สำหรับการเดินทางของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ในไทยภายใต้โครงการรณรงค์ผลักดันเสียงของชุมชนชายฝั่งในการปกป้องทะเลไทยและมหาสมุทรโลกครั้งนี้ กรีนพีซร่วมกับนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อร่วมทำงานวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับตัวแทนชุมชนประมงจาก จังหวัดชุมพร อ.จะนะและ อ.เทพา จ.สงขลา รวบรวมข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ผ่านการสำรวจสัตว์ทะเลหน้าดิน แพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้สภาพท้องทะเล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมร้อยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ในการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน 

งานรณรงค์ครั้งนี้ทำให้คนที่หลงใหลในชีวิตของปะการังอย่าง กานต์ หรือ กานต์ ศุกระกาญจน์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล กลุ่มวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เป็นครั้งแรก และได้ร่วมงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรก

“ภาควิชาที่เราเรียนจบมาจะเรียนเกี่ยวกับสิ่งชีวิตในทะเลและมหาสมุทรไปจนถึงสิ่งมีชีวิตบนดินที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศในมหาสมุทร อย่างเช่น ชะวากทะเลหรือพื้นที่ปากแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าโกงกางเราก็ต้องเรียนรู้ระบบนิเวศของมันเหมือนกันเพราะถือว่าอยู่ในพื้นที่น้ำเค็ม พูดง่าย ๆ คือภาควิชาที่เราเรียนเราจะเรียนทุกอย่างที่อยู่ในระดับน้ำเค็ม”

หลงใหลในความมหัศจรรย์ของปะการัง

ไม่ว่าจะเป็นเพราะบ้านเกิดอยู่ติดกับทะเลที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับชายหาด ทะเลสีครามและดวงอาทิตย์เจิดจ้าอยู่บ่อย ๆ หรือจะเป็นตุ๊กตาจิ๋วสีเขียวรูปนักประดาน้ำที่เพื่อนเอามาให้เล่นในวัยเด็ก นั่นทำให้กานต์อยากเป็นนักประดาน้ำขึ้นมา นอกจากนี้ คนที่สำคัญมากอีกคนหนึ่งคือคุณพ่อ เพราะเมื่อรู้ว่ากานต์สนใจเกี่ยวกับโลกใต้น้ำก็สนับสนุนเต็มที่ กานต์จึงมักได้นั่งดูสารคดีท้องทะเลและภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับมหาสมุทรอยู่เป็นประจำ 

Screen Grabs from Great Barrier Reef Clipreel. © Greenpeace
The images show a wide variety of Marine life and corals from the video clipreel. Images are 1920×1080 pixels maximum size. Image shows Anenome Fish in Sea Anenome. © Greenpeace

สิ่งเหล่านี้เองทำให้กานต์เลือกที่จะเรียนต่อในภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล นอกจากการเรียนวิทยาศาสตร์ทางทะเลแล้ว เรารู้มาว่ากานต์เป็นคนหนึ่งที่ชอบปะการังเอามาก ๆ เมื่อถามถึงปะการัง สายตาของกานต์ก็เปลี่ยนไปลุกวาวขึ้นมาทันที เขาบอกว่าเขาทึ่งในความมหัศจรรย์ของมัน 

“ผมว่ามันมหัศจรรย์ดี อย่างแรกที่ผมชอบคือมันสวย อย่างที่สองคือปะการังเป็นเหมือนบ้านของสัตว์ทะเลหลายชนิดและผมคิดว่าสัตว์เหล่านั้นก็น่าทึ่งมากเหมือนกัน นอกจากนี้ปะการังยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล”

“ปกติเราเห็นปะการังเป็นต้น เป็นกอ เป็นพุ่ม ใช่มั้ย แต่ว่าจริง ๆ แล้วในปะการังพุ่มหนึ่งหรือกอหนึ่งจะยังมีปะการังอีกเป็นล้าน ๆ ตัวอาศัยอยู่ในนั้นด้วยนะ หรืออย่างภาพนี้ผมถ่ายแบบซูมเข้าไปดูเราจะเห็นจุดดำ ๆ ซึ่งก็คือสาหร่ายซูแซนเทลลี” (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการังและคอยเป็นแหล่งพลังงานของปะการัง อีกทั้งยังเป็นสีสันของปะการังด้วย”

จับพลัดจับผลู มาร่วม Ship Tour เดินทางกับเรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม Rainbow Warrior

ด้วยคาร์แรคเตอร์และความชอบทำงานแบบออกผจญภัย กานต์บอกกับเราว่าการได้ขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ของกรีนพีซในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก แม้ว่าตอนแรกที่อาจารย์แจ้งให้ตัวเองมา เขาจะไม่รู้เลยว่าเรือลำนี้ทำอะไร

“จริง ๆ แล้วผมเป็นคนที่ไม่ชอบนั่งทำงานในออฟฟิศเลย รู้สึกมาตลอดว่าอยากทำงานแบบลงพื้นที่ อยากออกไปดูโลกข้างนอก ซึ่งพอได้มาขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์เพื่อช่วยเก็บข้อมูลวิจัยกับชุมชนชายฝั่งก็รู้สึกชอบมาก งานที่ชอบทำบนเรือก็คืองานบอกทิศบนเรือ หรืองานเกี่ยวกับเชือก การดึงใบเรือ”

The Rainbow Warrior Thailand Ship Tour: Research in Chumphon. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ภาพของกานต์กำลังช่วยเก็บตัวอย่างน้ำในการทำวิจัยเพื่อผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศที่ชุมชนมีส่วนร่วม โดยมีการเก็บตัวอย่างตะกอนและหน้าดิน ในโครงการ Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างถึงนโยบายสาธารณะด้านสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมในกำหนดเขตพื้นที่และบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแนวชายฝั่งทะเลไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ก่อนอื่นเขาเปรียบเทียบว่าบรรยากาศบนเรือที่นี่เหมือนการเข้าค่ายลูกเสือโลก (ไม่ใช่บรรยากาศค่ายลูกเสือในไทยด้วยนะ) มันมีหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้และต้องงัดเอาทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นมาใช้เยอะมาก พอได้ขึ้นมาใช้ชีวิตแล้วรู้สึกว่านี่มันเป็นทางที่เราชอบ

“ก่อนขึ้นเรือก็พอรู้นิดหน่อยว่าเป็นเรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ล่องไปทั่วโลกเพื่อทำแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รู้สึกดีใจมาก”

กานต์ยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่าก่อนจะมาขึ้นเรือ เขามีความฝันว่าหลังจบการศึกษาแล้วกานต์อยากจะไปเป็นไกด์ดำน้ำที่ผนวกเอาสิ่งที่เรียนมาซึ่งเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลยาก ๆ มาสื่อสารให้ง่ายขึ้นให้คนทั่วไปได้เข้าใจขณะที่มาเที่ยวในโลกใต้น้ำ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Science Communication) กานต์บอกว่าที่เขาหัดถ่ายรูปใต้น้ำก็เพื่ออยากฝึกเอาเครื่องมือเหล่านี้มาสื่อสารกับคนทั่วไปให้ง่ายขึ้น

กานต์ในชุดดำน้ำ กำลังสำรวจปะการังใต้ทะเล

การถ่ายภาพใต้น้ำและปะการังฟอกขาว

หลังจากทำความรู้จักกัน กานต์เลือกภาพถ่ายหลายภาพจากอินสตาแกรมของเขามาให้เราดูทำให้เรารู้ว่ากานต์ชื่นชอบปะการังมาก ถึงขั้นเรียกว่าหลงใหลเลยก็ว่าได้ เขาเล่าว่าเขาสนใจและเลือกการถ่ายภาพใต้น้ำเป็นงานอดิเรกภาพของเขาหลายภาพมีปะการังสวยงาม แต่ก็มีอีกหลายภาพเช่นกันที่เป็นปะการังฟอกขาว

“เท่าที่ฟังข่าวมา ตอนนี้ปะการังบ้านเราฟอกขาวทั่วประเทศ สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) เพิ่งออกแถลงเมื่อไม่นานมานี้ว่าปะการังทั่วโลกฟอกขาวครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 4 เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ถ้าเราย้อนกลับไปดูสถิติประมาณ 3 ปีก่อนเหตุการณ์มันไม่เลวร้ายขนาดนี้ ครั้งนี้มันหนักมากแค่เราเดินไปที่ชายหาดก็เห็นแล้วว่าปะการังกลายเป็นสีขาว”

กานต์เลือกภาพหนึ่งมาจากมือถือ เขาบอกว่าภาพนี้ถ่ายมาก่อนหน้าไม่นานหลังจากไปเกาะเต่าเขาบอกว่ามันเป็นภาพที่เขาถ่ายจากชายหาดและจุดที่ยืนอยู่เขาสามารถเห็นปะการังฟอกขาวได้ด้วยตาเปล่า

“ปีสองปีก่อนไม่ปรากฎการณ์นี้ไม่รุนแรงขนาดนี้ แต่พอเราเห็นว่าปะการังฟอกขาวหนักขนาดนี้ก็เดาว่าปีนี้น่าจะรุนแรง จากหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ทั้งอาจจะเป็นรอบวัฏจักรของปะการังเองด้วย พอมาเจอกับปัจจัยที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็ยิ่งทำให้ฟอกขาวกันรุนแรงขึ้น”

นอกจากรูปปะการังฟอกขาวแล้ว กานต์ยังถ่ายรูปหน้าปัดนาฬิกาที่บอกอุณหภูมิของผิวน้ำในขณะนั้นซึ่งวัดได้ที่อุณหภูมิราว 36 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ร้อนมากเกินไปสำหรับปะการัง

“ผมดำลงไปดูปะกะรังที่ 5 เมตรซึ่งถือว่าน้ำในระดับนั้นจะเย็นกว่าแต่ปะการังก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ดี ในรูปนี้เราจะเห็นว่าปลายกิ่งปะการังมีสีขาว สิ่งที่เกิดขึ้นก็บอกได้ในระดับหนึ่งว่าน้ำมีความร้อนสะสม น้ำที่ระดับลึกลงไปยังมีความร้อน นอกจากนี้ยังไม่มีคลื่นลมที่ถ่ายเทน้ำให้เคลื่อนที่ไปที่อื่นด้วย”

ภาพหน้าปัดนาฬิกาที่บอกอุณหภูมิของผิวน้ำในขณะนั้นซึ่งวัดได้ที่อุณหภูมิราว 36 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตามกานต์เสริมว่าในช่วงที่พูดคุยกันเป็นเดือนมิถุนายน ปัจจัยคลื่นลมและกระแสน้ำน่าจะดีขึ้นบ้างเพราะเป็นช่วงมรสุม

“เมื่อปะการังเกิดรวมรวมกันเป็นแนวปะการัง (Coral Reef) มันสามารถช่วยเป็นแนวกันคลื่นได้ ความแรงของคลื่นก็จะลดลงมา ช่วยลดแรงคลื่นที่จะไปกระทบป่าชายเลน เมื่อคลื่นไปถึงป่าชายเลนจะช่วยลดระดับความแรงของคลื่นอีก เรียกได้ว่าแนวปะการังเป็นแนวหน้าในการลดระดับความแรงของคลื่นที่จะพัดเข้าสู่แผ่นดินได้ นอกจากนี้อย่างที่บอกไปว่าแนวปะการังเป็นบ้านของสัตว์ทะเล สัตว์น้อยใหญ่ก็จะมาอาศัยอยู่ ดังนั้นในแนวปะการังจะมีสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตเยอะมาก รวมทั้งแนวปะการังยังเป็นแหล่งอนุบาลปลาก่อนที่จะออกไปสู่ทะเลกว้าง ไปเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศทางทะเล”

“แนวปะการังก็เหมือนบ้าน ถ้าบ้านหลังนั้นพังลงก็จะไม่มีปลา ทีนี้เราจะเห็นเลยว่าห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศมันถูกกระทบ แล้วมันก็จะกระทบต่อกันไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็มาจบที่มนุษย์เราที่จะได้รับผลกระทบด้วย”

เมื่อได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันเราและกานต์ต่างสรุปได้ว่า สิ่งมีชีวิตที่อยู่ระบบนิเวศนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาโดด ๆ แต่มันมีเหตุผลที่เกิดขึ้นมาเพราะพวกมันมีหน้าที่ มีความสำคัญในตัวเอง

สิ่งที่น่าทึ่งภูมิปัญญาของชุมชนชายฝั่ง

ประสบการณ์บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ครั้งนี้ไม่เพียงแค่ทำให้กานต์ได้ทำงานที่ชอบเท่านั้น แต่ยังได้พบเจอกับผู้คนที่น่าทึ่งจากชุมชนชายฝั่งของไทยอีกมากมาย เรียกได้ว่ากานต์ได้เข้าไปสัมผัสโลกอีกใบโดยที่เขาเองไม่เคยเห็นมาก่อน

“เพราะว่าจากที่เราเรียนมาเราโฟกัสที่สิ่งมีชีวิตในทะเล องค์ประกอบต่าง ๆ ใช่มั้ย แต่พอได้มาพูดคุยกับน้า ๆ หลายคนก็รู้สึกว่า ว้าว มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ ซึ่งทำให้เรารู้เลยว่าสุดท้ายแล้วคนที่ต้องมาช่วยนักวิทยาศาสตร์แบบเราก็คือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นี้นั่นแหละ ยิ่งถ้าเราสามารถผนวกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาชุมชนเข้าด้วยกัน มันก็จะกลายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ว่าหากข้อมูลจากภูมิปัญญาของชุมชนเมื่อพิสูจน์ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์แล้วเป็นความจริง ก็จะทำให้ข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น”

The Rainbow Warrior Open Boat in Chumphon. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
ในกิจกรรมเยี่ยมชมเรือ Rainbow Warrior ของกรีนพีซ นอกจากจะได้ชมสถานที่ต่าง ๆ บนเรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้เข้าร่วมจะยังได้ร่วมในกิจกรรม ‘PEOPLE MUSEUM’ โดยจะมีผู้นำชุมชนจากเครือข่ายที่กรีนพีซร่วมทำงาน มาแชร์เรื่องราวการต่อสู้ปกป้องบ้านเกิดของตัวเองอีกด้วย © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

กานต์ยกตัวอย่างถึงการถกเถียงกันเรื่องสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะปลาบางชนิดเมื่อเป็นลูกปลาจนกระทั่งโตกลายเป็นปลาตัวใหญ่จะมีหน้าตาที่ไม่เหมือนกันเลย นักวิจัยก็จะสามารถเข้าไปทำการวิจัยและพิสูจน์ว่าปลาที่ถกเถียงกันนั้นเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนและไม่ควรจับหรือไม่ 

“ผมมองว่าหากประชาชนสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ จะทำให้สามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก และวิทยาศาสตร์พลเมืองจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชุมชนกลายเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ อีกด้วย”


ติดตามผลงานภาพปะการังและสัตว์ใต้ทะเลของกานต์ ที่ Instagram

ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องมหาสมุทรไทยและสิทธิชุมชนชายฝั่ง

ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อปกป้องมหาสมุทรไทยและสิทธิชุมชนชายฝั่ง

มีส่วนร่วม