“เราจะมีมาตรการป้องกันเด็กของเราอย่างไรให้ปลอดภัยจากสารเคมีในชุมชน” คือหนึ่งในหัวข้อการเสวนาแลกเปลี่ยนของคุณครูโรงเรียนในโครงการโรงเรียนนำร่อง 55 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ปทุมธานี สกลนคร และพังงา จาก 4 ภาคของประเทศไทย ในงานการแสดงนิทรรศการผลงานการเรียนรู้ โครงการ “จัดการสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย” ที่จัดโดยมูลนิธิการศึกษาไทย ร่วมกับโรงเรียนนำร่องทางภาคเหนือ 18 โรงเรียน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากคำบอกเล่าของคุณครูในวงเสวนาทำให้ทราบว่า หลังจากมีการตรวจเลือดและปัสสาวะหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในร่างกายของเด็กในโรงเรียนพบว่า เด็กในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่าร้อยละ 90 มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในร่างกาย และเป็นที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือการพบสารเคมีปนเปื้อนในร่างกายของเด็กตั้งแต่ในระดับชั้นอนุบาล

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างการได้หลายทาง เราสามารถแบ่งประเภทเส้นทางการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เป็น 3 เส้นทางหลัก ทางปาก โดยการกินอาหาร เช่นการกินพืชผัก ผลไม้ที่มีการปนเปื้อนสารเคมี ทางผิวหนัง จากการดูดซึมสารเคมีเข้าสู่ผิวหนังโดยตรงหรือผ่านเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมี และทางการหายใจ โดยการสูดดมหรือหายใจเอาละอองน้ำขณะมีการฉีดพ่นสารเคมี

ทำไมถึงตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในร่างกายของเด็กนักเรียน ?

ในบางจังหวัด เช่นในจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เพื่อการเกษตร เป็นอันดับสองรองจากพื้นที่ป่าไม้ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่โดยรอบชุมชนและโรงเรียนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เกษรตกรมักใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้สารเคมีฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างและส่งผลกระทบมาถึงโรงเรียน บางโรงเรียนที่มีพื้นที่ที่สามารถให้เด็กเพาะปลูกผักอินทรีย์เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบของอาหารกลางวันได้แต่ก็ยังจำเป็นที่ต้องจัดหาซื้อวัตถุดิบบางประเภทจากภายนอกซึ่งส่วนใหญ่จะมีการตรวจพบสารเคมีปนเปื้อน  และเมื่อมีการตรวจเยี่ยมนักเรียนตามบ้านก็ยังพบว่ามีหลายครอบครัวที่เก็บสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไว้ภายในตัวบ้านอีกด้วย

แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็กปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ?

หลังการแลกเปลี่ยนปัญหาและข้อเสนอแนะจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเสวนา ก็ได้ข้อสรุปถึงแนวทางการแก้ปัญหาดังนี้

  • ให้ความรู้กับนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับพิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  • สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนเพื่อผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน
  • สนับสนุนให้โรงเรียนผลิตวัตถุดิบโดยให้เด็กในโรงเรียนร่วมกันทำเกาตรกรรมเชิงนิเวศเพื่อเป็นอากหารกลางวันภายในโรงเรียน
  • ขอความร่วมมือจากชุมชนไม่ให้พ่นสารเคมีในวันธรรดาที่นักเรียนมาโรงเรียนหรือเปลี่ยนสู่การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ไม่ให้ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

เราทุกคนสามารถเลือกสุขภาพที่ดีให้กับลูกหลานของเราเองได้ โดยการสนับสนุนการทำเกษตรเชิงนิเวศที่ยังยืนไม่ต้องเพิ่งพาการใช้สารเคมี นอกจากจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม