“ถ้ามีโครงการเหมืองถ่านหิน พวกเราจะไปอยู่ที่ไหน? เรากินอยู่กับป่า เรารักษาป่า เพราะป่าคือชีวิตเรา เราไม่เชื่อหรอกว่าการมีเหมืองถ่านหินพวกเราจะรวย เราจะตายต่างหาก” 

พื้นที่แม่ทะ จ.ลำปาง มีพื้นที่ป่าและแหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ชุมชน ใช้กิน ใช้อยู่กันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นถึงปัจจุบัน จนเกิดเสียงเล่าขานกันเป็นเสียงเดียวกันว่าบ้านเราคือ “ซูเปอร์มาเก็ตในป่า” เป็นคำบอกต่อรุ่นสู่รุ่นที่ยืนยันว่าคนในชุมชนพึ่งพิงป่า กินอยู่กับป่า และโตมาได้ก็เพราะป่าคือชีวิตและเป็นต้นกำเนิดให้ชุมชนอยู่อย่างสุขสบาย 

อำเภอแม่ทะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดลำปางมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 454,156 ไร่ หรือ 810,543 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 276,000 ไร่ ร้อยละ 61 ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 108,000 ไร่ หรือร้อยละ 24 ของพื้นที่ทั้งหมด ที่เหลือเป็นพื้นที่ชุมชนอาศัยและอื่นๆ ประมาณ 70,156 ไร่ หรือร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด ปัจจุบันพื้นที่แม่ทะกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของโครงการเหมืองถ่านหินเนื่องจากมีการสำรวจพบว่ามีปริมาณสำรองถ่านหินราว 22.49-55 ล้านตัน โดยได้สำรวจพื้นที่กว่า 900 ไร่ ในตำบลบ้านบอม เพื่อขอสัมปทานเหมืองถ่านหินลิกไนต์ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ที่ดำเนินการโดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด  แท้จริงแล้ว บริษัทได้สำรวจแอ่งแม่ทะมาตั้งแต่ ปี 2547 เพื่อขอสัมปทานพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์รวมกันกว่า 958.50 ไร่

ภาพมุมสูงจากดอยม่อนธาตุที่เห็นพื้นที่หลักในการถูกขอสัมปทานทำโครงการเหมืองถ่านหิน หากการเดินหน้าโครงการไม่หยุดลง พื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นที่แรกที่จะถูกขุดหรือเปิดหน้าดิน

บ้านเรามันสวยเนอะ มันน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าเป็นเหมืองถ่านหินนะ

คำบอกกล่าวของน้าอร (นามสมมติ) ที่พาเราเดินชมบรรยากาศรอบๆ บนวัดดอยม่อนธาตุสิริธรรมาราม

วัดดอยม่อนธาตุสิริธรรมาราม เป็นอีกพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนและเป็นพื้นที่ที่เราสามารถมองเห็นได้รอบเมืองแบบ 360 องศาเลยก็ว่าได้ การยืนอยู่บนดอยม่อนธาตุไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากสำหรับพวกเราเพราะเราต้องเดินขึ้นบันไดที่สูงกว่า 90 ขั้นเพื่อขึ้นไปชมบรรยากาศด้านบน

ในระหว่างเดินขึ้นบันไดกว่า 90 ขั้นเพื่อขึ้นไปจุดสูงสุดของพระธาตุด้านบน น้าอรก็เล่าว่าเราขึ้นมาไหว้ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ บ้างก็มาไหว้ขอให้ไม่ได้เป็นทหาร บ้างก็มาขอให้พ้นภัยแคล้วคลาดจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง แถมที่นี่เคยมีดารามาไหว้ขอทำบุญให้ด้วยนะ”  น้ำเสียงภาคภูมิใจในพระธาตุที่นี่ได้เปล่งออกมาพร้อมรอยยิ้ม พลันกับหันกลับไปมองตรงพื้นที่แรกที่อาจจะต้องกลายเป็นเหมืองถ่านหิน แววตาปนเศร้าได้สะท้อนออกมาและบอกว่า “ดูสิถ้ามันมาจริงๆ มันก็ต้องระเบิดหน้าดินออกใช่ไหม แล้วทีนี้มันจะสะเทือนมาทำให้พระธาตุตรงนี้ของเรา ดินจะสไลด์ลงไปไหมนะ เรากลัวจังเลย กลัวมันจะไม่เหลืออะไรที่สวยงามบนนี้อีกแล้ว”  หลังประโยคนี้จบ น้าอรรีบพูดออกมาด้วยน้ำเสียงที่แข็งว่า เพราะแบบนี้ไงเราถึงสู้จนหัวเด็ดตีนขาด 

ในขณะเดียวกันผู้ร่วมเดินทางอีกคนก็ได้ชี้ตำแหน่งจุดเริ่มขุดของโครงการเหมืองถ่านหินและเล่าว่า ที่บอกว่าจะทำแค่ 900 กว่าไร่ มันจะจริงเหรอ เราเคยเห็นตัวอย่างจากพื้นที่แม่เมาะมาแล้ว ประเดี๋ยวมันจะลามเป็นขี้กลาก เพราะพื้นที่แอ่งตรงนี้ ด้านล่างมีสินแร่ถ่านหินทั้งหมดและอีกหน่อยถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น เขาก็ต้องอพยพชุมชนออกไป 

น้าอรและพี่ชายอีกคนหันมามองพร้อมเอ่ยปากถามว่า แล้วเราจะไปอยู่ไหนกันละทีนี้ เป็นน้ำเสียงที่ถามด้วยความหวั่นกังวล พี่ชายอีกคนรีบบอก “ผมเกิดและโตที่แม่ทะ ผมเห็นบ้านผมเป็นแบบนี้มาโดยตลอด เราไม่อยากให้มีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้น เพราะถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ ภาพความทรงจำที่มีมันต้องเปลี่ยนไปแน่ๆ วิถีชีวิตแบบเดิมของชุมชนต้องเปลี่ยนไป จากเป็นเจ้านายตัวเอง ก็คงต้องตกไปเป็นลูกจ้างเขา” น้ำเสียงความกังวลเหล่านี้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่กำลังตั้งตัวใช้ชีวิตปักหลักอยู่ที่แม่ทะ แต่ไม่กล้าลงทุนเพราะหวาดระเเวงต่อโครงการเหมืองถ่านหิน คนในชุมชนต่างบอกเล่าว่า เราไม่มั่นใจและรู้สึกไม่มั่นคง แม้แต่จะปลูกบ้านอยู่สักหลังเพิ่มในที่ดินเดิมของพ่อแม่เราเอง ยังไม่กล้าลงทุนเพราะกลัวว่าเราจะโดนไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นหากมีเหมืองถ่านหินเข้ามา 


ปัจจุบันดอยม่อนธาตุ ยังไม่ได้อยู่ในแผนเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่แม่ทะ อย่างไรก็ตามความคาดหวังของคนในชุมชนบ้านบอมบอกว่าอยากให้เป็นพื้นที่ที่มีคนเข้ามาพัฒนาด้านการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนเพราะมันสวยและเป็นพื้นที่ที่เราใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจร่วมกัน ดอยม่อนธาตุ เป็นอีกหนึ่งสถานที่เมื่อเดินขึ้นไปถึงจะสัมผัสได้ถึงความเย็นจิตสงบใจ เราต่างเดินมองและดูปฏิมากรรมที่มีความละเมียดละไมในการออกแบบเพื่อดึงดูดสายตาให้เราต้องหันมองทุกจุด 

เมื่อเดินผ่านมาจนถึงบริเวณศาลาวัดด้านล่าง คุณน้าที่ร่วมเดินทางกับเราครั้งนี้บอกกับเราว่าเข้ามาไหว้พระสักหน่อยไหม มาช่วยกันขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องบ้านเรา ไม่ให้เกิดเหมืองถ่านหิน เราก็ตอบรับพลันยิ้มบอกคุณน้าว่า เราต้องสู้กันแบบใสใส คุณน้ายิ้มและคง งง ว่าใสที่เราหมายถึงคือ ไสยศาสตร์ พอเฉลยคุณน้าก็ยิ้มและตอบกลับว่าเราต้องสู้ทุกทางจนกว่าจะชนะ

นอกจากนี้ บนดอยแห่งนี้เรายังพบนกยูงมากกว่า 40 ตัวจากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสบอกว่ามันกินอยู่และโตในป่าแห่งนี้มาสักพัก ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพราะผืนป่าแห่งนี้มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จากการที่เราเดินสำรวจพบคิดว่าน่าจะเป็นนกยูงลูกผสม Hybrid Peafowl (Pava muticus x Cristatus) อย่างไรก็ตาม ความสวยงามของวัฒนธรรม พืช สัตว์ และอากาศโดยรอบบนดอยแห่งนี้ก็สามารถสูดเข้าไปได้อย่างเต็มปอด และพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพก็สามารถบ่งบอกได้ทันทีว่าตรงนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากๆ 

ชุมชนมีวิถีชีวิตอยู่กับ “ห้วยแม่กอง” ถ้าหายไปเราจะทำยังไง?

อ่างเก็บน้ำแม่กอง เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำสำคัญของชุมชนที่ใช้เพื่อการเกษตร ปลูกข้าว เลี้ยงวัว และเป็นแหล่งน้ำที่มีปลาแก้มช้ำจำนวนมากซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่ชุมชนนำมาทำปลาส้มและเมนูอื่นๆ  หากเราเดินไปที่อ่างเก็บน้ำแม่กองเราจะเห็นความสวยงามในวิถีชีวิตของชุมชนที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการตกเบ็ด และ ตั้งจ๋ำ หรือ ที่เรารู้จักกันว่ายกยอนั้นเอง การหาปลาที่ไม่ได้เเค่เอาไปกินอย่างเดียวแต่เป็นการอนุรักษ์ให้พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วย

ปลาสดๆ จากตู้เย็น “ห้วยแม่กอง”

“ผมชอบมานั่งตกเบ็ดที่นี่เพราะอากาศมันดี ได้ปลาไม่ต้องมากแต่อย่างน้อยได้นั่งชมบรรยากาศที่สะอาดและปลอดโปร่ง ผมมาหาเพื่อเอาไปกิน เวลาเจอคนมาใช้ไฟฟ้าช๊อตผมก็จะบอกจะเตือนเขาไปว่าถ้าอยากกินอยู่และพึ่งพาอาหารจากแหล่งน้ำนี้ เราก็ต้องรู้จักพอดี ไม่ทำเกินไปเพื่อให้มันอยู่กินไปยันชั่วลูกชั่วหลานของเรา”

จากคำบอกกล่าวข้างต้นสัมผัสได้ทันทีเลยว่าพื้นที่นี้สำคัญมากๆ ต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน มันไม่ใช่เพียงแค่มิติด้านการอยู่แบบพอกินพอใช้ แต่มากไปถึงขั้นร่วมกันปกป้องพื้นที่นี้ที่เปรียบเสมือนเป็นตู้เย็นในป่าที่เปิดไปเมื่อไหร่ก็จะมีของกินให้เราเสมอ และตู้เย็นตู้นี้เกิดจากการร่วมมือกันปกป้องของคนในชุมชนที่จะทำให้สามารถมีกินมีใช้จากรุ่นสู่รุ่นในอนาคต 

การตั้งจ๋ำ หรือการยกยอ

ในขณะที่เรายืนคุยกับคุณพี่ที่นั่งตกปลาอยู่นั้นก็ได้เหลือบไปเห็นฝั่งตรงข้ามที่เป็นอีกกลุ่มกำลังใช้ลำห้วยแม่กองแห่งนี้ด้วยกันอย่างสนุกสนานที่เมื่อใครได้ปลาก็ตะโกนเชียร์ว่า หุ้ว ตัวใหญ่มากๆ เมื่อไปถึงในจุดดังกล่าวเราตะโกนถามด้วยน้ำเสียงว่า “เป็นจะได๋ผ่อง ได้ปลานักก่อเจ้า” เสียงตอบกลับบอกเราว่า “มาดูเร็วๆ วันนี้ได้ยังไม่มากแต่ได้อยู่” พร้อมยกปลาขึ้นมาโชว์ และมีเสียงหัวเราะร่วมกัน

เมื่อสอบถามทางทีมตั้งจ๋ำ ก็ได้บอกกับเราว่ามาหาปลาไปกิน อยู่กินและใช้กับแหล่งน้ำนี้บ่อยมาก มันอุดมสมบูรณ์อีกอย่างเป็นกิจกรรมที่เราทำเพื่อผ่อนคลายเวลาได้มา บรรยากาศก็สดชื่น เราถามต่อว่าปกติได้เยอะไหม คุณป้าตอบว่าได้เยอะได้น้อยแล้วแต่ดวงแต่ได้แน่ๆ อย่างน้อยก็เอากลับไปทำกินในครอบครัว ถ้าได้มากก็แบ่งปันกันไป การตั้งจ๋ำเป็นวิธีการใช้ตาข่ายประมาณ 2-3 นิ้วแขวนกับไม้ไผ่ 4 ด้านแล้วหลังจากนั้นก็นั่งรอปลาเข้ามาในจ๋ำ และเราก็จะยกขึ้นมาบ้างก็ได้ทีละตัวสองตัวเลย

นอกจากนี้ยังมีการทอดแห เพื่อจับปลาอีกด้วย คุณลุงที่กำลังหว่านแห ตะโกนเรียกตากล้องของทีมเรา บอกมาเร็วเดี่ยวลุงจะหว่านแหโชว์ ถ่ายภาพมาให้สวยๆ เลยนะ พร้อมกับโชว์หว่านแหให้เราดู เลยได้ภาพที่สวยงามและบ่งบอกของการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่มีความสุขเป็นแบบนี้นี่เอง ทุกอย่างถูกถ่ายทอดออกมาจากใจ รอยยิ้ม และความคุ้นชินในวิถีการดำรงชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นจริงๆ 

ตู้เย็นในป่า “หน่อ ที่อ่อนตามฤดูกาล”

ในบรรดาพืชป่าที่ชุมชนต่างอาศัยพึ่งพิงใช้เป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี อาหารจากป่าถือได้ว่าเป็นอาหารอินทรีย์ เป็นอาหารบริสุทธิ์ที่ธรรมชาติรังสรรค์ไว้ให้เราและหน่อไม้ เห็ด ผักตามฤดูกาลที่บ้านบอม อ.แม่ทะ ก็เป็นป่าที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้มีซูเปอร์มาร์เก็ตในป่าที่เปิดประตูเข้าไป เราก็จะได้กินผักที่สะอาดปลอดภัย ในฤดูฝนที่ชุ่มฉ่ำแบบนี้ แน่นอนว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในป่าจะต้องมีหน่อไม้อ่อนๆ เมื่อเราเดินเข้าไปในป่าไม่ได้ลึกมากนักเนื่องจากมีพายุ ฝนตกค่อนข้างหนักและบางพื้นที่ของภาคเหนือก็เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน เราจึงเพียงแค่เดินไปในป่าใกล้ๆ ริมภูเขาเพื่อเดินเข้าไปเก็บหน่อไม้กัน เมื่อเข้าไปถึงก็เห็นหน่อไม้อ่อนๆ เราเลยถามคุณน้าว่าเขาเรียกว่าหน่อไม้อะไร มันคือหน่อไม้ไผ่ป่าที่กำลังขึ้นอ่อนๆ จะขึ้นเยอะมากๆ ในช่วงหน้าฝน

คุณน้าเล่าว่าหน่อไม้ป่านี่มีประโยชน์หลายอย่างเลยนะ “หน่อไม้มีคุณค่าทางอาหารสูง มีสารอาหารหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ มีสรรพคุณในการบำรุงรักษาสุขภาพร่างกายให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยบำรุงเสริมสร้างกระดูกและฟัน ป้องกันโรคโลหิตจาง เป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น สมัยก่อนเวลาเราคลอดลูกกันหมอตำแยจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่ และอีกอย่างตัวลำต้นยังช่วยชะลอการไหลของน้ำด้วยเวลาฝนตกหนักๆ”

เสียงของนายทุน หรือ จะสู้เสียงของชุมชน

ประเทศไทยเปิดโอกาสให้เกิดการผูกขาดในการพัฒนาแทบทุกด้าน และก่อให้เกิดการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือการสูญเสียหรือความเสียหายที่มักจะเกิดขึ้นตามหลัง และแน่นอนว่าการได้รับผลกระทบเหล่านี้ คนกลุ่มแรกที่มักจะโดนคือชุมชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 

“ในปี 2535-2541 เกิดมลภาวะใหญ่ที่สุดในแม่เมาะ สื่อมวลชนมาจากทั่วโลก มีฝ่ายรัฐบาลมาพิสูจน์ว่ามีผลกระทบจริง แต่รัฐบาลก็มองว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย ประเทศจำเป็นต้องใช้พลังงานถ่านหินเพราะต้นทุนถูก ซึ่งเราก็อยากถามว่า เมื่อมองเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่ ทำไมจึงปล่อยให้เราถูกรังแกและออกมาร้องเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีรัฐบาลไหนจริงจังในการแก้ปัญหาเลย” เสียงสะท้อนจากมะลิวรรณ ตัวแทนจากพื้นที่แม่เมาะ 

จังหวัดลำปาง มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.แม่เมาะ มายาวนานกว่า 107 ปี อีกทั้งภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปี 2567 หรือ PDP 2024 ยังมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินอีกร้อยละ 7 และจะมีการขยายการใช้ถ่านหินไปจนถึงปี 2593 มิหนำซ้ำยังจะมีการเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะเพิ่มอีกแห่งเพื่อกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การเดินหน้าโครงการครั้งนี้ถือเป็นการเดิมพันกันระหว่างเสียงการคัดค้านของชุมชนกับรัฐและภาคอุตสาหกรรมว่าจะคำนึงถึงสิทธิชุมชนมากแค่ไหน และจะมีเป้าหมายการไปสู่ Net Zero Carbon ภายในปี 2050 ที่ประกาศต่อเวทีโลกและลงนามไว้บนความตกปารีสได้หรือไม่ 

หากมีการเดินหน้าโครงการนี้ ผลกระทบที่ต้องเยียวยาในด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมจะต้องตามมาหลายประการ อาทิ ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านชุมชน ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่แม่เมาะ จ.ลำปาง

ภายใต้การผลักดันโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะที่ยังคงเดินหน้านั้น สิ่งสำคัญที่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนต้องให้ความสำคัญภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คือด้านที่กล่าวถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (Right of Self-determination) ซึ่งรวมถึงสิทธิในการพัฒนา (Right to Development) ที่ประชาชนมีสิทธิกำหนดเจตจำนงของตนเอง เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริม หรือเติมเต็มให้เกิดการกำหนดเจตจำนงของประชาชนอย่างจริงจัง และต้องตั้งอยู่บนหลักการแห่งผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน โดยที่ประชาชนจะไม่ถูกลิดรอนวิถีชีวิตและวิถีทางยังชีพของตนไม่ว่าในกรณีใด 

รัฐและผู้มีอำนาจร่วม เช่น ภาคอุตสาหกรรม รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจเอกชนต้องเคารพต่อสิทธิเหล่านั้นตามบทบัญญัติแห่งกฏบัตรสหประชาชาติ และตามกระแสโลกปัจจุบันปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Good Environment) จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกได้ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะ “สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Good Environment) ได้รับการรับรองในฐานะสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง ดังนั้น การทำลายหรือการทำให้เสื่อมโทรมซึ่งสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

กรีนพีซ มีข้อเสนอแนะต่อ SCG ให้เริ่มทำได้เลยตอนนี้

กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่า SCG ต้องเร่งประกาศต่อสาธารณะภายในปี 2567 ยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะจ.ลำปางโดยทันทีและประกาศว่าจะไม่มีการรับซื้อถ่านหิน จากบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด อย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อทำให้มั่นใจถึงหลักธรรมาภิบาลกับการดำเนินธุรกิจสินค้าหรือบริการของบริษัทซึ่งเป็นการทำธุรกิจร่วมกับบริษัทอื่นนั้นต้องระบุผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัทนั้น ๆ พร้อมระบุแนวทางแก้ไขเพื่อลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมและสื่อสารข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วน