“เบบี้ชาร์ค จึด จือ ดือ ดึ๊ด ดือ ดึ๊ด เบบี้ชาร์ค จึด จือ ดือ ดึ๊ด ดือ ดึ๊ด เบบี้ชาร์ค”

เนื่องด้วยในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม เป็นวัน Shark Awareness Day เราเลยอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมท่องโลกทะเลไปกับเรา มาเห็นอีกด้านหนึ่งของเจ้านักล่าใต้น้ำที่เป็นที่น่าเกรงขามของคนบนบกทั่วโลก

เมื่อนักล่ากลายเป็นผู้ถูกล่า

.

“ฉลาม” ในภาพจำของทุกคนคือนักล่าที่โหดเหี้ยมและแสนดุร้าย ภาพจำเหล่านี้มาจากภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่สร้างให้ฉลามเป็นสัตว์ร้ายกระหายเลือด ทำให้ผู้คนต่างหวาดกลัว และมองว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์อันตราย ชอบไล่กัดกินคนแบบในหนัง จริงอยู่ที่ฉลามนั้นเป็นนักล่าที่น่าประทับใจ แต่ความเป็นจริงที่น่าเศร้ายังคงย้ำเตือนว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตที่งดงามเหล่านี้ ถูกคุกคามโดยมนุษย์มากกว่าที่มนุษย์จะเป็นฝ่ายถูกคุมคามเสียอีก ในแต่ละปีมีปลาฉลามเกือบ 100 ล้านตัวถูกฆ่าตายเพียงเพราะมีคนอยากกินหูฉลาม

.

.

ถึงแม้ว่าฉลามบางตัวจะเป็นนักล่า แต่ก็มีหลายตัวที่กินอาหารโดยการกรอง เช่น ฉลามวาฬ และฉลามพยาบาล ในความเป็นจริงการโจมตีของฉลามนั้นพบไม่บ่อยนัก จำนวนการโจมตีเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาคือ 19 ครั้ง/ปี

ปลาฉลามวาฬ สัตว์ทะเลในบัญชีสัตว์สงวนชุดใหม่

.

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปลาฉลามวาฬได้ถูกบรรจุให้เข้าบัญชีสัตว์สงวน ตามประกาศของราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ฉลามวาฬ ได้ชื่อว่าเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากหัวที่มีขนาดใหญ่มาก และความยาวลำตัวอยู่ที่ประมาณ 5.5 – 12 เมตร สามารถหนักได้ถึง 20 ตัน พวกมันใช้เหงือกในการหายใจ มีช่องเหงือก 5 ช่อง หางของมันอยู่ในแนวตั้งฉาก โดยแต่ละตัวจะมีจุดสีขาวและสีเหลืองอ่อนที่แตกต่างกันออกไป สามารถพบได้ในทะเลเขตร้อนทั่วโลก บริเวณชายฝั่งทะเล แนวปะการัง จนถึงมหาสมุทรที่ระดับความลึก 1,928 เมตร

ข้อมูลอ้างอิง : https://www.dmcr.go.th//upload/nws/real/pic-20191305-1557735713-439.jpg

ภัยที่มองไม่เห็นของฉลามวาฬ คือ ปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารพิษที่สะสมอยู่ในไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพ และส่งผลเสียต่อชีววิทยาการสืบพันธุ์​ของกลุ่มสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ช้า และมีอัตราการตกลูกต่ำอยู่แล้วอย่างฉลามวาฬ

มหาสมุทรที่น่ากลัว คือมหาสมุทรที่ปราศจากฉลาม

 

ทะเลที่มีฉลามอาจน่ากลัวน้อยกว่าทะเลที่ไม่มีฉลาม ในฐานะนักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร ฉลามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสมดุลของทะเล หากไม่มีฉลามแล้ว ระบบนิเวศในทะเลทั้งหมดอาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประมง การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของฉลาม รวมถึงปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกเป็นปัจจัยคุกคามที่ทำให้ฉลามตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์มากที่สุด

เห็นหรือยังคะว่าฉลามไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับเป็นพวกมันต่างหากที่ต้องกลัวเรา เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลก ก็คือความต้องการครอบครองของมนุษย์นี่แหละ

บทความโดย ฉันท์ชนก หิรัญ นักศึกษาฝึกงาน กรีนพีซ
Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม