ราเชล คาร์สัน นักชีววิทยาทางทะเลชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ในธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดแยกจากกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เช่นเดียวกันกับมนุษย์ พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม พวกเราเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว การกระทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ เช่นเดียวกัน กิจกรรมของมนุษย์กลายเป็นแรงกระทำที่มีผลต่อธรรมชาติ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกอย่างมหาศาล

จากมหาฟ้าสีครามไปสู่สมุทรสีน้ำเงิน ในโอกาสของ Earth Day 2019 : Protect Our Species เราขอนำเสนอผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์เราที่เกิดขึ้นกับโลกในสัปดาห์คุ้มครองโลก (Earth Week) และขอชวนทุกคนมาปกป้อง คุ้มครองโลกใบนี้ร่วมกัน

Earth Day matters ep1 : under the Ocean

วาฬ ยักษ์ใหญ่ใต้สมุทร

Humpback Whale in Tonga. © Paul Hilton / Greenpeace

วาฬเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่มาก และเป็นญาติกับโลมาอีกด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม วาฬมีหลากหลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น ฉลามวาฬ วาฬเพชฆาต วาฬหัวทุย เป็นต้น แต่สายพันธุ์ที่ถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือ วาฬสีน้ำเงิน โดยตัวเต็มวัยอาจยาวได้ถึง 30 เมตรเลยทีเดียว มูลของวาฬเช่น Great Whale มีไนโตรเจนในปริมาณมากพอๆกับสารอาหารที่อยู่ในมูลของมันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ซากวาฬที่ตายแล้วยังเป็นแหล่งอาหารให้แก่สัตว์อื่นๆ

Whales in the Great Australian Bight. © Greenpeace / Jaimen Hudson

แม้วาฬเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ แต่ก็ยังหนีไม่พ้นภัยจากมนุษย์อยู่ดี ขยะพลาสติกในทะเล สารพิษ อุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมัน ยังคงเป็นภัยสำคัญที่วาฬจะต้องเผชิญ ในกรณีของขยะพลาสติกที่มาจากวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้งของมนุษย์ และการจัดการรีไซเคิลขยะที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพจึงมีขยะพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทะเลและมหาสมุทร ทำให้มีวาฬหลายต่อหลายตัวต้องตายเพราะกินขยะพลาสติกเหล่านี้เข้าไป

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace

เต่าทะเล

Green Turtle in the Maldives . © Greenpeace / Paul Hilton

เต่าทะเลคือสัตว์จำพวกสัตว์เลื้อยคลานใกล้สูญพันธุ์ เวลาอยู่บนบกพวกมันจะมีสายตาสั้นและเคลื่อนไหวเชื่องช้า แต่เมื่ออยู่ใต้น้ำจะกลายเป็นนักว่ายน้ำที่มีสายตาดีเลิศเนื่องจากตาของเต่าจะตอบสนองต่อการหักเหแสงในน้ำ มีการค้นพบเต่าทะเลอยู่ทั้งหมด 8 สายพันธุ์ โดยเต่าทะเลที่เรารู้จักกันดีก็มี เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง เป็นต้น

Green Turtle in the Maldives . © Greenpeace / Paul Hilton

เต่าทะเลเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ได้รับผลกระทบจาก การประมงเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกินพื้นที่ชายหาดจนเป็นอุปสรรคในการหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อวางไข่ และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนี้ยังส่งผลให้เต่าตัวเมียมีจำนวนมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากขยะพลาสติกในมหาสมุทร เพราะเต่าทะเลมักจะเข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกบางๆที่ลอยอยู่เป็นแมงกะพรุนอาหารจานโปรดของพวกมันนั่นเอง

Hawksbill Turtle Feeding on Plastic in the Red Sea. © Saeed Rashid

เมื่อพูดถึงแมงกะพรุนแล้วก็คงต้องกล่าวถึงประเด็นที่ว่า ปัจจุบันแมงกะพรุนมีจำนวนมากขึ้นทั่วโลกเพราะสัตว์นักล่าแมงกะพรุนก็คือเต่าลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย เมื่อห่วงโซ่อาหารแปรปรวนก็ส่งผลให้เราพบแมงกะพรุนตามชายฝั่งและมีนักท่องเที่ยวบาดเจ็บจากพิษของพวกมันมากขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความมหัศจรรย์ของเต่าทะเล

แม้จะเป็นเรื่องน่าหดหู่ใจที่สิ่งมีชีวิตอันอัศจรรย์เหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากมนุษย์เรา แต่เรายังคงต้องคิดบวกและมีความหวัง เรายังพอจะชะลอการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ (และสัตว์อีกหลากหลายที่ไม่ได้กล่าวถึง) ด้วยการลดการคุกคามสัตว์ป่า แทนที่การทำลายด้วยการฟื้นฟู คุ้มครองโลกร่วมกัน

การให้ความรู้ การลงชื่อเรียกร้อง หรือแม้กระทั่งการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนพฤติกรรมให้ลดใช้พลาสติก เราสามารถเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ได้ด้วยแนวทางที่หลากหลาย เพื่อที่จะช่วยคุ้มครองโลกและเพื่อนๆร่วมโลกทุกสายพันธุ์

 

Earth Day Matters EP2 : หมีขาวทางตอนเหนือ กับเพนกวินทางตอนใต้

Earth Day Matters EP3 : เรื่องของนก

Earth Day Matters EP4 : ผึ้ง นักปรุงอาหารของโลก

Earth Day Matters EP5 : ชีวิตในป่าฝนเขตร้อน

#EarthDay #ProtectOurSpecies

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม