ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการ ‘ลาต๊ะ ภาษา อาหารและการต่อยอด’ โดยจัดแสดงเครื่องครัวและข้าวของเครื่องใช้ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่ง ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา งานนิทรรศการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของงาน Pakk Taii Design Week 2024 อีกด้วย

นอกจาก ‘ทัวร์ลาต๊ะ’ ทริปเล็ก ๆ ที่เป็นการท่องเที่ยวแบบ One Day Trip จัดขึ้นโดยชุมชน กลุ่มนักรบผ้าถุง และมีผู้นำไกด์ทัวร์โดย ‘พี่แก๊ส’ ศุภวรรณ ชนะสงคราม ผู้ประสานงานกลุ่มอาหารปันรัก เป็นรอบพิเศษสำหรับ Pakk Taii Design Week ครั้งนี้ นิทรรศการยังจัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน (Sarong Warrior)’ ที่พาเราไปทำความรู้จักเหล่ากลุ่มนักรบผ้าถุงที่รวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากรทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์จากโครงการอุตสาหกรรมก่อมลพิษ  ผ่านสายตาของผู้กำกับ ‘เพื่อนนักรบผ้าถุง’ กีรติ โชติรัตน์ และเชี่ยววิทย์ พัฒนสุขพันธ์

นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน ค่อย ๆ พาเราไปดูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลหน้าบ้านสะกอม ทั้งปู กุ้ง กั้ง ปลาทะเลชนิดต่าง ๆ สลับกับหนังพาเราไปรู้จักกับกลุ่มนักรบผ้าถุงทีละคน แต่ละคนแม้จะมีอาชีพที่แตกต่างกันไปแต่เป้าหมายที่พวกเขายึดถือเหมือนกันนั่นคือการอนุรักษ์บ้านเกิดอันอุดมสมบูรณ์ให้คงอยู่ส่งต่อไปให้กับคนรุ่นใหม่ในอนาคต ในพาร์ทการนำเสนอกลุ่มนักรบผ้าถุงนั้นผู้กำกับถ่ายทอดออกมาได้น่าประทับใจมาก เพราะภาพยนตร์สื่อสารได้ดีเหมือนกับเราได้เข้าไปนั่งคุยกับนักรบผ้าถุงถึงที่บ้าน

เราได้เห็นวิถีชีวิตของชาวสะกอม รู้จักอัตลักษณ์ของภาษาสะกอม สลับกับเรื่องราวการต่อสู้ปกป้องพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในอดีตนั่นคือการคัดค้าน “โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย” ซึ่งนำมาสู่การสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การคัดค้านครั้งนั้นกลายเป็นต้นแบบการปกป้องพื้นที่บ้านเกิด และแสดงให้เห็นว่ารัฐต้องฟังเสียงประชาชน

ส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์สารคดี นำเสนอภาพการเรียนการสอนศาสนาโดย ครูกอเฉม ครูสอนคัมภีร์ สอนศาสนาและความรู้วิชาการให้กับเด็ก ๆ ใน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ.2562 มีมติคณะรัฐมนตรีขยายโครงการเมืองต้นแบบและผลักดันอำเภอจะนะ จ.สงขลา เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และได้อนุมัติงบลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยมีศอ.บต. เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ โดยตัวโครงการกินพื้นที่ 16,753 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรมเกษตร นิคมอุตสาหกรรมหนักไปจนถึงเบา โรงผลิตไฟฟ้า เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า

ในปี 2564 ชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา รวมตัวกันมุ่งหน้าสู่ธรรมเนียบรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามถึงคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้เกี่ยวกับการชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และจะต้องจัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อให้มีข้อมูลรอบด้านเอามาประกอบการพิจารณาโครงการอีกครั้ง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

เพราะมติดังกล่าวจึงทำให้ชุมชนต้องรวมตัวเพื่อส่งเสียงถึงภาครัฐอีกครั้ง

เป็นนักรบผ้าถุง แต่ไม่ได้อยากรบกับใคร

ชื่อ นักรบผ้าถุง นั้นไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาให้ดูน่าเกรงขาม หรืออยากจะไปรบกับใคร แต่ชื่อนี้มีที่มาที่ไปที่เหล่าก๊ะมะทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันนั่นคือ เพราะในชีวิตปกติกลุ่มผู้หญิงที่นี่มีบทบาทสำคัญในครัว เป็นคนที่คอยทำอาหาร ส่งเสบียงให้สามีที่เป็นชาวประมง รวมทั้งยังเป็นแม่ค้านำสัตว์ทะเลที่จับได้ไปขายและอีกหลายอาชีพเสริม แต่เมื่อต้องส่งเสียงคัดค้านโครงการนิคมให้ถึงรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ครอบครัวจะขาดรายได้จากการออกหาปลาไม่ได้ ทำให้จากบทบาททัพหลังในครัว พวกเธอจึงกลายเป็นกลุ่มผู้หญิงทัพหน้า ร่วมเดินทางไปกับชุมชนอื่น ๆ ใน อ.จะนะ สงขลา สู่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาล

ในปี 2564 ชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา รวมตัวกันมุ่งหน้าสู่ธรรมเนียบรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามถึงคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้เกี่ยวกับการชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และจะต้องจัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อให้มีข้อมูลรอบด้านเอามาประกอบการพิจารณาโครงการอีกครั้ง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ด้วยอัตลักษณ์ที่สะท้อนผ่านการแต่งกาย และปัจจัยด้านการหารายได้ให้ครอบครัว เราจึงเห็นภาพการชุมนุมของกลุ่มผู้หญิงคลุมฮิญาบ นุ่งผ้าถุง เป็นเอกลักษณ์ของม็อบคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่เสมอ พวกเธอต่อสู้ด้วยชีวิตและหัวใจ เป็นนักรบผ้าถุงที่สู้เพื่อบ้านเกิดและครอบครัว

Chana Community Protest at UN Office in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักอยู่บริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชนติ (UN) ในช่วงที่เดินทางมาทวงถามถึงคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้เกี่ยวกับการชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และจะต้องจัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อให้มีข้อมูลรอบด้านเอามาประกอบการพิจารณาโครงการอีกครั้ง © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ใช้สื่อภาพยนตร์เป็นตัวกลาง พานักรบผ้าถุงไปรู้จักกับผู้คนภูมิภาคอื่น ๆ

หลังภาพยนตร์สารคดีจบลง ยังมี Session เล็ก ๆ ที่ผู้ชมและคนทำหนังได้มานั่งล้อมวงพูดคุยกันโดย คุณตั้ม กีรติ โชติรัตน์ อธิบายถึงการวางคอนเซ็ปส์และสิ่งที่ตั้งใจอยากสื่อสารผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ซึ่งมีสองประเด็นที่คนเพิ่งดูหนังจบและเราประทับใจ นั่นคือ

ประเด็นแรก ผู้กำกับสามารถดึงจิตวิญญาณของนักรับผ้าถุงทีละคน ๆ ผ่านการสัมภาษณ์ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้กำกับในการลงพื้นที่ทำความรู้จักชุมชน ให้ความจริงใจกับชุมชนและได้รับความจริงใจคืนจากชุมชนจนสามารถจับความจริงใจเหล่านี้มาถ่ายทอดให้กับคนดูหนังได้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้นคือผู้ชมภาพยนตร์จะมองเห็น ‘คน’ ลึกมากกว่าแค่การมาดูภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่ง และทำให้คนที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้รู้จักและเข้าใจประเด็นที่ชุมชนกำลังคัดค้านอยู่มากขึ้น

© ภาพยนตร์สารคดี นักรบผ้าถุง

ประเด็นที่สอง คือความประทับใจที่ผู้กำกับใช้หน้าที่ของภาพยนตร์ได้อย่างดีเยี่ยม นั่นคือการเป็นตัวกลางระหว่างผู้สื่อสาร กับ ผู้รับสาร โดยในกรณีของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ผู้กำกับมองเห็นเรื่องราว ความไม่ธรรมดาและความเป็นเอกลักษณ์ของนักรบผ้าถุงแต่ละคน จึงอยากพาคนกลุ่มนี้ไปรู้จักกับผู้คนที่อื่น ๆ ซึ่งความเป็นจริงเราไม่สามารถนำพากลุ่มนักรบผ้าถุงสัญจรไปทั่วประเทศได้ แต่เครื่องมือที่เรียกว่าภาพยนตร์ทำได้ เราจึงได้ทำความรู้จักก๊ะมะแต่ละคนในเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กับประเด็นการต่อสู้ปกป้องบ้านเกิด ซึ่งเราแน่ใจได้เลยว่าไม่ว่าภาพยนตร์จะไปฉายที่ใด จะต้องมีคนที่ได้ดูหลังเรื่องนี้อยากรู้จักนักรบผ้าถุงมากขึ้นอย่างแน่นอน

คืนสิทธิชุมชนชายฝั่ง กำหนดทิศทางบ้านเกิดด้วยตัวเอง

‘บ้านเรา ให้เราดูแล’ หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ บวกกับ One Day Trip จากชุมชนสะกอม ยิ่งทำให้เราเห็นภาพความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตของชุมชนสะกอมมากขึ้น เราเห็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เห็นทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของทะเลที่หากเราใช้สอยอย่างพอดีพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ด้วยภูมิปัญญาของชุมชน เราจะมีอาหารทะเลที่สดใหม่ ดีต่อสุขภาพของเราให้กับทุกคนไปได้อีกนาน

เมื่อเราได้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่นของชุมชนและอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมที่ไม่มีภูมิภาคใดเหมือน ยิ่งทำให้เห็นว่า แนวคิดที่รัฐมักจะมองว่าทรัพยากรในประเทศเป็นของรัฐ แล้วรัฐจะเปลี่ยนแปลงมันไปเป็นอย่างไรก็ได้นั้นไม่ยุติธรรมต่อชุมชนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนเลย

“อยากอยู่ในครัว มากกว่าอยู่ในม็อบ

อยากตื่นมาพบ เห็นทะเลหาดทราย

ใครจะอยากจากบ้าน บ้านที่แสนสุขสบาย

แต่อิทำพรื่อได้ เขาจะทำลายบ้านเรา”

“นักรบผ้าถุงจึงต้องบุกมาเมืองหลวง มาถามทวงสิทธิและเสรี

ตายเป็นตาย เราไม่ย้าย ไม่ยอม ไม่หนี

ขอปกป้องด้วยชีวีและลมหายใจ”

“ด้วยจิตวิญญาณแห่งจะนะ เราจะชนะ

พร้อมจะเสียสละไม่ยอมถอดใจ แค่ปกป้องบ้านเกิดเราผิดอะไร

ถึงนุ่งผ้าถุงแต่หัวใจไม่ยอมจำนน”

(เนื้อเพลงบางส่วนจากเพลง นักรบผ้าถุง – พจนาถ พจนาพิทักษ์)

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ารัฐฟังเสียงชุมชนและให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

© ภาพยนตร์สารคดี นักรบผ้าถุง