อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปีนี้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในต้นศตวรรษที่ 19 ผู้คนที่ปฏิเสธโลกร้อนต่างอ้างว่าการแปรผันของอุณหภูมิตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ใช่เรื่องผิดปกติของความผันผวนของอุณหภูมิในยุคโฮโลซีน หรือช่วง 11,700 ปีก่อนนับตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง พวกเขาจึงอ้างว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยมนุษย์ไม่ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มหาสมุทรและชั้นบรรยากาศของโลกนั้นร้อนขึ้น

Protest at Coal Power Plant Niederaussem in Germany. © Daniel Müller / Greenpeace

การประท้วง ณ โรงไฟฟ้าถ่านหิน นีเดอเราเซม ในเยอรมนี

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ของปีนี้ ทั้งสคริปร์ (Scripps) และโนอา แลปส์ (NOAA labs) ที่สถานีอุตุนิยมวิทยาเมานาโลอา ในหมู่เกาะฮาวาย รายงานว่ามีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเป็น415.6 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งมีระดับสูงที่สุดในฤดูกาลและเป็นสถิติใหม่ของยุคปัจจุบัน เนื่องจากผืนดินและพืชบกส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในฝั่งซีกโลกเหนือ ดังนั้นการเติบโตของพืชทางซีกโลกเหนือในช่วงฤดูร้อนจึงดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในจำนวนมากและลดปริมาณของก๊าซนี้ที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกลงไป ในฤดูใบไม้ร่วง เมื่อการสังเคราะห์แสงลดลง คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น จากนั้นในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อทุ่งหิมะละลายช้าทางตอนเหนือค่อย ๆ ละลายหายไป จุลินทรีย์ต่าง ๆ จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งส่งผลให้ค่าการวัดคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสูงที่สุดในแต่ละปีในช่วงเดือนพฤษภาคม วัฏจักรนี้แสดงให้เห็นถึงความผันผวนของความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่ความเข้มข้นนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงกลางของยุคไพลโอซีน เมื่อ 3 ล้านปีก่อน ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์โลกอยู่ที่ 400 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งอุณหภูมิในขณะนั้นสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม 3 องศาเซลเซียส และสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียสในอาร์กติก รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นประมาณ 20 เมตร ในเวลานั้น บรรพบุรุษอันดับวานรของเราได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ดูมีความหวังขึ้นมา นั่นคือ สิ่วบิ่น ๆ ทั้งหลาย ครั้งสุดท้ายที่คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกยังคงสูงกว่า 400 พีพีเอม อย่างต่อเนื่อง บรรพบุรุษของเรากำลังไต่ลงมาจากต้นไม้สู่ทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกาในช่วงกลางของยุคไมโอซีนอันอบอุ่นเมื่อประมาณ 16 ล้านปีก่อน

การอ่านข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ปฏิเสธเรื่องโลกร้อนโดยทั่วไป เราจะพบแผนภูมิที่ถูกปรับแก้ ตรรกะความคิดผิด ๆ และข้อมูลที่ถูกตีความผิด ๆ มากมาย ผู้ค้านมีชื่อเสียงคนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าโลกร้อนขึ้นเพราะมนุษย์ ให้ผมยกความแตกต่างระหว่างภาวะโลกร้อนของเราในปัจจุบันกับความผันผวนโดยทั่วไปในยุคโฮโลซีนขึ้นมาหนึ่งอย่าง เขาอ้างว่า “แม้แต่ไอพีซีซี (IPCC: คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ก็ทำไม่ได้” ผมบอกเขาไปเก้าอย่างด้วยกัน:

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโฮโลซีนมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์

  1. ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ

ในตอนท้ายของยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายเมื่อ 12,000 ปีที่ผ่านมา ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ประมาณ 240 ส่วนในล้านส่วน เมื่อธารน้ำแข็งของโลกละลาย ความเข้มข้นนี้เพิ่มกลายเป็น 270 ส่วนในล้านส่วน และแปรปรวนขึ้นอีกถึงประมาณ 280 ส่วนในล้านส่วน ตลอดระยะเวลา 12,000 ปีนั้น จนกระทั่งถึงยุคการเผาไหม้ไฮโดรคาร์บอนจากอุตสาหกรรม จากนั้นในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 280 ส่วนในล้านส่วน เป็น 415 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นโดยร้อยละ 48 เท่ากับมีโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสี่แสนลูกบาศก์เซนติเมตรต่อหนึ่งลูกบาศก์เซนติเมตรของชั้นบรรยากาศ ทุก ๆ โมเลกุลเหล่านั้นเปรียบเสมือนเครื่องทำความร้อนขนาดเล็ก การดูดซับความร้อนโดยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในระดับนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในระหว่างช่วงยุคโฮโลซีน

  1. อัตราการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ 

ตลอดระยะเวลาของยุคโฮโลซีน คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นประมาณ 0.003 ส่วนในล้านส่วนต่อปี (40 ส่วนในล้านส่วนในระยะเวลา 12,000 ปี) อัตราสูงสุดในยุคโฮโลซีนตอนต้นอยู่ที่ประมาณ 0.024 ส่วนในล้านส่วน ต่อปี (24 ส่วนในล้านส่วนในระยะเวลา 1,000 ปี) ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม อัตราการเพิ่มยังคงสูงขึ้น และภายในปี ค.ศ. 2017 อัตรานี้ได้พุ่งทะลุถึง 2 ส่วนในล้านส่วนต่อปี ทางสมาคมอุตุนิยมวิทยาโลกรายงานว่า “อัตราเพิ่มของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศตลอด 70 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณมากกว่าในตอนท้ายของยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายเกือบ 100 เท่า…การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศขนาดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ทุก ๆ วันนี้ การกระทำของมนุษย์กำลังทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 ส่วนในล้านส่วน เร็วกว่าอัตราเพิ่มที่เร็วและสูงที่สุดของยุคโฮโลซีนกว่า 100 เท่าและเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยของยุคโฮโลซีนกว่า 1,000 เท่า

อัตราการเพิ่มของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเฉลี่ยต่อปีและต่อทศวรรษ โดย Visual Carbon

  1. ความเฉื่อยของพลังงานความร้อน

ความรวดเร็วในการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีสาเหตุจากมนุษย์ทำให้ความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่อุณหภูมิโลกจะตามทัน ทางวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่าความเฉื่อยของพลังงานความร้อน อุณหภูมิโลกนั้นสูงขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เราได้เพิ่มคาร์บอนมากเพียงพอที่จะพาเราขึ้นไปที่ 2 องศาเซลเซียส และอาจสูงขึ้นอีกเมื่อมีการปล่อยก๊าซมีเธนออกมาเรื่อย ๆ และเกิดผลสะท้อนกลับอื่น ๆ ความเฉื่อยของพลังงานความร้อนนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในระบบภูมิอากาศโลก นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคโฮโลซีน และนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่

  1. เส้นกราฟก้าวกระโดด

หลายคนที่ปฏิเสธว่าความร้อนในโลกนั้นเกิดจากมนุษย์จะเสกสรรแผนภูมิที่แสดงเส้นกราฟอุณหภูมิที่โค้งตัวสูง ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายที่ทำให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในปัจจุบันดูเป็นเรื่องเล็ก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่จริงจังและเข้มงวดแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิของทุกวันนี้สูงกว่าส่วนใหญ่ของยุคโฮโลซีนหรือตลอดทั้งยุค โดยมีการพุ่งสูงบางครั้งในอดีตที่อาจเป็นข้อยกเว้นได้ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในปัจจุบันได้พุ่งทะลุเลยเส้นแนวโน้มของยุคโฮโลซีนไปแล้ว เส้นโค้งความผันผวนทั้งหมด ทั้งสภาพภูมิอากาศ ประชากร ตลาดหุ้น เผยให้เห็นเส้นแนวโน้มค่าเฉลี่ยที่บ่งบอกถึงการดำเนินไปของการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรแต่ละตัว เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อปี ค.ศ. 1961-1990 แล้ว เส้นแนวโน้มอุณหภูมิของยุคโฮโลซีนแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มสูงหลังจากยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายจาก -0.2 องศาเซลเซียส เป็น +0.4 องศาเซลเซียส เมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ตามมาด้วยการลดลงถึง -0.4 องศาเซลเซียส ตอนประมาณ 1,650 ปีหลังคริสต์ศักราช การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ปรากฏเป็นเส้นโค้งเส้นแนวโน้มอันต่อเนื่องและราบรื่น

  1. อัตราการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ

เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ อัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงยุคโฮโลซีน หรือแม้กระทั่งตลอด 65 ล้านปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ความร้อนของยุคโฮโลซีนเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด ในขณะที่ธารน้ำแข็งละลายในตอนต้นของยุค อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงประมาณ 940 ปี ซึ่งคิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณหนึ่งองศาใน 1,340 ปี ใน 100 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 1919 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอัตราประมาณ 1 องศาเซลเซียส ในทุก ๆ 83 ปี ซึ่งเร็วกว่ายุคโฮโลซีนตอนต้นกว่า 16 เท่า กระทั่งถึงปัจจุบัน ยุคโฮโลซีนไม่เคยได้พบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบันของเราเลยแม้แต่น้อย

เมื่อเปรียบเทียบความแปรปรวนของอุณหภูมิโลกในยุคโฮโลซีนกับค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 1961-1990) จะแสดงให้เห็นถึงการพุ่งตัวที่เกินเส้นแนวโน้มของยุคสมัยใหม่ ภาพกราฟิกโดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) พร้อมข้อมูลจาก S. Marcott ใน Science ปี 2013

  1. เส้นแนวราบยังไม่เกิด

ความผันผวนของยุคโฮโลซีนก่อนหน้านี้เกิดเป็นทั้งเส้นแนวราบและในทางตรงกันข้าม เป็นรูปแบบความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ผู้ค้านแนวคิดนี้มักจะสันนิษฐานว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในปัจจุบันนั้นได้สิ้นสุดหรือเกือบที่จะสิ้นสุดลงแล้ว บางเว็บไซต์ของผู้ค้านเหล่านี้ถึงกับวาดกราฟแสดงเส้นอุณหภูมิของยุคปัจจุบันที่โค้งลงไปจนราบเพื่อจำลองความผิดปกติโดยทั่วไปที่เกิดในยุคโฮโลซีน แต่ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในปัจจุบันได้หยุดลงแล้ว และความเฉื่อยแฝงของพลังงานความร้อนจากการปล่อยคาร์บอนโดยมนุษย์ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้กำลังจะเข้าใกล้จุดสิ้นสุด ทฤษฎีทางอุณหพลศาสตร์ทำนายว่าการเพิ่มขึ้นจะต้องหยุดลงในที่สุด แต่การพุ่งสูงในปัจจุบันโดยที่ยังไม่เข้าสู่เส้นแนวราบยังคงเป็นประวัติการณ์ที่ไม่เคยมีอยู่ในยุคโฮโลซีน

  1. การแผ่รังสีแบบใหม่

การเปลี่ยนแปลงของความร้อนในระบบชีวฟิสิกส์ต้องอาศัยสิ่งที่นักฟิสิกส์เรียกว่า “การแผ่” ของพลังงาน ซึ่งต้องวัดเป็นวัตต์ต่อตารางเมตร (w/m2) ตลอดเวลาที่ผ่านมา การแผ่รังสีตามธรรมชาติเหล่านี้ที่มีผลต่ออุณหภูมิของโลก ทั้งการแผ่รังสีดวงอาทิตย์ เมฆที่ปกคลุม ประสิทธิภาพการสะท้อนของพื้นดิน น้ำ หรือน้ำแข็ง และแน่นอนว่ารวมถึงส่วนประกอบโมเลกุลของบรรยากาศด้วย ตลอดยุคอุตสาหกรรม มนุษยชาติได้เพิ่มการแผ่รังสีแบบใหม่หลายอย่าง กล่าวคือ คาร์บอนที่เป็นของเสียจากเชื้อเพลิง มีเทน ซีเอฟซีต่าง ๆ ไนตรัสออกไซด์ สเปรย์ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ผืนดินมากมาย ยอดการแผ่รังสีสุทธิที่เกิดโดยมนุษย์ในขณะนี้ (ประมาณ 1.7 วัตต์ต่อตารางเมตร) เป็นการแผ่ที่มากที่สุด ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพอากาศโลก การเจริญเติบโตของป่าไม้เมื่อ 300 ล้านปีที่แล้ว ทำให้เกิดการเย็นตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และจำนวนของสัตว์บกที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดความอบอุ่นขึ้น แต่ในระหว่างช่วงยุคโฮโลซีนนั้น ไม่เคยมีสปีชีส์ใดที่ทำให้เกิดการแผ่รังสีพลังงานได้ในระดับใกล้เคียงกับที่มนุษย์ทำเลย

  1. ผลสะท้อนกลับโดยอิทธิพลจากมนุษย์

ความร้อนสามารถทำให้เกิดจุดผลิกผันที่เพิ่มความร้อนขึ้นได้ “ผลสะท้อนเชิงบวก” รูปแบบนี้เกิดขึ้นกับระบบต่าง ๆ ในธรรมชาติอยู่เสมอ แต่การกระทำของมนุษย์ได้เพิ่มระดับผลที่เกิดโดยธรรมชาติเหล่านี้และทำให้เกิดผลสะท้อนใหม่ ๆ กลับมา ในขณะที่มหาสมุทรกำลังดูดซับคาร์บอนของมนุษย์เข้าไป พวกมันก็เริ่มขยับเข้าใกล้ขีดจำกัดและมีประสิทธิภาพลดลงในฐานะแหล่งกำจัดคาร์บอน การทำลายป่าของมนุษย์ทำให้แหล่งกักเก็บคาร์บอนที่เป็นป่าลดลง ทำให้เกิดความร้อนมากขึ้น ปริมาณการทำประมงของมนุษย์และการหยุดชะงักของวัฏจักรสารอาหารนำไปสู่การเกิดเขตมรณะในมหาสมุทรหลายแห่ง  ผลสะท้อนกลับทั้งหมดนั้นยังคงไม่แน่นอน แต่มีแนวโน้มที่จะไปเพิ่มความร้อนขึ้นอีก การแผ่รังสีที่เกิดจากมนุษย์ในระดับสูงและผลสะท้อนกลับต่าง ๆ อาจนำไปสู่การเกิดความร้อนต่อเนื่องแบบกู่ไม่กลับหรือสิ่งที่นักฟิสิกส์เรียกว่า “เสตท ชิฟ์ท” หรือจุดเปลี่ยนในโลก ผลสะท้อนกลับที่เกิดจากอิทธิพลมนุษย์เหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนในยุคโฮโลซีน

Seabed in the Baltic Sea. © Timo Kleinerüschkamp / Greenpeace

เขตมรณะ ในทะเลบอลติก

  1. ผลกระทบด้านจำนวนต่าง ๆ ที่มากเกินทั่วโลก

สายพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะขยายพันธุ์เกินขีดจำกัดความยั่งยืนของพวกมันได้ เราสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ในสวนของเราเอง วิวัฒนาการสอนให้เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ บริโภค เจริญเติบโต และสืบพันธุ์ แต่ไม่มีการสอนให้หยุด นักล่า ๆ เหยื่อมากเกินไป ตะไคร่น้ำเติบโตมากเกินกว่าสารอาหารที่มีในทะเลสาบ และตอนนี้มนุษย์ได้กลายเป็นสัตว์แรกในประวัติศาสตร์โลกที่จะใช้โลกทั้งใบอย่างหักโหมเกินไป เครือข่ายรอยเท้านิเวศโลกคำนวณว่า มนุษย์ได้ใช้งานโลกเกินขีดความสามารถของโลกไปในปี 1970 เวลาเดียวกับที่กรีนพีซก่อตั้งขึ้น และตอนนี้มีจำนวนประชากรเกินกว่าที่โลกจะรองรับได้ไปแล้วอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์

“การประเมินการข้ามผ่านขีดจำกัดนั้น ถึงจะดูน่ากลัว แต่ก็ยังเป็นการประเมินค่าที่ต่ำไป”  วิลเลี่ยม รีส์ ผู้เขียนแบบจำลองรองเท้านิเวศโลก และ เมธิส แวคเกอร์นาเจล กล่าว “ก่อนหน้านี้เราถูกกล่าวหาว่าเราพูดเกินจริง (ซึ่งเราไม่ได้ทำเช่นนั้น) ดังนั้นเราจึงออกแบบวิธีวัดอย่างระมัดระวัง” ผลกระทบของการใช้งานมากเกินไป กล่าวคือ ป่าไม้ที่สูญหาย มหาสมุทรที่เป็นกรด ชั้นหินอุ้มน้ำที่แห้งเหือด คาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ดินจืด และอื่น ๆ นั้น ลดความสามารถของระบบธรรมชาติของโลกในการตอบสนองต่อความร้อน การที่มีเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้นที่ใช้งานโลกเกินขนาดได้ในระดับนี้ ไม่เคยมีมาก่อนในโลกตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด ความเป็นไปได้ยิ่งน้อยลงไปอีกหากนับเพียงแค่ในยุคโฮโลซีน

อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันจะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของความเข้มข้นที่เคยเกิดขึ้นก่อนยุคอุตสาหกรรมภายในปี ค.ศ.2070 เมื่อปี ค.ศ.1896 มีนักเคมีชาวสวีเดน สวานเต อาร์รีนุส คำนวณว่าเหตุการณ์นี้จะเพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 4-5 องศาเซลเซียส และในปี ค.ศ.2013 มีนักวิชาการนานาชาติ 33 คน จัดทำโครงการพาเลโอเซนส์ (Palaeosens Project)  ประมาณการไว้ในวารสารเนเชอร์ว่าอัตราเพิ่มสองเท่าดังกล่าว จะเพิ่มจาก 2.2 ถึง 4.8 องศาเซลเซียส งานวิจัยของเอมไอที เมื่อปี ค.ศ.2009 คาดว่ามีโอกาสอยู่ร้อยละ 90 ที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีก 5.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100

เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่จริงจังรู้ว่าเรากำลังพยายามจะทำนายการตอบสนองของระบบที่ซับซ้อน และรับรู้ถึงความไม่แน่นอนในระบบทั้งหลายดังกล่าว ในทางกลับกัน ผู้ค้านใช้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่เป็นธรรมดาของหลักวิทยาศาสตร์เพื่อตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวโน้มเรื่องสภาพภูมิอากาศ สาเหตุ หรือเกี่ยวกับความร้ายแรงของการปล่อยคาร์บอนโดยมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักอุตุนิยมวิทยาผู้รู้จริง หลักการพื้นฐานต่าง ๆ นั้นเป็นที่รู้จักกันมานานแล้วกว่าสองศตวรรษ และเมื่อ 65 ปีก่อน แม้แต่บริษัทน้ำมันก็รู้และเผยแพร่ความจริงที่ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะทำให้โลกร้อนขึ้น ข้อกล่าวหาต่อ “การถกเถียงเรื่องสภาพภูมิอากาศ” นี้ เป็นงานประชาสัมพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์และการทำงานของพวกเขาเอง ไม่ใช่เพื่อวิทยาศาสตร์

บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากภาษาอังกฤษ อ่านต้นฉบับได้ที่นี่

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม