อำเภอแม่ทะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดลำปาง มีพื้นที่โดยรวมกว่า 454,156 ไร่ หรือ 810,543 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าประมาณ 276,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 108,000 ไร่ หรือร้อยละ 24 เพียงเท่านี้ก็สามารถยืนยันได้ว่าชีวิตของผู้คนที่แม่ทะ ล้วนผูกสัมพันธ์กับธรรมชาติและผูกพันกับการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่ากระแสธารโลกาภิวัตน์จะเคลื่อนไปยังไงก็ตาม แต่การเคลื่อนไปของคนแม่ทะต่างมีรากที่หยั่งลึกลงไปในแผ่นดิน ผลิใบเป็นชีวิต มีสายน้ำทอดยาวหล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่งมาอย่างยาวนาน
“เราเปรียบลำน้ำของที่นี่เป็นเหมือนตู้เก็บของสดขนาดใหญ่นะ มันเหมือนจริง ๆ ลำห้วยแม่กองเนี่ย”

คำพูดระหว่างเดินทางสำรวจพื้นที่ของ เก่ง-นัฐวัฒน์ อินหล้า ชาวชุมชนบ้านกิ่ว ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง บอกผ่านระหว่างทาง ก็ชวนให้เราคิดต่อ และรู้สึกอัศจรรย์ที่ได้มาเยี่ยมเยือน นอกจากนิยามความหมายของตู้เก็บของสดแล้ว อีกชื่อที่ผู้คนในพื้นที่ต่างเรียกผืนป่าแห่งนี้ว่า “ซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน” ก็ยิ่งแจ่มแจ้งชวนมองลึกลงไปถึงชีวิตสัมพันธ์ บนความกังวลที่ผู้คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าในอนาคตอันใกล้การมาถึงของโครงการเหมืองถ่านหินจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวิถีชีวิตของชุมชน และซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้มากมายขนาดไหนกัน?
ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใครก็เข้าได้
“กินอยู่กับป่าก็รักษาป่า ป่าคือชีวิต หน่อไม้ เห็ดตามฤดูกาล”
เก่ง ยังคงพูดให้ฟังเพื่อฉายภาพให้ชัดสำหรับความหมายของพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ และสายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพชีวิตอีกมากมาย อย่างน้อย ๆ ก็กว่า 1,451 ครัวเรือนในพื้นที่บ้านกิ่ว และ 900 ครัวเรือนในพื้นที่ของต.บ้านบอม
“ผมไม่ได้เก็บของป่าไปขาย ไม่ได้จับปลามาขายด้วยซ้ำ เอาแค่พอกิน ฤดูไหนก็มีของให้กิน เหมือนเป็นครัว เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ไม่เจือปนอะไรเลยสักอย่างเดียว” เก่งกล่าวเพิ่มเติมถึงความหมายสำคัญอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน ที่ไม่ต้องซื้อขาย ไม่ใช้เงินตราแลกเปลี่ยน ขอเพียงเงื่อนไขที่ว่าต้องดูแลกัน ให้ป่าดูแลคน คนต้องตอบแทนด้วยการดูแลป่า เกื้อกูลกันไป เก่งยังย้ำว่าเกิดมาจนอายุปาเข้าไป 41 ปี ก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่

ผู้คนในอำเภอแม่ทะต่างประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม นอกจากผลิตผลที่ชาวชุมชนบ้านกิ่วและบ้านบอม อ.แม่ทะ เก็บเกี่ยวกันตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นข้าวนาปี ที่ปลูกและเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้ง ที่ทั้งปลูกไว้กินเองและส่งขาย มันสำปะหลัง อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีข้าวโพด และถั่วลิสงบางประปราย หรือในหน้าฤดูแล้ง ที่ก็อาจจะยังมีการปลูกแตงโมให้เห็นอยู่บ้าง ในส่วนของปศุสัตว์ โคเนื้อถือเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีของคนบ้านกิ่วและบ้านบอม เนื่องจากพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของป่า มีหญ้าเขียวขจีตลอดปี การเลี้ยงแบบปล่อยจึงเป็นเรื่องง่ายที่ไม่ยุ่งยากมากนัก แม้ว่าปัจจุบันหลายครัวเรือนจะเปลี่ยนบ้านของตัวเองมาทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เย็บปักถักร้อย ทำหมวก ถุงเท้า และอื่นๆ ป้อนไปจำหน่ายในหลายพื้นที่ทั่วไทย จนกลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว แต่ผืนดินที่ยังอยู่และตกทอดก็ยังคงทำประโยชน์ได้ อย่างน้อยข้าวนาปีในครัวเรือนก็ทำให้มีข้าวกินตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องซื้อ
ทั้งนี้แหล่งวัตถุดิบตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าชุมชน ก็สามารถเข้าไปเลือกสรรได้อย่างสบายใจไร้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นเห็ด หน่อไม้ หรือผักนานาชนิด ซึ่งในฤดูฝนแบบนี้ก็มีหน่อไม้ไผ่ป่าอ่อนๆ ให้เก็บอยู่เต็มป่า สำหรับนำมาประกอบอาหารเลี้ยงปากท้อง หรือนำมาขายเป็นอาหารป่าพอให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินภายในชุมชน

ตู้เก็บของสดห้วยแม่กอง

ที่สำคัญคือพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำ ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งทำมาหากินคนบ้านบอมเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้คนมากมายแทบจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของ อ.แม่ทะ ภาพเบื้องหน้าที่เราเห็น ผู้คนมากหน้าหลายตาที่เข้ามาจับปลารอบแหล่งน้ำ เก่งยังบอกว่าไม่ใช่แค่คนในพื้นที่บ้านบอมหรือบ้านกิ่วด้วยซ้ำ ผู้คนมากมายต่างมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มี นี่แสดงให้เห็นว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชนแห่งนี้เกื้อกูลเป็นวงกว้างแค่ไหน
อ่างเก็บน้ำแม่กอง แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนที่ใช้สำหรับทั้งการเกษตร ปลูกข้าว เลี้ยงวัว และยังเป็นแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยปลาแก้มช้ำที่มีอยู่อย่างชุกชุม หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในหลากหลายเมนูให้ชาวบ้านได้นำไปรังสรรค์ เป็นอาหาร ทั้งยำปลาแห้ง, แกงตูน หรือแกงปลาสับ เป็นต้น
“แต่ก่อนชาวบ้านเขาก็ใช้แหล่งน้ำตรงนี้ทำอะไรหลายอย่าง จับปลา เอาน้ำมาล้างถ้วยล้างชาม ซักผ้า ตอนเด็กๆ ผมยังลงไปเล่นได้อยู่เลย”
ห้วยแม่กอง นอกจากจะเป็นแหล่งน้ำปากท้องของชุมชน ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ผ่านกรรมวิธีการจับปลาแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกเบ็ด ทอดแห และการตั้งจ๋ำยกยอ (เป็นชื่อวิธีการหาปลาด้วยอุปกรณ์ชื่อ ยกยอ) ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่การหาปลาเพื่อนำไปขายหรือหาผลกำไร แต่เป็นการจับไปประกอบอาหารเพื่อยังชีพเท่านั้น แถมยังเป็นการอนุรักษ์แหล่งน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอด้วย
แหล่งท่องเที่ยวที่ชุมชนวาดหวัง แต่รัฐไม่ผลักดัน
นอกจากทรัพยากรธรรมชาติที่กล่าวไปแล้ว ที่บ้านบอมยังมีแหล่งท่องเที่ยวประจำท้องถิ่น เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญ และยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนอย่าง ‘ดอยม่อนธาตุ’ หรือ วัดดอยม่อนธาตุสิริธรรมาราม ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ที่เมื่อเดินขึ้นไปถึงเราจะสามารถมองเห็นพื้นที่ของอำเภอแม่ทะได้สุดลูกหูลูกตา 360 องศา
จากการพูดคุยกับ สนอง อุ่นเรือง ชาวบ้านในพื้นที่บ้านบอม ถึงที่มาที่ไปของการพัฒนาดอยม่อนธาตุแห่งนี้ สนองกล่าวกับเราว่านี่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของชาวชุมชนบ้านบอมตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2550 ในการก่อสร้างศาลาประดิษฐานองค์จำลองหลวงพ่อโสธร เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมถึงเป็นจุดชมวิว ที่มุ่งหวังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง หากใครจะขึ้นไปสักการะองค์จำลองหลวงพ่อโสธร และปล่องพระธาตุ ซึ่งอยู่บนยอดภูเขา ต้องเดินขึ้นบันไดนาคไปอีกร้อยกว่าขั้น โดยบนยอดเขามีจุดชมวิวที่สวยงาม ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น รายล้อมด้วยป่าไม้ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของตำบลบ้านบอมและตำบลใกล้เคียงได้โดยรอบ

นอกจากนี้ ดอยม่อนธาตุยังมีปล่องพระธาตุ ที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีดวงแก้วออกมาในช่วงวันพระหรือวันพระใหญ่ ชาวบ้านมักจะนำเหรียญมาหยอดที่ปล่องพระธาตุเพื่ออธิษฐานขอพรและมักจะสมหวัง และทุกปีช่วงแรม 8 ค่ำ เดือนเก้า หรือประมาณปลายเดือน มิ.ย. ชาวบ้านในพื้นที่จะจัดให้มีประเพณีขึ้นดอยม่อนธาตุ

“ที่นี่ค่อนข้างอันซีนนะ คนไม่ค่อยรู้จัก แต่คนบ้านบอมรู้ว่ามันสวยมาก ถ้ามันถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจังก็คงจะดีไม่น้อย คนบ้านบอมจะได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวบ้าง”
ถึงจะเป็นการรวมตัวกันของปัจจัยที่เอื้อในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดีได้ แต่วัดดอยม่อนธาตุสิริธรรมารามในปัจจุบันก็ยังไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของ อ.แม่ทะ ตามแผนพัฒนา 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ของ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง แต่อย่างใด ซึ่งก็น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย ว่าทำไมกัน?

“สงสัยต้องผลักดันกันเอง” สนองบอกกับเราแบบนี้
ความกังวลภายใต้ร่มเงาชีวิต
ดังที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นถึงความกังวลของโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องสดใหม่แต่อย่างใด แต่มีการสำรวจแอ่งแม่ทะมาตั้งแต่ ปี 2547 เพื่อขอสัมปทานพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ บริษัทคาดการณ์ว่าหากโครงการเหมืองถ่านหินนี้ดำเนินการได้สำเร็จ จะลดต้นทุนการขนส่งของบริษัทที่เข้ามาทำสัมปทานนี้ เนื่องจากเส้นทางการขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปยังโรงงานผลิตปูนซีเมนต์มีระยะทางใกล้แค่ประมาณ 64 กม. เท่านั้น
“วิถีชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไป จากที่เราเคยหาของป่า ทำไร่ ปลูกข้าว เคยจับกุ้ง หอย ปู ปลา ถ้ามีโครงการเหมืองเข้ามา วิถีชีวิตตรงนี้มันก็จะเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของคนเองก็อาจจะเปลี่ยน”
พิม คนในพื้นที่บ้านบอมบอกกับเรา พิมในวัย 31 ปี เลือกกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิด เพราะเธอเชื่อว่าที่บ้านมีทุกอย่างที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวเธอดีขึ้น ได้ใช้เวลากับครอบครัว รวมถึงลูกน้อยวัย 4 เดือน การพูดคุยกับพิมทำให้เรามองเห็นว่าภายใต้ชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับธรรมชาติที่แวดล้อมจนเราอิจฉา ทั้งๆ ที่ชีวิตที่นี่ก็ลงตัวอยู่แล้ว แต่ก็มีความหวาดระแวงและความกังวลเจือปนอยู่ ยากมากที่ร่มเงาของชีวิตที่เรียกว่าบ้านเกิดเมืองนอนจะปลอดภัยพอ

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คน มลภาวะที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเหมืองถ่านหินยังอาจส่งผลต่อมิติอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ฝุ่นพิษ และสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ปรอท และสารหนูจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหิน รวมถึงโลหะหนักและแร่ธาตุต่างๆ ที่ติดอยู่กับกองหิน ก็อาจทำให้ผลผลิตของชาวบ้าน รวมไปถึงวัตถุดิบภายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน เกิดการปนเปื้อน จนไม่สามารถเก็บเกี่ยว นำมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องผู้คนในชุมชนได้อีก
เขตสัมปทานโครงการเหมืองถ่านหิน ยังครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำของลำห้วยแม่กอง ห้วยไพร และห้วยมหาวรรณ ที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำแม่กอง แม้ว่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าเศรษฐกิจ ทำให้ยื่นขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าหากมีการทำเหมืองถ่านหิน พื้นที่ป่าไม้และแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชนคงจะถูกผลกระทบจากการทำเหมืองจนเปลี่ยนหรือถูกทำลายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ทุกวันนี้เราก็ยังใช้น้ำบาดาล ถ้ามีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้น ก็คิดว่าน้ำบาดาลมันก็น่าจะแห้งหายไปด้วย”

ผลกระทบต่อแหล่งน้ำหลักๆ ของโครงการเหมืองถ่านหิน จะมาจากการเปิดหน้าดินในพื้นที่ป่าเพื่อขุดถ่านหินออกมา ทำให้เกิดชะล้างของตะกอนดินลงสู่ลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้แหล่งน้ำตื้นเขิน และยังมีสารพิษที่จะปล่อยออกมาจากเหมืองถ่านหินที่อาจทำให้น้ำในอ่างเก็บปนเปื้อน และไหลเข้าไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน จนอาจจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวหรือบริโภคได้
อีกหนึ่งความกังวลที่เกิดขึ้นในชุมชน คือความกลัวที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่อาศัยของตัวเอง “กลัวว่าถ้าสร้างบ้านแล้วโครงการเหมืองถ่านหินมันผ่าน เขาก็จะมาไล่เวนคืนที่ดินเราไป” พิมกล่าวเพิ่มเติมให้เรารับรู้ ซึ่งแม้ว่าการขอสัมปทานเหมืองถ่านหินดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 958.50 ไร่ในระยะแรก แต่ก็อดเคลือบแคลงไม่ได้ว่าจะต้องมีการขอสัมปทานอีกกี่ครั้ง หรือจะต้องมีพื้นที่อีกกี่พันไร่ถูกใช้ไปกับการทำโครงการเหมืองถ่านหินแห่งนี้ รวมไปถึงมลพิษต่างๆ ที่จะกินวงกว้างขึ้น

“สร้างบ้านก็น่าจะครั้งเดียวนะในชีวิตหนึ่ง คงไม่ได้ทำสองสามครั้งหรอก กังวลจนตอนนี้ไม่กล้าแม้แต่จะคิดเรื่องสร้างบ้านแล้ว” พิมกล่าวย้ำเตือนให้ฟังถึงต้นทุนชีวิตที่ชาวบ้านต้องใช้ไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น