จากกรณีการจัดทำการรายงานอีไอเอ หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความไม่น่าเชื่อถือเพราะมีเนื้อหาบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน นำไปสู่การยื่นฟ้องของตัวแทนชุมชนหมู่บ้านกะเบอะดิน ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่และอาจได้รับผลกระทบจากโครงการต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2565 


ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EnLaw มหาวิทยาลัยนเรศวร และชุมชนกะเบอะดินได้ร่วมกันเก็บข้อมูลและจัดทำโครงการวิจัย เรื่อง การประเมินระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน หมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ นำโดย ดร.อชิชญา อ๊อตวงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยโครงการวิจัยนี้มุ่งประเมินถึงความน่าเชื่อถือของรายงานอีไอเอ ทั้งของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย รวมถึงรายงานอีไอเออื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งมีข้อค้นพบสำคัญเช่น การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ

ตั้งใจทำหรือทำพอเป็นพิธี?

หนึ่งในปัญหาของระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายไทยคือประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอ ผู้จัดทำรายงานอีไอเอมักระบุในรายงานว่า ได้จัดกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลและจัดรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามคู่มือหรือประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)แล้ว แต่เสียงจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการกลับกล่าวว่าการดำเนินการของผู้จัดทำรายงานไม่ใช่การจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง 

ด้วยเหตุนี้ รายงานวิจัยฉบับนี้จึงนำดัชนีชี้วัดระดับการมีส่วนร่วมมาใช้ในการแปลงเนื้อหาตามประกาศของสผ. ออกมาเป็นคะแนนเพื่อประเมินว่าการจัดทำรายงานอีไอเอมีระดับการมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามหลักการทางวิชาการหรือไม่ 

นอกจากนี้ยังนำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกับคะแนนจากรายงานอีไอเอของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย และความเห็นของชุมชนกะเบอะดิน เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างคู่มือหรือประกาศของหน่วยงานรัฐกับการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ

รายงานอีไอเอของไทย น่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน?

ผลการศึกษาพบว่า ระดับการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานอีไอเอของพื้นที่โดยรอบโครงการตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) โดยแบ่งระดับการประเมินจากมากไปน้อยดังนี้ ระดับสร้างบรรทัดฐาน  ระดับทางเนื้อหา ระดับพิธีกรรม และระดับน้อยเกินไป ซึ่งมีถึง 2 ใน 5 หมวดที่มีคะแนนอยู่ในระดับพิธีกรรม โดยหมวดที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ หมวดว่าด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็น หมวดที่มีคะแนนสูงสุด คือ ‘ประชาชนที่ร่วมรับฟังความคิดเห็น’ ซึ่งอยู่ในระดับสร้างบรรทัดฐาน จึงเห็นได้ว่าแม้ประกาศของรัฐที่เป็นกรอบในการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดในทางวิชาการ 

ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติ ระดับการมีส่วนร่วมจากรายงานอีไอเอโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) มีทิศทางคล้ายกับประกาศสผ. แต่กลับมีคะแนนต่ำกว่าเกือบทุกหมวด ยกเว้น หมวดเกี่ยวกับการนำผลการรับฟังความคิดเห็นไปบรรจุในรายงานอีไอเอ โดยหมวดที่มีคะแนนต่ำสุดคือหมวดการจัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอยู่ในระดับที่น้อยยิ่งกว่าระดับพิธีกรรม จึงมีข้อสังเกตว่าเมื่อการเผยแพร่ข้อมูล การจัดรับฟังความคิดเห็น และระยะเวลาในการจัดรับฟังความคิดเห็นและประชาชนที่เข้าร่วม มีคะแนนในระดับต่ำ ย่อมเป็นที่สงสัยว่าข้อมูลที่ผู้จัดทำรายงานอีไอเออ้างว่านำมาจากการรับฟังความคิดเห็นนั้นมาจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบที่กว้างขวางเพียงพอหรือไม่

ในส่วนของระดับการมีส่วนร่วมจากผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านกะเบอะดิน พบว่า จำนวนประชาชนในหมู่บ้านที่ระบุว่าตนเองเคยเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นมีจำนวนเพียง 4 คนเท่านั้น ทำให้จำนวนคะแนนที่สามารถนำมาคำนวณได้มีจำนวนน้อยมาก อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของประกาศสผ. และรายงานอีไอเอ พบว่า มีเพียงหมวดที่เกี่ยวกับประชาชนที่รับฟังความคิดเห็นเท่านั้นที่ความเห็นของชุมชนมีมากกว่าที่รายงานอีไอเอกำหนด แต่ก็ยังอยู่ในระดับพิธีกรรมและต่ำกว่าระดับที่กำหนดในประกาศสผ. ในส่วนของหมวดอื่นนั้น งานศึกษาพบว่ามีระดับคะแนนต่ำกว่าทั้งประกาศสผ.และรายงานอีไอเออยู่มาก โดยคะแนนนั้นเกือบเป็นศูนย์ ดังนั้น มุมมองของชุมชนมองว่า ชุมชนแทบไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานอีไอเออมก๋อยเลย ซึ่งขัดต่อเนื้อหาที่ระบุในรายงานอีไอเอ และไม่เป็นไปตามประกาศสผ.อย่างชัดเจน

จากผลการศึกษาข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งประกาศของสผ.ที่ไม่เพียงแค่มีลักษณะคล้ายคู่มือหรือแนวปฏิบัติ แต่ไม่อาจเป็นมาตรการบังคับใช้ได้แล้ว ยังมีเนื้อหาที่เป็นกรอบในการจัดรับฟังความคิดเห็นในระดับพิธีกรรมเท่านั้น 

นอกจากนี้ การที่ระดับคะแนนของรายงานอีไอเอโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยที่รัฐอนุมัติอยู่ในระดับต่ำกว่าประกาศสผ.มาก ย่อมสะท้อนได้ว่ากลไกในการตรวจสอบการปฏิบัติตามและการบังคับใช้ประกาศสผ.นั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และปัญหานี้ยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อระดับคะแนนที่สะท้อนจากความเห็นของชุมชนนั้นยิ่งน้อยกว่ารายงานอีไอเอและประกาศสผ.อย่างมาก บ่งชี้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกลไกที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายงานอีไอเอก่อนที่จะมีการยื่นร่างรายงานต่อคณะกรรมการพิจารณา”

เนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย เรื่อง การประเมินระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน หมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร.อชิชญา อ๊อตวงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

ย้อนหลังไปในปี 2530 มีบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จากการบอกเล่า สมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งต้องขายที่ดินให้ไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่และถูกยึดที่ดิน

อ่านเพิ่มเติม