พื้นที่ภาคเหนือมีลักษณะภูมิทัศน์ที่มีพื้นที่เป็นภูเขามากกว่าทุกภาค ซึ่งเป็นร้อยละ 78 ของพื้นที่ทั้งหมดในภาคเหนือ สามารถแบ่งเขตภูมิลักษณ์ได้ 3 เขต ได้แก่ เขตทิวเขาและภูเขา เขตที่ราบและหุบเขา และเขตแอ่งที่ราบ จึงไม่แปลกที่จะเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางทรัพยากรที่ภาคธุรกิจจะไขว่คว้าแย่งชิงเพื่อได้มาซึ่งพลังงานจากโครงการเหมืองถ่านหิน ทั้งนี้การขุดทำเหมืองแร่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของสินแร่ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากห้องสมุดกรมทรัพยากรธรณี ในปี 2503 รัฐบาลได้สถาปนาการลิกไนต์แห่งประเทศไทยซึ่งปัจจุบันคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อดำเนินการผลิตถ่านหินขึ้นในประเทศ 

ต่อมาระหว่างปี 2505-2509 กรมทรัพยากรธรณีเริ่มทำการสำรวจเพียงเล็กน้อยในภาคเหนือโดยมุ่งเน้นสำรวจไปที่บริเวณแอ่งลี้ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดลำพูนในภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งจากการสำรวจพบปริมาณสำรองของถ่านหินประมาณ 15 ล้านเมตริกตัน 

ปี 2512 กฟผ. ทำหน้าที่ผลิตและใช้ลิกไนต์จากแหล่งเเม่เมาะเพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้า และในปีเดียวกัน สำนักงานพลังงานแห่งชาติได้เริ่มทดลองทำเหมืองถ่านหินขึ้นในบริเวณ ต.ด่งดำ อ.ลี้ จ.ลำพูน ต่อมาปี 2517 กฟผ. เริ่มสำรวจครั้งใหญ่ในบริเวณแอ่งแม่เมาะ เพื่อหาปริมาณสำรองของถ่านหินในพื้นที่แม่เมาะเพื่อผลิตกระเเสไฟฟ้าให้ได้เพิ่มมากขึ้นโดยผลการสำรวจพบปริมาณสำรองที่เป็นไปได้ประมาณ 650 ล้านเมตริกตัน 

ในปี 2519 บริษัทภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งถ่านหิน โดยบริษัท แพร่ลิกไนต์ จำกัด ซึ่งได้เริ่มต้นการผลิตถ่านหินในบริเวณแหล่งแม่ตีบ อ. งาว จ.ลำปาง ต่อมาปี 2523 สำนักพลังงานแห่งชาติสรุปผลการสำรวจแหล่งถ่านหินทางภาคเหนือพบจำนวน 18 แหล่ง พร้อมปริมาณสำรอง 77.5 ล้านเมตริกตัน ผ่านมากว่า 44 ปี ปัจจุบันนปี 2567 ทางภาคเหนือยังคงมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของการทำเหมืองลิกไนต์กว่า 8 จังหวัดในทั้งหมด 20 แหล่งที่ผลสำรวจพบว่ามีถ่านหิน

ความเสี่ยงและผลกระทบที่คนภาคเหนืออาจต้องเจอ หากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเอกชน ยังคงเดินหน้าไม่หยุด

จากงานวิจัยกรีนพีซสากลและเครือข่าย Endcoal ระบุว่าผู้คนจำนวนมากกว่า 350,000 คนทั่วโลกตายก่อนกำหนดในแต่ละปีเนื่องจากมลพิษทางอากาศจากอุตสาหกรรมถ่านหินอันรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเช่นกัน และกว่าล้านคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยอย่างร้ายแรงจากผลกระทบของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับเหมืองถ่านหิน 

ถ่านหินกำลังทำลายแหล่งน้ำที่สะอาดแน่นอนว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งหมายถึงสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งต่างต้องพึ่งพาน้ำที่สะอาดในการใช้ชีวิตทั้งเพื่อดื่มและทำการเกษตร หากเกิดเหมืองถ่านหินที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และเหมืองถ่านหินที่แม่ทะ จ.ลำปาง ผลกระทบที่อาจตามมาก็คือโครงการเหมืองถ่านหินจะสร้างความเสียหายอย่างถาวรให้กับแม่น้ำและชั้นหินอุ้มน้ำแม้หลังจากการปิดเหมืองถ่านหิน 

เหมืองถ่านหินยังคงเป็นแหล่งของการรั่วไหลของกรดซึ่งจะปนเปื้อนด้วยโลหะหนักที่เป็นพิษเช่นแคดเมียมและโคบอลต์ ความเป็นกรดจะฆ่าปลาและสัตว์ป่าอื่น ๆ นอกจากนี้โลหะหนักที่ไหลออกมาจะสะสมอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเข้าไป เถ้าถ่านหินยังมีอันตรายและสามารถปนเปื้อนพืช ซึ่งทำให้สารเคมีที่เป็นพิษไหลลงสู่น้ำใต้ดินและลำธาร หรือการพัดพาของลมไปหลายร้อยกิโลเมตรในบางพื้นที่ รวมถึงน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากยังคงมีวิธีการจัดการที่ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดการปล่อยสารมลพิษที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจหรือเกิดสารก่อมะเร็งเข้าสู่สภาพแวดล้อม เช่น เมื่อเดือนตุลาคม 2535 มลพิษที่ปล่อยมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ทำให้ชาวบ้านและพนักงานการไฟฟ้าเจ็บป่วยด้านทางเดินหายใจ สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยล้มตาย พืชพันธุ์เกษตรสวนผักของชาวบ้านรวมถึงป่าไม้ถูกฝุ่นกรดทำให้ใบหุบและหงิกงอ 

อัลบั้มภาพที่เต็มไปด้วยภาพผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนเชื่อว่า มลพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจที่เกิดกับผู้คนในบริเวณใกล้เคียง โดยผู้ป่วยที่อยู่ใกล้กับบริเวณโรงไฟฟ้าที่เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจมีจำนวนผิดปกติ เกษตรกรในพื้นที่กล่าวว่ามีฝนกรดเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบต่อพืชผลเศรษฐกิจ ต้นไม้ และพืชพรรณ © Greenpeace / Yvan Cohen

ถ่านหินจะสร้างมลพิษต่ออากาศที่เราหายใจ มลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งฝุ่นละอองที่เป็นพิษและมลพิษโอโซน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนนับล้านชีวิต และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อาทิ เส้นโลหิตในสมองแตก โรคหัวใจและมะเร็งปอด ซึ่งเป็นกลุ่มโรคหลักที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศไทย ที่เลวร้ายกว่านั้นคืออุตสาหกรรมถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินมิได้ปล่อยมลพิษออกมาแค่เพียงฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเท่านั้น ออกไซด์ของไนโตรเจนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีส่วนทำให้เกิดก๊าซโอโซน (O3) ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีโลหะหนักที่เป็นพิษสามารถแพร่กระจายลึกลงสู่ปอดและกระแสเลือดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อให้เกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 และ 2.5 ไมครอน ปรอท ตะกั่ว สารหนู โครเมียม และแคดเมียม 

ถ่านหินจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบจากมลพิษถ่านหินต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพืช และสัตว์น้ำนั้นมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก มีการบันทึกว่าเถ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของความผิดปกติในปลาและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทำให้อัตราการขยายพันธุ์ลดลงและทำให้ประชากรทั้งหมดสูญพันธุ์ 

ในพื้นที่ภาคเหนือมีความหลากหลายด้านชีวภาพมากตัวอย่างเช่น สังคมสัตว์ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าอมก๋อย พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งหมด 9 อันดับ 19 วงศ์ 41 ชนิด นก 14 อันดับ 41วงศ์ 175 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด 3 อันดับ 11 วงศ์ 26 ชนิด และสัตว์ สะเทินน้ำ สะเทินบก ทั้งหมด 1 อันดับ 3 วงศ์ 12 ชนิด สังคมพืชป่าดิบเขาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย พบพรรณไม้จำนวน 31 ชนิด 18 วงศ์พบพรรณไม้ ในวงศ์ Euphorbiaceae มีจำนวนพรรณไม้มากที่สุด (6 ชนิด) รองลงมาคือวงศ์ Fagaceae, Anacardiaceae, Burseraceae และ Rubiaceae พบพรรณไม้ จำนวน 5, 2, 2 และ 2 ชนิด ตามลำดับ ส่วนวงศ์อื่นๆ มีชนิดไม้ลดหลั่นกันไป นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ หากมีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้น ที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เราอาจจะไม่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์เกื้อกูลอย่างยั่งยืนอีกต่อไป 

ถึงเวลา SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน

SCG ต้องประกาศยุติการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง และยุติแผนการรับซื้อถ่านหินจากพื้นที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ถึงเวลา SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน

SCG ต้องยุติการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง และยุติแผนการรับซื้อถ่านหินจากพื้นที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

มีส่วนร่วม

ปัจจุบัน 2 พื้นที่ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงคือ หมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ แม่ทะ จ.ลำปาง โดยในปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ (จำกัด) ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินในหมู่บ้านกะเบอะดิน  อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พร้อมจัดทำ EIA ฉบับปี 2563 อย่างไม่โปร่งใสจนชาวบ้านฟ้องศาลปกครองและมีการสั่งคุ้มครองพื้นที่อมก๋อยเป็นเวลาชั่วคราว  โดยในรายงาน EIA ได้ระบุว่าถ่านหินที่ขุดได้เกือบทั้งหมดจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จ.ลำปาง (SCG) ในขณะเดียวกันปี 2547 SCG ได้สำรวจแอ่งแม่ทะ ซึ่งเป็นแหล่งถ่านหิน เพื่อขอสัมปทานเหมืองลิกไนต์เช่นกันโดยในขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แต่ชาวบ้านตระหนักต่อผลกระทบจึงคัดค้านอย่างเต็มที่ 

หาก SCG ยังมีส่วนเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะและรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย การประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมดของ SCG ย่อมมีค่าเป็นเพียงการฟอกเขียว เป็นการลดทอนหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) อีกทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจต่อนโยบายความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่ครบถ้วนต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ถือหุ้นของบริษัท และประชาชน

กรีนพีซ ประเทศไทยเรียกร้องให้ : 

  • SCG ต้องเริ่มแผนการปลดระวางถ่านหินพร้อมสื่อสารต่อสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามประกาศของบริษัทฯ และเพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 
  • ยุติการมีส่วนร่วมรับซื้อจากโครงการเหมืองถ่านหินทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 
  • ร่วมมือกับภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันบรรเทาและเยียวยาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมหลักการด้านสิทธิมนุษยชน