“ในปีหนึ่งคุณกินยาปฏิชีวนะกี่ครั้ง?” 

นี่คือคำถามที่ รศ.ดร.นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล หน่วยวิจัยเวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล-ออกซ์ฟอร์ด (MORU) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดถามพวกเราขณะที่กำลังพูดคุยกันเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และคำถามนี้เองเป็นคำถามที่เราควรหมั่นถามตัวเองและคนที่เรารัก เพราะปริมาณยาปฏิชีวนะที่เราได้รับนั้นส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเรา และต่อสุขภาพร่วมกันของคนทั่วโลก เนื่องจากเชื่อมโยงปัญหาเชื้อดื้อยา วิกฤตที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

วิกฤตเชื้อดื้อยา (Antimicrobial Resistance-AMR) นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าเป็นภัยคุกคามผู้คนที่สำคัญในปัจจุบัน โดยที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้ว่า จากแนวโน้มความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเนื้อสูตว์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ไม่ว่าคำตอบของคุณจะมากน้อยแค่ไหน คุณอาจได้รับยาปฏิชีวนะหรือเชื้อดื้อยาที่ตกค้างในเนื้อสัตว์หรือสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว ผ่านทางการบริโภคเนื้อสัตว์หรือผ่านทางการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม กรีนพีซได้ลองชวนถกปัญหาเชื้อดื้อยาผ่านมุมมองของ รศ.ดร.นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับอาหารการกินของเราในปัจจุบัน และการเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะในแต่ละประเทศนั้นจะช่วยยกระดับความปลอดภัยของสุขภาพประชาชนอย่างไร

ก่อนอื่น ลองมาร่วมทำความรู้จักกันก่อนว่า เชื้อดื้อยาคืออะไร และทำไมถึงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

ยาปฏิชีวนะที่เราอาจเรียกกันติดปากว่า ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ สิ่งเหล่านี้ใช้ทั้งในคนและสัตว์ การใช้ทั้งอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องจะกระตุ้นให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น โรคหวัดเจ็บคอธรรมดาไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เรามีความเข้าใจผิดชื้อกินเองเป็นประจำ มีการเรียกหายาปฏิชีวนะจากแพทย์หรือเภสัชกรเพราะเข้าใจผิดว่าหวัดเจ็บคอต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือต้องกินกันไว้ก่อน ซึ่งไม่ถูกต้อง และการกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น และเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในร่างกายเราก็สามารถแพร่กระจายไปก่อโรคให้กับคนรอบข้างที่เรารัก และทุกคนในสังคมได้ 

นอกจากนี้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก และใช้ไม่ตรงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ในการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากนั้นยาปฏิชีวนะมักถูกนำไปใช้เพื่อป้องกันโรค โดยให้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำในสัตว์ทุกตัวที่เลี้ยง ซึ่งคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในปัจจุบันแนะนำว่ายาปฏิชีวนะไม่ควรนำไปใช้เพื่อป้องกันโรคในสัตว์ที่ยังไม่ป่วย ยาปฏิชีวนะควรใช้แค่เพียงรักษาโรคในสัตว์ที่ป่วยเท่านั้น 

ซึ่งเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ยาปฏิชีวนะถูกใช้เพื่อกระตุ้นโตในสัตว์ โดยการให้ประมาณน้อย ต่ำ ๆ ทุกวัน เพื่อให้สัตว์โตเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแล้วในขณะนี้ แต่การใช้เพื่อป้องกันโรค ให้ปริมาณสูงหลายวัน สลับกับไม่ให้ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วเปลี่ยนให้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นในปริมาณสูงหลายวัน สลับไปเรื่อยๆ โดยเป็นการ ให้สัตว์ทุกตัวอย่างสม่ำเสมอ ยังผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะโดยรวมยังมีปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกระตุ้นโตลดลง ซึ่งพบได้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ปีพ.ศ. 2542 ถึงปีพ.ศ. 2553 จนกระทั่งประเทศเนเธอร์แลนด์รณรงค์อย่างจริงจังในการลดและเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคในสัตว์ที่ไม่ป่วย 

Antibiotic Resistent Germs in Pork Meat in Austria. © Mitja Kobal / Greenpeace

เนื้อบางชิ้นอาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะโดยที่ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้

การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมก็จะกระตุ้นให้เกิดเชื้อดื้อยามากขึ้น ทั้งยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาก็สามารถแพร่จากสัตว์สู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู้คนและสัตว์อื่นๆ ก็ให้เกิดโรคติดเชื้อดื้อยาได้ ในยามที่สัตว์ปัสสาวะ หรืออุจจาระ ทั้งยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาก็จะออกสู่สิ่งแวดล้อม แม่น้ำ ลำธาร หรือลงสู่ดิน หากมีการนำมูลสัตว์ไปทำปุ๋ย ไปปลูกผัก เชื้อดื้อยาก็สามารถไปอยู่บนผัก ผลไม้ที่เรานำมารับประทาน เมื่อยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร เมื่อเรารับประทานน้ำเหล่านั้นเข้าไป หรือสัมผัสน้ำและดินเหล่านั้น เราก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อดื้อยาด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การใช้ยาปฏิชีวนะในทั้งคนและสัตว์ก็ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่สูงขึ้น

ส่งผลกับผักที่เรากินไหม หากผักได้รับปุ๋ยจากมูลสัตว์ที่มีเชื้อดื้อยา?

ไม่ส่งผลกับผักโดยตรง แต่สามารถแพร่กระจายได้ทางอ้อม เช่น หากดินหรือปุ๋ยมีเชื้อซาโมเนล่าดื้อยา และล้างผักไม่ดี การทานผักเหล่านั้นก็อาจจะทำให้เราติดเชื้อซาโมเนล่าดื้อยาได้ 

ตัวอย่างกรณีการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้ออิโคไลจากไก่ที่ได้รับยาปฏิชีวนะเกินขนาด อาจปนเปื้อนในมูลไก่ หากเกษตรกรจับมูลไก่ และมือที่ไม่ล้างนั้นสัมผัสกับอาหาร และกินอาหารเข้าสู่ร่างกาย นั่นคือการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม หรือมือของเราจับกับลูกบิดประตูทั่วไปที่ไม่สะอาด ไม่ได้ล้างมือ ถ้าลูกบิดนั้นถูกจับโดยมือของผู้ที่เตรียมเนื้อสัตว์หรือผัก ไม่สะอาด แล้วเราสัมผัสอาหาร นำเข้าปาก เราก็ติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมได้ สิ่งง่าย ๆ เหล่านี้คือการส่งต่อของเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หลักการป้องกันง่าย ๆ คือ ทำความสะอาดผักและผลไม้อย่างเหมาะสม ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งก่อนและหลังทานอาหาร 

เช่นนี้แล้ว เราจึงเสี่ยงกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ด้วย?

โดยทั่วไปแล้ว การเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยมีมาตรฐานที่ดี ช่วงเวลาราว 10-14 วันสุดท้ายของการเลี้ยงสัตว์จะหยุดใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ไม่เหลือยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ ซึ่งเราอาจจะพบเห็นฉลากของเนื้อสัตว์ที่ระบุไว้ว่า “ปลอดยาปฏิชีวนะ” ซึ่งโดยทั่วไปหมายความว่า “ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์” ที่ท่านกำลังจะทาน อีกทั้งเนื้อสัตว์ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ และจำหน่ายในตลาดที่ได้มาตรฐาน ก็ควรที่จะไม่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนตามมาตรฐาน 

ดังนั้นแล้วมาตรฐานประเทศไทยไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อคนโดยทันที และสามารถดูแลจัดการไม่ให้เชื้อดื้อยาตกค้างในสิ่งที่เรารับประทาน แต่อย่างไรก็ดีผลกระทบทางอ้อม ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะปริมาณมาก และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ก็ยังเป็นปัญหาสำหรับทุกคนในประเทศ การบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นจึงส่งผลเกิดการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้น ทั้งในคนและในสัตว์ การใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณมากที่ไม่จำเป็นทั้งในคนและสัตว์ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เชื้อดื้อยาที่แพร่กระจายและการส่งต่อยีนดื้อยากันเองระหว่างแบคทีเรียก็ยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น 

ที่ดร. ดิเรก กล่าวถึงการส่งต่อกันเองของเชื้อดื้อยานั้น หมายถึงอะไร

โลกใบหนึ่งก็เหมือนกับร่างกายเรา การที่เรากินยาปฏิชีวนะหนึ่งครั้ง (ยาปฏิชีวนะคือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) แบคทีเรียดีในร่างกายก็ตาย มีปริมาณลดลง แบคทีเรียร้ายที่ดื้อยาก็จะรอดมากกว่า เติบโต มีปริมาณสูงขึ้น ต้องใช้เวลาอีก 5-6 เดือนกว่าที่แบคทีเรียดีๆ ในลำไส้เราจะกลับมาสู่ที่ที่เราเคยเป็น 

แบคทีเรียมีการแบ่งตัว ส่งผ่านยีนดื้อยากันได้ เมื่อสิ่งแวดล้อมหรือร่างกายเราได้รับปริมาณยาที่มากขึ้น ความถี่และระดับของเชื้อดื้อยาก็จะสูงขึ้น ถ้าใช้น้อยลง ความถี่ของเชื้อดื้อยาก็จะน้อยลง เมื่อเชื้อดื้อยาที่ออกจากตัวเรา ส่งต่อให้คนอื่น ผ่านทางกิน สัมผัส หรือหายใจ เชื้อดื้อยาก็สามารถแบ่งตัวเพิ่ม หรือส่งต่อยีนดื้อยาให้กับเชื้อในตัวคนนั้นๆ ได้ ทำให้โอกาสที่เราทุกคนจะติดเชื้อดื้อยาสูงขึ้น แม้ว่าตัวเราเองอาจจะไม่ได้ทานยาปฏิชีวนะโดยตรงเป็นประจำ

ยาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารได้ ถ้าหากสัตว์ที่เลี้ยงไม่มีช่วงปลอดยาปฏิชีวนะเพียงพอ และในกรณีสัตว์น้ำ ถ้าไม่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายน้ำของสัตว์น้ำที่เพียงพอในช่วงหยุดยา หรือความสะอาดของสถานโรงฆ่าสัตว์นั้นมีมาตรฐานที่ต้องปรับปรุง อาจทำให้เกิดปนเปื้อนจากมูลของสัตว์ หรือน้ำที่ใช้ล้าง กลับมาสู่ตัวสัตว์ได้

กรณีสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่กว่าร่างกาย เพราะการที่จะทำให้ยาปฏิชีวนะหายไปในสิ่งแวดล้อมยากกว่า เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคนและสัตว์ จะถูกชับออกมาโดยไม่ได้เปลี่ยนสภาพ เมื่อปนเปื้อนก็จะเกิดแบคทีเรียดื้อยาได้ในวงกว้าง การศึกษาน้ำทิ้งจากฟาร์มสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงพยาบาล และแหล่งชุมชน มีการพบปริมาณการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาที่สูง

เราจะเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยาในร่างกายของเราอย่างไรได้บ้าง

หากเรามีอาการป่วยเป็นโรคติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นไม่เยอะเช่นเป็นแค่ไข้หวัด เจ็บคอ หรือ เป็นหนักเข้าโรงพยาบาล และแพทย์บอกเราว่า เราติดเชื้อในกระแสเลือด หรือ โลหิตเป็นพิษ เราอาจจะเริ่มต้นด้วยการถามคำถามสามข้อกับแพทย์ว่า 

  1. เป็นเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
  2. เชื้อชื่ออะไร
  3. ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ 

โดยทั่วไปแล้วคนไทยยังไม่รับทราบถึงชื่อของแบคทีเรียดื้อยาต่าง ๆ เพราะบุคลาการทางการแพทย์ ไม่ได้อธิบายอย่างละเอียดว่าการติดเชื้อนั้น แค่สงสัย หรือยืนยันด้วยผลเพาะเชื้อ ถ้าแค่สงสัยโอกาสที่จะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียสูงหรือไม่ กรณีนี้จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ คำแนะนำในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตสมผลตามมาตรฐานของประเทศไทยแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีนี้หรือไม่ เรามีสิทธิ์ที่จะสอบถาม แพทย์ เภสัชกร ตามความเหมาะสม เพื่อจะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ว่าเราต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการป่วยนั้นๆ หรือไม่ และเราเองก็จะได้ไม่เรียกหายาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 

เชื้อดื้อยาเป็นเรื่องที่สื่อสารยาก เพราะอาจเข้าใจว่าเป็นปัญหาจากโรงพยาบาล แต่จริง ๆ แล้ว เชื้อดื้อยาพบได้ทั้งจากในชุมชนและในโรงพยาบาล เมื่อต้องเข้านอนโรงพยาบาล การใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อยามจำเป็นก็ทำให้เชื้อดื้อยาที่อยู่ในร่างกายเรามีโอกาสที่จะก่อโรคมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทางออกที่ผู้บริโภคทั่วไป และภาคส่วนต่าง ๆ สามารถทำได้คือ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ทั้งในคนและสัตว์ เพราะเป็นวัฎจักรสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ร่วมกัน

สำหรับภาคส่วนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ รูปแบบการเลี้ยงและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเกินความจำเป็นที่ส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยานั้นคือแบบใด

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ควรทำร่วมกัน ทั่วโลกต้องลดการใช้อย่างไม่จำเป็นลงทั้งในคนและสัตว์ โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น และด้วยความเข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะต้องใช้ป้อนกันโรคในการเลี้ยงสัตว์ แต่เราควรใช้ยาปฏิชีวนะต่อเมื่อสัตว์ป่วย เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และมีการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม 

การบอกให้เลิกใช้ทันที อาจทำให้สวัสดิภาพสัตว์แย่ลง เช่นสัตว์เสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้นฟาร์มจะต้องเพิ่มสุขลักษณ์อนามัยในฟาร์ม มีพื้นที่ปลอดโปร่งให้สัตว์ มีทีมคอยตรวจดูแล มีการแยกโรค เฝ้าดู อาการ วินิฉัยว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ ไม่ต้องใช้ทั้งฝูงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโดยไม่จำเป็น 

Sows and Piglets in Gestation Cages in Thuringia. © Greenpeace

การเลี้ยงหมูแบบอุตสาหกรรมในเยอรมนีโดยที่ไม่มีพื้นที่ให้หมูแม้แต่จะขยับตัว

ถ้าผู้บริโภคและรัฐไม่สนับสนุนการเลี้ยงที่เหมาะสม ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป

รัฐสามารถช่วยให้มีกองทุนตั้งต้น ให้มีฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันโรค (raise without routine anitibiotic) และมีสุขลักษณะอนามัยที่ดีขึ้น หรือการเลี้ยงโดยปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดชีวิตของสัตว์ 100% (raised without antibiotics) หรือวิถีเกษตรอินทรีย์ วิธีนี้เป็นผลดีต่อเกษตรกร และโลกใบนี้ ทำให้เชื้อดื้อยาอยู่ในสิ่งแวดล้อมน้อย และส่งผลถึงเราน้อยลง 

ผู้บริโภคเองก็มีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่เหมาะสม ถ้าผู้บริโภคตระหนักและเริ่มให้ความสำคัญกับการลดปัญหาเชื้อดื้อยา โดยมองหาเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันโรค หรือฟาร์มที่เลี้ยงโดยปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดชีวิตของสัตว์ ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่เหมาะสมในสัตว์ก็จะลดลง ขณะนี้ราคาของเนื้อสัตว์จากฟาร์มเหล่านั้นในไทยอาจจะยับสูงอยู่มาก แต่ถ้าผู้บริโภคเริ่มตระหนัก เหมือนดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์และอเมริกา ผู้ผลิตก็จะเริ่มผลิตเนื้อสัตว์ที่ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ในราคาที่ลดลงได้มากขึ้น ตามกลไกตลาด อีกทั้งถ้าผู้บริโภคลดการรับประทานเนื้อสัตว์ลง เป็นไปตามปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ก็จะลดลงเช่นกัน 

ปัจจุบันนี้มาตรฐานเรื่องการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ของไทยเราเป็นอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรฐานสากล รวมถึงมาตรฐานตามกฎสิทธิบัตรการซื้อขายเนื้อสัตว์ระหว่างประเทศในการวัดหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ และแบคทีเรียตามประเทศที่ส่งออกเนื้อสัตว์ไป เช่น ตามสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission) กำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO)

อย่างไรก็ดี แสตนดาร์ดเหล่านั้นควบคุมแค่เรื่องการตกค้าง การใช้ปริมาณมากยังนำผลไปสู่การติดเชื้อดื้อยาในสังคมของประเทศผู้เลี้ยงที่มากขึ้นได้ อีกทั้งการตรวจติดตามอาจจะไม่ทั่วถึง และการตรวจในเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ส่งออก อาจไม่ได้เข้มข้นเท่าเทียมกัน ยังผลให้ประชาชนทั่วไปมีความเสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาได้ 

สิ่งที่แก้ปัญหานี้ได้ คือ การที่ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลของอาหาร และสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ดังเช่นตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น ผลผลิตจากฟาร์มของญี่ปุ่นนั้นมีการบอกว่ามาจากฟาร์มอะไร ปลูกโดยใคร รับรองอะไรบ้าง อาจจะรับรองโดยองค์การ สหกรณ์ หรือรับรองด้วยคำมั่นสัญญาของตนเอง ซึ่งผลิตภัณฑ์จากฟาร์มเหล่านี้จะขายได้ราคาสูงกว่าผลผลิตที่ไม่บอกว่ามาจากไหน แบรนด์ขนาดเล็กมีการใช้ชื่อของตนเองบนผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่า บล็อคโคลีจากฟาร์ม จังหวัดไหน เนื้อวัวจากฟาร์มไหน จังหวัดไหน บอกวิธีการเลี้ยง ข้อมูลและความโปร่งใสสามารถสร้างความเชื้อใจให้เกิดขึ้นได้ ระบบที่หมุนไปแบบนี้เป็นการสร้างโอกาสที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดี ราคาไม่แพง และตรวจสอบได้ อีกทั้งทำให้ฟาร์มขนาดเล็กมีโอกาสพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ 

เจ้าของฟาร์มก็จะต้องมั่นใจในผลิตผลของตนเอง ระบบนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในประเทศหลาย ๆ ที่ เช่น ไนจีเรีย ญี่ปุ่น อเมริกา จนกระทั่งร้านอาหารหลายๆ ร้านเริ่มระบุว่าเนื้อไก่จากฟาร์มไหน ผักจากฟาร์มไหน โดยที่ฟาร์มเหล่านั้นไม่ได้จำเป็นต้องเป็นฟาร์มขนาดใหญ่เสมอไป 

รอยเท้าของยาปฏิชีวนะคืออะไร และการระบุประเภทและปริมาณการได้รับยาปฏิชีวนะของสัตว์บนผลิตภัณฑ์จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเชื้อดื้อยาได้อย่างไร

Antibiotic footprint หรือรอยเท้าของยาปฏิชีวนะ เป็นเครื่องมือที่เราใช้ช่วยสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคนและสัตว์ เพื่อทำให้คนเห็นภาพมากขึ้น เราใช้หลักการเดียวกันกับรอยเท้าของคาร์บอน (carbon footprint) โดยรอยเท้าของยาปฏิชีวนะสามารถใช้ได้ทั้งกับการใช้ยาปฏิชีวนะระดับประเทศ (เช่นประเทศไทยใช้ยาปฏิชีวนะในคนและสัตว์รวมกัน 6,850 ตัน ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ในปี 2560) และนำมาเปรียบเทียบกันว่า ประเทศเราใช้เยอะหรือน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านไหม (เช่นประเทศญี่ปุ่นใช้รวมกัน 809 ตัน) เยอะกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วไหม (ประเทศอังกฤษใช้ 772 ตัน) เพื่อมองไปข้างหน้า และลดการใช้ 

Meat in Supermarket in Germany. © Bodo Marks / Greenpeace

เนื้อสัตว์ในซุปเปอร์มาเก็ต

การที่ประเทศเราใช้เยอะกว่าประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นเกือบ 10 เท่า เป็นเพราะเราใช้มากกว่าในคน หรือในสัตว์ ซึ่งคำตอบคือทั้งสองส่วน ในคน ทำไมเราใช้เยอะกว่า เพราะคนไทยเจ็บป่วยมากกว่าและต้องนอนโรงพยาบาลให้ยาปฏิชีวนะมากกว่าใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ ปริมาณหลักของการใช้ยาปฏิชีวนะในคนคือนอกโรงพยาบาล จากการรักษาโรคไข้หวัด ท้องเสีย ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว ก็มีคนป่วยโรคไข้หวัดบ่อยเท่าๆ กับเรา แต่เขาไม่ทานยาปฏิชีวนะ นอกเสียจากจำเป็น เช่นเป็นทอนซิลอักเสบเป็นหนอง หรือปอดบวมเป็นต้น หรือประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น เลี้ยงสัตว์น้อยกว่าไทย เลยใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้อยกว่า คำตอบคือไม่ใช่ ปริมาณหลักคือการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์คือการใช้ป้องกันโรค ซึ่งได้รับการรณรงค์ให้ลดและเลิกในประเทศเจริญแล้วอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาใช้โดยเฉลี่ยต่อสัตว์ชนิดเดียวกันน้อยกว่าประเทศไทย 

ปริมาณการใช้สามารถนำมาเปรียบเทียบรายบุคคลได้ เช่น คุณกินยาปฏิชีวนะมาแล้วกี่ครั้งทั้งชีวิต (เช่นปีละสามครั้ง) เทียบกับเพื่อนของคุณ คนรอบข้าง หรือคนชาติอื่นๆ ทำไมเรากินมากกว่าคนอื่น เราจำเป็นต้องกินจริงๆ ใช่ไหม หรือเราใช้ยาปฏิชีวนะผิดวิธี 

การที่เราสามารถนำเสนอข้อมูล กระตุ้นให้คนทั่วไปมองเห็น สามารถนำไปต่อยอดใช้กับการระบุข้อมูลการบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เหมือนรอยเท้าของคาร์บอน ซึ่งจะบอกค่าต้นทุนของทรัพยากรว่ามากแค่ไหน การบอกข้อมูลสามารถบอกเป็นภาพรวมของฟาร์มได้ ดังที่เริ่มปรากฏแล้วในประเทศอังกฤษ กับเนื้อสัตว์ นม ไข่ ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์หนึ่ง และผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุว่าเลี้ยงโดยปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดชีวิตของสัตว์ 100% เรากำลังเห็นฟาร์มที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการระบุว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันโรค จะมีการให้ข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะรายฟาร์มซึ่งเข้าถึงได้จากฉลาก เช่นผ่านทาง QR code เป็นต้น  

รศ.ดร.นพ. ดิเรก กล่าวว่า ภาพรวมการลดการใช้ปริมาณยาทั้งหมด อาจจะสำคัญกว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์ ฟาร์มที่มีมาตรฐานที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้น มีหลักฐานทางวิทยาศาตร์ มากพอจะทำให้เราเชือได้ว่า การลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ลงอย่างถูกต้องจะทำให้สุขภาพของคนและสัตว์ดีขึ้น มีการสูญเสียชีวิตของทั้งคนและสัตว์จากเชื้อดื้อยาน้อยลง ซึ่งการที่จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องการความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการใช้ข้อมูลของประเทศอย่างเหมาะสม มีข้อมูลเชิงลึกของชนิดยาและชนิดสัตว์ มีนโยบายที่เหมาะสม มีการให้ข้อมูลของฟาร์มบนผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการรับรู้ของทั้งสองฝั่ง ผู้บริโภคเองก็ควรรับรู้ถึงสิ่งที่เราจะทาน และภาพรวมของปัญหา

เราอยากย้อนกลับไปถามคำถามเดิมที่ รศ.ดร.นพ. ดิเรก ถามไว้แรกเริ่มว่า “ในปีหนึ่งคุณกินยาปฏิชีวนะกี่ครั้ง” คุณคงตอบคำถามนี้ไม่ได้ถูกต้องนัก คุณอาจรับประทานเองโดยตรง และกำลังทานยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในอาหารหรือในสิ่งแวดล้อมร่วมด้วยก็ได้  

การรับรู้ข้อมูล คือสิทธิในการเลือกบริโภคของประชาชน และพลังของผู้บริโภคจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระบบอาหาร อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะผลักดันและกำหนดนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้คือภาครัฐ ดังที่ รศ.ดร.นพ. ดิเรก กล่าวไว้ “ภาครัฐควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมระบุข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะบนผลิตภัณฑ์ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค ถ้าไม่ทำอะไรเลย ประชาชนจะไม่ทราบข้อมูล และการลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมจะเกิดขึ้นได้ยาก หรือช้ากว่าที่ควร” 

ร่วมพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อสุขภาพของเราและของโลก คลิก https://act.gp/2LZHh7q

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม