ภาพทะเลเพลิงที่ลุกไหม้ทำลายผืนป่าแอมะซอนในช่วงหลายวันที่ผ่านมาคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจแม้จะอยู่ห่างออกไปอีกมุมโลก ระบบนิเวศป่าแอมะซอนผลิตออกซิเจนร้อยละ 20 ให้กับโลก ช่วยรักษาสมดุลสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิโลก  และอัคคีภัยครั้งประวัติศาสตร์นี้จะทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าเดิม

Forest Fires in Brazilian Amazon. © Daniel Beltrá / Greenpeace

เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในป่าแอมะซอน (ภาพปี 2018)

จากสถิติ ในปี 2562 นี้มีไฟป่าเกิดขึ้นแอมะซอนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และยังเป็นหนึ่งในเหตุไฟป่าในแอมะซอนซอนครั้งใหญ่ที่สุด ในช่วงหลายปีมานี้โดยระหว่างเดือนมกราคม ถึงวันที่ 20 สิงหาคม มีจำนวนการเกิดไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 145 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 เหตุการณ์ไฟป่าในแอมะซอนนั้นไม่ใช่วิกฤตที่เพิ่งเกิด แต่ได้ก่อตัวมาหลายทศวรรษ และความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมหาศาล และการขยายตัวอุตสาหกรรมการเกษตรต่าง ๆ คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรเชิงอุตสาหกรรม

Cattle Raising in the Amazon. © Bruno Kelly / Greenpeace

พื้นที่ของป่าถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ในการป้อนเข้าสู่ระบบอาหาร

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2503 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงผืนป่าแอมะซอนไปเป็นทุ่งเลี้ยงวัวและการปลูกถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารสัตว์นั้นได้เพิ่มจำนวนขึ้น โดยจำนวนวัวเพิ่มขึ้นจากราว 5 ล้านตัว เป็น 70-80 ล้านตัว ถือเป็นร้อยละ 80 (หรือ 9 แสนตารางกิโลเมตร) ของพื้นที่ป่าที่กลายเป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อตอบสนองค่านิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนม ส่งออกไปทั่วโลก ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้น คืออุตสาหกรรมกระดาษ ปาล์มน้ำมัน และการลักลอบตัดไม้

เรียกได้ว่า ไม่ใช่แค่ช่วงหลายสัปดาห์นี้ที่เรากำลังสูญเสียป่าแอมะซอน แต่ป่าแอมะซอนกำลังหายไปทุกนาทีในปริมาณเท่ากับสนามฟุตบอล ให้กับเกษตรเชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และนม

เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแอมะซอนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากการจุดไฟเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักที่ใช้ในการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากเองก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน ตามข้อมูลจากสถาบันสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ (INPE) ระบุไว้ว่า 8 ใน 10 เขตเทศบาลที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่านั้น เป็นเขตเดียวกับที่มีการบันทึกแจ้งเตือนว่าเกิดการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดอีกด้วย พื้นที่ป่ามีผืนดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่ก็สามารถหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมที่ปลูกเฉพาะพืชเชิงเดี่ยว เพียงแค่ช่วงไม่กี่ปีเท่านั้น เมื่อดินไร้ซึ่งความสมบูรณ์แล้ว พื้นที่เก่าอาจจะถูกทิ้ง หรือกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงวัว และมีการเผาซ้ำอีกหลายครั้งเพื่อกระตุ้นให้หญ้าเติบโต แต่สิ่งที่โตนั้นมีแค่หญ้า แต่ผืนดินได้เสียไปแล้วซึ่งชีวิต จากนั้นป่าผืนใหม่ก็จะถูกทำลาย วัฎจักรเช่นนี้จะดำเนินต่อไป

Soya Plantation in the Amazon. © Bruno Kelly / Greenpeace

ภาพต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่กลายเป็นไร่ถั่วเหลืองขนาดสุดลูกหูลูกตา

การเลี้ยงวัวเพื่อป้อนต่ออุตสาหกรรมในเขตแอมะซอนนั้นเป็นการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนไม่สูงนักและใช้พื้นที่มาก เนื่องจากอาหารของวัวมักเป็นถั่วเหลืองหรือหญ้า มีโปรตีนน้อย วัวจึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากในการเปลี่ยนแปลงพลังงานจากหญ้าให้กลายเป็นโปรตีน ผืนป่าจึงถูกแปรเปลี่ยนไปใช้งานสองประเภท คือ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ปลูกอาหารสัตว์ และนี่ไม่ใช่การผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลก แต่เป็นการทำลายป่าเพื่อวัตถุประสงค์บริโภคนิยม และก่อผลกำไรให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่หิวโหย แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือปอดของโลก และอนาคตของทุกสรรพชีวิตที่ต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของแอมะซอนในการรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก

ไฟป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อไฟป่าเพิ่มขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้อุณหภูมิโดยรวมของโลกเพิ่มขึ้นและเกิดสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่น ภัยแล้งครั้งใหญ่หลาย ๆ ครั้ง และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยว่า ก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 60 จากทั้งหมดถูกปล่อยมาจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ถือว่ามีสัตส่วนมากกว่าภาคส่วนคมนาคมทั้งหมด (ทั้งเรือ รถไฟ รถยนต์ และเครื่องบินรวมกัน) วงจรอุบาทว์เช่นนี้จะดำเนินต่อไปหากโลกยังไม่ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ 

การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังขยายตัว ซึ่งระบบอาหารระบบนี้เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้มนุษย์เราสูญเสียสุขภาพที่ดีไปพร้อมๆกัน ในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา อาหารการกินของเราเปลี่ยนไปมาก แม้ว่าในแต่ละภูมิภาคจะมีการกินที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั่วโลกก็มีการบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเท่าตัว

'We Grow' Project Preparation in Thailand. © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

การลดบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาทานผักให้มากขึ้นเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า

ผลกระทบจากเพลิงป่าแอมะซอนไม่ใช่เรื่องไกลตัว และการแก้ปัญหานี้ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเช่นกัน สิ่งที่เราทำได้เพื่อปกป้องผืนป่าแอมะซอนเป็นสิ่งที่เราเลือกลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงได้วันละสามครั้งที่โต๊ะอาหาร นั่นคือการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม หันมาบริโภคพืชผักท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อรักษาผืนป่าและอนาคตของเรา

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม