เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2567 เวลา 12.25 น. ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer-VCM) สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีรั่วไหลออกจากหน่วยผลิตย่อยที่ 1 ของโรงงานไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (Thai Plastics and Chemicals-TPC) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถนนไอ-หนึ่ง ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง การรั่วไหลของไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ทำให้เกิดเพลิงไหม้และกลุ่มควันกระจายในบริเวณกว้าง ข้อมูลในพื้นที่ระบุว่าสารปนเปื้อนในเขม่าควันรวมถึง คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) และฝุ่นละออง (PM)

ภาพถ่ายจากคุณรณรงค์ ท้วมเจริญ และเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ จ.ระยอง

แม้ว่าการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องจากสถานีตรวจวัดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์จะส่งเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนกว่า 40 พื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกักเก็บน้ำที่เกิดจากการดับเพลิงไว้ในบ่อพักและรางน้ำฝนโดยจะทยอยขนถ่ายไปกำจัดอย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม[1] แต่การรั่วไหลของไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer หรือ VCM) ที่ผลิตจากเอธิลีน ไดคลอไรด์(Ethylene Dichloride หรือ EDC) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษรุนแรง ติดไฟและระเบิดง่ายและเป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดมะเร็งนั้นก็ได้แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในวงกว้างไปแล้วจากเพลิงไหม้

รู้จัก “ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl Chloride Monomer-VCM)”

ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์(VCM)ผลิตจากเอธิลีนไดคลอไรด์(Ethylene Dichloride, EDC)ซึ่งเป็นสารอันตรายตั้งต้นจากการนำคลอรีน(Chlorine)ไปรวมตัวกับเอธิลีน(Ethylene) เอธิลีนไดคลอไรด์(EDC)มีความเป็นพิษสูงและสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย เป็นสารก่อมะเร็ง และมีผลต่อทารก สามารถทำลายตับ ไตและอวัยวะภายในอื่นๆ อีกทั้งทำให้เกิดเลือดตกภายในและเลือดอุดตัน เป็นสารติดไฟง่าย เมื่อระเหยเป็นก๊าซสามารถระเบิดให้สารไฮโดรเจนคลอไรด์และฟอสจีน (Hydrogen Chloride and Phosgene) ซึ่งทั้งคู่เป็นก๊าซที่มีความเป็นพิษสูงและเป็นชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดอุบัติภัยเคมีรุนแรงที่เมืองโภปาลในอินเดียรวมถึงอุบัติภัยหลายครั้งที่มาบตาพุด ระยอง

ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์(VCM) ร้อยละ 95 นำไปใช้ในการผลิตพลาสติกพีวีซี(Polyvinyl Chloride)

อาการของการได้รับพิษจากไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์รวมถึงกระดูกไม่แข็งแรง นิ้วบิดเบี้ยวเปลี่ยนรูป ความผิดปกติต่อผิวหนัง กามตายด้าน การหมุนเวียนของเลือดไม่ดีและหายใจสั้น ทำลายตับและอาจก่อมะเร็งตับ องค์การนานาชาติเพื่อการวิจัยมะเร็ง (IARC, 1987) จัดให้ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสไวนิลคลอไรด์มากที่สุดในมนุษย์คือ มะเร็งในตับ(angiosarcoma)ของคนงานที่ทํางานอยู่ในโรงงาน

ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์(VCM)เป็นสารที่มีฤทธิ์ทําให้หมดความรู้สึก การสูดดมเข้าไปก่อให้เกิดผลกระทบทําลายระบบประสาท และเป็นพิษต่อระบบภูมิคุ้มกัน ตับ ม้าม ระบบไทรอยด์ นัยน์ตาและผิวหนังของคนงาน รวมทั้งการสูญเสียน้ําหนัก สํานักทะเบียนการติดเชื้อและสสารที่เป็นพิษ(ATSDR, 2000) ระบุว่าไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM) อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ในเพศชายและหญิง คนงานที่ทํางานอยู่อาจเจ็บป่วยจากโรคที่เรียกว่า Raynaud’s phenomenon หรือความผิดปกติของระบบการไหลเวียนเลือดในนิ้วมือของคนงานซึ่งบางครั้งตามมาด้วยการดูดซึมโดยกระดูกที่ปลายนิ้วมือหรือการบาดเจ็บของกระดูกในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ พบโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น มีความถี่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนงานด้วย

หลายประเทศได้มีการตั้งมาตรฐานจำกัดปริมาณไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ที่คนงานจะได้รับ รวมทั้งจำกัดปริมาณไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ที่ยังไม่เป็นโพลีเมอร์ไม่ให้เหลือในผลิตภัณฑ์ที่จะออกวางขายเกินกำหนด มาตรฐานเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้หากบริษัทของประเทศนั้นๆ ไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานนี้

เปิดปูมมลพิษอุตสาหกรรมพลาสติกพีวีซีในประเทศไทย

นักกิจกรรมกรีนพีซทำการประท้วงอย่างสันติโดยแขวนป้ายผ้าอ่านว่า ”มะเร็ง เริ่มที่นี่“ บนถังเก็บไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (8 กรกฎาคม 2547)

ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากมลพิษอุตสาหกรรมพลาสติกนั้นแตกต่างกันไป คนส่วนใหญ่ทั่วโลกจะรับสัมผัสอนุภาคพลาสติกและสารเคมีที่เกี่ยวข้องในหลายขั้นตอนของวงจรชีวิตของพลาสติก ในที่นี้ เราจะเปิดปูมให้เห็นถึงมลพิษจากอุตสาหกรรมพลาสติกพีวีซีในประเทศไทย

  • ปี 2536 เรือบรรทุกไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM) จมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนขนถ่ายสารเคมีเข้าสู่โรงงานของบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (Thai Plastic & Chemicals (Public) Company – TPC) ที่เดิมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอําเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2514
  • ปี 2537 การตรวจสอบของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พบว่า โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีของบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ มหาชน จำกัด ที่สมุทรปราการแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงงาน 274 แห่ง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสียที่ไม่ได้บำบัดลงในแม่น้ำ
  • ปี 2546 กรีนพีซ ส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ มหาชน จำกัด โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจสถานภาพเรื่องสิทธิในการรับรู้ของชุมชนและการปล่อยมลพิษ(Community Rights-To-Know and Toxic Release Inventory)จากบรรษัทข้ามชาติและร่วมทุนมากกว่า 900 แห่ง ในประเทศไทย เพื่อประเมินนโยบายของแต่ละบริษัทในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีต่อสาธารณชน แต่บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ มหาชน จำกัด ไม่ตอบรับแบบสอบถามดังกล่าว
  • มิถุนายน 2547 รายงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “Chemical Pollutants Released from the Thai Plastic and Chemicals PVC Facility to the Chao Praya River, Samut Prakarn, Thailand” ของห้องปฏิบัติการวิจัยของกรีนพีซ [2] จำแนกรายละเอียดของสารเคมีเป็นพิษที่พบในตัวอย่างน้ำเสีย และดินตะกอนที่เก็บได้จากโรงงานของบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ซึ่งรวมทั้งสารอินทรีย์ระเหย และสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงและมีผลก่อให้เกิดโรคมะเร็งจำพวกไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM) ซึ่งพบในปริมาณเข้มข้นถึง 338 ไมโครกรัมต่อลิตร พบน้ำเสียจากโรงงานของบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ปนเปื้อนของไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM)ในปริมาณเข้มข้นเกินมาตรฐานเทียบกับการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างดินตะกอนใต้ท่อน้ำทิ้งของโรงงานยังปนเปื้อนด้วยสารประกอบพธาเลทที่ใช้เป็นสารเติมแต่งในการผลิตพีวีซีซึ่งในสหภาพยุโรปถูกจัดให้เป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อการเจริญพันธุ์
  • พฤศจิกายน 2547 รายงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “Investigation of chemicals released by the Vinyl Thai and Thai Plastic & Chemicals (TPC) PVC manufacturing facilities, Map Ta Phut Industrial Estate, Rayong Province, Thailand” ของห้องปฏิบัติการวิจัยของกรีนพีซ [3] ระบุว่าการผลิตพีวีซีและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่โรงงานของบริษัท Vinyl Thai และบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทําให้เกิดการปล่อยโลหะหนักและสารเคมีอินทรีย์สู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบการปนเปื้อนของเอธิลีนไดคลอไรด์(Ethylene Dichloride, EDC) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (VCM)ในการผลิตพลาสติก PVC ในระดับความเข้มข้นที่สูงกว่าขีดจำกัดของการปล่อยเอธิลีนไดคลอไรด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา
  • ปี 2548 ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดย “หน่วยกระป๋องตรวจมลพิษ(Bucket Brigade) [4] พบการปนเปื้อนสารพิษในอากาศที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลาสติกพีวีซีอย่างน้อย 2  ชนิดคือ ไวนิลคลอไรด์(Vinyl Chloride Monomer) ใน 4 ตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างอากาศ 5 จุด ในปริมาณที่เกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปของ USEPA สูงสุดถึง 86 เท่า และไดคลอโรอีเทน(1-2 dichloroethane) ใน 4 ตัวอย่างจากการเก็บตัวอย่างอากาศ 5 จุด ในปริมาณที่เกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไปของ USEPA สูงสุดถึง 3,378 เท่า

นอกจากอุตสาหกรรมพลาสติกพีวีซียักษ์ใหญ่ 2 แห่ง ประเทศไทยยังมีโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องกับสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกหลากชนิด รวมถึง เอทีลีน(Ethylene) โพรไพลีน(Propylene) บิวทาดีน(Butadine) โทลูอีน(Toluene) ไซลีน(Xylene) สไตรลีน(Styrene) กรดเทเรพทาลิกบริสุทธิ์(PTA) โพลีเอทีลีน(PE) โพลีโพรไพลีน(PP) สไตรีนบิวตาไดอีน/บิวตาไดอีน(SBR/BR) อะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน/สไตรีนอะคริโลไนไทรล์(ABS/SAN) โพลีสไตรลีน/โพลีสไตรีนแบบขยาย(PS/EPS) พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต(PET) และอะคริไลไนโตรล์ (Acrylonitrile) การผลิตสารตั้งต้นเหล่านี้เพื่อทำผลิตภัณฑ์พลาสติกเกี่ยวข้องกับอุบัติภัยทางอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนนับไม่ถ้วน เช่น #น้ำมันรั่วChevronSPRC (ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมันส่วนหนึ่งนำมาใช้ผลิตพลาสติก) #มลพิษอินโดรามา #มลพิษIRPC #มลพิษHMCpolymers #หายนะหมิงตี้ เป็นต้น

นัยยะต่อสนธิสัญญาพลาสติกโลก

วิกฤตมลพิษพลาสติกในประเทศไทยข้างต้นคือภาพสะท้อนของวิกฤตมลพิษพลาสติกโลก ในขณะที่การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งที่ 5 (The fifth session of the Intergovernmental Negotiating Committee to develop an international legally binding instrument on plastic pollution) จะเริ่มขึ้นที่เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลีในวันที่ 25 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2567 ประชาคมโลกที่เข้าร่วมเจรจารวมถึงคณะผู้แทนเจรจาของไทยไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเสียจากตกลงให้มีสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เข้มแข็ง และสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติก

นอกจากเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเราจะต้องลดการผลิตพลาสติกลงอย่างน้อย 75% ภายในปี 2583 แล้ว สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะต้องมีกรอบชัดเจนตามหลักการป้องกันไว้ก่อนเพื่อกําจัดกลุ่มสารเคมีที่เป็นอันตรายในอันที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน และเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ปลอดมลพิษไปพร้อมๆ กัน

หมายเหตุ :

[1] https://weblink.set.or.th/dat/news/202409/0003NWS230920240856220610T.pdf 

[2] https://www.greenpeace.to/greenpeace/?p=886

[3] https://www.greenpeace.to/greenpeace/?p=889

[4] https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/09/44f8ee8e-thailand-toxic-cocktail.pdf