วันที่ 23 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันระลึกการค้าทาสและการเลิกทาสสากล (Remembers the Slave Trade and its Abolition) เพื่อให้ทุกคนระลึกถึงความโหดร้ายของประวัติศาสตร์การค้าทาสในอดีต ที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านชีวิต รวมถึงสิทธิมนุษยชนที่ไม่เคยได้ถูกพูดถึง

แต่กว่า 200 ปีที่ผ่านมาแม้การค้าทาสผิวสีจะยุติลง แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังถูกทรมาน และได้รับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม กลายเป็นทาสในโลกยุคใหม่ โดยหลายกรณีที่พบมักจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปฏิบัติต่อแรงงานประมงข้ามชาติที่ทำงานบนเรือนอกน่านน้ำสัญชาติจีน ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ (Distant Water Fishing) ผ่านรายงานของสื่อจากหลายประเทศสะท้อนให้เห็นถึงการค้ามนุษย์ยังคงเกิดขึ้นในกองเรือประมง

จากความต้องการอาหารทะเลที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นทุกวัน  ทำให้อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นและเร่งจับปลาให้ได้มากที่สุด บริษัทหรือนายจ้างเจ้าของเรือประมงจำเป็นต้องใช้แรงงานขึ้นตามไปด้วย โดยเลือกเสาะหาแรงงานจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อไปทำงานบนเรือ เช่น จากกัมพูชา พม่า ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่อิสรภาพของแรงงานจะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อพวกเขาก้าวขึ้นไปทำงาน

ความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดน้อยลง ทำให้เรือประมงต้องเดินทางออกไปไกลมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจับปลาให้ได้มากขึ้น การเดินทางที่นานมากขึ้นย่อมหมายถึงต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ผลที่ตามมาอย่างหนึ่งเพื่อลดต้นทุน ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิของแรงงานอย่างรุนแรง ร้ายแรงไปจนถึงการค้าแรงงานทาสยุคใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎระเบียบด้านแรงงาน

Slavery at Sea Protest in Jakarta. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

นักเคลื่อนไหวชาวอินโดนีเซียเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน ปกป้องลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซียจากการค้ามนุษย์ เพราะลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซียที่ทำงานกับเรือประมงต่างประเทศมักถูกละเลยโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เรื่องราวอันโหดร้ายของแรงงานประมงที่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวประมงหนึ่งคนต้องทำงานยาวนานมากกว่า 24 ชั่วโมง และอาศัยซอกเล็กๆ ในเรือเพื่อนอนพักผ่อนเท่านั้น ไม่ต้องกล่าวถึงอาหารและยารักษาโรค ที่แรงงานแทบจะไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างพอเพียง รวมถึงหลายครั้งที่แรงงานไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา ถูกทำร้ายหรือกลายเป็นบุคคลทุพลภาพ  หรือที่แย่กว่านั้นคือถูกฆ่าและโยนศพลงทิ้งน้ำ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติในทุก ๆ วัน

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ( International Labour Organization – ILO) และมูลนิธิวอล์กฟรี (Walk Free Foundation) ให้คำนิยามของแรงงานทาสยุคใหม่ ว่าหมายถึง “สถานการณ์การแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ก็ตามที่บุคคลไม่สามารถปฏิเสธหรือยุติการทำงานได้  เนื่องจากตกอยู่ในสภาวะที่ถูกคุกคาม มีการใช้ความรุนแรง ข่มขู่ การหลอกลวง และ/หรือการใช้อำนาจในทางที่ผิด” ซึ่งรวมถึง “แรงงานบังคับ แรงงานขัด การบังคับให้แต่งงาน การเป็นทาส และการปฏิบัติเหมือนทาสและการค้ามนุษย์”

Slavery at Sea Protest in Jakarta. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

เมื่อปี 2559 สหภาพแรงงานผู้อพยพชาวอินโดนีเซีย (Indonesian Migrant Workers Union – SBMI) และกรีนพีซ อินโดนีเซีย ชุมนุมประท้วงอย่างสงบหน้าสำนักงานกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงนโยบายการจัดหางานและการคุ้มครองลูกเรือชาวอินโดนีเซียที่ทำงานบนเรือประมงต่างประเทศ

จากการศึกษาของสถาบันอิสรา (Issara Institute)  และองค์การยุติธรรมนานาชาติ ( International Justice Mission) ได้ให้ข้อมูลว่า แรงงานชาวกัมพูชาและชาวพม่าที่ทำงานในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2559 พบว่า “แรงงานมีแนวโน้มถูกล่อลวงให้ตกอยู่ในสถานการณ์ของการเป็นทาสยุคใหม่ เพราะเมื่อแรงงานเริ่มทำงาน จะโดนขมขู่ว่าหากยุติหรือหลบหนี ตนเองหรือครอบครัวอาจโดนทำร้ายได้ หรือไม่ได้รับค่าจ้าง รวมถึงตกอยู่ในสภาวะหนี้สินจากค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน”

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามและเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องของสื่อในระดับนานาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม เพื่อทวงถามและกระตุ้นให้สังคมสนใจถึงประเด็นแรงงานทาสยุคใหม่บนเรือ ก็ช่วยให้แรงงานหลายคนกล้าที่จะออกมาเล่าเรื่องราวและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง และเหยื่อคนอื่น ๆ

เมื่อพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้เพิ่มข้อเสนอในอนุสัญญาอนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยงานในภาคการประมง (Work in Fishing) หรือที่รู้จักสั้นๆ ว่า “C-188”  โดยเรียกร้องให้คุ้มครองการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงงานบนเรือประมง ปัจจุบันมีรัฐบาลจาก 13 ชาติได้ให้การรับรองข้อเสนอนี้ แต่กระบวนการและขั้นตอนเพื่อรับรองสัตยาบันและบังคับใช้อนุสัญญาแรงงานยังถือว่ามีความล่าช้าอยู่มาก ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายยังไม่ถูกดำเนินคดี เช่นกรณีการค้ามนุษย์และการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ขณะนี้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ได้ให้ให้สัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 188) ทั้งนี้  ทุกรัฐบาลในอาเซียนควรจะให้ความสำคัญกับการดูแลและปกป้องแรงงานประมงข้ามชาติให้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ์ ผ่านการใช้กลไกทางการเมืองในระดับภูมิภาคควบคู่ไปกับการเจรจา ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็น แรงงาน คนประจำเรือ ภาคการประมง ซึ่งเราหวังว่าจะนำไปสู่แนวทางการจัดการปัญหาแรงงานทาสและกิจกรรมการทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในทะเลได้อย่างยั่งยืน

จนกว่าจะถึงเวลานั้น เราในฐานะผู้บริโภค รวมไปถึงคนรักอาหารทะเลทุกคน ควรจะต้องตื่นตัวและเรียกร้องให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องทำการประมงที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบ เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารทะเลที่มาอยู่บนจานของเรานั้น ปราศจากละเมิดสิทธิแรงงานและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ประวัติศาสตร์การค้าทาสเเละลัทธิล่าอาณานิคมได้ยุติลงมานานกว่า 200 ปีแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องทำลายห่วงโซ่การค้าทาสในโลกสมัยใหม่ เพื่อปกป้องพี่น้องชาวประมงและธำรงค์ไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ถึงเวลาหยุดธุรกิจค้าทาสในท้องทะเล

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม