เมื่อนานาประเทศทั่วโลกจากยุโรปและเอเชียล้วนมีคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกรอบการเจรจาและข้อตกลงในเวทีโลกอย่างเวที COP26 ทำให้การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทางหลักๆ ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โดยปัจจุบัน โลกมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายตามแนวทาง Mitigation เป็นหลัก โดยใช้กลไกของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่สามารถทำให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาาพในระยะเวลาอันสั้นนี้ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าภาคการผลิตพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณความเข้มข้นสูงกว่าภาคอื่นๆ
ดังนั้น การศึกษาการประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม ภายในประเทศจึงมีความจำเป็นในการตอบโจทย์เพื่อแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การใช้ศักยภาพของแหล่งพลังงานจากธรรมชาติ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงพลังงานจากก๊าซชีวภาพ และ Modern Biomass ชีวมวลสมัยใหม่ภายในประเทศที่มีศักยภาพเพียงพอเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรม โดยวินาทีนี้ถือเป็นคำตอบและทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งทางกรีนพีซ ประเทศไทยจะชวนท่านผู้อ่านออกเดินทางไปสำรวจดูว่ามีประเทศไหนบ้างที่น่าสนใจ และใช้วิธีการใด รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีอะไร ในการออกแบบเพื่อการศึกษาศักยภาพของความหลากหลายทางพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ
ส่องศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของไนจีเรีย สเปน จีน และเยอรมนี
ประเทศแรกคือ ไนจีเรีย1 แผนการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไนจีเรีย ถูกตั้งโจทย์ให้มีการเพิ่มการบูรณาการระบบพลังงาน (energy mix) จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน หนึ่งในหัวใจสำคัญคือการทำความเข้าใจว่าที่ใดในประเทศไนจีเรียเหมาะที่จะเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนของประเทศ เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพและการพัฒนา รวมถึงมีการออกแบบนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมเพื่อการปรับใช้ต่อไป
จากการศึกษาศักยภาพนี้มีการนำแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีชุดโปรแกรมจัดการแผนที่ (ArcGIS; a geospatial analytical platform) ร่วมกับแบบประเมินทางคณิตศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในการร่วมวิเคราะห์เพื่อประเมินแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก และชีวมวลเป็นต้น และกรณีศึกษานี้พบว่าไนจีเรียมีศักยภาพที่ดีในการตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียน
ในศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์นั้นพบว่ารัฐแคทซินา (Katsina State) มีศักยภาพสูงที่สุดในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยระดับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ (Global Horizontal Index) ที่พบอยู่ที่ 2,191.8 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร (kWh/m2) และคิดเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (specific PV output: PVOUT) ได้ 1,750.3 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกำลังไฟฟ้าสูงสุด(kWh/kWp) หากเปรียบเทียบกับไทยและเวียดนามพบว่าระดับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 1,900 และ 1,000-2,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปีตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยเองถือว่ามีความได้เปรียบในแง่ของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่แพ้ไนจีเรียเนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งและสภาพภูมิอากาศทำให้ประเทศไทยมีความเข้มของแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ประเทศเวียดนามก็จัดเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถึงจะมีระดับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์อยู่ในระดับกลาง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม รัฐบาลเวียดนามได้พยายามพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจัง ตามแผนพลังงานล่าสุด เวียดนามตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 4 กิกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2568 และทำให้ได้ถึง 12 กิกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2573
มาต่อประเทศที่สองกับประเทศสเปน2 พบว่ามีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษาการบูรณาการที่จะเพิ่มศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนตามสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมของเมือง โดยเมืองที่มีการศึกษาและวิจัยคือจังหวัดโซเรีย (Soria) ตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนกลางของสเปน โดยความน่าสนใจที่ว่าคือ วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษานี้อยู่ที่จุดมุ่งหมาย ที่เน้นถึงการตอบสนองต่อการใช้ไฟฟ้าของอาคารเทศบาล พื้นที่ส่วนราชการ พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่เฉพาะอื่นๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณรอบแม่น้ำของเมืองจากพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการส่งเสริมให้เมืองมีการผลิตพลังงานเพื่อใช้เองได้ (Self-Consumption) ทั้งนี้มีเป้าหมายรวมอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองแบบบูรณาการและยั่งยืนของภูมิภาค ซึ่งจะทำเพื่อการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนและเพิ่มศักยภาพในการใช้พลังงานหมุนเวียนของเขตเมือง
โดยหนึ่งตัวอย่างของกรณีศึกษานี้คือการประยุกต์ใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือระบบโซลาร์เซลล์แบบไฮบริดจ์ (Hybrid solar energy) ร่วมกับการทำงานของระบบไฟฟ้าที่ถูกจ่ายมาตามปกติจากระบบสายส่งและระบบอุปกรณ์กังหันน้ำ (Hydraulic turbine) ในการสูบจ่ายน้ำขึ้นบนอาคารสูง (150 เมตร) ผ่านเครื่องสูบจ่ายน้ำ (Water pump)

ซึ่งกรุงเทพฯ เองก็มีการขยับพลังงานหมุนเวียนระดับเมืองเช่นเดียวกับจังหวัดโซเรีย (Soria) โดยการประกาศของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีนโยบายผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ใช้พลังงานจากแสงแดดมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า และนโยบายการผลักดัน กทม. เป็นเมืองแห่งโซลาร์เซลล์นี้ อยู่ในการปฏิบัติการตามแผนแม่บทของกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2564-2573 (Steering Committee on the Implementation of Bangkok Master Plan on Climate Change 2021-2030) เพื่อจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านตัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายในปี พ.ศ. 2573
มาเดินทางกันต่อกับประเทศในเอเชียของทริปนี้ที่ประเทศจีน ซึ่งโจทย์ใหญ่ของจีนคงหนีไม่พ้นเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำโดยอาศัยกลไกของการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนในระดับเมือง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าชาติอื่นๆ ในโลก และโลกของเราจำต้องอาศัยความสำเร็จของจีนในการแก้ปัญหา จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับกลไกการเปลี่ยนผ่านพลังงานในจีนที่จะสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หนึ่งในสาเหตุหลักที่จีนยังคงเดินหน้าปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในโลกก็คือจีนยังคงพึ่งพลังงานจากถ่านหินอย่างมากและยังมีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ขึ้นทั่วจีน นายฟิลิป ซิแยร์ แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศวิทยาในกรุงปารีสบอกว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่แต่ละแห่งเหล่านี้จะใช้งานเป็นเวลานาน 30-40 ปี หากจีนต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริง ก็จะต้องลดขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ลง และจะต้องปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าให้ได้” ดังนั้นกลไกการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ณ วินาทีนี้ และพบว่าจีนเองก็เป็นผู้นำโลกด้านการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 254,355 เมกะวัตต์ แต่เมื่อเทียบกับอัตราการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนแล้วที่สูงถึง 11.9 พันล้านตันในปี 2566 นั้น ทำให้แผนปฏิบัติที่ส่งออกมาเพื่อบรรลุการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

ทำให้กลไกเพื่อบรรลุความตกลงปารีส ที่จีนส่งไปยังสหประชาชาติ และระบุว่า จีนตั้งเป้าที่จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงสุดก่อนปี พ.ศ. 2573 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ก่อนปี พ.ศ. 2603, ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ลงมากกว่า 65% จากปี พ.ศ. 2548, เพิ่มการใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากฟอสซิลเป็นร้อยละ 25 และเพิ่มการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดเป็น 1,200 กิกะวัตต์ภายในปี พ.ศ. 2573 อาจจะถือว่าเป็นเรื่องที่สายเกินไปที่จะรับประกันว่าจะสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคอุตสาหกรรม
ไทยเองก็มีสิ่งที่ท้าทายไม่แพ้จีนในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality) ก่อนปี 2608 อันเนื่องมากจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือที่หลายคนเรียกว่าแผน PDP (Power Development Plan) ซึ่งจากการที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผน PDP ฉบับใหม่ หลังจากใช้แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 นั้นทำให้เกิดข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024 มากถึง 13 ข้อสังเกตจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในนาม JustPow ที่พบว่า ร่างแผน PDP2024 ฉบับนี้ อาจจะเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกระเป๋าสตางค์ของประชาชนโดยตรงในนามบิลค่าไฟฟ้า รวมถึงทำให้ไทย ไปไม่ถึงไหน ต่อการบรรลุโจทย์ความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon neutrality) ก่อนปี 2608 หากยังคงเดินหน้าต่อไปตามร่างแผน PDP2024 ที่ยังคงเดินหน้าพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปในการผลิตไฟฟ้า โดยยังคงพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลถึงร้อยละ 7 และร้อยละ 41 ตามลำดับ ตามมาด้วยการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลขนาดใหญ่ถึง 8 โรง กำลังการผลิตรวม 6,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 การเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลเพิ่มนอกจากจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้าง การดำเนินการทั้งหมดถูกส่งผ่านมายังบิลค่าไฟฟ้ารายเดือนของเราทุกคนแล้ว ยังปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
และดูเหมือนว่าพลังงานหมุนเวียนคือแหล่งพลังงานแห่งความหวัง คือกลไกสำคัญที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้เร็วที่สุด หรือสามารถพูดได้ว่า เป็นทางรอดของโลกที่กำลังจะตาย ก็ดูจะไม่เกินจริง ทั้งนี้เรายังมีสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนมากมายเพื่อรับมือกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เบื้องต้นเพียงหยุดการขยายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลใหม่ๆ พร้อมแผนปลดระวางถ่านหิน (Phase-out Coal ) และเดินหน้าส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงานทั้งจากมิติชุมชนเมืองและประชาชน
กรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมควรตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศเป็นลำดับแรก ถึงเวลาแล้วที่นโยบายและงบประมาณของภาครัฐต้องลงทุนต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ทางพลังงาน ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม หยุดสร้างภาระต้นทุนที่เกิดจากการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ผิดพลาดมาตลอดหลายทศวรรษ หรือความผิดพลาดนี้ เป็นความตั้งใจ ให้ใครได้ประโยชน์?
ก่อนจะจบทริปการเดินทางเพื่อตามให้ทันสถานการณ์พลังงานหมุนเวียนรอบโลก ขอปิดท้ายกับหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงประเทศเยอรมนีที่ชื่อ ‘เฟลด์ไฮม์’ (Feldheim) ซึ่งมีความสำคัญที่น่าสนใจคือเป็นหมู่บ้านที่สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ (The Energy Self-sufficient Village) และใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
เฟลด์ไฮม์ตั้งอยู่ในรัฐบรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ห่างจากกรุงเบอร์ลินประมาณ 60 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 130 คน หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติจากความสำเร็จในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยและควรนำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบจากเฟลด์ไฮม์ มีหัวใจสำคัญและองค์ประกอบหลักที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นธรรม ดังนี้
1.ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟสูงสุดของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าไบโอก๊าซ รวมถึงระบบเก็บพลังงานเป็นต้น
2. มีความเป็นอิสระด้านพลังงาน หมู่บ้านเฟลด์ไฮม์มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าและความร้อนใช้เองได้ทั้งหมด ทำให้หมู่บ้านพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างสมบูรณ์ เป็นอิสระจากผู้ให้บริการพลังงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน เกิดการกระจายศูนย์พลังงาน ลดการผูกขาดจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ
3. การมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เฟลด์ไฮม์ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยชุมชน ก่อให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยความรู้สึกของการเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมนี้ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนาศักยภาพแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
4. ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากโครงการพลังงานหมุนเวียนภายในพื้นที่ของหมู่บ้าน ทุกๆโครงการได้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ ซึ่งช่วยในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างเสถียรภาพ ทำให้เกิดการขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงได้ และ
5. ความยั่งยืนและนวัตกรรม จากความสำเร็จที่เฟลด์ไฮม์สามารถพึ่งพาต้นเองได้ทางพลังงาน จึงเกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือและความคิดสร้างสรรค์ของชุมชน
ประเทศไทยเองก็มีชุมชนและหมู่บ้านไม่น้อยที่มีศักยภาพและการพึ่งพาตนเองได้ทางพลังงานหมุนเวียน เราเชื่อว่าหากไทยนำกรณีศึกษาจากนานาประเทศที่ได้กล่าวมาข้างต้นมาทำการศึกษาและปรับใช้ พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์ รวมถึงนโยบายระดับประเทศเพื่อเดินหน้าขยับการสร้างชุมชนต้นแบบที่พึ่งพาตนเองจากพลังงานหมุนเวียนได้ เริ่มจากขยับความสำเร็จในระดับหมู่บ้าน ระดับเมือง ระดับภูมิภาค เป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์คงสำเร็จได้ในไม่ช้า
อ้างอิง:
ประเทศไนจีเรีย1 – Kenneth, E.O., Benneth, O., Ilhami, C., Akhtar, K., 2024. Geographical information system based assessment of various renewable. Energy Reports 11(2024): 1147-1160.
ประเทศสเปน2 – Sara Gallardo-Saavedra, Alberto Redondo-Plaza, Diego Fernández-Martínez, Víctor Alonso-Gómez, José Ignacio Morales-Aragonés, Luis Hernández-Callejo., 2022. Integration of renewable energies in the urban environment of the city of Soria (Spain). World Development Sustainability 1(2022): 100016