทบจากเครื่องมือประมงเช่นกันที่คุกคามแหล่งพื้นที่หญ้าทะเล และการติดเครื่องมือประมง (ที่เป็นสาเหตุการตายกว่า 90%) จากสถิติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่วนพลาสติกนี่บอกตรง ๆ ว่าผมเองก็เพิ่งรู้ว่าส่งผลต่อพะยูนด้วย 

ส่วนการประมงทำลายล้างและเกินขนาดที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือและอัตราสูงเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถฟื้นตัวได้และเร่งให้สัตว์น้ำหลายสายพันธุ์ล่มสลาย ก็เป็นโจทย์ที่ต้องจัดการการประมงอย่างยั่งยืนที่อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แก้ไม่งั้นสมดุลจะยิ่งเละไปกว่านี้ ทิศทางการให้ความสำคัญยังไงก็ควรไปทางที่ระบบนิเวศอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าแค่ว่าเราจับปลาได้มากแค่ไหนเราส่งออกได้เท่าไร 

สุดท้ายคือเรื่องวิกฤตโลกร้อนที่ส่งกระทบต่อทุกสิ่ง ไล่ไปเลยตั้งแต่การแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตตามอุณหภูมิน้ำ เรื่องของการรบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำของโลก การฟอกขาวที่ทำลายพื้นที่แนวปะการัง หรือไปที่การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เต่าทะเลที่กำลังประสบปัญหาที่ไข่ฟักออกมาเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อสัดส่วนเพศ คือมันเยอะมาก ๆ น่ะ”

ต้องลงมือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แค่พกถุงผ้า ไม่เอาถุงพลาสติกพอไหม 

“ไม่พอหรอก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหานี้นะ การลดการสร้างขยะก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถ้าทุกคนช่วยกันคนละนิด ผลในภาพรวมก็ไม่นิดหรอกครับ แต่ส่วนอื่น ๆ ก็ไม่ควรถูกมองข้ามอย่างเช่นการจัดการขยะที่ถูกทิ้งอย่างเป็นระบบ ยิ่งจากรายงานของ Jambeck et al. (2016) ที่ระบุไว้ว่าสัดส่วนขยะของไทยราว 75% ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ดังนั้นคือควรมีการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งต้องการเสียงของประชาชนที่หวังว่าสามารถขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสร้างความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ด้วย”

แล้วภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐล่ะ?

“อุตสาหกรรมก็ควรเริ่มมองการบรรจุหีบห่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วภาครัฐก็ควรหนุนผลิตภัณฑ์ทำนองนี้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นแนวทางหนึ่งในเชิงนโยบาย ตัวเลือกอื่นๆก็มีการแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่างถาวร หรือเก็บเงินภาษีค่าใช้พลาสติกมาใช้ในการจัดการการจัดเก็บขยะให้ดีขึ้นแบบที่เมืองวอชิงตัน ดีซี และอีกหลาย ๆ เมืองเริ่มทำ คือจริง ๆ มันทำได้หลายอย่างแหละครับ ก็ต้องตามดูทิศทางการจัดการจากรัฐ”

หลายชีวิตพะยูนที่สูญเสียไป และอีกหลายทางออกเพื่อปกป้องพะยูนที่ยังคงเหลือ ย้อนกลับมายังคำถามแรกอีกครั้งว่า เรายังมีความหวังเหลืออีกไหม กับการจากไปของพะยูนจำนวนมากเช่นนี้ในปีนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราทุกคนน่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด “ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็หวังว่าทุกคนคงได้นั่งคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกจากพฤติกรรมของเรา และพวกเราจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงหรือผลักดันให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นในวิธีของตัวเองอย่างไร เพราะมนุษยชาติไม่สามารถอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่ล่มสลายได้หรอกครับ มันไม่ใช่แค่เพื่อสิ่งแวดล้อมแต่เพื่อคุณภาพชีวิตของพวกเราและคนรุ่นหลังจากเราด้วยแหละในท้ายที่สุด”

สิ่งที่มาเรียมฝากไว้จะเป็นความสิ้นหวังหรือความหวังนั้น คำตอบอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของเราทุกคน

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม