ท่ามกลางอัตราการทำลายป่าแอมะซอนที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการ ระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ได้เผยว่า การกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ป่าและผืนดิน และการปรับเปลี่ยนวิถึการบริโภคของมนุษย์ให้กินเนื้อสัตว์น้อยลง 

“กิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลให้กว่าร้อยละ 70 ของผืนดินที่ไม่มีน้ำแข็งปกคลุม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสี่ของผืนดินทั่วโลกสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว โดยวิถีการผลิตอาหารและการกินของเราคือปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความล่มสลายของระบบนิเวศ” วาเรรีย์ เมสสัน-เดลมอตเต ประธานร่วมคณะกรรมการ IPCC กล่าว 

รายงาน IPCC ฉบับนี้ เป็นรายงานพิเศษที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อ 8 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในภาคพื้นดินได้เพิ่มสูงขึ้น 1.53 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่วัดจากทั้งผืนดิน อากาศ และมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น 0.87 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนี้กำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ผืนดินกลายเป็นทะเลทราย และความอุดมสมบูรณ์ของดินถดถอย

Forest Fires in Altamira, Pará, Amazon (2019). © Victor Moriyama / Greenpeace

ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นถึงไฟป่าหลายจุดในบริเวณป่าแอมะซอน

คำแนะนำสำคัญของรายงาน IPCC คือ การสนับสนุนอาหารที่อุดมด้วยพืชผัก อีกทั้งยังระบุแนวทางการปรับเปลี่ยนทางนโยบายในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ไว้อีกด้วย 

การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร ในปี พ.ศ. 2593 อาจเพิ่มเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์

แต่ผลกระทบจากเกษตรเชิงอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงผืนป่าอันเป็นบ้านของสรรพชีวิตให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์มหาศาล ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง 

ข้อมูลจากรายงาน IPCC กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ป่าไม้ ต้นไม้ ผืนดิน แพลงก์ตอน และมหาสมุทร คือผู้ดูดซับและเก็บกักคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา แต่ขณะนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เชื้อเพลิงพลังงานฟอสซิล การทำลายป่า และทำลายหน้าดิน ส่งผลให้ธรรมชาติเหล่านี้ขาดสมดุล ไม่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ทัน และนักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกของเราร้อนเร็วขึ้น

ผืนดิน ทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนของโลกที่ใหญ่ที่สุด กระบวนการคือ ต้นไม้นั้นจะดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ในดิน แต่การทำลายป่า และทำลายหน้าดินให้สูญเสียความสมบูรณ์ทำให้ดินขาดประสิทธิภาพในการทำเช่นนั้น และยังปล่อยคาร์บอนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงความสมบูรณ์ที่หายไปนั้นยังทำให้เพาะปลูก หรือทำให้ต้นไม้เติบโตได้ยากขึ้น เราไม่อาจใช้ผืนดินต่อไปหากสิ้นความสมบูรณ์ไปแล้ว และขณะนี้เรากำลังใช้ผืนดินจนเกินขีดจำกัด

Farmer in an Ecological Farm at IIRR in Cavite Province, Philippines. © Geric Cruz / Greenpeace

การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศคือหนึ่งวิธีในการรักษาผืนดิน

แม้รายงานพิเศษของ IPCC ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผืนดินนี้ ได้เตือนอย่างน่าตกใจว่า กว่า 1 ใน 4 ของผืนดินนั้น “เสื่อมสภาพเนื่องจากการกระทำของมนุษย์” แต่ยังมีวิธีการแก้ไขหลายทางเลือกเพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพ ซึ่งยังเป็นวิธีที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมทำให้สังคมเราได้บริโภคเกินขนาดมาหลายสิบปี เกษตรกรรมเชิงนิเวศคือคำตอบที่ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนวิถึการกินของเรา ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทุกคนสามารถเลือกเปลี่ยนแปลงได้ทุกมื้ออาหารนี้เองคือแรงผลักดันที่สำคัญในการปกป้องสภาพภูมิอากาศและเสริมความมั่นคงทางอาหาร เราสามารถคืนพื้นที่ปลูกพืชสำหรับอาหารสัตว์อุตสาหกรรมไปเพื่อปลูกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งเกษตรกรรมเชิงนิเวศนั้นยังช่วยกักเก็บคาร์บอนในผืนดิน เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ รายงาน IPCC ยังพบว่า

  • ร้อยละ 23 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ เกิดจากการทำลายป่า การเผาไหม้ และเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม แต่ผืนดินนั้นสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การใช้งานผืนดินที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ และการผ่อนผันการยุติการใช้พลังงานฟอสซิลและผลักภาระให้กับผืนดินนั้น จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับการเกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร ทั้งจากการผลิตและการบริโภค มีปริมาณมากถีงร้อยละ 37 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด
  • อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ทวีเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 60 ปีที่แล้ว ขณะที่ผืนดินก็ได้ถูกแปรสภาพให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรมากขึ้น ในปริมาณที่สูงสุดในประวัติศาตร์มนุษย์
  • มีประชากรราย 2 พันล้านคนที่มีน้ำหนักเกิน หรือภาวะโรคอ้วน ขณะที่มีประชากรจำนวน 821 ล้านคนที่กำลังขาดสารอาหาร ตัวเลขนี้บ่งชึ้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิวิติระบบอาหารของโลก

อ่านรายงานของ IPCC ฉบับเต็มได้ที่นี่

วิกฤตโลกร้อนเป็นตัวแปรที่เร่งให้เกิดสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว น้ำท่วม ภัยแล้ง และคลื่นความร้อน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการผลิตอาหาร และเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ทำลายผืนดินและป่านั้นได้เร่งวงจรวิกฤตนี้ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น 

Meat in Supermarket in Germany. © Bodo Marks / Greenpeace

การลดกินเนื้อสัตว์และหันมากินผักมากขึ้นเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดการทำลายผืนดิน

การปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า ประกอบกับการปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่การบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงนั้น คือการช่วยกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ยังคงมีหวัง เพื่อทั้งสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม