หลังคาแสงอาทิตย์ที่โรงพยาบาลหลังสวน ช่วยต่อชีวิตผู้ป่วย

เดิน วิ่ง ปั่น ปันน้ำใจ Solar Run เกิดขึ้นในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2562 ชาวหลังสวนราว 300 คนทยอยกันมาร่วม เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อ “ทำบุญ” และส่งต่อบุญในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลอีก 5 แห่งภายใต้กองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายและเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชน 

สำหรับโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพรแห่งนี้ถือเป็นโรงพยาบาลหลังที่ 2 ที่ได้รับเงินระดมทุนจากผู้คนทั่วประเทศและยังเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในภาคใต้ที่จะกลายเป็น “โรงพยาบาลแสงอาทิตย์” จากเงินระดมทุนของประชาชนทั่วประเทศ ทั้งหมดเพื่อให้โรงพยาบาลได้เข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์และลดภาระค่าไฟฟ้าที่โรงพยาบาลจำเป็นจะต้องจ่ายทุก ๆ เดือน ราว 500,000 บาท 

การเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ นั่นคือโรงพยาบาลหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

และเมื่อเราได้มีโอกาสมาสำรวจการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของโรงพยาบาลเมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงมีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ กล่าวถึงการระดมทุนติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งแรกทั่วประเทศในปีนี้ โดยคุณหมอเองเปรียบเปรยการทำบุญครั้งนี้ไว้อย่างน่ารักนั่นคือ 

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet

นายแพทย์ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร

“การให้แสงสว่างก็เหมือนกับเราให้เทียนพรรษา การให้แสงสว่างกับผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยมาก”

สิ่งที่เราสรุปความจากคุณหมอเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ที่จะทำให้โรงพยาบาลหลังสวน เป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์คือ เพราะอุปกรณ์การแพทย์ที่เราเอาไว้ช่วยรักษาผู้ป่วยหลายชนิดจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้เงินที่สามารถประหยัดจากภาระค่าไฟฟ้าทุกเดือนยังสามารถนำมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพิ่มได้อีกด้วย เรียกได้ว่าในระยะ 25 ปีของหลังคาแสงอาทิตย์ที่โรงพยาบาลหลังสวนแห่งนี้จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้หลายล้านบาท และจะมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งนี้

หลังการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร คุณหมอก็ได้ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ เปิดตัวโรงพยาบาลแห่งนี้เป็น “โรงพยาบาลแสงอาทิตย์” แห่งที่ 2 และแห่งแรกของภาคใต้ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

อย่าปล่อยให้ “แสงอาทิตย์” ลอยนวล

นอกจากโรงพยาบาลหลังสวนที่กำลังจะกลายเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แล้ว ที่อำเภอหลังสวน ในจังหวัดชุมพรแห่งนี้ยังมีผู้คนอีกหลายกลุ่มที่สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งวัดวาอาราม หรือการสนับสนุนในรูปแบบของการนำทักษะความรู้ของการติดตั้งโซลาร์เซลล์มาบูรณาการในหลักสูตรการสอนของโรงเรียน เป็นต้น

แสงอาทิตย์สร้างอาชีพ

วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน เป็นวิทยาลัยที่ได้นำทักษะความรู้เกี่ยวกับการการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการสอนของวิทยาลัย เน้นการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าใจการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาครัวเรือน

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet

การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโณงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร

น้องเอ หรือเจริญศักดิ์ ปานปิน นักศึกษาปวส.ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน พูดคุยกับเราเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบบูรณาการนี้และการลงมือติดตั้งจริง

โดยการบูรณาการหลักสูตรในครั้งนี้ริเริ่มโดยอาจารย์ที่ปรึกษาที่อยากให้นักศึกษาเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์ น้องเอจะเป็นหนึ่งในทีมนักศึกษาที่กำลังเรียนรู้ทักษะนี้เพื่อไปติดตั้งจริงตามโครงการพระราชดำริที่บ้านกำนันทั้ง 24 แห่งในจังหวัดชุมพร ซึ่งสำหรับตัวน้องเอก็เห็นด้วยว่าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีประโยชน์ต่อเราทุกคนโดยเฉพาะการประหยัดค่าไฟฟ้าในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และอยากจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเช่นกัน

เจริญศักดิ์ ปานปิน นักศึกษาปวส.ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน พูดคุยเกี่ยวกับการเรียนการสอนเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์และการลงมือติดตั้งจริง

นอกจากนี้น้องเอยังอยากให้วิทยาลัยส่งเสริมการเรียนการสอนเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์และให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์กับนักเรียนนักศึกษาสาขา ยิ่งไปกว่านั้นน้องเอทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่าอยากให้วิทยาลัยเพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปในหลักสูตรของสาขาช่างไฟฟ้ากำลัง 

เรายังร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความสำคัญของการอบอรม ส่งความรู้สู่ชุมชนเพื่อเป็นผู้บำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน หรือในพื้นที่สาธารณะต่อไป ซึ่งน้องเอเห็นว่าถ้าชุมชนเองมีความรู้ในการบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์เองแล้ว หากเกิดการขัดข้องหรืออุปกรณ์มีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ทันที หรือสามารถบอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับช่างได้

“ถ้ามีโอกาสก็อยากทำงานเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การเป็นช่างติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์” – น้องเอ เจริญศักดิ์ ปานปิน

ใช้แสงอาทิตย์ เล่าเรียนธรรมะ

นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยเป็นไฟฟ้าให้กับผู้ป่วย เป็นปัจจัยในการสร้างอาชีพให้กับนักเรียนนักศึกษาแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นไฟฟ้าให้กับสถานที่ธรรมะ อย่างวัดขันเงิน อารามหลวง อีกด้วย

พระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดขันเงิน ร่วมสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในวัดเพื่อใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่นการฉายไฟตอนกลางคืนในบริเวณวัด การเรียนการสอนภายในวัด ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายวัดในจังหวัดชุมพรที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งมีชุมชนที่สนใจอยากจะติดตั้งบ้าง สำหรับวัดขันเงินจะมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดก็คือช่วงหัวค่ำ คือใช้ทบทวนบทเรียน ส่วนกลางวันจะใช้ตามอาคารโดยเฉพาะห้องเรียนของพระเณรในวัด

ปกติภาระค่าไฟฟ้าของวัดจะอยู่ที่ราวเดือนละหมื่นกว่าบาท พอติดตั้งเสร็จช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ลดค่าไฟฟ้าไปได้พันกว่าบาท ทั้งนี้ระยะเวลาที่โซลาร์เซลล์จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยังยาวนานถึง 25 ปี พระอาจารย์ยืนยันเลยว่าภายใน 10 ปีก็คุ้มค่ากับการลงทุนติดตั้ง 1 ครั้ง

พระอาจารย์เน้นย้ำอีกว่าหลังจากการติดตั้งแล้ว สิ่งสำคัญอีก 1 อย่างนั่นคือคนในวัด พระลูกวัดจะต้องเข้าใจและรู้วิธีการบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งดีกว่าที่จะรอให้คนอื่นมาช่วยซ่อมให้ อย่างไรก็ดีความท้าทายของการดูแลรักษานั่นก็คือการที่พระไม่ได้จำวัดนาน ตอนนี้จึงแก้ปัญหาด้วยการเลือกพระรูปที่จำวัดอยู่ที่วัดนาน และสนใจเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งพระเหล่านี้จะมีแนวโน้มช่วยถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นและจากวัดสู่ชุมชน

แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาในวัดขันเงิน อารามหลวง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

“พลังงานแสงอาทิตย์มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าและช่วยลดภาระการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” – พระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดขันเงิน อารามหลวง

ยกระดับการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วย Net Metering

นอกจากประโยชน์ในการประหยัดค่าไฟตามที่เราทราบดีอยู่แล้ว ในปัจจุบันหลายประเทศยังมีการซื้อ ขาย ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งหากประเทศไทยของเรามี มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) เกิดขึ้น เมื่อนั้นพวกเราประชาชนก็กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และเราจะสามารถซื้อ – ขาย ไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งได้อย่างเป็นธรรม หากระบบนี้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยแล้ว เราเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้เกิดการปฏิวัติด้านพลังงานครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เรากำลังร่วมผลักดันให้ประเทศไทยมีมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อการซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม หากคุณเป็นหนึ่งที่ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา หรือในบริเวณที่อยู่อาศัย แล้วอยากสนับสนุนระบบนี้ มาร่วมผลักดันกับเราตอนนี้เลย! 🙂

นอกจากการประหยัดภาระค่าไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นยังเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่จะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตพลังงานจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งในปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 37.15 พันล้านตัน

การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนของชุมชนในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรถือเป็นการจุดประกายให้กับหลังคาของโรงพยาบาล โรงเรียน บ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ช่วยกันลงมือผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจากแสงอาทิตย์มาใช้อย่างเต็มที่ รวมทั้งยังเป็นการเรียนรู้ถึงคุณค่าของพลังงานแสงอาทิตย์และการประหยัดพลังงานไปพร้อมๆกัน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม