คุณจะเปลี่ยนวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์หรือไม่ หากทราบรายละเอียดที่มาของเนื้อสัตว์ชิ้นนั้นอย่างแท้จริง

 

HIGHLIGHT

  • แพคเกจอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ผลิตจากอุตสาหกรรมนั้น ยังไม่ระบุถึงข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลของฟาร์ม รูปแบบการเลี้ยงสัตว์ ที่มาของอาหารสัตว์ ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
  • ผู้บริโภคต้องถูกตัดขาดจากการรับรู้ที่มาของอาหาร ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์เกี่ยวข้องกับการทำลายผืนป่า การปนเปื้อนของสารพิษ มลพิษทางอากาศมลพิษทางน้ำ และการใช้ที่ดินมหาศาลเพื่อเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์
  • การใช้ยาปฏิชีวนะส่งผลให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยาและการตกค้างในเนื้อสัตว์ องค์การอนามัยโลกยกให้วิกฤตเชื้อดื้อยาเป็นความเร่งด่วนทางสุขภาพ
  • การเปิดเผยข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อุตสาหกรรมนั้นไม่เพียงแค่เป็นนโยบายด้านความโปร่งใสที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสามารถร่วมมือกันได้ แต่ยังเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลและเลือกบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของตนและสิ่งแวดล้อม 

 

ในทุกวันนี้ความเร่งด่วนของชีวิตประจำวันทำให้เราถูกตัดขาดกับที่มาของอาหาร และเลือกอาหารสะดวกซื้อมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน เราไ้ด้เห็นกระแสกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและเลือกอาหารอินทรีย์มากขึ้น ผู้บริโภคใส่ใจมากขึ้น อยากจะรู้ถึงข้อมูลของอาหารที่เรากินว่า ดีต่อสุขภาพหรือไม่ สดไหม มีสารอันตรายปนเปื้อนไหม และผลิตจากที่ไหน ทว่าปัญหาคือแพคเกจอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ผลิตจากอุตสาหกรรมนั้น ยังไม่ระบุถึงข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลของฟาร์ม รูปแบบการเลี้ยงสัตว์ ที่มาของอาหารสัตว์ ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการผลิตเนื้อสัตว์นั้น 

Meat in Supermarket in Germany. © Bodo Marks / Greenpeace

เนื้อสัตว์ในซูเปอร์มาเก็ต

สิทธิในการรับรู้ข้อมูลคือหลักการที่สนับสนุนอิสระทางเลือกของผู้บริโภค หากเราไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่เราจะซื้อ เราจะเลือกซื้อสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อุตสาหกรรมนั้นระบุเพียงแค่ประเภทเนื้อสัตว์ น้ำหนัก และวันหมดอายุ ซึ่งยากสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารจากที่มา ย้อนกลับมายังคำถามที่ว่า ข้อมูลที่ผู้บริโภคอย่างเราจะรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากอุตสาหกรรมนั้นสำคัญจริงหรือ?

ภาพเปรียบเทียบถึงเนื้อหมู 36% ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตออสเตรียมีการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก

ภาพเปรียบเทียบถึงเนื้อหมู 36% ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตออสเตรียมีการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก

ระบบอาหารในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตไม่มีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมเป็นภัยต่อสุขภาพของเรา และเร่งเร้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ถึงเวลาของการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างระบบอาหารของเราใหม่ อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือสาเหตุที่สำคัญของแนวโน้มดังกล่าวนี้ ผู้บริโภคต้องถูกตัดขาดจากการรับรู้ที่มาของอาหาร ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์เกี่ยวข้องกับการทำลายผืนป่า การปนเปื้อนของสารพิษ มลพิษทางอากาศมลพิษทางน้ำ และการใช้ที่ดินมหาศาลเพื่อเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ที่สำคัญคือการใช้ยาปฏิชีวนะส่งผลให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อดื้อยาและการตกค้างในเนื้อสัตว์ องค์การอนามัยโลกยกให้วิกฤตเชื้อดื้อยาเป็นความเร่งด่วนทางสุขภาพ

Factory Farm Bukkerupgaard in Bukkerup, Denmark. © Sune Scheller / Greenpeace

ฟาร์มเลี้ยงหมูเชิงอุตสาหกรรมในหมู่บ้านเล็กๆของเดนมาร์ก โดยชาวบ้านในหมู่บ้านรายงานกับกรีนพีซว่าฟาร์มส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อากาศในการหายใจ)

งานวิจัยของ International Food Information Council เมื่อปี 2561 ระบุไว้ว่า 3 ใน 4 ของผู้ซื้อเลือกที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่เผยข้อมูลเชิงลึก ซึ่งสูงขึ้นกว่าการสำรวจในปี 2559 ถึงร้อยละ 39 

การเปิดเผยข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อุตสาหกรรมนั้นไม่เพียงแค่เป็นนโยบายด้านความโปร่งใสที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมสามารถร่วมมือกันได้ แต่ยังเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลและเลือกบริโภคสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของตนและสิ่งแวดล้อม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์จำนวนมากในพื้นที่แออัดนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำลังส่งผลให้เกิดวิกฤตเชื้อดื้อยาที่องค์การอนามัยโลกยกให้เป็นความเร่งด่วนทางสุขภาพ เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมจึงอาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยา และการเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดช่วงชีวิตของสัตว์

Sows and Piglets in Gestation Cages in Thuringia. © Greenpeace

การเลี้ยงหมูแบบอุตสาหกรรมในเยอรมนีโดยที่ไม่มีพื้นที่ให้หมูแม้แต่จะขยับตัว

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 700,000 คนต่อปี โดยที่ประเทศไทยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 19,122 ราย ซึ่งอัตรานี้ถือว่าสูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกา (23,000 รายต่อปี จากประชากรทั้งหมด 316 ล้านคน) และยุโรป (33,110 รายต่อปี จากประชากรทั้งหมด 500 ล้านคน) หากปราศจากการดำเนินการใด ๆ จากภาครัฐ ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนทั่วโลกต่อปี ในปี 2563 ซึ่งการมีมาตรการที่รัดกุมในการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐสามารถลงมือทำได้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา และการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

การที่เราสามารถนำเสนอข้อมูลที่ผู้บริโภครับรู้ได้จากผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปต่อยอดใช้กับการระบุข้อมูลการบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เหมือนรอยเท้าของคาร์บอน ซึ่งจะบอกค่าต้นทุนของทรัพยากรว่ามากแค่ไหน เชื่อมโยงกับการทำลายป่า ก่อหมอกควันพิษแค่ไหน สัตว์ที่เลี้ยงกินอาหาร ยา และมีสภาพการเป็นอยู่อย่างไร การบอกข้อมูลสามารถบอกเป็นภาพรวมของฟาร์มได้

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ข้อมูลบนฉลากคือช่องทางหนึ่งในการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เสริมสร้างความเข้าใจกันยิ่งขึ้นระหว่างอุตสาหกรรมและผู้ซื้อ และภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการตรวจสอบที่รัดกุม เพื่อรับรองความปลอดภัยทางอาหารและสุขภาพให้กับประชาชน

ถ้าอยากเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรได้บ้าง

หากกังวลกับการตกค้างของเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และสนับสนุนพืชผักจากเกษตรอินทรีย์  หรือสำหรับการซื้อเนื้อสัตว์ สามารถทำได้ด้วยการปรุงให้สุกทุกครั้งจะสามารถฆ่าแบคทีเรียในเนื้อสัตว์ได้ แต่จะไม่สามารถชะล้างยาปฏิชีวนะที่ตกค้างได้ และรวมถึงไม่สามารถหยุดยั้งเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายไปยังสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน 

Alternative Protein Sources. © Mitja Kobal / Greenpeace

ถั่ว ธัญพืช ผักต่างๆ เป็นแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผักบางชนิดยังมีโปรตีนสูงอีกด้วย

การตรวจสอบฉลากจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ดำเนินการด้วยวิถึเกษตรอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์ในระบบปล่อย (Free Range) ให้สัตว์ได้สัมผัสกับแสงแดด ผืนดิน ตามธรรมชาติของตน ลดการพึ่งพายาปฏิชีวนะขณะที่ไม่ป่วย ซึ่งฉลากบนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ดังกล่าวนี้จะระบุถึงฟาร์มผู้เลี้ยง และรูปแบบการเลี้ยง บางครั้งเกษตรกรก็เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ของตนมาขายด้วยตนเอง การเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้กินเช่นนี้ คือหลักการการันตีที่ดีที่สุดเรื่องที่มาของอาหารและอาหารปลอดภัย

อาหารที่ดีต่อสุขภาพของสัตว์และสิ่งแวดล้อม ย่อมดีต่อสุขภาพของคุณด้วย สิ่งที่ภาครัฐทำได้เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริโภค มอบทางเลือกที่ง่ายขึ้นให้กับผู้บริโภคผ่านทางข้อมูล คือการออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อุตสาหกรรมด้วยข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ ข้อมูลทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงผู้บริโภคกับที่มาของอาหารอีกครั้ง และให้พลังกับผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารและกระบวนการผลิต ว่าจะทิ้งผลกระทบต่อสุขภาพของเราและโลกหรือไม่


? ร่วมเปลี่ยนแปลงเนื้อสัตว์ที่พวกเรากินให้ดีกว่าเดิม เพื่อสุขภาพของเรา ของสัตว์ และของโลก >> https://act.gp/2LZHh7q
? เข้าร่วมกลุ่ม รักลูกให้ถูกจาน: เมนูผักสำหรับตัวแสบ เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดีย แชร์ความรู้และเรื่องราวของพ่อ แม่ ผู้ปกครองที่อยากให้เจ้าตัวน้อยหันมากินผัก

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม