สวัสดีครับ ผมชื่อ หมู ชยนพ บุญประกอบ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน’ ที่มี นาย-ณภัทร และ ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก นำแสดง ขณะที่เขียนบทความนี้ หนังได้ปิดการฉายในประเทศไปแล้ว (รายได้เฉพาะในกรุงเทพฯและเชียงใหม่อยู่ที่ราวๆ 130 ล้านบาท) และทยอยเข้าฉายในอีกหลายๆ ประเทศต่อไปครับ

     โดยตลอดช่วงที่ภาพยนตร์เข้าฉาย ผมและทีมงานก็ได้ตามอ่าน feedback จากโลกออนไลน์ด้วยใจระทึก ทั้งคำติ-คำชมล้วนเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงงานของเราในครั้งต่อไปเสมอ

   

     ที่ดีใจคือมีคนดูจำนวนไม่น้อยสังเกตรายละเอียดหนึ่งที่พวกเราตั้งใจใส่ไว้ในหนัง นั่นคือการให้กิ๊งและปาล์ม ตัวเอกของเรื่องใช้ถุงผ้า

     มีกระทั่งฉากที่ซูเปอร์มาร์เก็ต กิ๊งเดินมาจ่ายเงินที่แคชเชียร์ พอพนักงานหยิบถุงพลาสติกให้ กิ๊งก็ปฏิเสธก่อนหยิบของที่ซื้อใส่ถุงผ้าที่พกมาเอง

     รายละเอียดเหล่านี้เป็นความตั้งใจที่เราอยากใส่ไว้เนียนๆ โดยไม่ได้ไปเน้นอะไรมาก ไม่ใช่แค่เพราะอยากแทรกพฤติกรรมไม่รับถุงพลาสติกอย่างเดียว แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือเหตุผลเรื่องของ “เสียง”

     คนอัดเสียงภาพยนตร์ มักจะไม่ถูกโฉลกกับเสียงของถุงพลาสติก ที่มักจะดังกร๊อบแกร๊บตลอดเวลา เป็นเสียงที่รบกวนการทำงานของทีมอัดเสียงอย่างมาก เสียงถุงพลาสติกนั้นมักโดดเด่นและรบกวนเสียงทุกๆอย่างในหนัง โดยเฉพาะเสียงพูดของตัวละคร จนอาจทำให้ผู้ชมฟังพระเอกพูดประโยคสำคัญผิดเพี้ยนได้เลย

     นอกเหนือจากในตัวเรื่องแล้ว การถ่ายทำภาพยนตร์เอง ก็เป็นอีก 1 กิจกรรมที่ผลิตขยะจำนวนมหาศาลต่อวัน  ทั้งนักแสดง ทีมผู้ช่วยผู้กำกับฯ ทีมกล้อง ทีมอาร์ท ทีมช่างไฟ ช่างหน้า ช่างผม ทีมสวัสดิการ ทีมคนขับรถ ฯลฯ เวลาออกกองถ่ายทำครั้งหนึ่ง มีคนทำงานกันเป็นกองทัพเลยทีเดียว

     และเมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง เวลายกกองไปถ่ายทำที่ไหน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้ทีมงาน โดยเฉพาะเวลาถ่ายกลางแจ้งที่อากาศร้อนจัดๆ ถ้าได้น้ำเย็นๆ ใส่น้ำแข็งชื่นใจ เสิร์ฟใส่แก้วใส่ถาด บริการให้หยิบดื่มได้ทันทีที่หลังมอนิเตอร์ ก็เป็นอะไรที่สะดวกและเติมความสดชื่นให้ทีมงานได้ดีเยี่ยม …แต่น้ำเย็นเหล่านั้นมักถูกเสิร์ฟมาในแก้วพลาสติก ที่ยกดื่มครั้งเดียวก็โยนทิ้งถังขยะทันที  รวมไปถึงอาหารเที่ยงที่ทีมงานต้องรีบกินรีบถ่ายทำต่อ เพื่อทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งมักจะมาในรูปแบบข้าวกล่องโฟมสีขาวๆ ที่คุ้นตากันดี

©Chayanop Boonprakob

©Chayanop Boonprakob

     วันหนึ่งในกองถ่ายสเกลขนาดใหญ่ที่มีคนเกี่ยวข้องเกือบร้อยชีวิต ถ้าเฉลี่ยทั้งวันตั้งแต่เช้าจนค่ำให้คนในกองกินน้ำคนละ 10 แก้ว บวกลบแล้วก็น่าจะมีแก้วพลาสติกถูกใช้แล้วทิ้งวันละเฉียด 1,000 ใบเลยทีเดียว!

     สำหรับกองถ่ายหนัง Friend Zone นี้ จึงลองมีการปรับนโยบายใหม่ ด้วยการเปลี่ยนจาก ‘แก้วพลาสติกแบบอ่อน’ ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาเป็น ‘แก้วพลาสติกแบบแข็ง’ ที่เก็บกลับมาล้างใหม่ได้  รวมถึงมีการเปลี่ยน ‘กล่องอาหารโฟม’ เป็นกล่องอาหารแบบ ‘ชานอ้อย’ ซึ่งย่อยสลายได้ดีกว่าด้วย นอกจากนี้ในตำแหน่งงานหลักๆ ภายในกอง ยังพยายามให้ทุกคนมี “กระติกน้ำ” ที่ติดชื่อทีมงานแต่ละคนไว้ เพื่อลดขยะไปได้อีกระดับหนึ่ง

©Chayanop Boonprakob

     นโยบายลดขยะในกองถ่าย เริ่มถูกนำมาใช้กันมากขึ้นตามกองถ่ายต่างๆ แต่อาจจะยังทำได้ไม่100% ในทุกสถานการณ์ ด้วยหลายๆ เหตุผล เช่น การใช้แก้วพลาสติกล้างใหม่ได้ จะเพิ่มปริมาณงานในการเก็บแก้ว เพื่อมาล้างใช้ซ้ำใหม่ อาจจะต้องจ้างทีมงานเพิ่ม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น  หรือบางครั้งการไปถ่ายทำในที่ที่ไม่สะดวก เช่น กลางป่าลึก ในหุบเขา หรือบนเกาะ อาจไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอให้ใช้สำหรับล้างทำความสะอาดภาชนะ

     อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณพี่ๆ ผู้บริหาร gdh มากๆที่ไฟเขียวนโยบายเหล่านี้ รวมทั้งขอเอาใจช่วยทุกคนที่กำลังพยายามลดปริมาณขยะกันนะครับ ถ้ามีโอกาสจะพยายามแทรกนิสัยไม่รับถุงในหนังเรื่องต่อๆ ไปแบบเนียนๆ อีกเรื่อยๆ ให้มันดูเป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดาจนไม่มีคนดูคนไหนทักอีกเลย เพราะใครๆ เขาก็ทำกันหมดแล้วนั่นแหละครับ 🙂

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม