แหล่งเก็บน้ำทางตะวันตกกำลังตกอยู่ในสภาพ ‘แห้งแล้งอย่างรุนแรง’ ซึ่งเป็นสภาวะวิกฤต โดยตอนนี้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีระดับน้ำต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งไปกว่านั้นนักดับเพลิงยังเตือนว่าฤดูกาลไฟป่ากำลังจะกลับมาอีกครั้ง ภาพนี้ถ่ายที่เขื่อน Hoover ชายแดนอาริโซนา/เนวาดา สหรัฐอเมริกา © David McNew / Greenpeace

ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2567 กว่า 80 ประเทศกำลังเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงทำลายสถิติทั้งรายเดือนและสถิติตั้งแต่มีการบันทึกมา คลื่นความร้อนแผดเผาทั้งสหรัฐอเมริกา ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปตอนใต้ แอฟริกาตอนเหนือ เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เมืองอาซวานในอียิปต์วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 50.9 องศาเซลเซียส ซึ่งทำลายทุกสถิติที่เคยบันทึกมา

อากาศที่ร้อนทำลายสถิตินี้ไม่เพียงแค่ทำให้พวกเรารู้สึกไม่สบายตัวเท่านั้น แต่มันคือภัยคุกคามที่รุนแรงถึงชีวิตได้เหมือนกับภัยธรรมชาติเช่น ไฟป่า หรือน้ำท่วมฉับพลัน และภัยธรรมชาติเหล่านี้กลายเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะถูกเร่งเร้าด้วยผู้ก่อมลพิษหลักอย่างอุตสาหกรรมฟอสซิล สถานการณ์เช่นนี้จะรุนแรงขึ้นกับผู้คนในรุ่นต่อไป สภาพภูมิอากาศที่ย่ำแย่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น รุนแรงขึ้นและส่งผลให้อัตราการตายเพิ่มขึ้น เพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น สร้างความปั่นป่วนต่อระบบเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นและสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น

เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่ากำลังคุกคามชีวิตของเราอย่างรุนแรง และชุมชนที่ได้รับผลกระทบต้องพร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับความเสียหายเหล่านี้

1. ในปี 2566 โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากกว่า 120 ครั้ง สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจกว่า 3 แสน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไต้ฝุ่นทกซูรีถูกรายงานว่าเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจมากที่สุดของปี โดยคิดเป็นความเสียหายมูลค่ากว่า 18,500 ล้านเหรียฐสหรัฐ ไต้ฝุ่นสร้างหายนะทั่วไต้หวันและฟิลิปปินส์ก่อนจะพัดเข้าสู่จีน นอกจากนี้เมื่อเดือนกันยายน 2566 พายุแดเนียล เป็นสาเหตุของความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั่วกรีซและลิเบีย ซึ่งคิดเป็นความเสียหายมูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ระบุว่าพายุดังกล่าวเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดของทวีปแอฟริกาตั้งแต่มีการบันทึกสถิติ เพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น พายุเฮอริเคนโอติส สร้างความเสียหายต่อเมืองอากาปุลโล ในเม็กซิโก สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 

2. หายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศตอกย้ำแผลความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ชุมชนท้องถิ่นต้องจ่ายในขณะที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลทำกำไรจากการทำลายสภาพภูมิอากาศ

บริษัทพลังงานฟอสซิลหลายแห่งเช่น BP, Shell, Exxon, Total และ ENI รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ กำลังเร่งให้สภาพภูมิอากาศเข้าสู่หายนะอย่างรวดเร็วด้วยการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นมา ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นแนวหน้าที่ยากจนและต้องเผชิญกับหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นกลุ่มแรก รวมทั้งยังไม่สามารถฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ได้เต็มที่หลังจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วผ่านไปอีกด้วย

ถึงกระนั้นเอง กลุ่มบริษัทเหล่านี้แทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการชดเชยด้านการเงินต่อความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเลย แม้ว่ากองทุนนี้จะสามารถนำไปเป็นเงินเพื่อฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังเป็นกลุ่มบริษัทเหล่านี้เองที่เพิกเฉยต่อหายนะความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ด้วยการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

จากข้อมูลของบริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ Gallagher ระบุว่าความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปี 2566 ที่ยังไม่ได้รับการชดเชยคิดเป็นมูลค่ากว่า 185,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันในปีเดียวกันนี่เอง บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ 5 อันดับของโลก ExxonMobil, Chevron, Shell, TotalEnergies และ BP รายงานว่าสามารถทำกำไรกว่า 113,800 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับผู้ถือหุ้น ตัวเลขนี้ถือเป็นกำไรที่ทำให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมากที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และมันเกิดขึ้นในปีที่ถูกระบุว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

นักกิจกรรม เกษตรกร และชนพื้นเมือง ได้ยื่นฟ้องร้องในคดีที่เกี่ยวกับการทำลายสภาพภูมิอากาศมากกว่า 30 คดี ต่อกลุ่มบริษัทน้ำมันข้ามชาติเหล่านี้เพื่อเรียกร้องให้อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องรับผิดชอบจากการทำธุรกิจที่สร้างความปั่นป่วนให้กับโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีทรัพยากรอย่างเช่นเงินทุน เพื่อฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังยากที่จะขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำออกไปได้

ภาพนักกิจกรรมกรีนพีซกำลังลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือส่งของบริจาค ช่วยทำความสะอาดบ้านเรือนและกำจัดเศษซากปรักหักพังออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกรุนแรงในทางตอนเหนือของรัฐ เซาท์ เปาโล โดยหมู่บ้าน Vila Sahy เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด บ้านเรือนของชุมชนเสียหายหนักรวมทั้งหลายครอบครัวยังต้องสูญเสียผู้เป็นที่รัก ไม่ใช่เพียงเพราะความโลภเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะช่องโหว่ของนโยบายที่ไม่เอื้อให้เกิดเมืองที่ปลอดภัย © Diego Baravelli / Greenpeace

3. เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นตัวการหลักที่ทำให้โรคระบาดรุนแรงขึ้น และยังทำให้เกิดสถานการณ์ขาดสารอาหาร

เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทำให้น้ำสะอาดและวัตถุดิบสำหรับทำอาหารเข้าถึงยากขึ้น ซ้ำยังเป็นปัจจัยเร่งการเกิดภาวะทุพโภชนาการ โรคระบาดมาเลเรียและโรคท้องร่วง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) ระบุว่าช่วงระหว่างปี 2573 – 2593 คาดการณ์ว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นของประชากรกว่า 250,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

4. เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นภัยคุกคามระดับต้น ๆ ของระบบอาหารในปี 2567

น้ำท่วม ภัยแล้ง และคลื่นความร้อน เป็นภัยคุกคามอันตรายกระทบต่อเกษตรกรรม ซึ่งทำให้ระยะการกักเก็บอาหารสั้นลงรวมทั้งมีราคาที่สูงขึ้น รายงานประจำปีจากองค์กร Everstream Analytics รายงานว่าเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นปัจจัยที่เสี่ยงที่สุดต่อระบบการผลิตในปี 2567 ด้วยคะแนนความเสี่ยงสูงถึง 100% ที่จะทำให้ระบบอาหารต้องหยุดผลิตเพราะสภาพอากาศอันเลวร้าย ข้อมูลดังกล่าวย้ำเตือนถึงสถานการณ์ของปีก่อนที่ระบบอาหารเกิดหยุดชะงักเนื่องจากสภาพอากาศ สร้างความเสียหายต่อเมล็ดพันธุ์อาหาร ส่วนพายุที่รุนแรงก็ทำให้การขนส่งอาหารช้ากว่ากำหนด

Onaldo Calica เกษตรกรผู้ปลูกไร่กำลังแสดงข้าวโพดที่ถูกทำลายเพราะเผชิญกับภัยแล้งซึ่งเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ โดยสถานีเฝ้าระวังน้ำของกรีนพีซพบว่าไร่นาทางตอนเหนือและตอนกลางของเมือง Luzon แห้งแล้งเกือบทั้งหมด เพราะภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนิญโญ่ หรือแม้กระทั่งข้าวโพดที่อยู่ในภาพ ซึ่งต้นอ่อนเหล่านี้ไม่สามารถกลายเป็นผลผลิตได้ © Alex Baluyut / Greenpeace

5. ผู้คนมากกว่า 20 ล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเกิดเพราะเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว

วิกฤตสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นฐานมากขึ้น ประชากรมากมายต้องมองหาที่อยู่อาศัยใหม่ซึ่งเป็นเรื่องยากมากขึ้น จากการประเมินว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะสูงขึ้นถึง 1.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 อาจทำให้ประชากรในทางตอนใต้ของทะเลทรายซะฮารา ทวีปแอฟริกากว่า 17-40 ล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 56-86 ล้านคน หากอุณหภูมิสูงถึง 2.5 องศาเซลเซียส ตามรายงานของ IPCC 

นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ UNHCR ระบุว่า ระหว่างปี 2551 – 2559 คาดการณ์ว่ามีประชากรเฉลี่ย 21.5 ล้านคนต่อปี ต้องออกจากพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองเนื่องจากภัยนำ้ท่วม พายุ ไฟป่า และสภาพอากาศสุดขั้ว สถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ (The Institute for Economics and Peace) คาดการณ์ว่า ตัวเลขจำนวนประชากรที่อพยพย้ายถิ่นเนื่องจากภัยคุกคามจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจพุ่งสูงถึง 1,200 ล้านคนภายใน ปี 2593

ผู้คนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสร้างที่พักชั่วคราวริมถนน 22 กรกฎาคม 2565 ที่เมือง Sylhet บังคลาเทศ © H M Shahidul Islam/ Eyepix Group/Future Publishing via Getty Images

6.เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นอัตราเร่งให้การสูญพันธุ์เกิดเร็วขึ้น

ระบบนิเวศ โดยเฉพาะในส่วนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เช่นในมหาสมุทร ภูมิภาคชายฝั่ง และแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์อื่น ๆ ทั่วโลก กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญจากการล่มสลายของสภาพภูมิอากาศ การทำลายผืนป่า การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าฝนเขตร้อน และ ภาวะชั้นดินเยือกแข็งในอาร์ติกกำลังละลายเป็นวงกว้างทำให้พื้นที่บางส่วนกลายสภาพจากแหล่งกักเก็บคาร์บอนเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ ระดับความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของแมลงศัตรูพืชนั้นสูงขึ้นในระดับวิกฤต 

จากข้อมูลขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ระบุถึงอัตราการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้นเร็วขึ้นจาก 1,000 เท่า เป็น 10,000 เท่า ซึ่งเร็วกว่าอัตราปกติในธรรมชาติ

นักดำน้ำ Tony Fontes และ Beverley Fontes กำลังถือป้ายข้อความว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิลทำลายปะการัง” เพื่อสื่อสารถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟ และเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้วิกฤตดังกล่าวโดยด่วน © Greenpeace / Grumpy Turtle / Harriet Spark

เราจะช่วยกู้วิกฤตนี้ได้อย่างไร?

เราร่วมกันยุติยุคแห่งการกอบโกยของกลุ่มบริษัทฟอสซิลเหล่านี้ให้หยุดตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรโลกได้ และจะต้องกลับมาดำเนินการตามความตกลงปารีส ร่วมบอกกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันให้หยุดขุดเจาะและจะต้องชดเชยต่อการทำลายสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาก่อไว้


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ