อาหารปลอดภัย รู้ที่มาและที่สำคัญคือต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของลูก คือสิ่งที่คุณแม่ทุกคนย่อมใส่ใจอยู่เสมอ ดังนั้นการทำอาหาร ปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่รู้ที่มา คัดสรรสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับลูกก็คงเปรียบเสมือนการส่งผ่านความรักของแม่สู่ลูก โดยมีตัวกลางคือเมนูอาหารนั่นเอง 

ด้วยความใส่ใจและความรักที่ว่านี้ คุณแม่มือใหม่ที่ไม่เคยทำอาหารเองจึงผันตัวเองมาเป็นแม่ครัวหัวป่าก์สร้างสรรค์เมนูอาหารที่มีประโยชน์ด้วยแปลงผักหลังบ้าน คุณปานวาด นิรันดร์กุล คุณแม่ฟูลไทม์คนนี้ จะมาร่วมแชร์เรื่องราวของบทบาทคุณแม่กับเมนูจานผักของลูกสาว น้องน้ำอุ่น และมื้ออาหารในรั้วบ้านจากสวนผักไร้สารพิษ

แปลงผักหลากหลาย ลูกน้อยใกล้ชิดผักสีเขียว

ที่มาที่ไปของแปลงผักในบ้านนั้น คุณปานวาดเล่าว่าเหตุผลหลัก ๆ เลยที่ทำให้บ้านมีแปลงผักหลากหลายชนิดก็เพราะคุณตาและคุณยายของน้องน้ำอุ่นชอบธรรมชาติมาก ชอบปลูกต้นไม้ คุณยายเลยมีไอเดียเปลี่ยนพื้นที่หลังบ้านให้กลายเป็นแปลงผักแบบจัดเต็ม คุณยายปลูกทั้งผักสวนครัวและดอกไม้สวยงาม ทั้งดอกพุทธ ดอกทานตะวัน อัญชัน (น้องน้ำอุ่นแอบกระซิบบอกเราว่ามี ดอกเข็ม ด้วยนะคะ) นอกจากนี้ก็มีกล้วย พอกล้วยออกผลได้เยอะหน่อยเราก็เอามาทำกล้วยแช่น้ำผึ้ง หรืออย่างดอกอัญชันคุณยายก็ชอบเอามาหุงกับข้าว เด็ก ๆ ก็จะตื่นเต้นเพราะจะได้ลองกินข้าวสีม่วงด้วย ที่สำคัญแปลงผักหลังบ้านนี้ปลูกด้วยวิถีอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีอะไรเลย

ส่งต่อตะกร้าผัก จากตายายสู่หลาน ๆ

ส่วนหนึ่งที่ลูก ๆ สองคน (น้องน้ำอุ่นและน้ำอิง) ของคุณปานวาดกินผักเก่ง เธอบอกกับเราว่าอาจจะเป็นเพราะลูก ๆ เห็นว่าสมาชิกในครอบครัวทั้งปลูกผักและกินผักเป็นประจำ “คุณตาคุณยายของน้องน้ำอุ่นกินผักเก่งมาก ไม่เน้นข้าวแต่เน้นผักค่ะ” ทุกมื้ออาหารเธอเล่าให้ฟังว่าที่บ้านจะมีตะกร้าผักใหญ่ ๆ วางอยู่บนโต๊ะอาหารซึ่งก็เป็นผักที่เก็บได้จากแปลงผักในบ้าน “พอน้องเห็นคุณตาคุณยายกิน น้องก็จะลองกินตามบ้าง อย่างผักที่กินสด ๆ ได้น้องก็กินได้เหมือนกัน เหมือนน้องเห็นทุกคนในบ้านกินได้น้องก็ลองกินบ้าง จะไม่รู้สึกว่าผักเป็นของแปลก

“เวลาผักโตพอที่จะเอามาทำอาหารเราก็จะพาลูกลงแปลงผักไปเก็บผักด้วยกัน แล้วก็ให้เด็ก ๆ ลองทำเองสักหนึ่งจาน เขาก็จะอินว่าผักนี้เราเอามาผัดเองนะ บางทีก็จะเริ่มจากการปลูกเองก็มีค่ะ ก็ได้ผักมากินบ้างเหมือนกัน”

“เด็กๆลุยแปลงผักกันเป็นว่าเล่น พอตอนเย็นเขาก็จะลงไปเดินเล่นในแปลงผักค่ะ คุณตาคุณยายก็จะลงไปดู เหมือนไปเดินเล่นชมสวนผักกัน ถ้ามีผักเก็บได้ก็จะเก็บ อย่างเช่นบางครั้งคุณยายก็จะมาเรียกบอกเด็ก ๆ ว่าผักออกแล้วนะไปเก็บผักกัน เด็ก ๆ เขาก็จะถือตะกร้าคนละใบ เตรียมตัวลงไปเก็บผักกัน พอเก็บเสร็จก็เอามาทำกับข้าวกินกัน” เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งของครอบครัวที่สร้างความผูกพันระหว่างรุ่นต่อรุ่นได้ดีมาก”

ผักใบเขียวเพื่อนรัก

“ผักบุ้งค่ะ :)” น้องน้ำอุ่นตอบชื่อผักที่ชอบกินมากที่สุด

สำหรับปัญหาเด็กไม่ชอบผักแน่นอนว่าเป็นปัญหาที่คุณแม่หลาย ๆ คนต้องกุมขมับ แต่ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นกับคุณแม่ปานวาดและน้องน้ำอุ่นเลย

สำหรับน้องน้ำอุ่น คุณปานวาดเริ่มให้น้องหัดกินผักตั้งแต่น้องเริ่มกินข้าวได้ ด้วยเทคนิคการผสมผักที่มีรสชาติหวานกับผักใบเขียว เช่น ผัดฟักทองผสมผักบุ้ง เพื่อที่น้องจะได้กินรสชาติอาหารจานผักที่หลากหลายไม่ขมปี๋ บางทีก็ผสมผักให้ครบสีก็คือมีผักหลาย ๆ สี อย่างสีเหลืองก็มีฟักทอง ข้าวโพด สีแดงก็เป็นผักเช่นบีทรูท กะหล่ำปลีสีม่วง อย่างน้อยอยากให้มีผักสักสามสี (บางวันขยันหน่อยก็เติมไปเลย 5 สี เพื่อความสวยงาม) หรือต้มน้ำผักเพิ่มเป็นซุป บางวันทำซุปผักสีม่วงก็จะตั้งชื่อให้เด็ก ๆ ตื่นเต้น เป็นซุปแม่มดบ้าง หรือซุปธานอสบ้าง เพิ่มความตื่นเต้น

ยิ่งผสมผักหลากหลายลูกก็จะชินกับรสชาติมากขึ้น อาหารจานผักสไตล์คุณปานวาดที่ทำให้ลูกๆกินจะไม่มีการ “ซ่อน” ผักหรือแปรรูปผักเป็นรูปร่างอื่นๆเลย อย่างซุปผักน้อง ๆ ก็ยังเห็นว่าในน้ำซุปมีผักชนิดนี้รวมอยู่ด้วย

“บ้านพี่ไม่เคยมีปัญหาเด็ก ๆ ไม่กินผักเลยนะ ตั้งแต่รุ่นเราและรุ่นลูกเราก็กินผักได้ทุกคนค่ะ น้องไม่ได้กลัวผักสีเขียว ๆ เลย อย่างเวลาพี่คิดเมนูให้น้อง เมนูผักก็จะมาเป็นอันดับหนึ่ง กินเกลี้ยงจานตลอดค่ะ ผักบุ้ง แกงจืด น้องกินได้หมดนะคะ น้องยังชอบไควาเระมาก ๆ ด้วย ซึ่งกลับกลายเป็นว่าการคิดเมนูเนื้อสัตว์ยากกว่าอีก ข้อดีสำหรับเด็ก ๆ ที่กินผักเยอะก็คือน้องไม่มีปัญหาท้องผูก มีระบบขับถ่ายดี แล้วก็ยังมีข้อดีทางจิตใจก็คือ เขาจะเห็นว่านี่คือผักที่เราปลูกเอง ของคุณยายปลูกเอง เด็ก ๆ ก็จะตั้งใจกินเป็นพิเศษ รู้สึกภูมิใจอะไรแบบนี้

อาหารส่งความรัก

คุณปานวาดเล่าย้อนกลับไปตอนที่เธอเริ่มทำอาหารมื้อแรกให้น้องน้ำอุ่น ซึ่งก็ตื่นเต้นมากกับการที่ลูกจะได้กินข้าวมื้อแรก เธอศึกษาข้อมูลเยอะมากว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงต้องทำอะไรบ้าง 

“อาหารมื้อแรกของน้องน้ำอุ่นเป็นอะโวคาโดเอามาปั่นซึ่งเราเองตอนนั้นทำอาหารไม่เป็นเลย เราก็เอาอะโวคาโดมาปั่นเลย ไม่ได้ใส่น้ำ คือปกติอาหารสำหรับเด็ก 6 เดือนตอนนั้นจะต้องเหลวนิดนึงใช่มั้ยคะ พี่ก็ปั่นเลยแล้วน้องน้ำอุ่นก็กินอะโวคาโดมื้อนั้นเลยแบบไม่รู้ว่ากินได้ยังไงเพราะว่าเนื้อสัมผัสมันหยาบมาก ตอนหลังพี่ก็ไปอ่านเพิ่มแล้วก็เจอว่า อ๋อ มันใส่น้ำเพิ่มได้นะ”

หลังจากอะโวคาโดบดหยาบมื้อนั้น คุณปานวาดก็ทำอาหารเองให้น้องน้ำอุ่นมาตลอด เริ่มจากค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ศึกษา ไปดูวิธีที่คุณแม่คนอื่นแชร์มาว่าเขาทำอาหารให้ลูกยังไงบ้าง 

“คือเราอยากให้ลูกได้กินสิ่งที่ดีที่สุดต่อจากนมแม่ ทุกมื้อเลยมีที่มาที่ไปแล้วก็เราตั้งใจมาก ยิ่งตอนน้ำอุ่นไม่สบายเรายิ่งศึกษาว่านอกจากยาเราจะใช้ผัก ผลไม้อะไรที่จะช่วยให้เขาหายดี อย่างเวลาเขาไอเราเลือกต้มน้ำสาลี่ให้กินเพราะจำได้ว่าคุณยายบอกว่าสาลี่ช่วยแก้ไอ แต่ว่าเขาเด็กยังกัดผลไม้ไม่ได้ก็เลยเลือกต้มเป็นน้ำแทน”

เรียกได้ว่าความทุ่มเท ความใส่ใจ และความรักที่คุณแม่มีต่อลูกเกิดขึ้นในห้องครัวและถูกส่งผ่านให้ลูกผ่านมื้ออาหารในทุก ๆ มื้อ ซึ่งอาจเป็นที่มาของประโยคสั้น ๆ ที่ว่า “การทำอาหารให้อร่อย นอกจากใส่เครื่องปรุงแล้วก็ต้องใส่ใจลงไปด้วย”

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม