ทะเลนอร์วิเจียนในประเทศนอร์เวย์เป็นผืนทะเลที่กว้างใหญ่เชื่อมต่อไปถึงภูมิภาคอาร์กติก และยังเป็นที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์หลากหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามได้เดินทางมาถึงเขตวงกลมอาร์กติก นั่นคือโครงการเหมืองทะเลลึก ขณะนี้รัฐบาลนอร์เวย์กำลังวางแผนที่จะเปิดพื้นที่หลายแห่งในทะเลนอร์วิเจียนเพื่อเริ่มทดลองโครงการสุดอันตรายนี้ แน่นอนว่าโครงการเหมืองที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบและทำให้ระบบนิเวศในทะเลปั่นป่วน โดยเฉพาะมลพิษทางเสียงและการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเล และหมายรวมถึงวาฬหลายชนิด มลพิษทางเสียงนั้นจะเป็นภัยคุกคามรุนแรงต่อสัตว์ที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อเสียง

ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับเหมืองทะเลลึก 

เหมืองทะเลลึก คือการนำเอาแร่ธาตุจากก้นทะเลที่ลึกลงไปกว่าพันๆเมตร ซึ่งจะทำลายทั้งระบบนิเวศและความสามารถในการรักษาสมดุลสภาพภูมิอากาศของมหาสมุทร ในหน้านี้ เราจะอธิบายให้ฟังว่าเหมืองทะเลลึกคืออะไร กระทบต่อระบบนิเวศมหาสมุทรอย่างไร กระบวนการปัจจุบันไปถึงไหน และเราทำอะไรได้บ้างในการปกป้องมหาสมุทร 

มีส่วนร่วม

และวาฬ 3 ชนิดต่อไปนี้จะเป็นหนึ่งในกลุ่มสัตว์ทะเลที่เราพบได้ในเขตทะเลนอร์วิเจียนไปจนถึงภูมิภาคอาร์กติกและอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากเกิดโครงการเหมืองทะเลลึกขึ้น

วาฬจมูกขวดตอนเหนือ (The Northern Bottlenose Whale)

ภาพวาฬจมูกขวดตอนเหนือ (hyperoodon ampullatus) © Whitehead Lab (CC BY-SA 4.0)

วาฬจมูกขวดตอนเหนือเป็นวาฬที่มีจะงอยปากที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสัตว์ที่มีความโดดเด่น มีขนาดตัวใหญ่ หน้าผากโหนกจนมีชื่อเรียกว่า เมล่อน ซึ่งช่วยในการสื่อสารผ่านการสะท้อนเสียง วาฬเหล่านี้อาศัยอยู่ในน้ำลึกและสามารถดำน้ำได้เป็นระยะเวลานาน พวกมันใช้เวลาส่วนใหญ่ล่าหมึกที่อยู่บนพื้นมหาสมุทร

‘เสียง’ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับวาฬชนิดนี้ เพราะพวกมันใช้คลื่นเสียงเพื่อสื่อสารกัน หาอาหาร และใช้เสียงสะท้อนสำหรับนำทาง น่าเศร้าที่พวกมันมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในอดีตพวกมันถูกล่าจากวาฬชนิดอื่นแต่ปัจจุบันถูกคุกคามด้วยมลพิษทางเสียงที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์  โดยมีรายงานวิจัยระบุว่าวาฬจมูกขวดกำลังถูกคุกคามจากมลพิษทางเสียงทำให้การสื่อสารของพวกมันเกิดความโกลาหล เช่น คลื่นโซนาร์ของกองทัพและกิจกรรมการทดสอบแผ่นดินไหวในอุตสาหกรรมขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล และหากมีโครงการเหมืองทะเลลึกเข้ามายังบริเวณนี้อีก มลพิษทางเสียงจากเครื่องจักรก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อวาฬชนิดนี้ ดังนั้น การวิจัยระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเติมเต็มความรู้ของเราและช่วยปกป้องและเข้าใจธรรมชาติของเหล่าวาฬมากกว่านี้

วาฬหัวทุย (The Sperm Whale)

ภาพวาฬหัวทุยใต้น้ำในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันตกของออสเตรเลีย © Alex Westover

ชื่อภาษาอังกฤษของวาฬหัวทุย (Sperm whales) นั้นเป็นชื่อเฉพาะเรียกว่า สเปิร์มาติ มาจากหัวขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยม ไขมันของวาฬมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งซึ่งมักถูกนำมาใช้เป็นเทียนไขและเครื่องสำอาง มันมีคุณสมบัติช่วยให้วาฬลอยตัวในทะเลและยังทำให้วาฬทนแรงกดจากน้ำได้เมื่อพวกมันดำน้ำลึกลงไป วาฬหัวทุยยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายชื่อดังอย่าง โมบี้ ดิค วาฬขนาดยักษ์ที่ทั้งน่ากลัวและน่าเกรงขาม

วาฬชนิดนี้ยังเป็นวาฬที่มีสมองขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังสามารถดำน้ำได้ลึกกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย ลึกลงไปใต้ผืนมหาสมุทร พวกมันใช้คลื่นโซนาร์ที่ทรงพลังในการหาอาหารและนำทาง โดยทำเสียงคลิก ๆ และเสียงกังวาลเพื่อสื่อสารกับวาฬตัวอื่น ๆ คลื่นเสียงคลิก ๆ ของพวกมันเทียบได้กับรหัสมอร์ส นอกจากนี้พวกมันยังมีการสื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์สำหรับพวกมันเอง หรือแม้กระทั่งมีสำเนียงของถิ่นตัวเองด้วย

วาฬหัวทุยมีสายพันธุ์ที่หลากหลายและอาศัยอยู่ทั่วพื้นที่มหาสมุทรในทุกมุมโลก ตั้งแต่อาร์ติกไปจนถึงแอนตาร์กติก ส่วนใหญ่แล้ววาฬตัวเมียและวาฬวัยรุ่นจะอาศัยอยู่ในบริเวณมหาสมุทรเขตร้อน ส่วนวาฬตัวผู้มักอาศัยอยู่บริเวณน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าเช่นมหาสมุทรใกล้กับขั้วโลกและจะอพยพมายังพื้นที่น้ำอุ่นเพื่อสืบพันธุ์ พวกมันมีระบบป้องกันตัวและปกป้องตัวเองจากนักล่าเช่นวาฬเพชรฆาตและฉลาม โดยจะใช้หัวตัวเองแนบก้นและกางหางออกเพื่อปกป้องลูกวาฬที่อยู่ตรงกลาง

ที่ผ่านมา พวกมันถูกล่าอย่างหนักในยุคอุตสาหกรรมล่าวาฬ ทำให้ประชากรวาฬหัวทุยยังไม่สามารถฟื้นฟูกลับมามีจำนวนมากเหมือนเดิม และขณะนี้วาฬหัวทุยยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ถูกเรือชน ติดอวน มลพิษพลาสติกและเสียง เป็นต้น วาฬหัวทุยเป็นสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN) ให้เป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางของโลก และเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

วาฬหลังค่อม (The Humpback Whale)

ภาพวาฬหลังค่อมกำลังขึ้นมาหายใจบริเวณนอกอ่าวทางตอนใต้ของเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย © Paul Hilton / Greenpeace

วาฬหลังค่อมเป็นหนึ่งในวาฬที่เป็นที่รู้จักและยังเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก เพราะหัวของวาฬชนิดนี้มีลักษณะนูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่สังเกตได้ง่าย พวกมันมีรอยจีบใกล้กับขากรรไกร และมักจะกระโดดเล่นน้ำพร้อมเสียงร้องที่น่าตื่นตา วาฬชนิดนี้มักแสดงตัวพร้อมพฤติกรรมต่าง ๆ บนผิวน้ำ เช่นการตบหางให้น้ำกระจาย ซึ่งทำให้เกิดประกายแสงที่เราจะเห็นได้จากระยะไกล นอกจากนี้ วาฬหลังค่อมยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีฤดูกาลอพยพในระยะที่ไกลที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในโลก

วาฬหลังค่อมมีเสียงก้องกังวาลระยะไกล ไม่ว่าจะทำเสียงแบบไหน เช่น เสียงครวญคราง เสียงร้องไห้หรือแม้กระทั่งเสียงกรน ซึ่งเมื่อเสียงเหล่านี้มารวมกันจะกลายเป็นเสียงเพลง นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าวิจัยว่าเสียงเพลงเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาหรือเปลี่ยนไปตามฝูงของวาฬหรือไม่ เสียงร้องของมันหลายเสียงเชื่อว่าเป็นเสียงเรียกหาคู่ หรือเป็นเสียงเรียกของแม่ถึงลูกวาฬ

วาฬเหล่านี้ยังมีเทคนิคในการหาอาหารที่น่าทึ่ง เช่นหนึ่งในเทคนิคที่เป็นที่รู้จักคือเทคนิคการปล่อยฟองอากาศเสมือนตาข่ายฟองน้ำเพื่อต้อนให้ฝูงปลามารวมกัน (bubble-net feeding

วาฬหลังค่อมอาศัยอยู่ในมหาสมุทรทั่วทุกมุมโลก อพยพไปทั่วทุกพื้นที่เพื่อหาแหล่งอาหารในฤดูร้อนและกลับไปยังแหล่งเพาะพันธุ์ใกล้อาร์กติกและแอนตาร์กติกในช่วงที่ฤดูหนาวบริเวณนั้นอุ่นขึ้น ก่อนอพยพทุกครั้งพวกมันจะกินอาหารเพื่อสะสมพลังงานในการเดินทางไกล

เช่นเดียวกับวาฬอีกหลายชนิด วาฬหลังค่อมถูกล่าอย่างหนักตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมล่าวาฬ นำไปสู่จำนวนประชากรวาฬที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามตั้งแต่โลกแบนการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ประชากรวาฬหลังค่อมก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจากภาวะที่เกือบสูญพันธุ์

เสียงของคุณช่วยปกป้องวาฬได้

กรีนพีซร่วมกับผู้สนับสนุนทั่วโลกกำลังช่วยปกป้องวาฬเหล่านี้จากภัยคุกคามของมนุษย์ได้ เรากำลังรณรงค์ให้โลกเกิดเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยของสัตว์ทะเลรวมถึงวาฬเหล่านี้ที่จะได้อาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่ปลอดภัยจากโครงการเหมืองทะเลลึกที่ไม่ควรเกิดขึ้นและมาทำลายแหล่งอาศัยซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ทะเลเหล่านี้

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรีนพีซ สากล กรีนพีซ นอร์ดิกและกรีนพีซเยอรมนี ได้นำนักวิทยาศาสตร์ไปยังภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลนอร์เวย์มีความประสงค์จะอนุญาตให้อุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึกตั้งโครงการที่นี่ โดยนักวิทยาศาสตร์สำรวจและเก็บบันทึกภาพและเสียงทั้งวาฬและโลมาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น โดยเฉพาะวาฬหัวทุยและวาฬจมูกขวดตอนเหนือ โดยผลวิจัยจากการสำรวจนี้จะช่วยให้ความรู้และทำให้เราเข้าใจว่าที่นี่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของวาฬชนิดไหนบ้างก่อนที่จะถูกทำลายจนไม่อาจฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม การสำรวจครั้งนี้จะช่วยให้การเปิดโครงการเหมืองทะเลลึกในอาร์กติกอาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

หากใครสนใจอยากรู้จักวาฬเหล่านี้มากขึ้น สามารถฟังพอดแคสท์จาก กรีนพีซ สหราชอาณาจักร ในซีรีย์ Oceans: Life Under Water ตอนที่ 3 Whales

ร่วมลงชื่อปกป้องมหาสมุทร ปกป้องบ้านของวาฬด้วยกัน ที่นี่


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ