ในปีที่ผ่าน ๆ มา พวกเราคงเคยได้ยินคำว่า ‘แลนด์บริดจ์’ กันอยู่พอสมควร เพราะรัฐบาลกำลังผลักดันให้โครงการเชื่อมสองทะเลชายฝั่ง คือ ฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามันเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่เราอยากชวนทุกคนมาลงลึกถึงรายละเอียดว่าแล้วพื้นที่ที่รัฐบาลต้องการนำโครงการตั้งที่นั่นนั้น คุ้มค่าพอที่จะแลกกับตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือไม่ ?
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ภาคีนักวิชาการและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ที่จะตั้งอยู่ใน จ.ชุมพร – ระนอง ร่วมจัดเวทีสาธารณะเผยแพร่ชุดข้อมูลข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดโครงการดังกล่าว นำโดย Beach for Life มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม แลต๊ะแลใต้ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และมูลนิธิภาคใต้สีเขียว
ชุดข้อมูลนี้เป็นชุดข้อมูลที่นักวิชาการร่วมทำงานเก็บข้อมูลกับชุมชนเพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนที่อาจเกิดขึ้นหากเกิดโครงการท่าเรือน้ำลึก Land Bridgeใน จ.ชุมพร – ระนอง

อภิศักดิ์ ทัศนี จาก Beach for Life ผู้นำเสนอผลจากรายงาน เล่าที่มาที่ไปเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมสองฝั่งทะเลเข้าด้วยกัน โดยมีทั้งท่าเรือน้ำลึกตั้งอยู่ที่ บริเวณอ่าวไทย อ.แหลมริ่ว จ.ชุมพรและบริเวณฝั่งอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง จ.ระนอง โดยเชื่อมแผ่นดินตรงกลางด้วยเส้นทางรถไฟและเส้นทางมอเตอร์เวย์
อภิศักดิ์เล่าว่าแนวคิดในการเชื่อม 2 ฝั่งทะเลมีมานานมาก มาชัดเจนมากขึ้นในสมัย พลเอก เปรม และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ภายใต้นโยบาย Southern Seaboard ซึ่งในยุคนั้นมีความพยายามเปลี่ยนโฉมภาคใต้ด้วยการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มาจนถึงยุคต้มยำกุ้งที่รัฐบาลทักษิณพยายามฟื้นโครงการกลับมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เน้นหนักไปที่การออกแบบสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลา เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่แนวคิดนี้ได้รับการศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจัง ตามมาด้วยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา (1) ที่มีความพยายามจัดเวทีรับฟังเกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและที่สงขลา อย่างไรก็ตามเพราะชุมชนคัดค้านจำทำให้โครงการต้องถูกพับเก็บ
อย่างไรก็ตามในปี 2561 มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐบาลให้เปลี่ยนสถานที่จากเดิมมาเป็นที่ชุมพร – ระนอง จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ที่พยายามฟื้นโครงการ Land Bridge อีกครั้ง แต่จ.ชุมพร – ระนอง เหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดรองรับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบนี้จริงหรือไม่ ?

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย (EIA) ซึ่งกำลังอยู่ในการทบทวนร่างรายงาน และกำลังจะเกิดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงสิงหาคม 2568
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เสนอเข้ามาพร้อมกับร่างพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) หากโครงการนี้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะเร่งให้โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์เกิดเร็วขึ้น
ระนอง ชุมพร มีอะไร โครงการแลนด์บริดจ์จะเข้ามาแทนที่ทรัพยากรใดบ้าง
คณะผู้ทำรายงานร่วมทำงานกับชุมชนเพื่อศึกษาต้นทุนและศักยภาพชายฝั่งทะเลในจังหวัดชุมพร-ระนอง ร่วมทำกระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเล็ก ๆ และรวบรวมข้อมูลมาเป็นภาพกราฟฟิกแสดงถึงแหล่งทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณโครงการท่าเรือน้ำลึกและบริเวณรอบ ๆ ในทั้งสองจังหวัด

ความสมบูรณ์ของดอนตาแพ้ว อ่าวอ่าง จ.ระนอง หนึ่งในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการแลนบริดจ์
สำหรับพื้นที่ตั้งโครงการที่ อ่าวอ่าง จ.ระนอง เรามองว่าจะมีชุมชนใน อ.เมือง และอ.กะเปอร์ ราว 36,913 คน ที่อาจได้รับผลกระทบเพราะพวกเขาต่างพึ่งพาทรัพยากรในอ่าวอ่าง ส่วนในรัศมี 5 กิโลเมตรก็ยังมีชุมชนตั้งอยู่ถึง 7 ชุมชน อย่างไรก็ตามดอนตาแพ้วและชุมชนอีก 2 แห่งไม่ได้ถูกนับรวมไปในการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
จากการสำรวจ พื้นที่โครงการท่าเรือน้ำลึกจะตั้งอยู่บนพื้นที่สำคัญทางทะเลได้แก่ พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบุรี ถึงปากคลองกะเปอร์ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อีกทั้งยังมีลุ่มน้ำชั้น 1A ขนาด 240 เมตร
การศึกษาข้อมูลกับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านฝั่งระนองพบว่า ระนองมีรายได้จากการประมงสูง โดยมีรายได้จากครัวเรือนประมงพื้นบ้านเฉลี่ย 559.80 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้จำนวนนี้อาจหายไปเพราะโครงการสร้างทับพื้นที่ทำกินของชุมชนพอดี
ส่วน ดอนตาแพ้ว เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ ฝั่ง จ.ระนอง โดยพื้นที่เป็นดอนขนาดใหญ่ราว 2000-3000 ไร่ ตั้งอยู่ด้านหลังของเกาะพยาม ที่นี่เป็นที่ที่ชุมชนเรียกว่า ‘ขุมทรัพย์กลางทะเลระนอง’ เพราะมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เยอะมากและมีความหลากหลายอุดมสมบูรณ์ ชุมชนประมงพื้นบ้าน และชุมชนชาติพันธุ์ ชาวไทยพลัดถิ่น ชาวมอแกนอีกกว่า 400 คนที่พึ่งพาทรัพยากรบริเวณนี้เป็นหลัก ทั้งในการดำรงชีวิตและเพื่อเลี้ยงชีพ แม้ว่าจะอาศัยอยู่นอกรัศมี 5 กิโลเมตรก็ตาม
นอกจากนี้ โครงการที่แม้จะไกลกว่ารัศมีที่ตั้งโครงการมากกว่า 5 กิโลเมตร ยังมีแนวปะการังจำนวนมาก จึงไม่ได้ถูกนับไปอยู่ในรายงานประเมินผลกระทบของบริษัทที่ปรึกษา
ชุมชนชายฝั่งระนอง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีที่ทำกินที่นี่ ไม่สามารถไปที่อื่นได้ เพราะหากเดินเรือออกไปไกลกว่านี้ก็จะเป็นทะเลน้ำลึกซึ่งอันตรายต่อการทำประมงพื้นบ้าน
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าโครงการอาจส่งผลกระทบกับชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการที่ทำงานร่วมกันกับชุมชนลองติด GPS ที่เรือประมง 26 ลำเพื่อแสดงให้เห็นเส้นทางการเดินเรือทำมาหากินของชาวบ้าน โดยเส้นทางการเดินเรือทำมาหากินของชุมชนซ้อนทับกับโครงการพอดี หมายความว่าโครงการจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรในดอนตาแพ้วแน่นอน

แหลมริ่ว จ.ชุมพร พื้นที่วางไข่ของปลาทูไทย เป้าหมายโครงการท่าเรือน้ำลึก
ทางด้านพื้นที่แหลมริ่ว ของ จ.ชุมพร ก็มีทรัพยากรมากมายหลากหลายและมีชุมชนที่ตั้งรกราก มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทะเลอยู่เช่นกัน คณะผู้จัดทำรายงานได้ลงพื้นที่สำรวจทรัพยากรและศักยภาพชายฝั่งทะเลเช่นกัน ที่นี่มีชุมชนกว่า 2,510 ครัวเรือนที่อยู่ในรัศมีของโครงการและอาจได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังมีพื้นที่อ่อนไหวต่อโครงการไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น อีก 16 แห่ง
ข้าง ๆ พื้นที่โครงการยังมีสุสานหอยล้านปี ยาวตามแนวชายฝั่งลงมากว่า 300 เมตร มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองริ่วและป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ลุ่มน้ำคุณภาพ 1B ซึ่งพื้นที่เหล่านี้อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรในที่ตั้งโครงการท่าเรือน้ำลึก
ที่แหลมริ่วนี้ เรามองว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและยังเป็นผู้ที่พึ่งพาทรัพยากรทางทะเลอย่างแนบแน่นที่สุดคือกลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยมีชุมชนชายฝั่งที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมีรายได้ต่อครัวเรือนอยู่ที่เดือนละ 29,450.75 บาทต่อเดือน หากพิจารณาข้อมูลจากการทำแบบสอบถามเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านใน อ.หลังสวน จะมีมูลค่าจากการทำอาชีพดังกล่าวถึง 79.91 ล้านบาทต่อปี
นั่นหมายความว่าทะเลฝั่ง จ.ชุมพรนั้นไม่ได้เป็นทะเลร้างซึ่งการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือกน้ำลึกอาจส่งผลต่อสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมากกว่า 100 ชนิด โดยเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจเช่น กุ้งแชบ๊วย หมึก ปลาทู ปลาอินทรีย์ ปลาเก๋า และยังเป็นแหล่งวางไข่ปลาทูไทยทำให้มีปลาทูชุกชุม เป็นต้น แต่สัตว์ทะเลอื่น ๆ เช่นสัตว์ที่รักษาระบบนิเวศก็มีเช่นกัน เช่น ฉลามวาฬ ฉลามตระกูลต่าง ๆ เต่า จั๊กจั่นทะเลและยังมีแนวปะการังอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ดังนั้นการขุดลอกทะเลและถมทะเลกว่า 6,000 ไร่ เพื่อโครงการ แหล่งอาหารของคนไทยอีกแหล่งหนึ่งก็อาจหายไปพร้อมกับสัตว์น้ำอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ชุมชนห่วงกังวลจะไม่ได้เกิดกับแค่ชุมชนประมงพื้นบ้าน แต่การสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึก 1 โครงการจะกระทบต่อชุมชนและผู้คนในอาชีพอื่น ๆ ต่อกันเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่จะต้องพึ่งพาแหล่งอาหารสดอร่อยจากกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเลเพื่อการส่งออกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
ทะเลไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งอาหารและทรัพยากรของมนุษย์เราเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อปกป้องรักษาสภาพภูมิอากาศโลก อย่างพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่ระนองนั้นก็สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 7,518 ล้านตัน และยังเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้พวกเรายังมีอากาศสะอาดเพื่อหายใจอีกด้วย การแลกทะเลกับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้คุ้มค่าแล้วจริงหรือ ?
ดร.อาภา หวังเกียรติ จากมหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าได้ติดตามสถานการณ์ของการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มาตลอดหลายปี มองว่ากระบวนการดังกล่าวตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การกำหนดการศึกษาผลกระทบของ EIA นั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ของการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการกำหนดขอบเขตที่อาจได้รับผลกระทบที่ 5 กิโลเมตรจากตัวโครงการ ทำให้ไม่ครอบคลุมถึงชุมชนใกล้ ๆ และทรัพยากรทางธรรมชาติที่แม้ไม่ได้อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น โครงการท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งนี้ใช้เพียงแค่การประเมิน EIA คงไม่พอ

ร่าง พ.ร.บ. SEC กับการผลักดันโครงการ Landbridge
อธิวัฒน์ เส้งคุ้ย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ที่จะกำหนดให้ภาคใต้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะกำหนดให้มีโครงการแลนด์บริดจ์ ท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง และการทำเส้นทางขนส่งทางบกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ และจะมีเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่อื่น ๆ ตามมาอีก โดยระยะแรกมีพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฏ์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งในอนาคตอาจขยายถึง 10 จังหวัดภาคใต้
ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือการรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือรวบอำนาจตัดสินใจไว้ที่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย ซึ่งก็มีอำนาจในการอนุมัติ โดยคณะกรรมการคือนายกรัฐมนตรี ประเด็นต่อไปคือ ระบบการยกเว้น ซึ่งจะมีการสร้างระบบยกเว้นในกฎหมาย หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่าน การกระทำหลายอย่างจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินตามกฎหมาย เช่น หากต้องการเปลี่ยนแปลงผังเมืองก็ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายผังเมือง การเวนคืนที่ดินก็สามารถประกาศได้โดยไม่ต้องผ่านกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ การได้รับยกเว้นภาษี กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายเกี่ยวกับควบคุมการประกอบอาชีพ เป็นต้น เปรียบได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้กฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรค ได้รับการขจัดออกในการดำเนินเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งจะทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐยากขึ้นอีกด้วย
จากการนำเสนอของ อธิวัฒน์ นั้น ทำให้เราเห็นภาพโดยสรุปได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. SEC นี้เปรียบได้กับทางลัดในการไปยกเว้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเกิดโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้โครงการเหล่านี้ดำเนินการได้เร็วขึ้นอีกด้วย แน่นอนว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาใด ๆ ก็ตามควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ รายงานฉบับนี้ฉายภาพอย่างชัดเจนแล้วว่าชุมพร – ระนอง มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เกินกว่าจะนำไปแลกกับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้งรัฐควรจะต้องนำข้อมูลนี้ไปทบทวนอย่างละเอียดรอบด้านและฟังเสียงว่าชุมชนต้องการต่อยอดทรัพยากรในพื้นที่และร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับการปกป้องความหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์อย่างไร
รายงาน Land bridge Effect ผลกระทบโครงการท่าเรือน้ำลึกแลนด์บริดจ์ชุมพร – ระนอง ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ผลกระทบของท่าเรือน้ำลึกในเชิงวิศวกรรม โดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์หากเกิดโครงการแลนด์บริดจ์

ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ
เราส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่จะช่วยให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนเป็นเรื่องน่ารู้ เข้าถึงง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้