Green Turtle at Raja Ampat in West Papua. © Awaludinnoer / Greenpeace

เต่าตนุว่ายน้ำอยู่ในบริเวณปะการัง ทางตะวันตกของปาปัว

 

“เต่า เอ๋ย เต่า เต่ามันมี 4 ขา 4 ตีนเดินมา

มันทำหัวผลุบ ๆ โผล่ ๆ มันทำหัวผลุบ ๆ โผล่ ๆ”

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องเคยได้ยินและรู้จักเพลงนี้กันอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเพลงที่เราร้องกันมาตั้งแต่เด็กสมัยอนุบาล แต่รู้กันหรือไม่คะว่า ทุกวันนี้เต่าเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันเต่าโลก (World Turtle Day) เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมใจกันอนุรักษ์เจ้าเต่าน้อยให้คงอยู่กับโลกเราต่อไปอีกยาวนาน

เมื่อพูดถึงเต่า บางคนอาจจะนึกถึงความเก๋า ความเก่าแก่ และเป็นตำนานที่มีอายุยืนยาวใช่หรือเปล่าคะ มีตำนานเล่าว่า เต่าถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมโลก และโลกนั้นตั้งอยู่บนหลังเต่ายักษ์ตัวมหึมา เต่าจึงเป็นสัตว์ที่รับภาระหนัก เพราะต้องแบกโลกเอาไว้ทั้งใบ ซึ่งนอกจากความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ของเต่าแล้ว ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่หลายท่านอาจจะยังไม่เคยรู้

จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า เต่าเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เมื่อ 70 ล้านปีก่อน ซากของเต่ายักษ์ดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อว่า อาร์คีลอน (Archelon lschyros) ถือเป็นต้นสกุลของเต่าทะเลสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์และได้สูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์แล้ว แต่ทว่าในปัจจุบันยังมีเต่าที่ใกล้เคียงกับเจ้าเต่าอาร์คีลอน นั่นก็คือ เต่ามะเฟือง ( Dermochelys coriacea ) หรือ Leatherback turtle เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สืบสายพันธุ์มามากว่า 100 ล้านปีเลยทีเดียว และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก!! โดยมีความยาวเต็มที่ถึง 2 เมตร และหนักเกือบ 1 ตัน โดยเจ้าเต่ามะเฟืองนั้นเป็นเต่าทะเลน้ำลึกที่สามารถพบได้ในทางภาคใต้ของประเทศไทยด้วยค่ะ

Female Leatherback Turtle in French Guiana. © Greenpeace / Jacques Fretey

เต่ามะเฟืองตัวเมียขึ้นมาวางไข่บนชายหาด French Guiana

โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ“เต่ามะเฟือง” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ชนิดพันธุ์เต่าที่พบในประเทศไทยให้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจไม่มีโอกาสเห็นเต่ามะเฟืองอีกต่อไป โดย ปัจจุบันเหลือ พ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟือง มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยปีละไม่ถึง 10 ตัว และสถิติการวางไข่ก็ลดลงจาก 250-300 รังเหลือเพียง 10-20 รัง ลดลงมากกว่า 95%  ในช่วงเวลา 50 ปี แหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่ามะเฟือง ได้แก่ จังหวัดพังงาและภูเก็ต

ขณะที่ ประชากรเต่ามะเฟืองทั่วโลก สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2525 มีประมาณ 115,000 ตัวที่เป็นตัวเมียที่โตเต็มวัย และในปี พ.ศ.2539 มีอัตราการลดลงถึง 30,000-40,000 ตัว ซึ่งตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประชากรเต่ามะเฟืองก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง  ในปัจจุบันอาจเหลือเพียงแค่ 2,300 ตัวเท่านั้น

ทำไมเต่าจึงใกล้สูญพันธุ์?

ประเมินว่า มีลูกเต่ามะเฟืองแค่ 1 ใน 1000 เท่านั้นที่อยู่รอดจนมีโอกาสได้เป็นพ่อเต่าแม่เต่า ภัยคุกคามที่สำคัญในอดีตคือการเก็บไข่เต่ามาบริโภค และต่อมาก็เกิดจากการสูญเสียแหล่งทำรังวางไข่ที่สงบเงียบ อันตรายสำคัญอีกอย่างคือขยะพลาสติกในทะเล เพราะเต่ามะเฟืองเข้าใจผิดว่าถุงพลาสติกใสคือแมงกะพรุน อาหารโปรด ซากเต่ามะเฟืองที่พบบางตัวมีถุงพลาสติกหนักถึง 5 กิโลกรัมในกระเพาะอาหาร

ในประเทศไทยบริเวณหาดทรายที่ยังเงียบสงบและปราศจากการรบกวนของอุทยานแห่งชาติฯหาดท้ายเหมืองเป็นแหล่งวางไข่แห่งสุดท้ายที่เต่ามะเฟืองมีโอกาสขึ้นวางไข่ได้โดยไม่ถูกรบกวน

Leatherback Turtle's Eggs in West Papua. © Paul Hilton / Greenpeace

ไข่เต่ามะเฟือง บนชายหาด Jamursba Medi ทางตะวันตกของปาปัว

แสง

เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีการตอบสนองแบบเข้าหาแสง แสงจึงเป็นเสมือนเข็มทิศช่วยกำหนดทิศที่จะไปโดยธรรมชาติ ลูกเต่าส่วนใหญ่ฟักออกมาจากไข่ระหว่าง 4 ทุ่มถึงตี 2 ถ้ามันขึ้นมาไข่บนหาดที่มีแสงไฟสว่าง ลูกเต่าที่ฟักออกมาอาจหลงทาง เนื่องจากแสงดึงดูดให้มันขึ้นบกมากกว่าจะลงทะเล ทำให้พวกมันไม่สามารถกำหนดทิศทางได้ถูก

ขยะ

จาก ผลวิเคราะห์ข้อมูลว่าด้วยปริมาณของขยะก้นทะเลซึ่งเก็บรวบรวมไว้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีขยะจากฝีมือมนุษย์ราว 3,500 ชิ้น กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณลึกที่สุดของมหาสมุทร โดย 1 ใน 3 ของขยะที่พบก้นมหาสมุทรนั้น เป็นชิ้นพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตร หรือ “ไมโครพลาสติก” ซึ่ง 90% ของขยะกลุ่มนี้มาจากถุงพลาสติกแบบที่ใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เต่าที่ไปกินเศษขยะพลาสติก และเศษอวนใต้ท้องทะเลเข้าไป และไม่สามารถย่อยออกมาได้ก็จะตายลงในที่สุด ผลวิจัยล่าสุดจากออสเตรเลียชี้ว่า หากเต่าทะเลกินขยะพลาสติกเล็ก ๆ เข้าไปเพียงชิ้นเดียว ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 22% ที่จะเสียชีวิตเลยทีเดียว

ภาวะโลกร้อน

บรรดาสัตว์น้ำทั้งหมดต่างตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเดียวกัน ซึ่งเป็นผลจากวิกฤต อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล  สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S.Environmental Protection Agency) ระบุว่า ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงกว่าในอดีต เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยมาโดยมนุษย์ ทำให้น้ำทะเลมีสภาวะเป็นกรด และความเปลี่ยนแปลงนี้เองจะส่งผลกระทบกันต่อไปเป็นทอด ๆ ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนทั้งระบบ

การใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง

เครื่องมือประมงหลายชนิดมีผลกระทบต่อเต่ามะเฟือง เช่น อวนรุน อวนลาก อวนลอย อวนติด และเบ็ดราว เนื่องจากเต่าทะเลเป็นสัตว์น้ำที่หายใจด้วยปอดเมื่อติดอวน หรือ เบ็ดอยู่ใต้น้ำนานๆ ก็จะจมน้ำตายได้ รวมไปถึงการทำประมงที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลหรือแหล่งอาหารของเต่า  โดยเฉพาะในช่วงฤดูการวางไข่เต่าทะเล ก็ส่งผลให้เต่ารู้สึกไม่ปลอดภัยจึงไม่ขึ้นมาวางไข่และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปในที่สุด  

เราจะกันช่วยอนุรักษ์เต่าไม่ให้สูญพันธ์ุได้อย่างไร?

เราทุกคนสามารถช่วยกันได้คนละไม้คนมือ เพื่อช่วยให้เจ้าเต่า เพื่อนอายุนับร้อยปีของเราให้ได้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไปกับเราอีกนานๆ ได้ง่าย ๆ หลายวิธี เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก ทิ้งขยะพลาสติกให้เป็นที่ไม่ทิ้งลงบนชายหาด หรือรวมตัวกันทำกิจกรรมเก็บขยะที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและมนุษย์อย่างเศษแก้ว แค่เราไม่นิ่งเฉย เราก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

 

บทความโดย ฉันท์ชนก หิรัญ และ ธัญพิชชา ลอยกลิ่น นักศึกษาฝึกงาน กรีนพีซ
Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม