เมื่อพูดถึงแผนพลังงานแห่งชาติ สำหรับคนธรรมดาทั่วไปแบบพวกเราแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าแผนพลังงานแห่งชาตินี่แหละที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องจ่ายค่าไฟแพงหรือถูก 

ก่อนอื่นมารู้จักกับร่างแผนนี้กันก่อน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP เป็นแผนระยะยาว 15-20 ปี ที่วางทิศทางการผลิตไฟฟ้าของไทย และ เป็น 1 ใน 5 แผนพลังงานภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ ร่วมกับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ในเดือนมิถุนายน 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 โดยไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาฉบับเต็มเกี่ยวกับร่าง PDP 2024 ให้แก่สาธารณชนรับรู้ก่อนวันรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยเพียงเอกสารการนำเสนอ  อีกทั้งกระบวนการรับฟังใช้เวลาเพียง 12 วันและจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงช่องทางออนไลน์ โดยจำกัดให้ในส่วนประชาชนทั่วไปสามารถแค่ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางช่องทางออนไลน์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เท่านั้น ซึ่งไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อคนใช้ไฟฟ้าอย่างพวกเราคือ การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (ที่พยากรณ์จากค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จำนวนประชากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่างๆ) กลับมีปัญหาจากข้อมูลอ้างอิงที่เก่าเกินไป อีกทั้งยังมีความพยายามทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินในระบบ (ผลิตได้มากกว่าที่ใช้และเกินเกณฑ์การสำรองไฟฟ้าตามปกติ) 

ส่วนในประเด็นพลังงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันไทยยังไม่มีระบบหักลบการใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากมาตรการการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ผลักดันให้มีการใช้งานตามความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ หลังจากนักลงทุนจำนวนมากตั้งคำถามว่าไทยมีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพียงพอที่จะป้อนเข้าระบบหรือไม่

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ร่างแผน PDP ที่มีปัญหาหลัก 3 ข้อ คือ “ ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero” ตามที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาบนเวทีการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก 

ในวงเสวนาชวน Talk ทวงถาม : ภัยความมั่นหลักทำแผน PDP2024 จากงาน“A Better World is Possible: ถกถามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่าเดิม” เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน จึงชวน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จาก SDG Move รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ จาก Climate Finance Network Thailand และธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกันนำเสนอว่าแผน PDP ที่มั่นคง ยั่งยืนและเป็นธรรมกับประชาชนควรจะเป็นอย่างไร

ปัญหาของร่างแผน PDP 2024 และแผน PDP ที่ดี ควรเป็นอย่างไร?

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ให้ความเห็นว่า แผน PDP ที่ดีนั้น จริง ๆ แล้วควรจะต้อง ‘แฟร์’ ทั้ง 3 ด้าน คือ ความมั่นคงด้านพลังงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าได้ทั่ว ๆ กัน อย่างที่สองคือไฟฟ้าที่ประชาชนใช้มีราคาที่เหมาะสมสำหรับประชาชน และข้อสุดท้ายคือพลังงานไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อเรามาพิจารณาจากร่างแผน PDP 2024 แล้วกลับไม่ตอบโจทย์ของ ‘ความมั่นคง ราคาเหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ เลย

เหตุผลสำคัญหลายประการที่เราพบในร่างแผน PDP 2024 และอยากให้รัฐบาลไทยทบทวนและพิจารณาร่างแผน PDP ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้แก่

  • มีการพึ่งพาไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศสูง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น ก๊าซ LNG จะทำให้ไทยเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางพลังงาน (ร่างแผนกำหนดว่าไทยจะใช้ก๊าซ LNG สูงถึง 48%) ก๊าซดังกล่าวยังเป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง และจะยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม
  • มีแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าสำรองใหม่ (ที่เป็นก๊าซฟอสซิล) มากถึง 6,300 เมกกะวัตต์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสวนทางกับคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการพาประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero
  • หากในอนาคตแผน PDP ดังกล่าวได้รับการอนุมัติใช้ เราอาจต้องเจอกับราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพราะในแผนจะมีการนำเข้าพลังงานน้ำจากเขื่อนลุ่มน้ำโขงและก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น
  • สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่ร่างแผนกำหนดไว้ยังไม่ตอบโจทย์ศักยภาพของไทย ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่านั้น (ในแผนกำหนดการผลิตพลังงานหมุนเวียน ประกอบไปด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานน้ำจากเขื่อนลุ่มน้ำโขง 15% พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ 16%)

รศ.ดร.ชาลี นำเสนอว่า แผน PDP ที่ดีนั้น สิ่งสำคัญคือต้องพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับทิศทางโลกและเหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อลดต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลที่ไม่จำเป็น ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในเชิงเทคนิคเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วยเช่น รัฐจะต้องตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับที่สูงกว่า 51% เพราะสัดส่วนนี้ดูเหมือนจะเหมาะสมแล้ว แต่หากเราเทียบกับเป้าหมายการลดคาร์บอนในระดับโลกก็ยังถือว่าห่างไกล ต่อมาคือระบบสายส่งไฟฟ้าต้องพัฒนาให้ยืดหยุ่นและเป็นสายส่งที่รองรับพลังงานหมุนเวียนในระดับสูง และข้อเสนอสุดท้ายคือรัฐจะต้องหยุดซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวที่มีราคาแพง ไม่โปร่งใสและผูกขาด

ร่างแผน PDP2024 ช่วยเศรษฐกิจไทยดีถ้วนหน้าจริงหรือไม่?

เมื่อได้ชื่อว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย นอกจากเกี่ยวโยงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศด้วย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ Climate Finance Network Thailand จึงรับหน้าที่มาเป็นผู้ตีแผ่ถึงร่างแผน PDP2024 กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และนำเสนอทางออกที่เป็นธรรมให้กับทุกคน โดยมี 3 ประเด็นที่อยากให้เราจับตา ได้แก่ ราคาผันผวน ต้นทุนแฝงแพง และ เขียว (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ไม่พอ

1.ราคาผันผวน

ปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลอยู่ที่ 60% ส่วนในร่างแผน PDP2024 ระบุว่าในปี 2580 ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลอยู่ที่ 41% หากมองเผิน ๆ จะดูเหมือนเราใช้ก๊าซฟอสซิลลดลงแต่ความจริงแล้วร่าง PDP ฉบับใหม่นี้ยังมีโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลใหม่เพิ่มอีก 6,300 เมกะวัตต์ การเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลจะเป็นสัญญาณว่าเราจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากราคาต้นทุนไฟฟ้าจะสูงขึ้นรวมทั้งราคาก๊าซยังมีความผันผวนสูง แล้วผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้า จึงต้องแบกรับการผันผวนของราคาไปด้วย (Pass Through Mechanism) สถานการณ์นี้หลายคนทราบดีเพราะช่วงที่ราคาก๊าซแพงขึ้น เราเองนี่แหละที่เป็นคนจ่าย

แล้วทำไมราคาก๊าซฟอสซิลจึงผันผวน ? หากลองศึกษาข้อมูลเราจะพบว่าต้นทุนราคาก๊าซในอ่าวไทย หรือในเมียนมาร์ไม่ได้ผันผวนมากนัก แต่ร่างแผน PDP ฉบับนี้จะเพิ่มเติมการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามา ซึ่งต้นทุนก๊าซประเภทนี้มีความผันผวนในตลาดโลกสูงมาก ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Energy Pool Price โดยก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ จะผันผวนตามราคาก๊าซ LNG 

เมื่อกลับมามองสถานการณ์การใช้ก๊าซ LNG ปัจจุบัน ไทยนำเข้าก๊าซชนิดนี้ที่ 19% แต่ในร่างแผน PDP 2024 ระบุว่าในปี 2580 ไทยจะนำเข้าก๊าซชนิดนี้ถึง 38% และอาจจะมากกว่านั้นถ้าเราไม่สามารถจัดหา Potential Gas ได้ (ในแผนยังไม่ได้ระบุว่ามาจากไหน ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งก๊าซที่อาจขุดเจาะได้เพิ่มในประเทศเพื่อนบ้านในช่วงระยะเวลานั้น) หากเราไม่สามารถหา Potential Gas ได้ ก็ต้องเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าก๊าซ LNG ไปถึง 50% เลยทีเดียว ทั้งนี้ การวิเคราะห์จากทั่วโลกเกี่ยวกับความผันผวนของต้นทุนก๊าซ LNG จะยังคงอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือความต้องการใช้พลังงานที่แปรผันตามฤดูกาล (ยุโรปในช่วงฤดูหนาวมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเยอะ หรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาฤดูร้อนและต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ก็จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น)

2.ต้นทุน (แฝง) แพง

จากแผนที่ระดับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ที่เป็นไปได้ในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงมาก (จากเฉดสีส้ม แดง และแดงเข้ม) นั่นทำให้ไทยได้รับการประเมินว่ามีต้นทุนการผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน

เมื่อเทียบราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บวกกับแบตเตอร์รี่กักเก็บในปัจจุบันนั้นมีราคาเทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับการประเมินว่าในพ.ศ. 2576 ราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บวกกับแบตเตอร์รี่กักเก็บจะถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

แล้วต้นทุนแฝงที่ว่าแพงคืออะไร ? รพีพัฒน์อธิบายต่อว่า ราคาค่าไฟฟ้าที่เห็นในร่างแผน PDP ฉบับล่าสุด (3.87 บาท) ยังไม่รวมกับ ‘กลไกราคาคาร์บอน’ ซึ่งจะเกิดจากร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแน่นอน 

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้ระบุในร่างแผน PDP คือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture Storage (CCS) หากในอนาคตไทยจะมีโครงการ CCS เกิดขึ้น นี่คือข้อสรุปว่าหากเรายังเดินตามร่างแผน PDP ฉบับนี้ ในอนาคตค่าไฟฟ้าอาจะแพงขึ้นจาก กลไกราคาคาร์บอน และเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนได้

3.เขียวไม่พอ

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ภาคพลังงาน เป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด แต่เหตุผลที่เราอยากสร้างการเปลี่ยนผ่านที่ภาคพลังงานก็เพราะเป็น Quick wins ที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้เร็วที่สุดและมีต้นทุนถูกที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยที่ระบบการผลิตพลังงานยังเป็นระบบรวมศูนย์

สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่งที่รพีพัฒน์เน้นย้ำคือ การบรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon ของไทย ที่วางไว้ใน ค.ศ. 2065 นั้น ช้าที่สุด เป็นที่โหล่ในประเทศกลุ่มอาเซียน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าในอนาคต ประเทศไทยอาจไม่ดึงดูดให้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศอีกด้วย ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมาย Net Zero ของไทยอาจทำให้ไทยเองแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคไม่ได้เลย

แผน Net Zero และความเป็นกลางทางคาร์บอนของระบบการผลิตไฟฟ้าของไทย

ธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ ประเทศไทย อธิบายว่า ถึงแม้ร่างแผน PDP2024 ระบุว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero จาก 85.90 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2567 เป็น 53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2580 โดยใช้องค์ประกอบ 4 ส่วนคือ 

(1)โรงไฟฟ้าฟอสซิล (ใช้ไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม) 

(2) โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด (โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าสูบกลับและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์)  

(3) เทคโนโลยีทางเลือก(แบตเตอรี่เก็บกักพลังงาน/demand response/distributed energy resources) 

(4) ระบบ smart grid  

คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทั้งหลายเหล่านี้จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยให้เป็นไปตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก(NDC) ได้จริง 

ขณะที่แผน Net Zero ที่เป็นอยู่นั้นยังคงเอื้อให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไปและจ่ายเงินจ้างใครสักคนทำการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยการปลูกป่าชดเชย กลไกซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์

การแปลงผืนป่าให้เป็นคาร์บอนเครดิตไม่ช่วยลดโลกเดือด

กลายเป็นว่าทางออกจาก “โลกเดือด” ในทุกวันนี้กลับเทไปที่การนำกลไกตลาดมาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ “ตลาดซื้อขายคาร์บอน(carbon markets)

อ่านต่อ

หัวเรือใหญ่เรื่อง CCS ก็คือ ปตท.สผ.(PTTEP) ซึ่งริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นครั้งแรกที่แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา CCS ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ระดับโลก นี่คือ กลลวงคาร์บอนอย่างแท้จริง

ที่แคนาดา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติอนุมัติโครงการ Quest เพื่อผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน(Tar Sand) ซึ่งมีเงินอุดหนุน 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่า เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน(CCS) เป็น “เครื่องมือสำคัญสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นของแคนาดา” นั่นคือ Net Zero ภายในพ.ศ. 2593 แต่โครงการ Quest ปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่ดักจับ/กักเก็บได้และเพิ่มการผลิตทรายน้ำมันซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่สกปรกที่สุดและมีคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุดในโลก เป้าหมาย Net Zero จึงล่องลอยในสายลม 

Protest at the Fossil Gas Platform in the Gulf of Thailand. © Greenpeace
นักกิจกรรมจากเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ซึ่งเป็นเรือธงของกรีนพีซทำการประท้วงอย่างสันติ ณ แท่นขุดเจาะก๊าซฟอสซิลแหล่งอาทิตย์ คัดค้านโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Offshore Carbon Capture And Storage : CCS) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอ่าวไทย เพื่อเปิดโปงการฟอกเขียวของอุตสาหกรรมฟอสซิล © Greenpeace

นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการและนักวิเคราะห์ด้านพลังงานระหว่างประเทศ 400 คนลงนามในจดหมายถึงรัฐบาลแคนาดาเพื่อขอให้ยุติการสนับสนุนโครงการ จดหมายเตือนว่า การดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน(CCUS) ไม่ใช่ “เทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ(Negative Emission Technology)”แถมยังใช้เงินภาษีประชาชนหลายพันล้านเหรียญกระตุ้นการผลิตน้ำมัน นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการเตือนถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อชุมชนท้องถิ่นว่าการอุดหนุนเงินให้กับโครงการนี้จะทำให้แคนาดาต้องพึ่งพาทรายน้ำมันอันสกปรก และโครงการจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นราว 50 ล้านตันต่อปีภายในพ.ศ. 2578

ไทยสามารถสร้างเมืองในอนาคต ที่ยั่งยืนและเป็นธรรมกับประชาชนมากกว่าเดิมได้

“เมื่อเรามีเทคโนโลยีอยู่ในมือแล้ว การพัฒนาเมืองในอนาคตจำเป็นจะต้องมี ‘จินตนาการ’ มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบด้วย”

จากความเห็นของธารา นำเสนอว่าไทยสามารถสร้างเมืองในอนาคตและชานเมืองในอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยและเป็นธรรมกับประชาชนได้ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่จะช่วยให้เมือง ‘เขียว’ กว่าเดิม 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการออกแบบเมืองให้มีระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ซึ่งนอกจากเราจะสูญเสียพลังงานจากจุดอ่อนของระบบผลิตแบบรวมศูนย์แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานและได้เป็นผู้ผลิตพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้ระบบพลังงานไทยมั่นคง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้นนั่นเอง

ประชาชนมีส่วนร่วมให้ระบบการผลิตไฟฟ้าในไทย มั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรม ได้มากขึ้นอย่างไร?

แม้ว่าจะเป็นทางออกเดิม ๆ ที่เราเห็นหลายองค์กรร่วมรณรงค์มาตลอดหลายปี แต่การร่วมลงชื่อเพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเช่นนี้ยังคงเป็นหนทางในการสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เสมอ 

รศ.ดร.ชาลี ให้ความเห็นว่า “ข้อแรก การร่วมกันลงชื่อเพื่อแสดงเจตนารมย์ว่าประชาชนแบบเราไม่ยอมรับร่างแผน PDP2024 ฉบับนี้ เพราะร่างแผนฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพียงน้อยนิด อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอีกด้วย ข้อที่สองคือพยายามศึกษาด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เครือข่ายนำเสนอเป็นความจริงหรือไม่ และข้อสุดท้ายที่ประชาชนสามารถช่วยกันได้คือ การบอกต่อ การช่วยกันแชร์กับคนรอบข้างว่าทำไมเราจึงไม่เห็นด้วยกับร่างแผน PDP2024 นี้ บอกถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเรา” 

ด้าน ธารา นำเสนอการสนับสนุนระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า  

“แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่สนใจระบบ Net Metering แต่เราจำเป็นจะต้องสนับสนุนระบบนี้เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ลดปัญหาที่เกิดจากระบบพลังงานไฟฟ้าแบบรวมศูนย์และเพิ่มการกระจายศูนย์ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าแบบหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนกว่าและเป็นธรรม”