วิกฤตสภาพภูมิอากาศ(climate crisis) มาถึงจุดที่นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจหาคำคุณศัพท์ (เช่น ร้อน รวน เดือด) ที่ใช้อธิบายความโกลาหลของสภาพอากาศที่เราประสบอยู่ในปัจจุบันได้อีก [1] องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(WMO) ยืนยันว่าปี 2566 เป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึก [2] โดยอยู่ที่ 1.45 องศาเซลเซียส [3] เทียบกับระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

คำถามคือเรามาถึงจุดพลิกผันนี้ได้อย่างไร แล้วใครต้องรับผิดชอบ กรอบที่ UNFCCC ใช้โดยเฉพาะคำว่า “ความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง (Common but Differentiated Responsibilities)” ก็มีนัยยะของความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกลุ่มประเทศมั่งคั่งและกลุ่มประเทศยากจน

อีกคำตอบหนึ่งก็บอกว่า “กิจกรรมของมนุษย์”นั่นแหละที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสุดท้ายจบลงด้วยการที่กลุ่มคนซึ่งมีส่วนปล่อยก๊าซน้อยมากต้องลงมือทำโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิต และผู้ก่อมลพิษก็ลอยนวลพ้นผิดไป

เมื่อระบุลงไปอีกว่าก๊าซเรือนกระจกมาจากไหน คำตอบที่ได้แบบสุดๆ คือมาจากภาคพลังงานและผลิตไฟฟ้า ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคเกษตรกรรม/การใช้ที่ดิน และภาคการจัดการของเสีย ฯลฯ แต่ก็ยังไม่รู้ว่า “ใคร” อยู่ดี กลายเป็นว่าทางออกจากวิกฤตโลกเดือดเป็นความอิหลักอิเหลื่อ(wicked problem)

แม้จะเป็นความอิหลักอิเหลื่อในสังคมซึ่งกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง (Oligrach) ยึดกุมรัฐแทบจะโดยสิ้นเชิงอย่างสังคมไทย คำถามว่าใครก่อวิกฤตโลกเดือดนั้นเป็นคำถามว่าด้วยเรื่องภาระรับผิด(accountability) ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่มีความสำคัญ และนี่ก็เป็นที่มาของ Carbon Majors

72% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและซีเมนต์ทั้งโลกมาจาก Carbon Majors

ในปี 2546 Richard Heede จาก Climate Accountability Institute นำเสนอผลวิจัยเรื่อง ExxonMobil Corporation : Emissions Inventory 1882-2002 : Methods & Results นำไปสู่การเผยแพร่รายงานขององค์กร Friend of the Earth ในปี 2545 และในที่สุดพัฒนามาเป็น Carbon Majors ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2556

Carbon Majors เป็นฐานข้อมูลว่าด้วยการผลิตของอุตสาหกรรมน้ํามัน ก๊าซ ถ่านหิน และปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก 122 ราย(Entity) และนำมาใช้เพื่อวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจการอุตสาหกรรมดังกล่าว [3] ในจำนวน 122 รายประกอบด้วยบริษัทอุตสาหกรรม 75 ราย บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 36 ราย และรัฐชาติ 11 ประเทศ หรือหากดูจากหมวดหมู่การผลิต ก็จะแบ่งเป็นอุตสาหกรรมน้ำมัน 82 แห่ง อุตสาหกรรมก๊าซ 81 แห่ง อุตสาหกรรมถ่านหิน 49 แห่ง และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 6 แห่ง

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก Entity ทั้ง 122 รายนี้มีปริมาณรวมกัน 1,421 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยคิดย้อนหลังไปถึงปี 2397 และคิดเป็น 72% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลกนับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 2294

Carbon Majors 122 ราย เป็นใครบ้าง

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 1,421 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาก Carbon Majors 122 รายดังกล่าวนี้แบ่งเป็น (1)กิจการของบริษัทเอกชน 440 กิกะตัน (31%) โดยมีบริษัทเชฟรอน เอ็กซอนโมบิล และบริติชปิโตรเลียม(BP) อยู่ใน 3 อันดับแรก (2)กิจการของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 465 กิกะตัน (33%) โดย 3 ลำดับแรกคือ Saudi Aramco, Gazprom และ National Iranian Oil Company และ (3) กิจการของรัฐประเทศอีก 516 กิกะตัน (36%) หลักๆ มาจากการผลิตถ่านหินของจีนและอดีตสหภาพโซเวียต

ในจำนวน Carbon Majors 122 ราย พบว่า Banpu(บ้านปู) และ PTTEP(ปตท.สผ.) บริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่ของไทยติดอยู่ในอันดับ 81 และ 96 ตามลำดับ โดย Banpu(บ้านปู) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี 2541-2565 รวมกันเป็น 1,943 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ PTTEP(ปตท.สผ.) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี 2534-2565 รวมกันเป็น 1,080 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

จากฐานข้อมูลในรายงาน Carbon Majors ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน 2567 ชี้ให้เห็นว่า หลังจากความตกลงปารีสในปี 2558 มาจนถึงปี 2565 Banpu(บ้านปู) ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 62 ส่วน PTTEP(ปตท.สผ.) ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 79 เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เราจะเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้ง Banpu(บ้านปู) และ PTTEP(ปตท.สผ.) กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย(ปี 2559-2565) ด้วยกราฟด้านล่างนี้

จากข้อมูล Influence Map บริษัท PTTEP(ปตท.สผ.) ในฐานะเป็นเครือบริษัท PTT(ปตท.) ยังเป็นสมาชิกของ International Association of Oil and Gas Producers (IOGP) ซึ่งมีส่วนในทางลบต่อนโยบายสภาพภูมิอากาศจากการที่ยังคงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและขยายการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มมากขึ้นต่อไป [4] ในขณะที่บริษัท Banpu(บ้านปู) มีส่วนในทางลบและจํากัดมากในนโยบายและกฎระเบียบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าบริษัทมีแนวทางสนับสนุนในภาพรวมถึงการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ยังคงสนับสนุนให้ใช้ถ่านหินและก๊าซฟอสซิลในระบบพลังงาน ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้รวบรวมจากบริษัทในเครือของ Banpu คือ Centennial Coal ซึ่งตั้งอยู่ในออสเตรเลีย [5]

ล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 [6] ระบุว่าหน่วยสังเกตการณ์สากลว่าด้วยการปล่อยมีเทน (International Methane Emissions Observatory-IMEO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2564 ภายใต้สหประชาชาติ แจ้งให้ PTTEP(ปตท.สผ.) รวมถึงPetronas(ปิโตรนาส)ของมาเลเซียลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากแท่นขุดเจาะก๊าซฟอสซิลบริวณ Joint Development Area(JDA) ในอ่าวไทย จากการสังเกตการณ์ด้วยดาวเทียม มีการปล่อยก๊าซมีเทนออกมาในปริมาณสูงมากอย่างน้อย 60 ครั้งตั้งแต่ปี 2556

ทั้ง PTTEP(ปตท.สผ.) และ Petronas(ปิโตรนาส) เป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิล 50 แห่งที่มีข้อตกลงร่วมกันใน COP28 เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้เข้าใกล้ศูนย์ภายในปี 2573 และหยุดการเผาก๊าซฟอสซิลเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

คดีสภาพภูมิอากาศ

ฐานข้อมูล Carbon Majors มีบทบาทสําคัญในการทำให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่แสดงภาระรับผิด (accountability) ต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การระบุขนาดและขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ําทะเล การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

และความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ฐานข้อมูล Carbon Majors ยังใช้ อ้างอิงในทางวิชาการและยุทธศาสตร์ที่ประชาชนเป็นหัวหอกในการฟ้องร้องคดีด้านสภาพภูมิอากาศ(climate change litigation) ตัวอย่างเช่น

ยิวยา ฟ้อง RWE (Carbon Majors อันดับที่ 42)

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เซาล์ โลเตียโน ยิวยา เกษตรกรชาวเปรูได้ฟ้องร้อง RWE บริษัทฟอสซิลยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีต่อศาลเยอรมนี [7] ยิวยาอ้างว่า RWE มีส่วนรับผิดชอบ ต่อการละลายของธารน้ำแข็งบนภูเขาใกล้กับเมืองฮัวราซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาในเปรู จากการที่ RWE ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาอย่างมหาศาลซึ่งนำไปสู่วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ยิวยาฟ้องร้องให้ RWE จ่ายค่าชดเชยเป็นเงินทุนเพื่อจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม แม้ว่าศาลจะยกฟ้อง ในปี 2560 ศาลอุทธรณ์ของเยอรมนีออกมาตรการให้ RWE ดำเนินการตามขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐานซึ่งส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า Carbon Majors แต่ละรายถูกกำหนดให้แสดงภาระรับผิดต่อความสูญเสียและความเสียหาย(loss and danage)จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลกได้

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟ้อง อุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์(The Philippines Commission on Human Rights) เปิดรับฟังคำร้องจากการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ Carbon Majors แสดงภาระรับผิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เป็นการไต่สวนคดีด้านสิทธิมนุษยชนระดับประเทศและครั้งแรกของโลกจากความร่วมมือของ 14 กลุ่มที่ประกอบด้วยชาวนา ชาวประมง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ผู้รอดชีวิตจากพายุไต้ฝุ่น ศิลปินและประชาชน [8]

ผลกระทบอันน่าสะพรึงกลัวจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่สร้างหายนะในปี 2556 ผนวกกับ ความสามารถล่าสุดของชุมชนวิทยาศาสตร์ในการแจกแจงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่ามาจากบริษัทใดบ้าง ผู้นำท้องถิ่น ชุมชนพื้นเมือง สมาคมชาวนาชาวไร่ และคนงานจากภาคคมนาคมขนส่งให้ปากคำต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์ถึงความยากลำบากที่พวกเขาเผชิญ ว่ามีส่วนมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญให้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุและผลกระทบ รวมถึงความรับผิดชอบของ Carbon Majors

ในปี 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์เสนอผลสอบสวนผ่านรายงาน ที่จัดทำขึ้น ระบุว่า Carbon Majors เช่น เชลล์(Shell) เอ็กซอนโมบิล(ExxonMobil) โททาล(Total) เชฟรอน(Chevron) และบริติชปิโตรเลียม(BP) มีส่วนทำลายระบบนิเวศของโลกและทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนในการดำรงชีวิต มีความมั่นคงทางอาหาร มีสุขภาพที่ดีและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ผลสรุปนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคดีสภาพภูมิอากาศต่ออุตสาหกรรมฟอสซิลและพบว่าบริษัทเหล่านั้นมีภาระรับผิดจริงทั้งในทางกฎหมายและศีลธรรม

คดีสภาพภูมิอากาศที่เขย่าอำนาจและอิทธิพลของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่นี้ต่างจากคดีเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายโดยมุ่งเน้นถึงหลักการป้องกันไว้ก่อนและก่อรูปข้อเสนอแนะต่อผู้กําหนดนโยบายและสมาชิกสภานิติบัญญัติว่าด้วยภาระรับผิดของอุตสาหกรรมฟอสซิลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ภาระรับผิดของ Carbon Majors เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

องค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นของชุมชนวิทยาศาสตร์ในการเชื่อมโยงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วกับ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึง การแจกแจงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอย่างเจาะจงว่ามาจากบริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลใดบ้าง ได้เปิดพื้นที่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้กับบุคคล ชุมชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น ออกมายืนหยัดเรียกร้องต่อภาระความรับผิดของ Carbon Majors อย่างไม่ท้อถอยมากขึ้น

อ้างอิง

[1] https://www.economist.com/graphic-detail/2024/05/15/six-charts-help-to-explain-2024s-freakish-temperatures

[2] https://www.economist.com/graphic-detail/2024/01/12/eight-charts-illustrate-2023s-extreme-weather

[3] การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฐานข้อมูล Carbon Majors ประกอบด้วย : Scope 1 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง (Direct Emissions) ทั้งหมดจากกิจกรรมขององค์กรหรือภายใต้การควบคุมขององค์กร เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง สารทำความเย็น หม้อไอน้ำ เตาเผา การปล่อยก๊าซจากยานพาหนะ ครอบคลุมจนถึงกระบวนการที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการทางอุตสาหกรรม และการผลิตในสถานที่ และ Scope 3 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่อยู่เหนือการควบคุม (indirect value chain emissions) ทั้งหมดจากกิจกรรมขององค์กร ซึ่งเกิดขึ้นจากแหล่งที่องค์กรไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุม สิ่งเหล่านี้มักเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของ Carbon Footprint  ครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซฯที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเพื่อธุรกิจ การจัดซื้อจัดจ้าง ของเสียและน้ำ “เป็นผลมาจากกิจกรรมจากสินทรัพย์ที่องค์กรไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุม แต่องค์กรมีผลกระทบทางอ้อมต่อมูลค่าของมัน”

[4] https://lobbymap.org/company/PTT-Public-Company-Limited-9514c2e22057397f57faad73e181d282

[5] https://lobbymap.org/company/CENTENNIAL-COAL-BANPU-970201c5b55e2f7a787d16da82f9c79a 

[6] https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-07-05/big-oil-s-climate-pledges-to-curb-methane-emissions-face-a-test-in-asia 

[7] https://rwe.climatecase.org/en 

[8] https://www.ciel.org/wp-content/uploads/2023/02/CHRP-NICC-Report-2022.pdf