ดังที่เรารับรู้กัน ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยอยู่ภายใต้ดงฝุ่น PM2.5 มานานนับเดือนแล้ว เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ 13 แห่งที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เราจะเห็นสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ผู้คนในภาคเหนือกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจน นี่คือวิกฤตด้านสาธารณสุข(public health emergency) ที่ไม่จบลงเพียงแค่เมื่อฝุ่นจางหายไป

กราฟแสดงความเข้มข้นของ PM2.5 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 11 เมษายน 2562 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 13 แห่ง ของกรมควบคุมมลพิษในเขตภาคเหนือตอนบน – ที่มา : http://air4thai.pcd.go.th/webV2/history/

ในที่นี้จะตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นถึงความรุนแรงและยาวนานของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งต้องตกอยู่ท่ามกลางมลพิษ PM2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัย (unhealthy)มาเป็นเวลานาน ดัชนีคุณภาพอากาศ(air quality index)ตามเกณฑ์ของประเทศไทยเป็นสีแดงทุกวัน อย่างน้อยที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมจนถึงวันที่ 11 เมษายน ดังภาพ (ซึ่งเรายังไม่ต้องไปนึกถึงดัชนีคุณภาพอากาศของ USEPA ที่ยึดโยงกับข้อแนะนำของ WHO เลยแม้แต่น้อย)

ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ

เมื่อเราพิจารณาเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือในช่วงเวลาเดียวกัน ตามฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษจะพบว่าไม่มีพื้นที่(ที่เป็นที่ตั้งของตรวจวัดคุณภาพอากาศ)แห่งใดเลยที่มีดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีแดงต่อเนื่องกันทุกวันดังเช่นคุณภาพอากาศที่อำเภอแม่สาย

หมอกควันพิษข้ามพรมแดนปกคลุมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (Santi Chang อนุเคราะห์ภาพ)

เพราะเหตุใดแม่สายต้องงวยงงในดงฝุ่น PM2.5 เป็นแรมเดือน เราจะพลิกวิกฤตนี้และหลีกเลี่ยง-ป้องกัน-บรรเทามิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตร่วมกันอย่างไร? และนี่คือข้อสังเกตเบื้องต้น

1) แม่สายตกอยู่ในวงล้อมของจุดความร้อนสะสมหนาแน่นในเมียนมาและ สปป.ลาว

ที่มา : https://www.globalforestwatch.org

แผนที่ด้านบนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่อำเภอแม่สาย(ในตำแหน่งที่แสดงเป็นเครื่องหมาย + ในแผนที่) ตกอยู่ในวงล้อมของจุดความร้อนที่สะสมหนาแน่นในเมียนมาและ สปป.ลาว โดยการใช้ข้อมูลจากการตรวจวัดจุดความร้อนสะสมด้วยเครื่องตรวจวัด Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) ที่ติดต้ังบนดาวเทียม Suomi NPP ระหว่างวันที่ 6-12 เมษายน พ.ศ.2562

ในประเทศไทย มีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ชั้นข้อมูล GIS และข้อมูล GPS เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ตลอดจนจำแนกแหล่งที่เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ต่างๆ ตามลักษณะการใช้ที่ดินไว้ 6 ประเภท ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ริมทางหลวง (250 เมตร) และชุมชน-อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2558 ได้มีการจำแนกพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแต่ละประเภทการใช้ที่ดินด้วย

นอกจากจุดความร้อน ประเทศไทยโดย GISTDA ยังวิเคราะห์และคำนวณพื้นที่เผาไหม้ (burnt scar) ด้วยการใช้ค่าความแตกต่างของดัชนีการเผาไหม้ (Difference Normalized Burn Ratio; DifNBR) ที่คำนวณจากภาพดาวเทียม LANDSAT-8 ครอบคลุมบริเวณภาคเหนือโดยใช้ภาพต่างช่วงเวลาคือภาพก่อนเกิดไฟป่าและภาพเมื่อเกิดไฟป่าจากความสัมพันธ์ของค่าการสะท้อนแสงของพื้นที่เกิดไฟป่า เมื่อได้ตำแหน่งและพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ก็จะนำข้อมูลพื้นท่ีขอบเขตป่าสงวนแห่งชาติ ขอบเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขอบเขตพื้นที่ สปก. รวมถึงข้อมูลการใช้ประโยชน์ท่ีดินอื่นๆ มาร่วมวิเคราะห์โดยการซ้อนทับ(overlay)กันก็จะทราบได้ว่ามีบริเวณใดบ้างที่เกิดไฟป่า ชุดข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเชื่อมโยงภาระรับผิดชอบ(accountability)ของคน กลุ่มคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นได้

คำถามคือในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เรามีข้อมูลในลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่? เราจะขับเคลื่อนผู้นำอาเซียนให้ริเริ่มระบบติดตามสถานการณ์หมอกควันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Sub-Regional Haze Monitoring System) เพื่อเฝ้าระวังและระบุตำแหน่งที่เกิดไฟและ/หรือพื้นที่เผาไหม้(burnt scar) และระบุภาระรับผิดในกรณีท่ีเกิดการเผาและก่อให้เกิดมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนจากในพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมพันธสัญญาได้อย่างไร?

2) แม่สาย ณ ใจกลางดงฝุ่น PM2.5 ข้ามพรมแดน

โดยพิจารณาจากข้อมูลแผนที่ Regional Haze Situation จากศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC) ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม ถึง 12 เมษายน 2562 แม่สายคือตัวแทนพื้นที่ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่อยู่ ณ ใจกลางดงฝุ่น

แม่สายในดงฝุ่นนี้สะท้อนเรื่องราวทุกมิติว่าด้วยมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็น (1) การถอด ASEAN Transboundary Haze-Free Roadmap ออกมาเป็นแผนงาน (2) การบรรลุเป้าหมายให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดหมอกควันข้ามแดนภายในปี 2563 (4) มาตรการปกป้องและติดตามตรวจสอบผลกระทบสุขภาพระยะยาวของประชาชน (5)การทบทวนเป้าหมายและเพื่อความหลากหลายของตัวชี้วัดในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและการเผาในที่โล่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนอกเหนือจากการที่ใช้จุดความร้อนสะสม ฯลฯ

ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC

ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC

ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC

ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC

ที่มา : ASEAN Specialised Meteorological Centre: ASMC

แผนที่ “แม่สายในดงฝุ่น” ด้านบนแสดงการกระจายตัวและความเข้มข้นของหมอกควันพิษข้ามพรมแดน (regional haze situation) ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม-12 เมษายน 2562 พื้นที่แรเงาสีน้ำตาลอ่อนแสดงขอบเขตของหมอกควันพิษข้ามพรมแดนที่มีความเข้มข้นปานกลาง พื้นที่แรเงาสีน้ำตาลเข้มคือขอบเขตหมอกควันพิษข้ามพรมแดนที่เข้มข้นมาก จุดสีแดงบนแผนที่คือจุดความร้อน(hotspot)ที่บันทึกโดยเครื่องวัดบนดาวเทียม NOAA ส่วนจุดวงกลมสีดำคือตำแหน่งของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

สุดท้าย การที่อำเภอแม่สายทำลายสถิติพื้นที่ที่มีดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีแดงตามเกณฑ์ของประเทศไทยทุกวันนานนับเดือนดังที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นเสียงปลุก(wake up call)ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจทุกระดับให้ตื่นขึ้นมาจากสภาวะความไม่สนใจใยดี(state of denial) เพื่อทำงานร่วมกับภาคประชาชนที่ตื่นตัว/เข้มแข็ง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับการขยายตัวของการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์และพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 โดยตั้งเป้าหมายไปสู่ทางออกที่ก้าวหน้า ยั่งยืน เป็นธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เรามีพร้อมทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหา เหลือแต่เจตจำนงที่ถูกต้องและกล้าหาญของผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจเท่านั้น

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม