ไม่ว่าจะเป็นสายลม สายน้ำ หรือแสงแดดต่างล้วนเป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ทว่าการเปลี่ยนพลังงานต่างๆ ผ่านอุปกรณ์อย่างโซลาร์เซลล์ กังหันลม และกังหันน้ำนั้นฟังดูเหมือนเป็นเพียงเทคโนโลยีในฝันที่ไกลเกินเอื้อม แท้ที่จริงแล้วพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นและสามารถใช้ได้จริงแล้ว

เมื่อ 4 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา มีการจัดงานเสวนา “อาบแดด ตากลม กับกฏหมายพลังงานหมุนเวียน” โดยกรีนพีซ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติพลังงานและผลักดันกฏหมายพลังงานหมุนเวียน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนจากภาคเอกชน นักวิชาการ และชุมชนท้องถิ่นที่ใช้พลังงานหมุนเวียนจริงอันเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต พร้อมทั้งเสนอแนะเรื่องพลังงานหมุนเวียนของประเทศด้วย

คุณอนุสรณ์ สายนภา นักพัฒนาชุมชนผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งบ้านธารตะวัน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ครอบครัวของ คุณอนุสรณ์ สายนภา นักพัฒนาชุมชนผู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งบ้านธารตะวัน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการหุงข้าว ผลิตน้ำอุ่น และยังผลิตไฟฟ้าใช้เองจากการปั่นไฟด้วยจักรยานเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีอุปกรณ์เพียงแค่จักรยาน มอเตอร์ และแบตเตอรี ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถทำเองได้ คุณอนุสรณ์เห็นว่า แทนที่รัฐจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือถ่านหินแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ต้องการและไม่ได้ใช้ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเท่านั้น แต่รัฐควรให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าขึ้นอย่างเพียงพอกับความต้องการของตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น

ลุงส่อง บุญเฉลย ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนคีรีวงผู้ประดิษฐ์กังหันน้ำเพื่อดึงน้ำเข้าสู่สวน และผลิตไฟฟ้า

จากเมืองที่แสงไฟไม่มีวันดับ สู่สวนผลไม้บนภูเขาที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ณ หมู่บ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านการพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงานตลอดสิบปีที่ผ่านมา เมื่ออาทิตย์ลาลับขอบฟ้าการเฝ้าสวนยามค่ำคืนต้องอาศัยแสงจากตะเกียง และเครื่องปั่นไฟ ในที่สุดก็เกิดแรงบันดาลใจจากระหัดวิดน้ำ จนก่อกำเนิด “กังหันน้ำคีรีวง” เมื่อปี 2541 โดยลุงส่อง บุญเฉลย ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนคีรีวงผู้ประดิษฐ์กังหันน้ำเพื่อดึงน้ำเข้าสู่สวน และผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาต่อยอดจนผลิตไฟฟ้าใช้ได้ถึง 1,800 วัตต์ ทั้งหมดล้วนเกิดจากการอาศัยกระแสน้ำตามธรรมชาติ และภูมิปัญญาริเริ่มจากอุปกรณ์ง่ายๆ อย่างสายพาน ไดนาโม และใบพัด นอกจากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ชุมชนยังเป็นเจ้าของพลังงาน และสร้างความเข้มแข็งในชุมชนด้วย ลุงส่องมองว่า ควรมีการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะรักษาสมดุลทางธรรมชาติได้ ดีกว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือถ่านหินตามที่แผนพีดีพีเสนอไว้ เพราะจะยิ่งเพิ่มมลพิษให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

คุณวิสูตร มาตรเลี่ยม วิศวกร จากฟาร์มดูดแดด

เมื่อเราผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเองเราก็สามารถขายไฟฟ้าได้เช่นกัน คุณวิสูตร มาตรเลี่ยม วิศวกร จากฟาร์มดูดแดด บริษัทอีเนอร์คิว อาศัยข้อดี คือ แดดที่แรงตามธรรมชาติของจังหวัดลพบุรีนำมาแปลงไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ แล้วขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาล ตามการส่งเสริมให้เอกชนผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กขาย จากศักยภาพทางภูมิประเทศของประเทศไทย คุณวิสูตรกล่าวว่าสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดได้กว่า1,000 วัตต์ ต่อตารางเมตรเลยทีเดียว ขณะที่ประเทศอื่นผลิตได้เพียงประมาณ 300 วัตต์เท่านั้น แม้ว่าโซลาร์เซลล์จะมีข้อเสียอยู่ที่การลงทุนสูง แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพียงต้องอาศัยผู้ให้ความรู้ และการอุดหนุนทุนจากรัฐบาล และนี่จะเกิดขึ้นได้จากกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับนี้ สำหรับผู้ที่สนใจในการผลิตพลังงานเพื่อขายนั้น คุณวิสูตรแนะนำว่าควรเริ่มต้นจากการผลิตไฟฟ้าขึ้นในชุมชนก่อน และหากมีไฟฟ้าเหลือใช้ก็สามารถขายได้ ทั้งนี้ทุกคนทั่วประเทศต้องช่วยกันด้วยการสร้างจิตสำนึก มิใช่เพียงพึ่งพารัฐบาลเพียงอย่างเดียว คุณวิสูตรได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิดเพียงว่าปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 11 เมกะวัตต์ สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 30,000 ตัน น่าคิดว่าอากาศจะสดใสขึ้นเพียงใดหากเราสามารถลดปริมาณมลพิษได้ขนาดนั้น

ดร.จอมภพ แววศักดิ์ นักวิชาการศึกษาเรื่องพลังงานลมทั้งในนอกชายฝั่งทะเลในพื้นที่ภาคใต้

สำหรับท่านสุดท้าย ดร.จอมภพ แววศักดิ์ นักวิชาการศึกษาเรื่องพลังงานลมทั้งในนอกชายฝั่งทะเลในพื้นที่ภาคใต้ ได้เก็บข้อมูลจากทุ่งกังหันลมตามแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน โดยใช้กังหันลมสูง 40 เมตร พบว่าตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยนั้นมีลมดีศักยภาพสูงกว่าฝั่งอันดามัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 12,000 เมกะวัตต์ โดยเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศที่ 30,000 เมกะวัตต์แล้วถือว่าเพียงพอกับการใช้งานในภาคใต้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพลังงานสกปรกและไม่ยั่งยืนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน ดร.จอมพลเล็งเห็นว่า อีกสิบปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากถึงร้อยละ 50 มิใช่เพียงร้อยละ 25 ดังที่แผนพีดีพีกำหนดไว้ แต่ก่อนหน้านั้นเราทุกคนจะต้องเริ่มจากตนเองด้วยการประหยัดพลังงานเสียก่อน

จากการพูดคุยถึงข้อเท็จจริงในงานเสวนานี้ยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของกฏหมายพลังงานหมุนเวียนได้ชัดเจนขึ้น เพราะพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราอย่างสายลม สายน้ำ และแสงแดด ที่นำมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานได้จริง สิ่งสำคัญคือการปลูกจิตสำนึกตั้งแต่จากจุดเล็กๆ อย่างครอบครัว ชุมชน จังหวัด จนถึงสังคมใหญ่ระดับประเทศ ทางเลือกของพลังงานหมุนเวียนยังมีอีกมากและไม่ได้เป็น “กาก” อย่างที่คิด

เพราะไฟฟ้าไม่ได้มีจุดเริ่มต้นง่ายๆ เพียงการกดสวิตช์หรือเสียบปลั๊ก แต่สามารถสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชน ความสำเร็จที่จะทำให้กฏหมายพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง อยู่ที่ผู้นำและประชาชนของประเทศร่วมกันผลักดันนั่นเอง

ติดตามกิจกรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ที่จะถึงนี้ได้ที่นี่ พร้อมร่วมเป็นหนึ่งในเสียงสนับสนุนกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เพื่ออนาคตที่สดใสของประเทศไทย

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม