เชื่อว่าตอนนี้ไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักพะยูนอีกแล้ว ช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คนไทยได้ใกล้ชิดและเรียนรู้เกี่ยวกับพะยูนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผ่านเรื่องราวของมาเรียมและยามีล ลูกพะยูนกำพร้าเพศเมียและเพศผู้ที่ได้รับการอนุบาลอย่างใกล้ชิดโดยทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการ ชาวบ้านและอาสาสมัครกว่าร้อยชีวิต แต่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราต้องพบกับข่าวพะยูนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการจากไปมาเรียมและยามีล นับตั้งแต่ต้นปีเราสูญเสียพะยูนไปแล้วถึง 17 ตัว ความตายของพะยูน บอกอะไรกับเราได้บ้างถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และอะไรคือความท้าทายในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากชนิดนี้ให้อยู่คู่ทะเลไทย

มาเรียม พะยูนกำพร้าขวัญใจคนไทยทั้งประเทศที่ตายจากปัญหาขยะพลาสติกในทะเล © Sirachai Arunrugstichai

 

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล เป็นญาติห่างๆของช้าง แต่บรรพบุรุษของพะยูนซึ่งเคยอยู่อาศัยบนบกเมื่อราว 55 ล้านปีมาแล้วได้วิวัฒนาการลงไปอยู่ในทะเลแล้วไม่กลับขึ้นบกอีกเลย พะยูนจัดอยู่ในอันดับ Sirenia และอยู่ในวงศ์ Dugong ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวทั่วโลกนั่นก็คือพะยูน (Dugong dugon) พบกระจายอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นในเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาตะวันออก สัตว์ที่เป็นญาติใกล้ชิดและลักษณะคล้ายพะยูนแต่อยู่กันคนละวงศ์คือมานาตี ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชนิดในโลก แต่พบเฉพาะในทวีปอเมริกาและแอฟริกาตะวันตก ไม่พบในเอเชีย

พะยูนเป็นสัตว์ที่มีระบบย่อยอาหารที่สามารถย่อยเซลลูโลสของพืชได้จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลกลุ่มเดียวในโลกที่เป็นสัตว์กินพืช (Herbivore) โดยอาหารหลักของพะยูนคือหญ้าทะเลชนิดต่างๆ พะยูนจึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่นและกว้างใหญ่เพียงพอ พะยูนจึงเป็นดัชนีบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี

แต่ในทางกลับกัน พะยูนก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลและความหลากหลายของแนวหญ้าทะเล เริ่มจากพฤติกรรมการกินหญ้าทะเลของพะยูน ที่จะไถกินทั้งใบและลำต้นใต้ดิน จึงทำหน้าที่เหมือนการตัดแต่ง พรวนดิน ขุดต้นหญ้าชุดเก่าออกไป เปิดโอกาสให้ลำต้นใต้ดินชุดใหม่ได้แตกงอกออกมาทดแทน ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้มีการแข่งขันระหว่างหญ้าชนิดต่างๆ จึงทำให้เกิดความหลากชนิดของหญ้าทะเล ยิ่งมีหญ้าทะเลหลากหลายชนิดก็ยิ่งมีจำนวนสิ่งมีชีวิตในแนวหญ้าทะเลมากขึ้นตามไปด้วย 

นอกจากนี้พะยูนยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่แพร่กระจายเมล็ดหญ้าทะเล เหมือนกับสัตว์ป่าที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ในป่า เมล็ดหญ้าที่ถูกถ่ายออกมาจากพะยูนจะสามารถงอกได้ดีกว่าปกติ งานวิจัยจากออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้พบว่าในอึพะยูนทุกๆ 1 กรัมพบว่ามีเมล็ดหญ้าทะเลถึง 2 เมล็ด และราว 1 ใน 10 ของเมล็ดเหล่านี้มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกเป็นหญ้าต้นใหม่ 

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า พะยูนกินหญ้าทะเลมากถึง 35 กิโลกรัมต่อวัน พะยูนจึงเป็นนักปลูกหญ้าทะเลตัวยง แถมยังช่วยใส่ปุ๋ยให้เสร็จสรรพด้วยการถ่ายมูลออกมา พะยูนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุสารอาหารในแนวหญ้าทะเล พะยูนต้องพึ่งพาแนวหญ้าทะเล แต่ขณะเดียวกันถ้าหญ้าทะเลขาดสัตว์อย่างพะยูนความสมบูรณ์ก็จะค่อยๆ ลดลง และย่อมส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่ต้องอาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย 

วิธีการกินหญ้าทะเลของพะยูน © Greenpeace

 

พะยูนเป็นสัตว์ที่อายุยืนถึง 70 ปีหรือมากกว่า เป็นสัตว์ที่โตช้า ขยายพันธุ์ช้า ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ระหว่างอายุ 7-17 ปี ใช้เวลาตั้งท้องนานถึง 14 เดือน โดยมากออกลูกเพียงครั้งละตัวเดียว และใช้เวลาให้นมและดูแลลูกอย่างใกล้ชิดถึง 18 เดือนหรือเกือบสองปี และทิ้งระยะห่างในการให้กำเนิดลูกแต่ละตัวนานถึง 3-7 ปี หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเช่นอาหารขาดแคลน พะยูนก็จะไม่ผสมพันธุ์ จากการศึกษาพบว่าในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์พะยูนสามารถเพิ่มประชากรได้อย่างมากร้อยละ5 ต่อปีเท่านั้น ถ้าอัตราการตายสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี หมายความว่าประชากรพะยูนก็จะค่อยๆ ลดลงและมีโอกาสสูญพันธุ์ไปได้ในที่สุด

ในประเทศไทยเราสามารถพบพะยูนได้ทั้งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน  ทางอันดามันพบพะยูนกลุ่มเล็ก ๆ แพร่กระจายตั้งแต่ จ.ระนองลงไปถึงสตูล โดยมีพะยูนกลุ่มใหญ่ที่สุดบริเวณเกาะตะลิบง – เกาะมุกด์ จ.ตรัง สำหรับฝั่งอ่าวไทยยังพบพะยูนกลุ่มเล็กๆ เหลือรอดใน จ.ระยอง ตราด ชุมพรและสุราษฎร์ธานี จำนวนประชากรพะยูนในประเทศไทยโดยรวมเหลืออยู่ไม่มากนัก

ข่าวดีเมื่อช่วงต้นปีคือการเพิ่มจำนวนพะยูนในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นข้อมูลจากการบินสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ พบว่ามีจำนวนประชากรพะยูนราว 185 ตัวหรือร้อยละ 70 ของพะยูนทั้งประเทศ ที่น่ายินดีคือประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหกปีที่ผ่านมา หลังจากลดลงเหลือราว 125 ตัวเมื่อปี พ.ศ. 2556 จังหวัดตรังจึงมักถูกยกให้เป็นเมืองหลวงของพะยูนในประเทศไทยโดยปริยาย

ข้อมูลล่าสุดของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่ามีพะยูนในน่านน้ำไทยประมาณ 200-250 ตัว อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคือพะยูนยังคงมีอัตราการตายเฉลี่ยต่อปีสูงมาก โดยข้อมูลย้อนหลังพบว่ามีพะยูนตายไม่ต่ำกว่า 12 ตัวต่อปีหรือเฉลี่ยเดือนละหนึ่งตัว

สิ่งที่น่าตกใจคือในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบกับความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากมาเรียมที่จากไปกลางดึกคืนวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พบซากพะยูนเพศผู้ตัวเต็มวัยที่อ่าวต้นไทร อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม มีการพบพะยูนเพศเมียเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง แล้วคืนวันเดียวกันยามีลก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิระ จังหวัดภูเก็ต หลังทีมแพทย์พยายามยื้อชีวิตด้วยการผ่าตัดเอาก้อนหญ้าที่อุดตันในกระเพาะออก

เท่ากับว่าประเทศไทยสูญเสียพะยูนไปแล้วถึง 17 ตัวตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และเป็นการเสียชีวิตของพะยูนถึง 4 ตัวในรอบสัปดาห์ ซึ่งนับว่าสูงมาก สำหรับสัตว์ทะเลหายากที่คาดว่ามีประชากรทั้งประเทศเหลืออยู่แค่ 250 ตัวเท่านั้น ทั้งมาเรียมและยามีลได้ทำให้คนไทยรู้จักและผูกพันกับสัตว์ทะเลหายากสุดน่ารักของไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะเดียวกันความตายของมาเรียม ยามีล และพะยูนนิรนามกว่า 10 ตัวทุก ๆ ปีก็ชี้ให้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและความท้าทายในการอนุรักษ์พวกเขาให้คงอยู่คู่ทะเลไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องมือประมง ขยะพลาสติก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชี้ชัดว่าสาเหตุหลักของการตายส่วนใหญ่ของพะยูน (ราวร้อยละ 90) เกิดจากการติดเครื่องมือประมง หรือบาดเจ็บจากการหลุดรอดจากเครื่องมือประมงมาเกยตื้น เครื่องมือประมงที่พะยูนมาติดและตายมากที่สุด ได้แก่ อวนลอยหรืออวนติดตาชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอวนปลาสีเสียด อวนลอยปลากะพง อวนสามชั้น อวนจมปู อวนปลากระเบน รองลงไป คือ โป๊ะ 

แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งหากินสำคัญของพะยูน แต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ของชาวประมงเช่นกัน การจัดสรรปันส่วนพื้นที่อย่างสมดุลย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้หากใช้ข้อมูลมาปรึกษาหารือร่วมกัน การแบ่งเขตจัดการใช้ประโยชน์อย่างมีส่วนร่วม โดยอาศัยข้อมูลการหากินของพะยูนมาพิจารณา และร่วมกันงดใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในแหล่งหากินสำคัญของพะยูน เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยอนุรักษ์พะยูนที่เหลืออยู่เอาไว้ให้ได้

นอกจากเครื่องมือประมงแล้วการคุกคามทำลายแหล่งหญ้าทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อมก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน การทำลายทางตรงได้แก่การทำประมงแบบลาก ไถ หรือคราดไปตามพื้นท้องทะเล เช่นอวนรุน อวนลาก การคราดหอย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้เครื่องมือดังกล่าวในแนวหญ้าทะเลทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อแหล่งหากินของพะยูน รวมไปถึงทำลายแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆไปด้วย ทางการต้องเร่งให้มีการจัดการแหล่งหญ้าทะเลเหล่านี้อย่างมีส่วนร่วม เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน

การทำลายหญ้าทะเลทางอ้อมคือการปล่อยน้ำเสีย และตะกอนที่เกิดจากการพัฒนาชายฝั่ง น้ำเสียส่วนมากมาจากอาคารบ้านเรือน จากพื้นที่เกษตรกรรม ยิ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หรือในช่วงที่มีภัยธรรมชาติหรืออุทกภัย น้ำเสียและตะกอนจะยิ่งถูกชะล้างลงสู่แนวหญ้าทะเล ซึ่งทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้คุณภาพน้ำเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของแนวหญ้าทะเลและการลดลงของจำนวนพะยูนได้

Seagrass in Krabi Province in Thailand. © Luke Duggleby / Greenpeace

หญ้าทะเลบริเวณเกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่

 

ในออสเตรเลียพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งนำมาสู่น้ำท่วมใหญ่หลายๆครั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้พะยูนนับพันตัวขาดอาหาร และเกยตื้นตายนับร้อยตัว หลังเกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนถล่มในปี พ.ศ. 2554

สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดต่อการจากไปของมาเรียมก็คือการกินเศษพลาสติกเข้าไปจนทำให้เกิดการติดเชื้อตาย  ขยะที่พบในทางเดินอาหารของมาเรียมคือเศษถุงพลาสติกหูหิ้วที่เรายังคงใช้กันดาษดื่น เพราะฉะนั้นอาจจะมาจากไหน จากใครก็ได้ เมื่อขยะเหล่านี้หลุดรอดออกสู่สภาพแวดล้อม ตอนนี้งานวิจัยพบว่าสัตว์ทะเลที่หากินในแนวหญ้าทะเลหลงกินเศษพลาสติก เพราะหลงคิดว่าเป็นอาหาร โดยเฉพาะเต่าทะเล กรณีของมาเรียมเป็นหลักฐานสำคัญว่า ขยะพลาสติกก็เป็นอันตรายต่อพะยูนเช่นกัน

เรื่องของขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่เรารณรงค์กันมานาน โดยเฉพาะในระยะหลัง แต่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่า การทิ้งให้ถูกที่ คือทางออก ต้องเลิกมักง่ายทิ้งขยะลงทะเล แต่ความจริงขยะส่วนใหญ่ในทะเลมากถึง 80% มาจากทางบก นั่นหมายความว่า ในขณะที่ทุกคนมีส่วนช่วยอนุรักษ์มาเรียมได้ แต่เราทุกคนก็มีส่วนทำให้มาเรียมเสียชีวิตเช่นกัน จากขยะที่เราสร้างขึ้นทุก ๆ วัน ทางออกสำคัญที่สุดจึงต้องลดขยะที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุด และปรับปรุงการคัดแยกให้เกิดเป็นรูปธรรมสักที

เมืองไทยต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดในการจัดการเรื่องขยะพลาสติกที่มากกว่าการรณรงค์หรือขอความร่วมมือได้แล้ว การรณรงค์ช่วยสร้างจิตสำนึกได้ก็จริง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย ประเทศตะวันตกก็เป็น มันฝืนความเป็นมนุษย์ที่รักความสะดวกสบาย

ความตายของมาเรียม ยามีลและพะยูนในช่วงเวลานี้ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก เพราะไม่เคยมีครั้งไหนที่เราได้เห็นคนระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี มาพร้อมหน้ากันเพื่อแถลงข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลหายากหนึ่งตัว ความรักและความสนใจอย่างล้นหลามของคนไทยทำให้ข้าราชการและนักการเมืองต้องตื่นตัวไปด้วย

แต่จากการจะอนุรักษ์พะยูนให้อยู่คู่ทะเลไทยได้ เราก็ต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เรื่องการจัดการประมงอย่างยั่งยืน การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การควบคุมเส้นทางเดินเรือในแหล่งหญ้าทะเล รวมไปถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

เราคงได้แต่หวังว่า ความตายของมาเรียมและเหล่าพะยูนไทย จะไม่เป็นเพียงกระแสที่รอวันจางหาย หากเราใช้โอกาสและจังหวะช่วงนี้หยิบยกเอางานยาก ๆ ที่ต้องหาทางออกมาทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะแผนการจัดการพะยูนแห่งชาติ ซึ่งมีมาตรการต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคในการนำมาปฏิบัติ

มาเรียมเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยสนใจเรื่องของสัตว์ เรื่องของทะเลมาก ๆ และต้องการที่จะมีส่วนสนับสนุน และช่วยเหลือ หากหน่วยงานรัฐสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถใช้โอกาสตรงนี้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและผลักดันนโยบายสำคัญๆ ได้อีกมาก ถ้าทำได้อย่างนั้น ความตายของพะยูนคงไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า