แม้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะยอมรับว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายของประเทศ แต่นโยบายด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่อยู่ในนโบายเร่งด่วนที่ต้องทำทันที แต่อยู่ในนโยบายระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งยังมีความคลุมเครือและไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

นโยบายการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่จริงจัง

นโยบายเกี่ยวกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งถูกระบุไว้อย่างกว้าง ๆ และไม่มีรายละเอียดใด ๆ  อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานประกอบกันแล้ว กลับพบนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากร นั่นคือ โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค

ทว่ายังคงมีภาคประชาชนโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่ยังคงคัดค้านเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากสร้างท่าเรือน้ำลึก รวมถึงเส้นทางเดินเรือเข้าเทียบท่า ทำให้กระทบต่อระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งทำลายวิถีชุมชน ทำลายอาชีพประมงและอาชีพต่อเนื่องและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ย้อนแย้งกับนโยบายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเช่นนี้อาจทำให้ไทยต้องสูญเสียงบประมาณในการบริหารจัดการทรัพยากรมากขึ้นอีก ตามหลักการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance Approach) หรือการทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยหลักเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้น รัฐจึงต้องดำเนินนโยบายทุกด้านให้สอดคล้องกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงการให้งบประมาณเพื่อบริหารจัดการและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่นโยบายด้านอื่น ๆ ของรัฐจะต้องไม่ทำลายทรัพยากรเพิ่มเติมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาพันธุ์ต่างถิ่น (Aliens species) เช่น การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างเอาจริงเอาจัง รวมถึงนโยบายการป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของพันธุ์ต่างถิ่นเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น ระบบการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า และการแก้ไขและฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกรุกรานจากพันธุ์ต่างถิ่น

นโยบายประมงที่หายไป

สิ่งที่ขาดหายไปจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธารคือนโยบายประมงที่เคยบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินว่า จะพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทยให้เป็นรายได้สำคัญของประเทศด้วยการแก้ไขและปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และจะทำให้ไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก

แม้ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ประมงจะอยู่ในขั้นพิจารณากฎหมายรายมาตราโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้ว แต่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธารยังไม่มีความชัดเจนและให้ความมั่นใจกับประมงพื้นบ้านว่า พวกเขาจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เป็นที่ทำกินของพวกเขา โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกันระหว่างประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์ การกระจายอำนาจให้คณะกรรมการจังหวัดกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรประมงระดับจังหวัดบนฐานข้อมูลระบบนิเวศในพื้นที่ และการปรับปรุงระบบการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านให้รวดเร็ว รวมทั้งมาตรการในการดำเนินการกับการทำประมงเกินขนาด การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ตลอดจนการเคารพสิทธิแรงงานประมง

อนาคตที่ประชาชนเป็นผู้เลือก อาจไม่ใช่แลนด์บริดจ์และอุตสาหกรรมใหญ่

จากการทำงานรณรงค์ร่วมกับชุมชนชายฝั่ง อนาคตทางเลือกที่ชุมชนท้องถิ่นอยากเห็นคือการพัฒนาที่อยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจเกื้อกูล (Supportive Economy) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของระบบนิเวศเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อ โดยรัฐต้องไม่เป็นผู้กำหนดนโยบายลงมาจากด้านบน (Top-down approach) แต่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจท้องถิ่นที่หลากหลายและสอดคล้องกับระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ เช่น การการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้คณะกรรมการจังหวัดที่มีตัวแทนชุมชนชายฝั่งร่วมอยู่ด้วยกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรประมงระดับจังหวัดบนฐานข้อมูลระบบนิเวศในพื้นที่  สนับสนุนงานอนุรักษ์ที่ริเริ่มโดยชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรอย่างเป็นระบบ และตรวจตราการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายและการทำประมงเกินขนาด การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าอาหารทะเล การเชื่อมตลาดสินค้าท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางด้านอาหารและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งล้วนเป็นเป้าหมายที่อยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย