รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน การแข่งกีฬาโดยเฉพาะกีฬากลางแจ้ง ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน และพายุฝนรุนแรงมากขึ้น นี่คือเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เป็นผลพวงจากภาวะโลกเดือดหรือวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬามือสมัครเล่นหรือนักกีฬาอาชีพก็ตาม

ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2024 ที่ปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งได้ให้คำมั่นว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาที่ ‘เขียว’ ที่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยังตั้งคำถามถึงคำมั่นสัญญานี้เนื่องจากสปอนเซอร์ของรายการโอลิมปิคครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยผู้ก่อมลพิษหลัก เช่น โคคา-โคล่า ซัมซุง แอร์ ฟรานซ์ และโตโยต้า เป็นต้น เราจึงอยากย้ำเตือนว่าแม้แต่วงการกีฬาเองก็หนีไม่พ้นจากภัยคุกคามจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

จากคำกล่าวที่ว่า “There are no sports on a dead planet” สามารถอธิบายถึงภาวะฉุกเฉินที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเดี่ยว ๆ แต่มันส่งผลกระทบต่อเราทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกรวมทั้งการแข่งกีฬาของพวกเราด้วย บทความนี้จะอธิบายถึง 4 สถานการณ์ที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามวงการกีฬาและตัวนักกีฬาเอง

1.คลื่นความร้อนรุนแรงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและสมรรถภาพของนักกีฬา

โลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกำลังทำให้นักกีฬารักษาสมรรถภาพของตัวเองให้คงที่ได้ยากมากขึ้นเนื่องจากคลื่นความร้อน นำไปสู่ภาวะโรคลมแดด ภาวะขาดน้ำ และอาจร้ายแรงถึงขั้นฮีทสโตรก สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อนักกีฬาทั้งในด้านสุขภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเหล่านี้มีหลากหลาย เช่น เทนนิส คริกเก็ต เบสบอล ฟุตบอล รักบี้ และจักรยาน เป็นต้น

ภาพศิลปะโมเดลลูกเทนนิสกำลังละลายจากความร้อน เมื่อปี 2020 ถูกติดตั้งในเมลเบิร์นโดยอาสาสมัครกรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิก เป็นจุดสนใจและสร้างการรับรู้ของภัยคุกคามจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศต่อการแข่งขันกีฬาเช่น the Australian Open tennis tournament ซึ่งต้องรับมือกับฝุ่นพิษจากไฟป่าและคลื่นความร้อนที่ทำให้นักกีฬาและผู้เข้าร่วมรายการตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพ © Greenpeace

และในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ในปี 2020 อุณหภูมิระหว่างการแข่งขันพุ่งสูงมากกว่า 30 องศาเซลเซียส รวมทั้งความชื้นในระดับสูงซึ่งเป็นอุปสรรคมหาศาลต่อนักกีฬา การแข่งขันเช่น มาราธอนหรือการเดินเร็วจะต้องย้ายเวลาไปในช่วงเช้ามืดเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อคลื่นความร้อน หรือในการแข่งขันเทนนิส Australian Open ที่นักกีฬาต้องประสบกับคลื่นความร้อนระอุบ่อยครั้ง หรือในปี 2014 ที่อุณหภูมิระหว่างการแข่งขันสูงมากถึง 43 องศาเซลเซียส ทำให้นักกีฬาหลายคนเผชิญกับภาวะเจ็บป่วยเนื่องจากความร้อนสุดขีด

2. เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วพยากรณ์ได้ยากและมีส่วนทำให้ฤดูกาลแปรปรวน สร้างความปั่นป่วนให้การแข่งขันกีฬาและวิถีชีวิตของอาชีพนักกีฬา

ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น เช่น พายุ น้ำท่วมฉับพลัน และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกำลังคุกคามตารางการแข่งขันและสถานที่จัดแข่งขัน ความปั่นป่วนเหล่านี้นำไปสู่ความท้าทายที่ต้องเจอ ได้แก่ การเลื่อนการแข่งขัน เปลี่ยนตารางการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งการยกเลิกรายการแข่งขัน ความไม่แน่นอนและสภาพสนามที่คาดเดาไม่ได้เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัจจัยเพิ่มขึ้นมาที่กดดันต่อการซ้อมของนักกีฬา 

นอกจากนี้ วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังทำให้ฤดูกาลแปรปรวนจนทำให้เราพยากรณ์สภาพอากาศได้ยาก ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากในการออกแบบตารางการแข่งขันรวมถึงตารางการซ้อมของนักกีฬาที่จะต้องซ้อมเพื่อเข้าแข่งขัน

ในปี 2019 ไต้ฝุ่นฮากีบิสที่ส่งผลกระทบกับญี่ปุ่นทำให้การแข่งขันรักบี้ เวิลด์คัพ ต้องยกเลิกการแข่งขันหลายรายการ ซึ่งกระทบไปทั้งรายการการแข่งขันรวมทั้งตารางการเดินทาง ในปีนั้นไต้ฝุ่นฮากีบิสยังสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 170 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินในขณะนั้น) โดยถูกบันทึกเป็นไต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายมากที่สุด 

ขณะเดียวกัน ฝุ่นพิษจากไฟป่าแคลิฟอเนีย ก็ทำให้รายการแข่งขันกีฬาต้องยกเลิกหลายครั้ง รวมทั้งรายการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนและรายการแข่งขันเบสบอลระดับอาชีพ คุณภาพอากาศอันเลวร้ายเนื่องจากไฟป่าเสี่ยงต่อสุขภาพของนักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องแข่งขันกลางแจ้ง เพราะการสูดอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษสามารถลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด ทำให้โรคหอบหืดกำเริบและสามารถนำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

รายการ Commonwealth Games ในปี 2010 ที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย ต้องเจอกับความท้าทายหลายแบบจากมรสุมทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมรุนแรงทั่วภูมิภาค ต่อมาในปี 2019 รายการแข่งขันกีฬาใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ซีเกมส์ ที่จัดขึ้นในฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอย่างหนักถึง 7 ครั้ง และทีมเจ้าภาพผู้จัดงานยังต้องรับมือกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมและต้องดูแลความปลอดภัยของนักกีฬาและทีมงานที่เข้าร่วมรายการ

3.กีฬาในฤดูหนาวกำลังจะหายไปเพราะโลกเย็นไม่พอ

ฤดูหนาวที่อุ่นขึ้นกำลังทำให้ฤดูกาลเล่นสกีสั้นลง กระทบกับการฝึกซ้อมและการแข่งขัน รายการแข่งขันสกีสำคัญอย่าง  Many FIS Alpine Ski World Cup ก็ต้องยกเลิกและต้องจัดหาสถานที่ใหม่เพราะมีหิมะไม่มากพอ

สภาพอากาศอุ่นขึ้นและไม่เป็นไปตามฤดูกาลกระทบต่อการกระตุ้นปริมาณหิมะเทียม ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงคุณภาพของหิมะและความปลอดภัยของนักกีฬาต่อความลาดชัน หิมะเทียมกลายเป็นหิมะที่โอลิมปิกฤดูหนาวใช้เป็นหลักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น โอลิมปิกเปียงชาง และโอลิมปิกโซชิ ต่างก็ใช้หิมะเทียม 80-90% ส่วนในโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2022 ใช้หิมะเทียม 100% 

กระบวนการผลิตหิมะเทียมยังซ้ำเติมภาวะโลกเดือด เป็นกระบวนการที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพราะต้องใช้น้ำและพลังงานมหาศาล เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น แนวทางนี้อาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคของความพยายามกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศและอนาคตที่ยั่งยืน และส่งผลเป็นวัฏจักรที่ไม่เป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมกีฬาฤดูหนาว

ภาพทางขึ้นลานสกีหิมะที่ถูกทิ้งร้างใน Lammeralm, Steiermark ออสเตรีย เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศหลังจากปริมาณหิมะในออสเตรียลดน้อยลง © Mitja Kobal / Greenpeace

นักกีฬาเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกในกีฬาสโนว์บอร์ด ฮันนาห์ เทเทอร์ และ ชอว์น ไวท์ เคยพูดถึงรูปแบบการตกของหิมะที่เปลี่ยนไปซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อวงการกีฬาฤดูหนาว และโน้มน้าวให้เกิดการปกป้องสภาพภูมิอากาศด้วยการลงมือแก้ไขจากระดับโครงสร้าง

4.วิกฤตสภาพภูมิอากาศกระทบต่อเศรษฐกิจของวงการกีฬา

เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นสาเหตุอย่างมีนัยยะสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของการแข่งขันกีฬา นำไปสู่ต้นทุนการซ่อมแซมบูรณะสถานที่แข่งขันจำนวนมาก ซึ่งภาระทางเศรษฐกิจนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและอุตสาหกรรมกีฬาโดยรวม

ในปี 2015 เฮอริเคนแคทรินา ซึ่งเป็นเฮอริเคนที่สร้างความเสียหายร้ายแรงและเป็นกรณีตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น รวมทั้งยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนใครอย่างหนักจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศก็คือกลุ่มชุมชน โดยเฮอริเคนลูกดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ในเมืองนิว ออร์ลีนส์ หลุยส์เซียนา และยังเป็นสาเหตุสร้างความเสียหายต่อสนามกีฬาแข่งขัน Louisiana Superdome ซึ่งเป็นสนามกีฬาเหย้าของทีม the NFL’s Saints และทำให้ทีมต้องซักซ้อมที่อื่นแทน

ภาพเมื่อปี 2015 ที่อาสาสมัครกรีนพีซแขวนแบนเนอร์ที่มีข้อความว่า “Gazprom: No Arctic Oil!” ที่ Olympia Stadium ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีรายการแข่งขัน Champions League Final โดยบริษัท Gazprom เป็นสปอนเซอร์ให้กับทีม UEFA ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งแรกที่เข้าไปขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติก © Gordon Welters / Greenpeace

ในปี 2011 ที่รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงฉับพลัน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อสนาม Suncorp Stadium ในเมืองบริสเบน โดยน้ำเข้าท่วมสนามกีฬาและสร้างความเสียหายต่อสนามแข่ง บริเวณอัฒจันทร์ รวมทั้งระบบไฟฟ้าและระบบกลไกต่าง ๆ ของสนามกีฬา

Make polluters pay : ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ

วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อวงการกีฬาทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพนักกีฬาไปจนถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังที่ทั้งนักกีฬาและองค์กรต่างออกมาเรียกร้องมากขึ้น ซึ่งก็แน่ชัดแล้วว่าการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ต้นเหตุเป็นทางออกที่จำเป็นเพื่อปกป้องอนาคตของวงการกีฬาจากอุตสาหกรรมฟอสซิล เพราะหากเราไม่มีโลกที่ปลอดภัย เราก็จะไม่มีการแข่งขันเกมกีฬา และไม่มีชัยชนะด้านกีฬา

ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสปีนี้ ยังเป็นการแข่งขันกีฬาที่เชื่อมโยงพวกเราจากต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรมจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน รวมทั้งยังร่วมกันสนับสนุนคุณค่าของมนุษย์อีกด้วย

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่เราเรียกร้องให้บริษัทขุดเจาะก๊าซและน้ำมันทั่วโลกที่เป็นผู้ก่อมลพิษหลักจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายด้านสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เพื่อปกป้องอนาคต นักกีฬาและโลกแห่งวงการกีฬาให้คงอยู่ต่อไปได้


บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษ อ่านบนความต้นฉบับ