เมื่อพูดถึง Culture shock หลายๆ คนจะนึกไปถึงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น อาหาร ลักษณะท่าทางหรือการพูด แต่สำหรับนักเรียนไทยที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่นนั้นมีอีกอย่างที่ทำให้ “ช็อก” นั่นก็คือ วัฒนธรรมการแยกขยะ!?

เด็กนักเรียนไทยชั้นปี 1 ทุกคนที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจะต้องไปอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย โดยทุกๆ ชั้นจะมี Resident Assistant หรือที่เรียกติดปากว่า RA เป็นผู้ดูแลเด็กๆ ตามแต่ละตึกแต่ละชั้น หน้าที่หนึ่งซึ่งสำคัญของ RA คือ เป็นผู้สอน (หรือจับผิด) เวลามีคนแยกขยะไม่ถูกต้อง

สำหรับจังหวัดที่มหาลัยนั้นตั้งอยู่ มีกฏการแยกขยะคร่าวๆ ดังนี้

  • เศษอาหาร/เศษพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อย จะอยู่ในถุงเขียนที่มีชื่อว่า 「燃やせるゴミ」หรือ “ขยะเผาได้”
  • ขวดพลาสติก ขวดแก้ว (ยกเว้นฝาขวดพลาสติก) กระป๋องอะลูมิเนียม จะแยกอยู่ในถุงขาวชื่อ 「燃やせないゴミ」และนำไปทิ้งในโรงเก็บขยะของมหาวิทยาลัยอีกแห่ง
  • ฝาขวดพลาสติก ห่วงกระป๋องอะลูมิเนียม จะต้องใส่ในตะกร้าใบเล็กในห้องครัว
  • กล่องนมที่เป็นกระดาษจะต้องตัดล้างและมัดรวมกันเป็นตั้งเวลานำไปทิ้ง เช่นเดียวกับกล่องลังหรือกระดาษอื่นๆ
  • ของมีคม เช่น มีดโกน เศษแก้ว จะต้องห่อในกระดาษและเขียนว่า 「危険」หรือ “อันตราย” กำกับเพื่อให้คนเก็บระวัง

ทุกสัปดาห์ จะมีวันกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า วันไหนทิ้งอะไร แล้วคนที่เป็นเวรทำความสะอาดในวันนั้นจะต้องนำขยะในครัวรวมไปทิ้งหรือถ้าหากใครมีขยะส่วนตัวที่ต้องการนำไปทิ้งก็สามารถเอาไปทิ้งได้ แต่ทุกคนจะต้องผ่านด่าน “ตัวแทน RA ที่เฝ้าอยู่หน้าประตูหอ”

ช่วงที่ไปอยู่ใหม่ๆคุณแม่ส่งของจากไทยไปให้เยอะมาก ทำให้มีกล่องลังสะสมไว้พอสมควร จึงได้เก็บรวบรวมเป็นตั้งและกำลังจะไปทิ้ง แต่ก็ถูกตัวแทน RA ดักไว้ด้วยเหตุผลที่ว่า “ยังไม่ได้แกะสก็อตเทปใสที่ติดบนลังออก”

     วันนั้นเป็นวันที่อากาศหนาว ลมก็แรงและเป็นวันแรกที่รับรู้ถึง culture shock เรื่องนี้เป็นครั้งแรก

เมื่อย้ายออกมาอยู่ในอพาร์ทเม้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกับสังคมญี่ปุ่นจริงๆ ทำให้ทราบว่า ทุกๆ ปีเทศบาลจะแจกโปสเตอร์ ครึ่งหนึ่งหน้าตาเหมือนปฏิทิน อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นวิธีบอกโดยละเอียดว่า จะต้องแยกขยะอย่างไร

ตัวอย่างปฏิทิน: https://www.city.beppu.oita.jp/doc/seikatu/gaikokujinmuke/ei/2019/01.pdf

ในหน้าที่เป็นปฏิทินนั้นจะมีลงสีไว้ว่า วันไหนจะมีรถขยะมาเก็บขยะอะไร เป็นการบังคับกลายๆ ให้ทุกบ้านจะต้องบริหารจัดการขยะภายในบ้านกันเอง และถ้าหากแยกผิดประเภทก็จะไม่เก็บไปจนกว่าจะแยกให้ถูก

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถใช้มาตรการนี้ได้ก็เพราะว่าสินค้าทุกอย่างจะระบุประเภทวัสดุที่ใช้ผลิตแต่ละส่วนอย่างละเอียด ชัดเจน ทำให้สามารถแยกได้ง่าย นอกจากนี้ทางส่วนกลางเองก็มีการสื่อสารออกมาอย่างชัดเจนว่า จะต้องแยกขยะอย่างไรและเก็บไปวันไหน ทำให้ประชาชนเข้าใจและให้ความร่วมมือได้ง่ายยิ่งขึ้น

เมืองไร้ขยะ

     เมืองคามิคาทซึ (Kamikatsu) จังหวัดโทคุชิม่า (Tokushima)  ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่า “The trashless town” ด้วยแนวคิดที่ว่า “ไม่มีอะไรเป็นขยะ” ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องถูกแยกอย่างละเอียดและนำกลับไปรีไซเคิล

     โปรแกรมดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี 2003 ด้วยความตระหนักว่าขยะเมื่อเผาจะทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย แม้ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ไม่นานชาวเมืองก็แยกขยะราวกับเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เฉกเช่นเดียวกับการอาบน้ำ แปรงฟัน

     ในปัจจุบัน อัตราการรีไซเคิลขยะในเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 81 เปอร์เซ็นต์และมีเป้าหมายว่าจะทำให้ถึง 100 เปอร์เซ็นภายในปี 2020 โดยไม่ต้องพึ่งพาการฝังกลบหรือเผา

     นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้ง Zero Waste Academy ที่คอยให้ความรู้ สอนการแยกขยะในชุมชนต่างๆและเปลี่ยนมุมมองของคนให้มองขยะเป็นของมีค่า

ทางออก?

     แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีระบบแยกและจัดการขยะอย่างชัดเจน รวมถึงในบางเมืองมีการรีไซเคิลอย่างจริงจัง แต่ประเทศญี่ปุ่นกลับยังเป็นประเทศที่ส่งออกขยะมายังประเทศไทยเป็นอันดับ 1 สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการปัญหาขยะด้วยการรีไซเคิลนั้นอาจจะไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องขยะจะไม่หมดไปตราบใดที่ยังมีการผลิตออกมาจากต้นทาง เรื่องเช่นนี้ไม่ได้เจาะจงไปที่ประเทศญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่พูดในภาพรวมทั่วโลกว่า การรีไซเคิลนั้นเป็นทางเลือกที่ดีก็จริง แต่ตราบใดที่ขยะยังคงถูก “ผลิต” ออกมาเรื่อยๆ จากต้นทาง ปัญหาขยะล้นก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

     จะดีกว่าไหม หากผู้ผลิตเข้ามามีบทบาทในการจัดการวิกฤตขยะพลาสติก โดยการเปลี่ยนระบบกระจายสินค้าแบบใหม่ และสร้างนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ให้เป็นระบบเติม และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่เป็นการผลักภาระให้กับคนปลายน้ำ สิ่งมีชีวิตอื่น และสิ่งแวดล้อม และให้การรีไซเคิลเป็นตัวเลือกสุดท้าย

#BreakFreeFromPlastic

Illustration by Puchong Saelao